BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

อุเบกขา


อุเบกขา

ศัพท์นี้ คนไทยทั่วไปเข้าใจกันว่า วางเฉย และบางครั้งในการพูดก็อาจลบพยางค์หน้าเหลือเพียง เบกขา เท่านั้น เช่น คุณยายบ่นเรื่องลูกๆ หลานๆ ไม่ค่อยได้ดังใจ คุณตาก็อาจเตือนว่า ยาย ! เบกขาเสียบ้าง ซิ ...

อุเบกขา เขียนเป็นบาลีเดิมว่า อุเปกขา

  • อุป + อิกขา = อุเปกขา (แปลงสระ อิ เป็น สระ เอ)

อุป เป็นอุปสัค บ่งชี้ความหมายว่า เข้าไป, ใกล้, มั่น แต่ในที่นี้หมายความเฉพาะว่า ใกล้

อิกขา มาจาก อิกขะ รากศัพท์ แปลว่า เห็น

ดังนั้น อุเปกขา หรือ อุเบกขา แปลง่ายๆ ก็จะมีความหมายว่า เห็นใก้ล้ หมายถึง ถูกเห็นในที่ใกล้ (แห่งสุขเวทนาและทุกขเวทนา)

.......

เวทนา คือ ความรู้สึกทางใจนั้น มี ๓ อย่าง ได้แก่ 

  • สุข          คือ ทนได้ง่าย เป็นความรู้สึกสบาย
  • ทุกข์       คือ ทนได้ยาก เป็นความรู้สึกอึดอัด
  • อุเบกขา คือ วางเฉย เป็นความรู้สึกอยู่กลางๆ ระหว่างสุขและทุกข์

เมื่อถือเอาตามนัยนี้ คำว่า อุเบกขา ในความหมายว่า ถูกเห็นในที่ใกล้ ก็ค่อนข้างชัดเจนยิ่งขึ้น นั่นคือ ระหว่างทนได้ง่าย (สุข) และทนได้ยาก (ทุกข์) จะมีความรู้สึกอีกอย่างหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆ ทั้งสองอย่างนี้ นั่นก็คือ อุเบกขา ซึ่งเราแปลกันง่ายๆ ว่า วางเฉย

และเมื่อถือเอาตามการวิเคราะห์ศัพท์ก็จะได้ดังนี้

  • อุเปกฺขิยเต ทฺวินฺนํ เวทนานํ สมีเป ปญฺญายตีติ อุเปกฺขา อทุกขมสุขํ
  • ธรรมชาติใดย่อมถูกเห็นใกล้ กล่าวคือ ย่อมปรากฎในที่ใกล้ แห่งเวทนาทั้งสอง ดังนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า อุเบกขา ได้แก่ อทุกขมสุขะ

คำว่า อทุกขมสุขะ (อทุกขะ + อสุขะ) เป็นไวพจน์ของคำว่า อุเบกขา ... ซึ่ง อทุกขมสุขะ นี้ แปลว่า ไม่ทุกข์ไม่สุข... นั่นคือ ธรรมชาติที่ไม่ทุกข์ไม่สุข นั่นเอง ชื่อว่า อุเบกขา ...

ดังนั้น อุเบกขา จึงแปลว่า ถูกเห็นในที่ใกล้ระหว่างสุขและทุกข์ นั่นเอง  ซึ่ง่โบราณาจารย์ของไทย แปลง่ายๆ ว่า วางเฉย ก็ถูกต้องตามสำนวนไทย

อนึ่ง อุเบกขา นี้ จัดอยู่ในหมวดธรรมมากมาย เช่น

  • พรหมวิหาร ๔
  • โพชฌงค์ ๗
  • ปารมี ๑๐
  • ฯลฯ

สำหรับผู้สนใจอาจค้นหาอ่านได้ไม่ยากในอินเทอร์เน็ต หรือในบล็อกของผู้เขียนเองก็เคยเล่าไว้หลายโอกาสแล้ว....

หมายเลขบันทึก: 153158เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2007 20:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 15:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
ด.ญ.อภิสรา นามสกุล กิระชานนท์

การที่เรามีความดีอาจมีความดี ถ้าใครทำความชั่วนั้นก็จะติดตัวไปตลอด

ถ้าอุเบกขา ในความหมายของพรหมวิหาร ๔ พระอาจารย์มหาวิชิต ธมฺมธโร ป.ธ. ๙ วัดสร้อยทอง ปัจจุบัน วัดบูรพาราม บ้านฝาง อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น ท่านแปลไว้น่าฟังมาก พ่อแม่ถ้ารักลูกแบบอุเบกขาจะดีที่สุด โดยที่ท่านแปลว่า การเข้าไปดูความเป็นไปของลูกว่า มีความพร้อม มีความพลาด หรือเสี่ยงตรงไหน แล้วเข้าไปแก้ไขสถานการณ์ ไม่ใช่ แบบเฉยตุ่ย หรือเฉยเมย แต่เฝ้าดูระวังสังเกตสถานการณ์ เป็นอย่างไร ตัวอย่าง เช่น ลูกกำลังหัดเดิน โดยมีพ่อแม่ เฝ้ารอด้านหน้า แล้วปล่อยให้ลูกเดินมาหาตัว เฝ้าดูว่า ลูกจะเดินได้ไหม ถ้าล้ม ก็ต้องเข้าไปพยุง หรือ เพื่อไม่ให้ล้ม บาดเจ็บ หรือเจ็บตัว อีกอย่างหนึ่ง ลูกๆ จะเรียน จะทำงาน พ่อแม่ก็ควรที่รักในทำนองเดียวกัน คือเฝ้าดู แล้วเข้าไปช่วย เรียนไม่ไหว เกิดท้อ ต้องให้กำลังใจ ทำธุรกิจจะล่ม ต้องเข้าโดยให้คำปรึกษา ให้เงินทุน หรือให้แนวคิดเป็นต้น คาดว่า คงจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยในคำอธิบายนี้

จาก ผู้ชอบภาษาธรรม

สวัสดีครับพระอาจารย์

ถ้าผมจะเปรียบเทียบว่า

คิดบวก คือ สุข

คิดลบ คือ ทุกข์

ไม่คิด ไม่สนใจ คือ อุเบกขา

ได้ไหมครับ

PChristopher

 

คิดบวก คิดลบ ไม่คิด...... มิใช่เรื่องของการเสวยอารมณ์สุขทุกข์และอุเบกขาตามความหมายของศัพท์เดิม

แต่อาจเหมือนกันในแง่จำแนกได้ ๓ ประการ

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท