สมณทูต ข้ามพุทธวงศ์?


 

เมื่อยกเรื่องหลวงปู่เทพโลกอุดรขึ้นมาแล้ว พร้อมด้วยข้ออ้างเรื่องพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์สุดท้าย  ทีนี้จะได้กล่าวถึงเรื่อง สมณทูตข้ามพุทธวงศ์  ที่มักจะใช้อธิบายกันนักหนาว่า พระอุปคุตต์บ้าง พระปิณโฑลภารทวาชะบ้าง หรือ องค์ไหนก็แล้วแต่ จะไปเป็นสมณทูตข้ามพุทธวงศ์ คือ เป็นสมณทูตในศาสนาพระเมตไตรยพุทธเจ้า.

อย่างไรที่เรียกว่าสมณทูต?
ก็คือ ในบุพพนิมิต๔ประการ ก่อนที่พระมหาโพธิสัตว์ในชาติสุดท้ายจะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์นั้น มี คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะนิมิต.  นี่เอง คือ ที่เรียกว่า มาเป็นสมณทูต.

มีคนพากันเข้าใจว่า มีความจำเป็นที่ต้องได้อาศัยพระภิกษุจากสมัยพระพุทธโคดมนี้ รักษาอายุไปถึงหนึ่งอันตรกัปป์ เพื่อจะไปทำกิจเพียงแค่ว่า ไปกระทำนิมิตแห่งสมณะให้ปรากฏแก่พระเมตไตรยโพธิสัตว์ในอนาคต.

มันคุ้มหรือ? นี่คิดในมุมว่า คุ้มที่จะทนทุกข์ยาก ทนร้อนและหนาวด้วยร่างกายมนุษย์นี้ เพียงเพื่อจะแสดงรูปนิมิตเล็กน้อยเท่านั้น เพียงไม่ถึงชั่วโมงเดียว แค่ว่า ได้โต้ตอบถ้อยคำกับพระมหาโพธิสัตว์ว่า ท่านคือบรรพชิต การออกบวชเป็นความดี อะไรทำนองนี้.

บางท่านอาจจะเห็นว่าคุ้ม หากไม่พิจารณาหาวิธีการแสดงนิมิตที่คุ้มทุนกว่านั้น.  แต่เมื่อพิจารณาวิธีการแสดงสมณทูตแล้ว ด้วยปัญญา คือ ลงทุนน้อยๆแต่ได้ผลสำเร็จดังที่ปรารถนาได้ ก็จะเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นที่ต้องได้เอาร่างกายมนุษย์นี้ไปแสดงนิมิตสมณทูต ให้ตนต้องได้ลำบากเปล่าๆ.   ขันธ์๕มันหนักนัก.

การแสดงนิมิตแห่งสมณทูตนั้น หากจะกล่าวให้มันเกี่ยวข้องกับพระอริยเจ้าแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องได้ใช้พระอรหันต์ที่ครองร่างมนุษย์.  ที่แท้แล้ว พระอนาคามีซึ่งดำรงอยู่ในสุทธาวาสภูมินั้น ก็สามารถจะแสดงได้ เพียงแค่นิมิตในระยะไม่กี่นาทีนั้น.

เหมือนอย่างการเชิญอัฏฐบริขารของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่กล่าวกันว่า ฆฏิการพรหมเป็นผู้เชิญมาถวายพระโคดมโพธิสัตว์.  ตั้งแต่เชิญบริขารยังเชิญได้  การเป็นสมณทูตเอง ก็ไม่จำเป็นต้องได้อาศัยร่างกายมนุษย์มาทำ เพราะมันเป็นเพียงกิจเล็กน้อยชั่วคราวเท่านั้นเอง.

ในเรื่องนี้ มันก็มีปัญหาให้ได้พิจารณาในหลายแง่มุมไปอีก คือ อย่างว่า ในศาสนาของพระพุทธเจ้าที่เกิดขึ้นหลังระยะสุญญกัปป์ที่ยาวนานเป็นอสงไขยนั้น  ซึ่ง แสดงว่า พรหมสุทธาวาสทั้งสิ้น ไม่น่าจะมีเหลืออยู่แล้ว.  สุทธาวาสทั้งสิ้น น่าจะปรินิพพานไปหมดแล้ว ปรากฏเป็นภูมิอันว่างเปล่าไป.

แล้ว สำหรับพระพุทธเจ้าองค์นั้น  ใครจะเป็นคนเชิญบริขาร และใครจะมาแสดงนิมิตแห่งสมณทูต?   นี่เป็นปัญหาที่ยากจะคิดค้นคำตอบได้อยู่.  หากว่าคำตอบเรื่องสมณทูตข้ามพุทธวงศ์เป็นเรื่องที่เที่ยงแล้ว ก็ควรจะตอบเรื่องพวกนี้ได้.

ความจริง เรื่องพวกนี้ ไม่น่าจะไปลำบากถึงพระอนาคามี. คือ พระมหาโพธิสัตว์เองนั่นล่ะ ที่จะเตรียมการณ์ให้ตนเองได้ รู้ว่าตนเองจะออกบวชด้วยได้เห็นบุพพนิมิต๔ประการ.  ก่อนมาจุติ ท่านก็ต้องได้บอกกล่าวเทพบุตรแวดล้อม ที่ไม่พากันลงมาเกิด เป็นต้นว่า พระอินทร์อย่างนี้ ให้ทำหน้าที่เตือนสติท่านเองก็ได้. คือ เมื่อเห็นเป็นกาลอันสมควรแล้ว ก็ให้แสดงบุพพนิมิตให้ปรากฏ และในวันที่ลูกของท่านคลอด ก็ให้มาแสดงนิมิตแห่งสมณทูตเสีย.  นี่ก็ไม่ต้องไปลำบากพระอริยเจ้าทั้งหลาย เพราะมันไม่จำเป็น.

หรือหากจะเห็นพระสมณทูต ในอีกลักษณะความมุ่งหมายคือ เหมือนที่เรียกพระโสณและอุตตระ ว่าเป็นสมณทูต มาเผยแพร่ศาสนา.  แล้ว พระอรหันต์วงศ์โคตมะนี้ จะอยู่ข้ามพุทธวงศ์ไปเพื่อเผยแพร่ศาสนาหรือ? ศาสนาของใคร?

เมื่อท่านจะเผยแพร่ เรื่องราวก็ต้องปรากฏว่า ท่านเป็นภิกษุมาแต่สมัยพระพุทธโคดม  จะยิ่งดูวิเศษน่าเลื่อมใสกว่าพระพุทธเจ้าและพระอัครสาวกมหาสาวกทั้งหลายด้วยหรือเปล่านั่น.   นี่กล่าวโดยความมุ่งหมายความเลื่อมใสจากมหาชน ในอันจะน้อมใจลงฟังธรรม.  เขาก็ต้องรอฟังจากพระโบราณ ผู้ล่วงกาลผ่านวัยมานานมากถึงข้ามอันตรกัปป์ไปอย่างนั้น.

แต่ ย้อนมาพิจารณาวิสัยปัญญาของพระพุทธเจ้าและพระอัครสาวกมหาสาวกทุกพุทธวงศ์.  ท่านไม่มีปัญญาสามารถจะอบรมสั่งสอนสัตว์ให้ได้บรรลุธรรมเลยหรือ? ถึงต้องได้อาศัยความช่วยเหลือ นำเข้าบุคคลากรข้ามยุค ข้ามพุทธวงศ์อย่างนั้น.  อันนี้มันน่าขำสิ้นดีเหมือนกัน พระองค์ไหนอยู่ไปจนข้ามพุทธวงศ์ไปอย่างนั้น ก็น่าตำหนิเอามากๆ ดูหมิ่นพุทธคุณเสียด้วย.  ซึ่ง นี่ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ ซึ่ง พระอรหันต์ผู้ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า ชื่อว่าเป็นผู้มีความกตัญญูนี้ จะแสดงอาการอย่างนั้น.

จะกล่าวไปใยถึงพระภิกษุเล็กในพุทธวงศ์หนึ่ง   ก็ตั้งแต่พระอัญญาโกณฑัญญะ ซึ่งเป็นผู้บรรลุธรรมก่อนสาวกทั้งปวง  ท่านพิจารณาว่า การดำรงอยู่ในท่ามกลางพุทธบริษัทของท่าน เป็นเหตุให้พระโมคคัลลาน์และสารีบุตร ทำหน้าที่อัครสาวกได้ไม่เต็มที่ ทั้งๆที่ตั้งปรารถนามาตั้งองสไขยแสนกัปป์เพื่อกิจนี้  แต่พอมีพระอัญญาโกณฑัญญะปรากฏร่วมด้วยทีไร ทั้งสองพระอัครสาวกก็ไม่กล้าแสดงธรรมอย่างเต็มที่  มีแต่จะเชิญพระอัญญาโกณฑัญญะให้กล่าว ทั้งๆที่จริง พระอัครสาวกมีความเชี่ยวชาญในการสอนมากกว่า.

นี่เป็นแบบอย่างพระอรหันต์ ท่านไม่ใช่คนปัญญาหยาบขนาดจะดำรงอยู่ไปข้ามศาสนา เพื่อไปก่อความเก้อเขินให้แก่ท่านอื่นๆ.  อีกประการหนึ่ง ปรากฏการณ์พระอรหันตสาวกข้ามพุทธวงศ์นี้ ก็ไม่มีปรากฏในที่ไหน
ด้วย

 -

ก็ตั้งแต่พระปัจเจกพุทธเจ้าเอง ไม่ได้เที่ยวสั่งสอนสัตว์โลกเหมือนอย่างพระอรหันตสาวกหรือพระสัมพุทธเจ้า.  เพียงแค่ท่านได้ยินข่าวการมาเกิดของพระมหาโพธิสัตว์แล้วเท่านั้น ท่านก็ยังต้องปรินิพพาน.  ก็องค์คุณของท่านไม่ใช่น้อยๆ  ท่านก็ยังไม่ทะลึ่งอยู่ข้ามศาสนา ข้ามพุทธวงศ์  แล้วประสาอะไรกับเรื่องของพระอรหันตสาวก.

ด้วยเหตุนี้ การเป็น
สมณทูตข้ามพุทธวงศ์  ไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้เลย.

เมื่อไม่มีกิจเรื่องการเป็นสมณทูตข้ามพุทธวงศ์  แล้วพระอรหันต์แต่โบราณ รักษาอายุไว้เพื่อทำกิจอะไร ในช่วงเวลาใดกัน?  นี่จะผูกเรื่องนำเสนอต่อไป ตามแนวแห่งจินตนาการ

 

คำสำคัญ (Tags): #สมณทูต
หมายเลขบันทึก: 154051เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2007 00:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท