คัมภีร์ "โพสะราดและสังคะปะกอน" (1) อารยธรรมอันจบงาม


คำพีโพสะราดและสังคะปะกอน กฎหมายบูฮานลาว ลดจะนาโดย สำลิด บัวสีสะหวัด พิมเทื่อที่หนึ่ง 1996 อุบปะถำโดยมูนนิทิโตโยตาแห่งปะเทดยี่ปุ่น

วันที่ 25  ธันวาคม  2550  ผมได้รับซองเอกสารไปรษณีย์ขนาดบรรจุเล่มเอกสารเอ 4  เปิดดูจึงรู้ว่าเป็นท่าน paleeyon ผู้มากล้นน้ำใจจัดส่งให้  เป็นสิ่งที่ผมพบได้ในโลกแห่งการแบ่งปันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ G2k แห่งนี้  จึงขอขอบคุณท่านเป็นอย่างสูงในโอกาสนี้ เอกสารดังกล่าวคือ  "คำพีโพสะราดและสังคะปะกอน  กดหมายบูฮานลาว  ลดจะนาโดย  สำลิด  บัวสีสะหวัด  1996  อุบปะถำโดยมูนนิทิโตโยตาแห่งปะเทดยี่ปุ่น"

               

แม้ผมไม่ค่อยสันทัดในเรื่องทางกฎหมาย  แต่ด้วยความที่ชอบฝึกอ่านภาษาลาวมาตั้งแต่เด็ก ๆ จากฉลากยาและฉลากสินค้าต่าง ๆ ที่ผลิตในไทยแล้วส่งไปขายประเทศลาว  จึงพออ่านภาษาลาวได้  ดังนั้นเพื่อเป็นการขอบคุณท่านpaleeyon ที่แบ่งปันเอกสารมาให้  และความอยากพูดอยากคุยอันเกี่ยวแก่เรื่องภาษาอีสาน  ภาษาลาวซึ่งผมได้มีโอกาสบันทึกที่เวทีแห่งนี้  แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับท่านที่สนใจร่วมกันมาระยะหนึ่ง

ผมจึงขอเปิดบล็อกขึ้นมาใหม่ชื่อ "ศึกษาจากภาษาลาว " เพื่อการคุยแลกเปลี่ยนทางภาษาไม่ว่าจะเป็นภาษาลาวในเอกสารของทางการลาวจริง ๆ  หรือภาษาอีสานโบราณ  เป็นการเฉพาะเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านนี้ให้กว้างขวางขึ้นต่อไป

เมื่อผมไม่ถนัดเรื่องกฎหมาย  จึงเป็นการศึกษาเอกสารในลักษณะการใช้ภาษาลาว  ซึ่งตรงกันกับภาษาอีสาน  และปัจจุบันพบว่าภาษาอีสานแบบที่ผมเคยได้ยินเคยใช้  ได้ห่างหายไปจากการพูดของคนอีสาน   แต่ยังมีใช้กันอยู่เป็นปกติในประเทศลาว  บางศัพท์บางคำพูดที่ทางภาคอีสานไม่ค่อยใช้  เพราะความแตกต่างของแต่ละภาษาเฉพาะถิ่นของคนลาวและคนภาคอีสาน (เหมือนภาษาถิ่นไทยกรุงเทพฯ  เพชรบุรี  ระยอง ที่มีส่วนที่แตกต่างกันออกไป) ก็ได้พบในเอกสารนี้เช่นกัน

ในคำนำซึ่งลาวเรียกว่า "คำเห็น" ของท่านบัวบาน  วอละขุน  รองรัฐมนตรีกระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม  สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  กล่าวไว้ว่า "ชาดลาวแม่นชาดที่มีอาลิยะทำ  อันจบงามมาตั้งแต่ดนนาน  อาลิยะทำดังก่าว  แม่นส่องแสงให้เห็นได้ในกานออกแฮงงานทำมาหากิน  กานต่อสู้กับสัดตูและทำมะชาด  เพื่อปกปักฮักสาชาด  และเพื่อส้างบ้านแปงเมืองของตนด้วยความทอละหดอดทน  ในปะหวัดสาดอันยาวไก  ของปะชาชนลาวบันดาเผ่า"

ศัพท์ที่ควรทราบ 1) อาลิยะทำ : อารยธรรม   2) อันจบงาม : อันงดงาม(งามคำเดียวคืองามธรรมดา  ถ้า จบงามคืองามมาก ความหมายอีกอย่างคือแปลว่า ดี)   3) ดน : นาน   

ท่านบัวบาน  วอละขุน  กล่าวเพิ่มอีกว่านอกจากการร่วมกันสร้างบ้านแปงเมืองจาก "การเป็นเผ่าชน  กายมาเป็นกุ่มชน  และเต้าโฮมเอาหลายกุ่มชนของวงคะนายาดผูกพันกันเข้าเป็นวงคะนายาดแห่งชาด และส้างตั้งเป็นปะเทดหนึ่ง" แล้วยังได้รับความรู้จากชาติอื่น ๆ มาประกอบให้เกิดความรู้ความสามารถของชนชาติลาวขึ้นมาอีกด้วย

"ความฮู้ทางด้านวิชากานต่าง ๆ ที่บ่มซ้อนก็ได้ถืกขุดค้นมาจากกานออกแฮงงานของตนเอง  นับทั้งความฮู้ที่นำเอาวงคะนายาดของชาดอื่นมาปะดิดส้างขึ้น  ในขะบวนวิวัดแห่งการเคื่อนไหว" 

ศัพท์ที่ควรทราบ  เต้าโฮม : รวม,  เต้า หรือ โฮม คำเดียวก็หมายถึงรวม.. เช่น การทำบุญใด ๆ ของภาคอีสานวันก่อนถวายทานเรียกว่า มื้อโฮม หรือวันโฮม ก็คือวันรวมจตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องจากญาติพี่น้อง/ ชาวอีสานจัดงานเลี้ยงพบปะสังสรรค์ตอนเย็นมีการดื่มกินรื่นเริงก็มักตั้งชื่องานว่า "โฮมพาแลง" แยกศัพท์ได้ว่า โฮม : รวม, พา : พาข้าว  ถาดอาหาร,  แลง : เวลาค่ำ, ชื่ออาหารมื้อเย็นเรียกข้าวแลง (คนอีสานบางคนตั้งชื่อร้าน/ผับดื่มกินแบบคันทรีฝรั่งว่า "โฮมกัน...Home Gun" ก็ได้ความหมายและบรรยากาศคาวบอยผสมนายฮ้อยได้ดีเหมือนกัน)

ความสำคัญของการจัดทำคัมภีร์ซึ่งเรียกว่าการชำระและปริววรรตครั้งนี้  ท่านบัวบาน กล่าวว่า "เพื่อสึกสาค้นคว้า  แนใส่ให้พวกเฮาเห็นได้  ความเป็นมาของกานบอลิหาน  และกานปกคองปะเทดชาด  ในสะไหมบูฮานของลาวเวลานั้น"  ทั้งนี้แม้ท่านจะทราบว่ามีการนำใช้ในพฤติกรรมจริงในปัจจุบันน้อยก็ตาม "แต่มันยังคุนปะโหยดหลายให้แก่กานการสึกสาวิไจ  สำหลับนักค้นคว้ากดหมาย"

ในตอนท้ายของ "คำเห็น" ท่านได้สรุปไว้ว่า "บันดาท่านจะได้ฮับฮู้อย่างเป็นละบบว่าคนลาว  ชาดลาวเวลาใดก็เป็นคนที่ละเบียบ  มีกานจัดวางให้สังคมมีละเบียบ  มีความยุดติทำ  ทังได้ส่องแสงให้บันดาท่านเห็นว่า  แนวคิดของปะชาชนลาวบันดาเผ่า  ในสะไหมบูฮานคือแนวใด  อันนี้  แม่นได้กายมาเป็นมูนเชื้ออันหนึ่งของคนลาว...สืบต่อกันมาเถิงทุกวันนี้"

ศัพท์ที่ควรทราบ  1) แน : เล็ง, มุ่ง  เช่น การยิง  การขว้างอาวุธต้อง แน ทุกครั้ง   2) บูฮาน : โบราณ   3) มูนเชื้อ : ความเป็นมา (มูน : มรดก)

สำนวนภาษาในคำนำนี้  ผมสังเกตุได้ว่าเป็นสำนวนภาษาลาวที่งดงามไพเราะ  อันชี้ถึงจิตใจของผู้กล่าวได้ดี  เช่น "ความรู้ทางด้านวิชาการที่บ่มซ้อน...  นับทั้งความรู้ที่นำเอาวงคณาญาติของชาติอื่นมาประดิษฐ์สร้างขึ้น  ในขบวนวิวัฒน์แห่งการเคลื่อนไหว" การนำคำว่า "ส่องแสง" มาใช้ซึ่งได้ทั้งจินตนภาพ  และอารมณ์ของบริบทภาษา  เป็นต้น

ประเด็นซึ่งกล่าวถึงความมีระเบียบวินัย  ความยุติธรรม  ความสามัคคี  รวมความว่าเป็นความมีอารยะ  ดังที่ท่านบัวบาน  วอละขุน กล่าว"คำเห็น" ไว้ในคัมภีร์ "โพสะราดและสังคะปะกอน"  ครั้งนี้เป็นสิ่งที่ควรศึกษาอย่างยิ่ง  ผมขอเสนอในตอนต่อ ๆ ไปครับ

อ้างอิง

สำลิด  บัวสีสะหวัด.  1996. คำพีโพสะราดและสังคะปะกอน  กฎหมายบูฮานลาว.  เวียงจัน : มูนนิทิโตโยตาแห่งปะเทดยี่ปุ่น.

 

หมายเลขบันทึก: 156694เขียนเมื่อ 31 ธันวาคม 2007 00:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับ

เมื่อคืนแวะมาดูแล้ว แต่สงสัยว่าจะยังไม่ได้เพิ่มรายละเอียด ท่าทางน่าสนใจไม่น้อยเลย ผมเก็บใส่แพลนเน็ตเรียบร้อยแล้ว ผมมีหนังสือลาว ชำระขุนทึงขุนเทืือง ได้ทุนมูลนิธิโตโยต้าเหมือนกัน ไม่ทราบว่าครูชาเคยอ่านหรือยัง ถ้ายังไว้โอกาสหน้าจะมาแลกกันดูครับ

ครูชาเล่าเรื่องและอธิบายศัพท์ได้ละเอียดลออมากครับ ทำให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้นเยอะ

ตัวหนังสือที่ยกมา เล็กกว่าปกติ เลยอ่านยากไปหน่อย ถ้าจะขยายขนาด หรือไว้ขนาดเดิม  แต่เปลี่ยนสี (จะได้ไม่ต้องเอน) น่าจะทำให้อ่านง่ายกว่านี้ครับ

สวัสดีปีใหม่ครับ 

  • สวัสดีปีใหม่ 2551 ครับคุณ P 1. ธ.วั ช ชั ย เมื่อคืนผมกลับจากงานปีใหม่ระดมทุนของโรงเรียนประถมหมู่บ้าน รู้สึกง่วงมาก  แต่ตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้ให้ได้  เลยเขียนไว้ส่วนหนึ่งก่อน
  • ขณะคุณ ธ.วั ช ชั ย เข้าเยี่ยมผมเพิ่งเสร็จการเพิ่มความหมาย เต้าโฮม พอดี
  • ขุนทึงขุนเทืองฉบับมูลนิธิโตโยตาผมไม่มีครับ  รู้สึกจะมีฉบับอีสานหรือเปล่าผมจะลองค้นดู  แต่ถ้ามีฉบับลาวผมจะตั้งใจอ่านมากครับ  เพราะต้องการฝึกและเหมือนเราดูงานศิลปภาษาอย่างนั้น
  • แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางบันทึกหรือทางเอกสารสำเนา "ปึ้ม" ก็นับว่าเป็นบุญตาบุญใจครับผม  ยินดีมากครับ
  • ส.ค.ส. 2551 แด่ชาว G2K

โดยในถ้านะข้าพะเจ้าเป็นคนลาว ข้าพะเจ้าเชื่อว่าสีงสักสีดในดีนแดนล้านช้างยังคงรักสาดีนแดนล้านช้างอยู่ และอีกปะกานอันหนื่งอยากให้รับรู้ทัวหน้าว่าปะเทดลาวงามหลายวัดวาอารามกางามเหนือนดังบันพะบุรุดได้ส้างไว

ขอขอบใจ ขอบคุณ ท่านหลอดแก้ว ผู้เข้ามายามและแสดงความเห็น ผมเกิดและโตที่ขอนแก่นฮีตคองต่าง ๆ วิถีชีวิตมาแต่พ่อแม่ก็เป็นต่อนด้ามเดียวกัน จะผิดก็แต่วันเวลาที่หมุนไป การสื่อสารของโลกปัจจุบันทำให้มีความเปลี่ยนแปลงของคนเกิดใหม่ใหญ่ลุน คิด พูด อยู่กินตามสมัยกันไปไม่เว้นแม้แต่บ้านเมืองของเราท่าน ... แต่เชื่อเถอะครับว่าตราบที่เรากินข้าวเหนียว กินปลาร้าปลาแดก ว่าแซบอร่อย ตราบนั้น สองฟากฝั่งของ/โขง ก็ยังมีจิตใจอันจบงามฮักแพงกันอยู่ และอ่าวคะนิงหาในใจต่อกันมาตลอดมา..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท