คณิตศาสตร์การเงิน: การประกันความเสี่ยงสุขภาพ (ฉบับแก้ไข)


แนวคิดนี้ ทำให้เราอาจต้องกลับมาดูชุมชนเข้มแข็ง ว่าบริหารการเงินการคลังโดยอิงกับข้อมูลมหภาคได้ดีพอหรือยัง ถ้ายัง อีกสิบ-ยี่สิบปีข้างหน้า อาจเกิดการล้มแบบโดมิโน...

อีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประเทศจะเข้าสู่ยุค "สังคมชราภาพ"

คือ เป็นยุคที่ผู้สูงอายุมีมาก

มีมากอย่างโดดเด่น

หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 04 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10434

"ยูเอ็นชี้ไทยไม่พร้อมรับมือคนแก่ล้น"

"เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม สำนักข่าวเอพีรายงานว่า กองทุนประชากรโลกแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอฟพีเอ เผยว่าในขณะที่จำนวนประชากรสูงอายุของไทยอาจจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตัวในอีก 20 ปีข้างหน้า แต่ทางการไทยกลับไม่เตรียมพร้อมรับมือกับจำนวนประชากรสูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นมาแต่อย่างใด

ยูเอ็นเอฟพีเอระบุว่า ปี 2548 ไทยมีประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปี ราว 10% ของจำนวนประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 6 ล้านคน แต่ภายในปี 2568 ไทยจะมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 19.8% หรือราว 12.9 ล้านคน และในปี 2593 จะเพิ่มขึ้นถึง 20 ล้านคน หรือ 20% ..."

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ รู้ หรือ ไม่รู้

แต่อยู่ที่ เตรียมตัวพร้อม หรือ เตรียมตัวไม่พร้อม

อีกยี่สิบปีข้างหน้า จำนวนคนหง่อมหมดสภาพ จะเพิ่มจากปัจจุบันประมาณ 2 เท่า และภาระโรค จะสูงกว่า 2 เท่า

ค่าใช้จ่ายตรงนี้ จะสูงขึ้นมากกว่า 2 เท่า เพราะโรคคนแก่ ค่าใช้จ่ายมักสูงกว่าคนหนุ่มสาวหลายเท่า

ระบบประกันสุขภาพ จะช่วยบรรเทาปัญหาเรื่องสุขภาพ ของคนในสังคมชราภาพ ได้ไม่น้อย

ประกันที่ว่า อาจเป็น จากภาครัฐ

ประกันที่ว่า อาจเป็นที่รายคน ทำเองโดยสมัครใจ

หากใครคิดว่า ภาครัฐ ดูแลเต็มที่และทั่วถึง แสดงว่า ดูละครทีวีมากไป 

และแสดงว่า ไม่เคยดูรายการ โศกนาฎกรรมบันเทิงหลังข่าว เลย

(พล็อตคุณตาคุณยายอายุเก้าสิบ ตาบอด คุ้ยขยะ เลี้ยงหลานพิการ)

 

คนที่ไม่ประมาท จะพยายามคิดพึ่งตนเองก่อน

สมมติว่า ผมมองว่า สักวันหนึ่ง ผมจะเป็นโรคสารพัดโรค

ล้วนเป็นโรคที่คนแก่พึงมีพึงได้ตามสิทธิพลเมือง และสิทธิมนุษยชน

...มีสิทธิแล้ว ก็ต้องใช้สิทธิซะหน่อย..จริงมั้ย ?

 

ทีนี้ สมมติว่า สารพัดโรคที่ว่า ต้องใช้เงิน 10 ล้านบาท ถึงจะ "เอาอยู่"

แต่บังเอิญว่า โอกาสเป็นโรคแบบนั้น จริง ๆ แล้ว มีแค่ 1 % หรือ 1 ใน 100 เท่านั้น

แสดงว่า ถ้าผมอยู่โดดเดี่ยว ผมต้องป้องกันความเสี่ยง ด้วยการต้องมีสำรอง 10 ล้านบาท เพื่อรองรับเรื่องโรคที่อาจจะบังเอิญเป็น

แต่ถ้ามีคนอย่างผม 100 คนล่ะ ?

ถ้าทั้ง 100 คน อยู่แบบพึ่งพาอาศัยกันได้ รวมทั้งหมด มี 10 ล้าน ก็พอแล้ว เพราะคาดว่า เป็นโรคแค่คนเดียว

ผลคือ หากทุกคนลงขันคนละ 1 แสนบาท ก็จะทำให้ทุกคนมีหลักประกันว่า เมื่อถึงคราวรับโชค มี ส้มหล่น ตัวเองได้ใช้สิทธิ(เป็นโรค) จ่ายแสนเดียว ก็อยู่รอดได้ โดยไม่ต้องตุนไว้ตั้ง 10 ล้านเพื่อรักษาโรค

แถมตอนจ่าย ยังผ่อนส่งได้ เช่น ผ่อน 10 ปี ก็ทำให้จ่ายปีละหมื่น

จ่ายได้ง่ายขึ้นเยอะ

 

คิดแบบนี้ ตกหล่นอะไรไปไหม ?

ตกหล่นหลายจุดครับ

 

ตกหล่นแรก ตกหล่นเรื่องจิตวิทยามนุษย์ คือ การลงขัน

ใครจะมาลงขันให้คนแปลกหน้า ?

ตรงนี้ ก็เลยมีคนที่ใช้ทำมาหากิน ด้วยการรับมาเป็นคนกลางจัดการไงครับ

คือ ทุกคน จ่ายให้คนกลางนี้ มากกว่า 1 แสน อาจเป็น แสนห้า อาจเป็นสองแสน ก็ตามแต่กลไกตลาด

จ่ายนี่ อาจแบ่งจ่ายไปหลาย ๆ ปี เช่น 10 ปี ก็จะทำให้จ่ายต่อปี น้อยลงไปเยอะ

คนกลางนี้ ก็จะดูแลว่า รอบนี้ ใครโชคดี ได้ใช้สิทธิ เขาก็รับหน้าเสื่อจ่ายให้แทน

ตามสถิติ คนกลาง ก็จะเก็บค่าต๋งส่วนที่เกินไปจากค่าเฉลี่ยทางสถิติ ไปทำมาหาเลี้ยงตัวเอง

ก็มีความสุขกันทุกฝ่าย

เกิดอาชีพ "ประกัน" ขึ้นมา (ประกันภัย - ประกันสุขภาพ - ประกันชีวิต)

ในกรณีของ "ชุมชนเข้มแข็ง" ที่บริหารการเงินชุมชนเอง เช่นโครงการสัจจะวันละบาท ก็สามารถตัดระบบตัวกลางไปได้ ทำให้ทุ่นค่าต๋ง

แต่ชุมชนเข้มแข็งที่ว่า จะมีความเสี่ยงเชิงระบบ คือ

1. ผลจากขนาดประชากรที่น้อย จะทำให้เกิดความผันผวนไปจากค่าเฉลี่ยทางสถิติได้ง่าย เช่น บังเอิญสมาชิกเจ็บ-ตาย มากผิดคาด ก็ทำให้เงินขาดมือปุบปับได้ ซึ่งทางแก้คือ การเกาะกลุ่มหลายชุมชน เพื่อเฉลี่ยให้ความเสี่ยง "นิ่งตามคาด" แต่ก็จะมีปัญหาเรื่องการจัดการตามมา

2. ผลจากการไม่อิงสถิติ นั่นคือ ไม่ได้อิงตัวเลขการจ่ายสินไหมตามข้อมูลมหภาคที่ควรเป็น ก็จะทำให้เกิดการไม่สมดุลของรายรับ-รายจ่ายได้

ประเด็นเหล่านี้ ผมสังหรณ์ว่า จะเป็น "จุดตาย" ของชุมชนเข้มแข็งเองในระยะยาว 

 

ตกหล่นที่สอง ตกหล่นทางสถิติ

เอ๊ะ หล่นได้ไงอ่า ? ยังไม่ทันถือไว้เลย !

สิ่งที่หล่น คือ ช่วงหางของความเป็นไปได้แบบ "โคตรซวย" ของบริษัทประกันเอง

กลับมาที่สมมติเรื่อง 1 ใน 100 อีกที

1 ใน 100 ก็คือ เลขท้ายสองตัว

ไม่ใช่ว่า เราต้องซื้อ 100 ใบพอดี จึงจะถูก 1 ใบ

ถ้าซื้อปึก เลขเรียงกันต่อเนื่อง แบบนั้น 100 ใบ ถูก 1 ใบ แน่นอน

แต่ถ้าซื้อสุ่มล่ะ ?

บางคน ซื้อ 100 ใบ อาจถูก 2-3 ใบ ก็ได้

บางคน ซื้อตั้งหลายร้อยใบ อาจไม่ถูกเลยสักใบ

บางคน ซื้อใบเดียว ก็ถูกใบนั้นเลย

เป็นผลจาก "การสุ่มตัวอย่างมาน้อยเกินไป"

นี่เป็นไปตามกฎการแจกแจงทวิภาค (binomial distribution) ที่ค่าคาดหมาย E และค่า variance, Var ของการเกิดเหตุการณ์ที่มีความเป็นไปได้ p ในประชากร n (อ้างอิง: wikipedia)

\operatorname{E}(X)=np\,\!
\operatorname{Var}(X)=np(1-p).\,\!  

ข้อมูลนี้ นำไปทำนายต่อตามหลักสถิติได้ว่า หากทดลองสุ่มสิ่งที่มีโอกาสเกิด 0.01 มาทั้งหมด 100 ชิ้น จะพบเหตุการณ์เฉลี่ยคือ 1 ครั้ง โดยอาจพบเกินค่าเฉลี่ยนี้ก็ได้ เพียงแต่ไม่บ่อย เช่น 2-3 ครั้ง ก็ไม่แปลก แต่หากเกิน 7 ครั้ง ยากสุด ๆ ที่จะพบ

บริษัทประกันไหน เจอแจ๊คพ็อต มีคนใช้สิทธิมากกว่าค่าเฉลี่ย ก็จะซวย เพราะกระเป๋าฉีก

ทางออก ก็เลยมีอยู่ 2 อย่าง

 

ทางแรก ไป "ประกันภัยต่อ" (re-insuranace)

ถ่ายโอนความเสี่ยงยิ่งยวด ไปให้บริษัทอื่น ที่เป็น ห่วงโซ่อาหาร สูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง

คือให้มองว่า บริษัทประกันภัยทั่วไป เหมือนคนเดี่ยว ๆ

แล้วบริษัทประกันภัยต่อ ก็มารับประกันการ กระเป๋าฉีก ให้บริษัทประกันทั่วไปอีกที

โดยระบบแบบนี้ ก็ทำให้บริษัทประกันภัยเล็ก ๆ ก็อยู่ได้ โดยไม่ต้องผวาว่าจะกระเป๋าฉีกถ้าเจอคราวซวยสุด ๆ

บริษัทประกันภัยต่อ ซึ่งบางคนเรียกธุรกิจ Supercat (ย่อจาก super-catastrophe) ก็จะกลายเป็นธุรกิจที่ผันผวนสุด ๆ เพราะปีไหนกำไร ก็กำไรอื้อซ่า ปีไหนขาดทุน ก็ขาดทุนกันบักโกรก และต้องป้องกันตัวเอง ด้วยการเพิ่มฐานลูกค้า เพื่อลดระดับความผันผวนลงมา

 

ทางที่สอง เพิ่มฐานลูกค้า ให้มีฐานลูกค้ากว้างขึ้น

กรณีที่เราซื้อหวยสุ่ม ๆ 100 ใบ เราคาดว่า ถูกเลขท้าย 2 ตัวประมาณ 1 ใบ และเราจะไม่แปลกใจที่อาจถูก 2-3 ใบ (...และก็เช่นกัน อาจไม่ถูกเลยซักใบ)

แต่หากซื้อหวยสุ่ม ๆ แสนใบล่ะ ?

คราวนี้ ตัวเลข จะนิ่งมาก คือ เราจะถูกราว ๆ 900-1100 ใบ แถว ๆ นั้น

เรื่องไม่ถูกเลย ไม่มีทาง

เรื่องที่จะถูกถึง 2000 ใบ ก็ไม่มีทางเหมือนกัน

(เอ้อ...ใครโกงด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน ด้วยการไปขูด เซ่น บนบาน กลุ่มนั้น ถือว่า เกิดอคติมัวหมองในกระบวนการสุ่ม ไม่นับนะครับ)

เมื่อขนาดการสุ่มใหญ่ขึ้นมาก ๆ ทุกอย่าง ล้วนอธิบายได้โดยค่าเฉลี่ย อย่างแม่นยำ ไม่มีผิดคาด หรือถ้ามี ก็ไม่รุนแรง

เพราะกฎของการแจกแจงทวินาม ระบุว่า ยิ่งกลุ่มประชากรใหญ่ขึ้นเท่าไหร่ ความแม่้่นยำในการทำนายของกระบวนการเชิงสุ่ม ก็ยิ่งดีขึ้น (ความแม่นยำ แปรผันตรงกับรากที่สองของการประชากรที่สุ่มมา)

ดังนั้น บริษัทประกันที่ใหญ่มาก ๆ มีฐานลูกค้ากว้างมาก ๆ จึงได้เปรียบเชิงขนาด เพราะทุกอย่างเป็นไปตามกฎค่าเฉลี่ย ไม่มีความผันผวนผิดคาดให้ต้องสะดุ้ง เป็นบริษัทที่อิงกับ economy of scale เป็นหลัก

 

ตกหล่นที่สาม ตกหล่นเรื่องระบบทุนนิยม

ความเสี่ยงที่จะเกิดหักมุม ที่บริษัทไปผ่องถ่ายต่อให้คนอื่นไม่ได้ (re-insurance ไม่ได้) หรือเพิ่มฐานลูกค้า ก็ไม่มีส่วนช่วย ก็คือ กรณีที่บริหารตัวเองผิดพลาด ล้มละลายทางการเงินไปเสียก่อน เช่น ไปลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในประเทศที่ฟองสบู่กำลังจะแตก หรือไปลงทุนต่อโดยฝีมือลงทุนไม่ถึงขั้น หรือ ใช้เงินไม่เป็น ฯลฯ ฯลฯ

บริษัท ก็เหมือนคนครับ ตายเป็นเหมือนกัน

ตอนนี้ สมาคมประกัน เขามีการมารับช่วงความรับผิดชอบต่อ หากมีบริษัทประกันล้มหายตายจากไป ทำให้ประชาชนไม่เดือดร้อนจนทำให้เกิดวิกฤติศรัทธาระบบการประกัน

แต่ในอนาคต เมื่อ FTA กันเต็มตัว นโยบายนี้ อาจเปลี่ยนไป...

 

หมายเลขบันทึก: 160351เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2008 21:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ

กรณี "ประกันภัยต่อ" (re-insuranace) ถ่ายโอนความเสี่ยงยิ่งยวด ไปให้บริษัทอื่น ที่เป็นห่วงโซ่อาหาร สูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง

เท่าที่ทราบ  เป็นเรื่องปกติเลยค่ะ ยังทำกันอยู่ค่ะ หลานชายอยู่บริษัทรับประกันภัยต่อค่ะ

ส่วนเรื่องการประกันชีวิตหรือสุขภาพ ดิฉัน ว่า จำเป็นค่ะ เป็นการประกันความเสี่ยงค่ะ

อย่างดิฉันเอง ทำบริษัทตัวอย่างอยู่  ประกันสังคมให้พนักงานทุกคน รวมทั้งแม่บ้าน คนรถ คนสวนด้วย ทุกคนต้องมีหลักประกันในชีวิต มิฉะนั้น ดิฉัน ถือว่า เป้นการเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์อย่างร้ายแรงมากค่ะ

ส่วนตัวเอง ก็มีประกันสังคม ประกันชีวิต และลูกก็มาประกันสุขภาพให้อีกด้วย ก็ไม่ห่วงในค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพค่ะ

อะไรๆก็ไม่สู้ คำพูดของลูกที่บอกว่า

  เป็นหน้าที่ของลูกชายจ้ะแม่ ที่ต้องดูแลพ่อแม่......ปลื้มค่ะๆๆ

 

สวัสดีครับ พี่ sasinanda

  • ผมก็มองว่า การประกัน เป็นความจำเป็นต้องมี
  • คือ ต้องมีให้พอดีความเสี่ยง
  • มีน้อยไป ก็เสี่ยง
  • มีมากไป ก็สูญเปล่า ไม่สร้างสรรค์
  • ดังนั้น การประกันต่อ ก็เป็นเรื่องที่จำเป็น เพื่อปรับให้บริษัทขนาดเล็ก รับมือกับความเสี่ยงได้พอดี ๆ
  • ผมเห็นด้วยครับว่า การไม่พยายามประกันความเสี่ยง เป็นการเอาเปรียบคนอื่น เพราะเดือดร้อนขึ้นมา ก็เป็นภาระคนอื่น
  • การมีลูก ก็เป็นวิถีของการประกันความเสี่ยงของมนุษย์แต่โบราณ
  • ลูกทำประกันสุขภาพให้ จึงถือว่า เป็นการ ประกันภัยต่อ ที่ฉลาดมาก ๆ ครับ
  • มีลูกดี พ่อแม่เป็นปลื้มครับ

สวัสดีค่ะ อ.วิบุล

มายืนขมวดคิ้วเพราะเบิร์ดกำลังนึกถึงตัวเองว่ามีประกันความเสี่ยงในอนาคตมากแค่ไหน ..อืม ระบบประกันสุขภาพหรือรัฐสวัสดิการของเราดูจะมีไม่เพียงพอนะคะ แถมต่อไปถ้าคนอายุยืนถึง 120 - 150 ปีจริงๆ ( ในอีก 40 กว่าปีข้างหน้า ) เกษียณที่ 60 ดูจะไม่เหมาะสมแล้วมั้งคะ เพราะเกษียณแล้วว่างงานอยู่อีกตั้งเท่าตัวหนึ่งแน่ะ 

อาจารย์อางขนางได้เลยค่ะ เพราะโดนคิดถึงอย่างแรงเลย ^ ^
  • แหม นี่ถ้าอยู่ใกล้ จะจิกแขนให้คิ้วหายขมวดเลย
  • ...
  • ตามสถิติโลก อายุคาดหมายของประชากรกลุ่มเพิ่มขึ้น 3 เดือนต่อปีมาตลอด 160 ปีที่ผ่านมานี้ (Jim Oeppen and James W. Vaupel. Broken Limits to Life Expectancy. Science 10 May 2002 296: 1029-1031) สอดคล้องกับข้อมูลของอีกทีมว่า อายุคาดหมายของประชากรกลุ่มเพิ่มขึ้น 3.6 เดือนต่อปีมาตลอด 20 ปี ที่ผ่านมา (Colin D Mathers, Ritu Sadana, Joshua A Salomon, Christopher JL Murray, Alan D Lopez.  World Health Report 2000: Healthy life expectancy in 191 countries, 1999. Lancet 2001; 357: 1685–91.)
  • ดังนั้น มองไปข้างหน้า 40 ปี อายุคนจะยืนขึ้น ราว 10-12 ปี (แต่ผมเชื่อว่า เทคโนโลยี GNR [genetic/nanotechnology/robotic] จะทำให้คนที่มีเงินจ่าย สามารถแก่ได้ไกลกว่านั้น
  • สะระตะ อายุเฉลี่ยคนไทยตอนนั้น คงราว 80+ ปี แต่ใครถึง 100 ปี ก็ไม่แปลก
  • ที่ผ่านมา อายุเฉลี่ยหลังเกษียณเป็นราว ๆ 8 ปี
  • ก็จะเป็นว่า คนต้องใช้เวลาหลังเกษียณนานขึ้น 2.5 เท่าจากปัจจุบัน
  • ผมคงไปก่อนเขาเถียงกันเสร็จแล้วหละ ว่าเกษียณที่ไหนดี
  • ว่าแล้ว ก็ ...
  • ...แก๊ก แก๊ก แก๊ก (บินหนีไปเลย)

ขอขอบคุณอาจารย์ wwibul...

  • ความเป็นไปได้อย่างหนึ่งของเทคโนโลยีทุกวันนี้คือ คนเรามีแนวโน้มจะมีอายุยืนขึ้นแบบ "โรคมาก(ขึ้นด้วย)"
  • การป้องกันโรค และการส่งเสริมสุขภาพจึงมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ
  • ขอขอบคุณอาจารย์ที่ยกประเด็นมาให้พวกเราสนใจกันครับ...

สวัสดีครับ คุณหมอนพ. วัลลภ พรเรืองวงศ์

  • โจทย์ของคนอายุ 35+ ปี ตอนนี้คือ จะเตรียมความพร้อมอย่างไร ไม่ให้ "หง่อม" ในวันข้างหน้า คือ แข็งแรง ช่วยตัวเองได้ อย่างน้อย ไม่ถึงขนาดต้องเสพติดการช่วยเหลือจากคนอื่น
  • หง่อม "กาย" (กระดูก-โรคเรื้อรัง)
  • หง่อม "ใจ"
  • หง่อม "การเงิน"
  • หง่อม "การเมือง"
  • ....
  • ที่คุณหมอทำอยู่ทุกวันนี้ ก็ตอบโจทย์นี้ไปไม่น้อยแล้วครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท