สวัสดิการชุมชนด้านสุขภาพอนามัย: รูปแบบการจัดสวัสดิการโดยชุมชน


การจัดสวัสดิการด้านสุขภาพอนามัยน่าจะเป็นมิติการจัดสวัสดิการชุมชนที่มีความกระฉับกระเฉง มีพลวัตรมากที่สุด

  

รูปแบบสวัสดิการชุมชนด้านสุขภาพอนามัย

 

          เงินกองทุนสวัสดิการชุมชน ส่วนใหญ่จะใช้เพื่อด้านสุขภาพอนามัยนี่เอง  ตั้งแต่เกิด แก่  เจ็บ  (ส่วนสวัสดิการที่เกี่ยวกับ การตาย ไม่น่าจะอยู่ในกลุ่มนี้  แต่เป็นการคืนเงินออม (เงินชดเชยเมื่อเสียชีวิต..ซึ่งเคยกล่าวถึงแล้วว่า ดูเหมือนบางกลุ่มจะ "คืน" มากเกินไป)  หรือ เป็นสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับระบบทางสังคม (ค่าฌาปนกิจ) มากกว่า  แต่ก็อาจมีผลทางจิตใจด้วย)

 

การจัดสวัสดิการชุมชนด้านสุขภาพอนามัย มีทั้งการจัดสวัสดิการที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน  เช่นเดียวกับด้านการศึกษา   สวัสดิการที่เป็นตัวเงิน มี 2 รูปแบบ คือ เงินกู้ยืม   กับ เงินให้เปล่า  

         

รูปแบบการให้กู้ยืม

  

มีอยู่เพียงไม่กี่กลุ่มที่จัดสวัสดิการในรูปแบบการกู้ยืม 

          ได้แก่   การให้กู้รักษาพยาบาลโดยไม่เสียดอกเบี้ย  (มณีบรรพต อ.บ้านตาก  จ.ตาก)

 

รูปแบบเงินให้เปล่า 

 

ส่วนใหญ่องค์กรการเงินชุมชนจะจัดสวัสดิการในรูปแบบนี้  บางชุมชน จัดสรรเงินเป็นกองทุน  เช่น  กองทุนสุขภาพชุมชน  กองทุนผู้สูงอายุ   การจัดเป็นกองทุนย่อย น่าจะทำให้บริหารจัดการง่ายขึ้น   ลักษณะการให้เงินของกลุ่มต่างๆจะคล้ายๆกัน  อัตราที่ให้ก็คล้ายกัน    เช่น

  • สวัสดิการค่านอนโรงพยาบาลเมื่อคลอดบุตร
  • รับขวัญเด็กแรกเกิด 500 ต่อคน   บางกลุ่มให้   1000 บาทต่อครอบครัว  (แสดงว่าสนับสนุนลูกแค่ไม่เกินสองคน)
  • ค่าน้ำมันรถไปหาหมอ  อยู่ในช่วง  100-500 บาทต่อครอบครัว
  • ค่ารักษาพยาบาล และ เงินชดเชยเมื่อเข้าโรงพยาบาล  อยู่ในช่วง 200 - 1000 บาทต่อครั้งต่อปี  ส่วนมากกำหนดจำนวนครั้ง เช่น  ไม่เกิน 2 ครั้งต่อปี 
  • ค่าเยี่ยมไข้  100-200 บาทต่อครั้ง   มักกำหนด 2 ครั้งต่อปี  (ตรงนี้น่าสนใจ  ที่ให้เงินกับคนข้างตัวผู้ป่วย  ไม่ใช่ให้เฉพาะผู้ป่วย  สะท้อนวิธีคิดของชุมชนที่คำนึงถึงความสัมพันธ์ของคน  กำลังใจของคนป่วย)
  • สวัสดิการผู้สูงอายุ  ผู้พิการ ทุพพลภาพ ผู้ติดเชื้อ

         

ปัญหาที่พบสำหรับการจัดสวัสดิการที่เป็นตัวเงิน    

 

ในรายงานของแต่ละชุมชน  มักไม่ค่อยบอกเรื่องปัญหา  แต่เท่าที่สรุปได้จากรายงานของ พอช. ได้แก่

  • ขาดหลักฐานเช่น ใบรับรองแพทย์  ชาวบ้านไม่เข้าใจภาษาแพทย์ 
  • มีปัญหาว่า ยาชนิดใดเบิกเงินได้ หรือเบิกไม่ได้
  • ปัญหาการเป็นโรคเรื้อรัง (สะท้อนข้อจำกัดของการจัดสวัสดิการในรูปตัวเงิน)
  • ยังไม่ครอบคลุมทุกครอบครัว

 การระบุปัญหา ไม่ใช่สิ่งเสียหาย แต่เป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้นมากกว่า

รูปแบบสวัสดิการที่ไม่เป็นตัวเงิน

         

เป็นรูปแบบการให้สวัสดิการผ่านกิจกรรม โดยส่วนตัวคิดว่า "ให้เงิน" ไม่ยาก  แต่ "ให้สวัสดิการที่ไม่ใช่เงิน"  ต้องใช้ทุนมากกว่า  เพราะนอกจากต้องใช้เงินแล้ว  ยังต้องใช้ทุนทางสังคม  กรรมการผู้จัด และสมาชิกที่เข้าร่วมต้องเสียสละเวลามาร่วมมือกัน   แต่ขณะเดียวกันก็สร้างทุนทางสังคมได้มากกว่า    

ในขณะที่การให้สวัสดิการในรูปตัวเงิน  มักเป็นการช่วยที่ปลายทาง เช่น การรักษา   แต่สวัสดิการที่ไม่เป็นตัวเงิน  จะเป็นได้ตั้งแต่ "การป้องกัน"    ที่สำคัญคือ  "การดูแล"  ซึ่ง "เงิน" อย่างเดียวดูแลไม่ได้   ต้องมี "คน" ช่วยดูแลด้วย   ตัวอย่างกิจกรรมได้แก่

  • กิจกรรมเสริมสร้างครอบครัวอบอุ่น ครอบครัวคุณธรรม  (เช่น ต.บ้านเสด็จ  อ.เมือง จ.ลำปาง)
  • โครงการอาหารกลางวันให้นักเรียน
  • การให้ความรู้เรื่องยาเสพติด  ป้องกันยาเสพติด  ค้นหาผู้ค้ายาเสพติด
  • การดูแลผู้ป่วย  (ทราบมาว่ามี  แต่เวลาเขียนรายงาน   กลุ่มต่างๆไม่ค่อยกล่าวถึงเรื่องเหล่านี้  ทั้งๆที่เราเห็นว่า  สำคัญ และควรสนับสนุนให้มีมากๆ)

          คิดว่า ชุมชนทำอะไรอีกเยอะแยะที่เป็นกิจกรรมสวัสดิการที่ไม่เป็นตัวเงิน แต่อาจไม่ได้รายงาน เพราะเป็นสิ่งที่ดำเนินการอยู่เป็นปกติมาแต่ไหนแต่ไร  เช่น  การส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสมุนไพร เป็นต้น

          ในการให้รางวัลสวัสดิการชุมชนตามแนวอาจารย์ป๋วย คงจะให้ความสำคัญกับกิจกรรมบริการที่ไม่ใช่เฉพาะ "การให้เงินสวัสดิการ"

 

กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น

 

          กองทุนของ สปสช.นี้  จะช่วยหนุนเสริมการจัดกิจกรรมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับบางท้องถิ่นที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ  ปัจจุบัน สปสช.จ่าย 37.50 บาทต่อคน  ลองคำนวณแล้ว  อปท.สนับสนุนอีกประมาณ 7.50 บาทต่อคน  รวมแล้ว 45 บาทต่อคน (เคยกล่าวแล้ว)

 

การจัดสวัสดิการด้านสุขภาพอนามัยน่าจะเป็นมิติการจัดสวัสดิการชุมชนที่มีความกระฉับกระเฉง มีพลวัตรมากที่สุด

 

 

หมายเลขบันทึก: 167183เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2008 22:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อาจารย์ครับ

ผมชื่นชมกิจกรรมนี้จริงๆว่าเป็นความก้าวหน้าของสังคมบ้านเราที่มีสวัสดิการนี้ เพื่อเป็นหลักประกันที่สำคัญโดยเฉพาะสังคมชนบท

ผมมีข้อเสนอครับ

  • ระบบนี้ในชุมชนน่าที่จะเก็บสถิติว่าผู้มาใช้บริการ หรือการจ่ายเงินสวัสดิการชุมชนนั้นมีอย่างไรบ้าง
  • แล้วเอาสถิตินั้นไปวางแผนพัฒนาสุขภาพ หรืออื่นๆที่เกี่ยวข้องกับต้นเหตุของการมาขอรับสวัสดิการ เป็นการกระทำต่อเนื่องครับ
  • เช่น ก้าวเข้าสู่กิจกรรมอาหารสุขภาพ การใช้ชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดีกว่า การจัดการชุมชนเพื่อสุขภาพที่ดีกว่า อะไรทำนองนี้ครับ
  • มิใช่พัฒนากองทุนสวัสดิการอย่างเดียว แต่เอาวิกฤติเป็นโอกาส โดยการเอาสถิตินั้นๆมาทำกิจกรรมซะเลยครับอาจารย์

ขอบคุณครับ

ขอบคุณคุณบางทรายที่กรุณาร่วมแลกเปลี่ยนด้วยเสมอ  ดิฉันเพียงแต่หวังว่า บันทึกนี้จะช่วยแบ่งปันข้อมูลและมุมมองกับสาธารณะ โดยเฉพาะบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสวัสดิการชุมชน

หากมีมุมมองหรือข้อมูลที่คลาดเคลื่อนก็ต้องขออภัยและหวังว่าผู้รู้จะเข้ามาช่วยแบ่งปันค่ะ

เห็นด้วยอย่างยิ่งว่า  ฐานข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ  แต่สำหรับชาวบ้านแล้ว  การเก็บข้อมูลไม่ใช่เรื่องง่าย  ทั้งในแง่ที่ไม่ใช่วิถีปกติ  และในแง่ที่ว่า  เก็บไปแล้วไม่ใช้ประโยชน์ทำให้เหมือนกับเสียเวลา

หากสมาชิกเข้าใจถึงประโยชน์ของการใช้ข้อมูล และมีส่วนร่วมในการช่วยกันออกแบบระบบการเก็บข้อมูล  อาจทำให้เกิดการเรียนรู้เห็นประโยชน์ และเข้าใจข้อจำกัดร่วมกัน

ดิฉันมีประสบการณ์ตรงในงานขับเคลื่อนไม่มากนัก  ลองทำเองก็รู้ว่ายาก   แต่ถ้าทำได้  ก็จะถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดี

เคยเห็นสมุดบัญชีของกลุ่มครูชบ  ท่านออกแบบได้ดี เหมาะกับประโยชน์ใช้สอย  แต่ถ้าเราต้องการประโยชน์เพื่อการวิเคราะห์และวางแผนด้วย  อาจต้องมีวิธีสรุป วิธีวิเคราะห์อื่นๆเสริมเข้าไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท