พ.ร.บ.สุขภาพจิต ๒๕๕๑ : อีกหนึ่งเครื่องมือสำหรับการพลิกภาพผู้ร้ายให้กลายเป็นผู้ป่วย


ผมว่ากฎหมายฉบับนี้น่าจะเป็นปัจจัยภายนอกที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งที่มีผลต่อการปรับเปลี่ยนท่าทีของสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศ ที่ดำเนินการเลี้ยงดูตามเวรกรรม (เพราะข้อจำกัดหลากหลายประการ) เช่นปัจจุบันไปสู่การจัดบริการที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายตามสภาพที่ปรากฏ ซึ่งก็รอดูกันว่าเมื่อ สธ. เริ่มแล้ว พม. จะขยายผล พ.ร.บ. ฉบับนี้ต่อไปอย่างไร

 

ปรารภเหตุ
โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ และมีทัศนคติด้านลบต่อบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิต ทำให้บุคคลดังกล่าวไม่ได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม เป็นเหตุให้ความผิดปกติทางจิตทวีความรุนแรงขึ้นจนก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของตนเองหรือผู้อื่น สมควรมีกฎหมายว่าด้วยสุขภาพจิต เพื่อกำหนดกระบวนการในการบำบัดรักษาบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิต อันเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของบุคคลนั้นและสังคมรวมทั้งกำหนดกระบวนการในการบำบัดรักษาบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิต ซึ่งอยู่ระหว่างการสอบสวน การไต่สวนมูลฟ้องหรือการพิจารณา หรือภายหลังศาลมีคำพิพากษาในคดีอาญา จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ - - เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ครับ

ถ้าสังเกตจะพบว่าแทบจะุทุกครั้งเมื่อมีเหตุคดีเกี่ยวกับผู้ป่วยทางจิต เราจะเห็นนักวิชาชีพในแวดวงกรมสุขภาพจิตกล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ผมขอแสดงความยินดีกับเจ้าหน้าที่กรมสุขภาพจิต ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และผู้เกี่ยวข้องครับ

มาดูกันคร่าวๆ นะครับว่ากฎหมายฉบับนี้ มีคุณูปการอย่างไรกับผู้ป่วยและผู้เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยอย่างไรกันบ้าง


นิยามความหมาย
ในพระราชบัญญัตินี้มีนิยามความหมายที่น่าสนใจอยู่หลายตัวครับ เป็นต้นว่า

"ความผิดปกติทางจิต" หมายความว่า อาการผิดปกติของจิตใจที่แสดงออกมาทางพฤติกรรม อารมณ์ ความคิด ความจำ สติปัญญา ประสาทการรับรู้ หรือการรู้เวลา สถานที่ หรือบุคคล รวมทั้งอาการผิดปกติของจิตใจที่เกิดจากสุราหรือสารอื่นที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท

"ผู้ป่วยคดี" หมายความว่า ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาในคดีอาญา ซึ่งพนักงานสอบสวนหรือศาลสั่งให้ได้รับการตรวจหรือบำบัดรักษารวมทั้งผู้ป่วยที่ศาลมีคำสั่งให้ได้รับการบำบัดรักษาภายหลังมีคำพิพากษาในคดีอาญาด้วย

"ภาวะอันตราย" หมายความว่า พฤติกรรมที่บุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตแสดงออกโดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของตนเองหรือผู้อื่น

"ความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา" หมายความว่า สภาวะของผู้ป่วยซึ่งขาดความสามารถในการตัดสินใจให้ความยินยอมรับการบำบัดรักษาและต้องได้รับการบำบัดรักษาโดยเร็วเพื่อป้องกันหรือบรรเทามิให้ความผิดปกติทางจิตทวีความรุนแรงหรือเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยหรือบุคคลอื่น

"การบำบัดรักษา" หมายความรวมถึง การดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยทางการแพทย์และทางสังคม

"คุมขัง" หมายความว่า การจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลด้วยอำนาจของกฎหมายโดยการคุมตัวควบคุม กัก กักกัน ขัง กักขัง จำขังและจำคุก



สิทธิผู้ป่วย
กฎหมายได้ให้การคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยครอบคลุมหลายประการ เช่น การปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยและการบำบัดรักษา การผูกมัดร่างกาย การกักบริเวณ หรือแยกผู้ป่วย การบำบัดรักษาด้วยวิธีใดๆ ที่มีความเสี่ยง การทำหมัน ตลอดจนการวิจัยใดๆ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วย


การบำบัดรักษาทางสุขภาพจิต ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง

เอาชัดๆ ภาคีเครือข่ายของผมหรือของใคร จำเป็นต้องทราบและเข้าใจก็ตรงนี้แหละครับ

มาตรา ๒๒ บุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้เป็นบุคคลที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา
(๑) มีภาวะอันตราย
(๒) มีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา

มาตรา ๒๓ ผู้ใดพบบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์อันน่าเชื่อว่าบุคคลนั้นมีลักษณะตามมาตรา ๒๒ ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจโดยไม่ชักช้า

มาตรา ๒๔ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้รับแจ้งตามมาตรา ๒๓ หรือพบบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์อันน่าเชื่อว่าบุคคลนั้นมีลักษณะตามมาตรา ๒๒ ให้ดำเนินการนำตัวบุคคลนั้นไปยังสถานพยาบาลของรัฐหรือสถานบำบัดรักษาซึ่งอยู่ใกล้โดยไม่ชักช้า เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและประเมินอาการเบื้องต้นตามมาตรา ๒๗ ทั้งนี้ โดยจะมีผู้รับดูแลบุคคลดังกล่าวไปด้วยหรือไม่ก็ได้

การนำตัวบุคคลตามวรรคหนึ่งไปยังสถานพยาบาลของรัฐหรือสถานบำบัดรักษาโดยการผูกมัดร่างกายบุคคลดังกล่าวจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่เป็นความจำเป็นเพื่อป้องกันการเกิดอันตรายต่อบุคคลนั้นเอง บุคคลอื่น หรือทรัพย์สินของผู้อื่น

มาตรา ๒๕ เมื่อผู้รับผิดชอบดูแลสถานที่คุมขังหรือสถานสงเคราะห์ หรือพนักงานคุมประพฤติ พบบุคคลที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่ มีพฤติการณ์อันน่าเชื่อว่าบุคคลนั้นมีลักษณะตามมาตรา ๒๒ ให้ดำเนินการส่งตัวบุคคลนั้นไปยังสถานพยาบาลของรัฐหรือสถานบำบัดรักษาซึ่งอยู่ใกล้โดยไม่ชักช้า เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและประเมินอาการเบื้องต้นตามมาตรา ๒๗

การส่งตัวบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๒๖ ในกรณีฉุกเฉิน เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้รับแจ้งตามมาตรา ๒๓ หรือพบบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์อันน่าเชื่อว่าบุคคลนั้นเป็นบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตซึ่งมีภาวะอันตรายและเป็นอันตรายที่ใกล้จะถึง ให้มีอำนาจนำตัวบุคคลนั้นหรือเข้าไปในสถานที่ใด ๆ เพื่อนำตัวบุคคลนั้นส่งสถานพยาบาลของรัฐหรือสถานบำบัดรักษาซึ่งอยู่ใกล้โดยไม่ชักช้าเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและประเมินอาการเบื้องต้นตามมาตรา ๒๗

ถ้าบุคคลนั้นขัดขวางหรือหลบหนีหรือพยายามจะหลบหนี ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจใช้วิธีการเท่าที่เหมาะสมและจำเป็นแก่พฤติการณ์ในการนำตัวบุคคลนั้นส่งสถานพยาบาลของรัฐหรือสถานบำบัดรักษาตามวรรคหนึ่ง

การส่งตัวบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด



ผมว่ากฎหมายฉบับนี้น่าจะเป็นปัจจัยภายนอกที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งที่มีผลต่อการปรับเปลี่ยนท่าทีของสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศ ที่ดำเนินการเลี้ยงดูตามเวรกรรม (เพราะข้อจำกัดหลากหลายประการ) เช่นปัจจุบันไปสู่การจัดบริการที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายตามสภาพที่ปรากฏ ซึ่งก็รอดูกันว่าเมื่อ สธ. เริ่มแล้ว พม. จะขยายผล พ.ร.บ. ฉบับนี้ต่อไปอย่างไร

 

การฟื้นฟูสมรรถภาพ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง

มาตรา ๔๐ ในกรณีที่คณะกรรมการสถานบำ บัดรักษามีคำ สั่งตามมาตรา ๒๙ (๒) ให้หัวหน้าสถานบำบัดรักษามีหน้าที่ ดังนี้
(๑) แจ้งให้ผู้รับดูแลผู้ป่วยรับตัวผู้ป่วยไปดูแล
(๒) ในกรณีที่ไม่มีผู้รับดูแลให้แจ้งหน่วยงานด้านสงเคราะห์และสวัสดิการทั้งภาครัฐและเอกชนตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
(๓) แจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ติดตามดูแล ประสานงานและช่วยเหลือในการดำเนินการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยตาม (๑) และหน่วยงานตาม (๒) แล้วรายงานให้คณะกรรมการสถานบำบัดรักษาทราบ

มาตรา ๔๑ เมื่อผู้ถูกคุมขังซึ่งได้รับการบำบัดรักษาในระหว่างถูกคุมขัง ถึงกำหนดปล่อยตัวให้หัวหน้าสถานที่คุมขังมีหน้าที่ดำเนินการตามมาตรา ๔๐



ก่อนหน้านี้ ผู้บัญชาการเรือนจำท่านสอบถามและปรารภเหตุกับผมถึงการประสานส่งต่อผู้ถูกคุมขังอยู่เช่นกันครับ กฎหมายฉบับนี้ท่านคงคิดอะไรๆ ได้อีกแน่ๆ - - แน่นอนว่าผมคงมีผู้ป่วยจากบ้านใหญ่ : บ้านใหญ่กำแพงสูง เพิ่มอีกจำนวนไม่น้อยหลังจากที่ท่านได้มีการส่งต่อเรือนจำหลายจังหวัดก่อนหน้านี้บ้างแล้ว

นอกจากการที่กฎหมายฉบับดังกล่าวได้กำหนดให้มีกลไกในรูปคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ที่ครอบคลุมหลากหลายกลุ่มวิชาชีพ การมีคณะกรรมการสถานบำบัดรักษา การกำหนดและตระหนักถึงสิทธิผู้ป่วย การกำหนดรูปแบบและวิธีการการบำบัดรักษากรณีผู้ป่วยปกติและผู้ป่วยคดี การฟื้นฟูสมรรถภาพ ตลอดจนการอุทธรณ์ แต่กลไกซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งตามกฎหมายฉบับนี้ คือ การกำหนดให้มีพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งสามารถดำเนินการเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ป่วย ครอบครัว และชุมชน

หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญยิ่งต่อการช่วยลดภาพของสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งที่เป็นเหมือน "ศูนย์ผีบ้า" ของใครๆ ที่เมื่อพบเห็นบุคคลเร่ร่อนและมีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเป็นต้อง (ขับไล่ด้วยการ) ประสานเพื่อนำส่งให้พ้น ให้ไกลเสียจากครอบครัวและชุมชน

มิใช่ใครอื่นไกลหากแต่เริ่มต้นที่คนทำงานใน พม. นี่ละครับ ว่าจะคิดทำอย่างไรกับกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวมากกว่าการส่งยังสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งเช่นที่เคยปฏิบัติกันมา

ก็รอดูกันว่าเมื่อ สธ. เริ่มแล้ว พม. จะขยายผล พ.ร.บ. ฉบับนี้ต่อไปอย่างไร

 



ความเห็น (3)

 

ขอเพิ่มเติมอีกนิดครับ

พ.ร.บ. สุขภาพจิต พ.ศ. ๒๕๕๑ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑   มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ผู้สนใจสามารถสืบค้นได้ที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เว็บไซต์กรมสุขภาพจิต หรือใช้บริการมหัศจรรย์จาก Google

จากประเด็นที่ได้อ่านข้างต้น ผมคิดว่าเป็นการให้ความรู้ที่มีประโยชน์ต่อประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเข้าร่วม รักษา บำบัดเป็นอย่างมาก ซึ่งทำให้เมื่อพบเจอกับสถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านั้น ก็สามารถแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้ทันที

ขอเพิ่มเติมในส่วนของพ.ร.บ. สุขภาพจิต พ.ศ. ๒๕๕๑ "มาตรา ๒๑ การบำบัดรักษาจะกระทำได้ต่อเมื่อผู้ป่วยได้รับการอธิบายเหตุผลความจำเป็นในการบำบัดรักษา รายละเอียดและประโยชน์ของการบำบัดรักษาและได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยเว้นแต่เป็นผู้ป่วยตามมาตรา ๒๒ ถ้าต้องรับผู้ป่วยไว้ในสถานพยาบาลของรัฐหรือสถานบำบัดรักษา ความยินยอมตามวรรคหนึ่งต้องทำเป็นหนังสือ และลงลายมือชื่อผู้ป่วยเป็นสำคัญ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอายุไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์ หรือขาดความสามารถในการตัดสินใจให้ความยินยอมรับการบำบัดรักษา ให้คู่สมรส ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาล หรือผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้น แล้วแต่กรณี เป็นผู้ให้ความยินยอมตามวรรคสองแทน หนังสือให้ความยินยอมตามวรรคสองและวรรคสาม ให้เป็นไปตามแบบที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา" (ที่มาหมวด ๓ การบำบัดรักษาทางสุขภาพจิตส่วนที่ ๑ ผู้ป่วยหรือดูได้จากลิงค์ข้างล่าง)

จากมาตราข้างต้น ผมเห็นว่าเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญต่อการตัดสินใจและการปฏิบัติตนของบุคคลในครอบครัวและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ในการนำผู้ป่วยเข้ารับการรักษา บำบัดต่อไป

ลิงค์จากข้อความข้างต้นนะครับ http://www.thailandlawyercenter.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538976176&Ntype=19

ปฎิรูปสาธารณสุข

แก้ไข พรบ.สุขภาพจิต

อย่าเอาคำว่าบ้า “มาทำลายความเท่าเทียม และ ความเป็นยุติธรรม”

การแพทย์ต้องเป็นตามหลักสากล

ทุกคนต้องมีทางเลือกในการรักษาอย่างอิสระ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท