พ.ร.บ. สุขภาพจิต พ.ศ. ๒๕๕๑ : ความจำเป็นที่ต้องขยายผล


แจ้งให้ญาติ ผู้นำส่ง หน่วยงานนำส่ง ได้เข้าใจว่าผู้ป่วยทางจิตที่เข้ารับการรักษาจนมีอาการทุเลาแล้ว สามารถอยู่ร่วมกับครอบครัวและชุมชนได้ โดยอาจได้รับการสนับสนุนบริการสวัสดิการในรูปแบบอื่นนอกเหนือจากการให้บริการเชิงสถาบันในรูปของสถานสงเคราะห์ อีกทั้งทั้งแจ้งให้ญาติทราบถึงแนวคิดการจัดสวัสดิการว่า เนื่องจากผู้ป่วย.ทางจิตมิใช่ผู้กระทำผิดที่ต้องควบคุมตัว ทั้งสถานสงเคราะห์เอง ก็มิใช่สถานที่กักกันผู้กระทำความผิดตามกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น ผู้ใช้บริการย่อมสามารถที่จะกลับคืนครอบครัวและชุมชนได้ตามกระบวนการทางสังคมสงเคราะห์

คุณสมศักดิ์ อีเมลแจ้งมาว่าเป็นเจ้าหน้าที่ในกระทรวง พม. อ่านบันทึกว่าด้วยเรื่องพ.ร.บ.สุขภาพจิต ๒๕๕๑ : อีกหนึ่งเครื่องมือสำหรับการพลิกภาพผู้ร้ายให้กลายเป็นผู้ป่วย แล้วยังไม่แจ่มกระจ่างทั้งในเนื้อหากฎหมายและผลของกฎหมายที่มีต่อสถานสงเคราะห์ (ในฐานะหน่วยงานของ พม.) เนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับสถานสงเคราะห์ ทั้งไม่เคยส่งคนเข้าสถานสงเคราะห์ จึงอยากให้ช่วยอธิบายขยายความเสียอีก

ประสาคนไม่ได้เรียนกฎหมาย หากแต่สนใจเพราะผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางจิตนั้นมีผลกระทบมหาศาล ทั้งกับกลุ่มเป้าหมายในสถานสงเคราะห์และผู้ยากไร้ด้อยโอกาสในชุมชน ลำพังความยากไร้เพราะฐานะทางเศรษฐกิจก็แย่พอแล้วยังมีสมาชิกมาเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเข้าอีก ก็เป็นเหมือนกับเคราะห์ซ้ำกรรมซัดกระหน่ำเสียอย่างนั้นแหละครับ

คิดอยู่นานเลยผมขออนุญาตนำหนังสือที่มีถึงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดมหาสารคาม เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมาลงเผยแพร่ เข้าใจว่าน่าจะช่วยให้คุณสมศักดิ์ได้เข้าใจและเห็นภาพในทางปฏิบัติยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนของผลกระทบในฐานะของหน่วยงานสังกัด พม. และในส่วนของเนื้อหา พ.ร.บ.สุขภาพจิต ๒๕๕๑ ในส่วนที่เกี่ยวข้อง หรือถ้าจะย้อนไปอ่านบันทึกพลเมืองดี กับบทบาทของการเป็นตาสับปะรด คอยระแวดระวังภัย ผมนำหนังสือราชการบางส่วนมานำเสนอ จะเห็นว่าส่วนหนึ่งจะเป็นผู้ป่วยทั้งสิ้นที่ถูกนำส่งยังสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง - - สรุปคือว่า ความเข้าใจของหน่วยงานนำส่งที่ผ่านมาเมื่อพบเห็นบุคคลเร่ร่อน ไร้ที่พึ่ง และกลุ่มบุคคลที่มีลักษณะอาการผิดปกติทางจิต จะนำส่งยังสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งแทบทั้งสิ้นครับ

หนังสือราชการที่ผมร่างโต้ตอบเรื่องทำนองนี้ ผมมักจะร่างยาวๆ แบบนี้เสมอครับ
เชิญทัศนา...

------------------------------------------------------------------------------------------------------- 


มีนาคม ๒๕๕๑

เรื่อง  การประสานรับตัวบุคคลเพื่อเข้ารับอุปการะในสถานสงเคราะห์
เรียน  พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดมหาสารคาม
อ้างถึง  หนังสือที่ มค ๐๐๐๔/๑๐๔๒ ลงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑

ตามหนังสือที่อ้างถึง สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดมหาสารคามได้รับการประสานจากองค์การบริหารส่วนตำบลxxxx อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม ว่ามีคนเร่ร่อน สติฟั่นเฟือนไม่สมประกอบชื่อนายxxxxxx อายุ ๒๔ ปี จึงได้ประสานมายังสถานสงเคราะห์บ้านนิคมปรือใหญ่ เพื่อให้เข้าใช้บริการในสถานสงเคราะห์บ้านนิคมปรือใหญ่ เพื่อให้การบำบัด ฟื้นฟู อย่างต่อเนื่องจนสามารถอยู่ร่วมในสังคมปกติต่อไป ความละเอียดทราบแล้วนั้น

สถานสงเคราะห์บ้านนิคมปรือใหญ่ พิจารณาแล้วไม่ขัดข้องต่อการรับบุคคลดังกล่าวเข้าใช้บริการในสถานสงเคราะห์ เพื่ออุปการะ คุ้มครอง และฟื้นฟู ตามกระบวนการทางสังคมสงเคราะห์เพื่อให้กลับเป็นกำลังสำคัญของครอบครัวและชุมชนต่อไป และใคร่ขอเรียนมายังท่านเพื่อแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติทราบข้อมูลเพิ่มเติม ถึงแนวทางการดำเนินงานของสถานสงเคราะห์ ดังนี้

๑. สถานสงเคราะห์บ้านนิคมปรือใหญ่ ได้ถือปฏิบัติตามระเบียบกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ว่าด้วยการสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งในสถานสงเคราะห์ พ.ศ. ๒๕๔๗ และข้อสั่งการของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ตามหนังสือที่ พม ๐๓๐๒/๑๙๒๒๖ ลงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ ซึ่งปรารภถึงสถานการณ์ของสังคมไทยที่มีผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อน ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีผู้อุปการะเลี้ยงดู และไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องพึ่งพิงผู้อื่น มาสมัครเข้ารับการสงเคราะห์ และมีพลเมืองดีนำส่งเข้าสถานสงเคราะห์ ซึ่งบุคคลเหล่านี้หากไม่ได้รับการสงเคราะห์ช่วยเหลืออาจจะเกิดอันตรายหรืออาจเกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตได้ จึงเห็นควรให้การพิทักษ์คุ้มครองสวัสดิภาพ โดยรับผู้ประสบปัญหาดังกล่าวเข้าใช้บริการและจัดบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพด้านอาชีพอย่างเหมาะสม เพื่อให้กลับคืนสู่สังคม ในสถานสงเคราะห์คนชรา คนไร้ที่พึ่ง และคนพิการ โดยให้นักสังคมสงเคราะห์สอบข้อเท็จจริงและพิจารณาให้ความช่วยเหลือ หากเห็นว่ามีความจำเป็นต้องให้การอุปการะ ขอให้สถานสงเคราะห์รับไว้อุปการะเป็นการชั่วคราวทุกราย เมื่อผู้เดือดร้อนได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพและมีพัฒนาการดีขึ้นก็ให้พิจารณาส่งต่อสถานสงเคราะห์ที่เหมาะสม โดยยึดหลักการสังคมสงเคราะห์และประโยชน์สูงสุดของผู้รับการสงเคราะห์

๒. พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้บัญญัติว่าผู้ใดพบบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตซึ่งมีพฤติการณ์อันน่าเชื่อว่าบุคคลนั้น ๑) มีภาวะอันตราย ได้แก่ มีพฤติกรรมที่แสดงออกโดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของตนเองหรือผู้อื่น และ ๒) มีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา ได้แก่ สภาวะของผู้ป่วยซึ่งขาดความสามารถในการตัดสินใจให้ความยินยอมรับการบำบัดรักษาและต้องได้รับการบำบัดรักษาโดยเร็ว เพื่อป้องกันหรือบรรเทามิให้ความผิดปกติทางจิตทวีความรุนแรงหรือเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยหรือบุคคลอื่น (ม. ๒๒) กำหนดให้ผู้พบบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์ดังกล่าวแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจโดยไม่ชักช้า (ม. ๒๓) และเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจได้รับแจ้งหรือพบบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์อันน่าเชื่อว่าบุคคลนั้นมีลักษณะดังกล่าว ให้ดำเนินการนำตัวบุคคลนั้นไปยังสถานพยาบาลของรัฐหรือสถานบำบัดรักษาซึ่งอยู่ใกล้โดยไม่ชักช้า เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและประเมินอาการเบื้องต้น ทั้งนี้ โดยจะมีผู้รับดูแลบุคคลดังกล่าวไปด้วยหรือไม่ก็ได้ (ม. ๒๔) ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าว สอดคล้องกับคุณสมบัติที่ระบุในระเบียบกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ว่าด้วยการสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งในสถานสงเคราะห์ พ.ศ. ๒๕๔๗ว่าบุคคลที่จะเข้ารับการสงเคราะห์ว่าต้องไม่เป็นผู้พิการทุพพลภาพจนไม่สามารถดูแลตนเองได้ หรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

๓. ด้วยข้อจำกัดด้านสถานที่ของสถานสงเคราะห์บ้านนิคมปรือใหญ่ ที่มีถนนตัดผ่านกลางสถานสงเคราะห์ ทำให้ในช่วงเวลากลางวันผู้ใช้บริการบางรายสามารถเดินออกไปทำธุระต่างภารกิจยังชุมชนภายนอกได้ ซึ่งด้วยข้อจำกัดดังกล่าวสถานสงเคราะห์บ้านนิคมปรือใหญ่ได้บริหารจัดการ ดังนี้

๑) แจ้งให้ญาติ ผู้นำส่ง หน่วยงานนำส่ง รวมทั้งผู้ใช้บริการเมื่อแรกรับ ได้รับทราบถึงข้อจำกัดดังกล่าวทุกราย และได้เน้นกระบวนการสร้างความสัมพันธ์กับผู้ใช้บริการแรกรับให้มีความคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่และผู้ใช้บริการที่อยู่เดิมโดยเร็วที่สุด (ตามระบบ Buddy) เพื่อให้สามารถทราบความต้องการและป้องกัน/ลดปริมาณการหลบหนีของผู้ใช้บริการ

นอกจากนี้ ในกรณีผู้ใช้บริการที่มีญาติ หรือมีผู้ให้การอุปการะคุ้มครองแต่ไม่สามารถอยู่ร่วมกับครอบครัวได้ สถานสงเคราะห์ฯได้แจ้งกับญาติและชุมชนให้ตระหนักถึงความจำเป็นและความสำคัญในการมีส่วนร่วมในการบำบัด ฟื้นฟู กลุ่มบุคคลที่มีอาการทางจิต หรือกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง ว่ามิอาจปฏิเสธการดูแลได้ ทั้งนี้ เพื่อลดภาระการพึ่งพิงการจัดบริการสวัสดิการสังคมเชิงสถาบันจากหน่วยงานภาครัฐ

๒) แจ้งให้ญาติ ผู้นำส่ง หน่วยงานนำส่ง ได้เข้าใจว่าผู้ป่วยทางจิตที่เข้ารับการรักษาจนมีอาการทุเลาแล้ว สามารถอยู่ร่วมกับครอบครัวและชุมชนได้ โดยอาจได้รับการสนับสนุนบริการสวัสดิการในรูปแบบอื่นนอกเหนือจากการให้บริการเชิงสถาบันในรูปของสถานสงเคราะห์ อีกทั้งทั้งแจ้งให้ญาติทราบถึงแนวคิดการจัดสวัสดิการว่า เนื่องจากผู้ป่วย.ทางจิตมิใช่ผู้กระทำผิดที่ต้องควบคุมตัว ทั้งสถานสงเคราะห์เอง ก็มิใช่สถานที่กักกันผู้กระทำความผิดตามกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น ผู้ใช้บริการย่อมสามารถที่จะกลับคืนครอบครัวและชุมชนได้ตามกระบวนการทางสังคมสงเคราะห์

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและเมื่อสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดมหาสารคามจะนำส่งบุคคลดังกล่าวเข้ารับการอุปการะในสถานสงเคราะห์บ้านนิคมปรือใหญ่เมื่อใด ได้โปรดแจ้งยังสถานสงเคราะห์เพื่อทราบล่วงหน้าด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง


ขอแสดงความนับถือ


(นายปัญญา ทองดี)
ผู้ปกครองสถานสงเคราะห์บ้านนิคมปรือใหญ่


ฝ่ายสวัสดิการสงเคราะห์
โทร./โทรสาร ๐๔๕-๖๓๐-๖๖๑, ๐๘๖-๘๖๘-๓๘๙๔
www.preuyaihome.com  E-mail: [email protected]

 

------------------------------------------------------------------------------------------------------- 

 

ต่อมา สนง.พมจ.มหาสารคาม ได้นำส่งบุคคลดังกล่าวพร้อมญาติ (ซึ่งหนังสือราชการระบุว่าเป็น อพม.) สอบไปสอบมาชักไม่แน่ใจละสิหว่าเพราะใจคอจะทิ้งท่าเดียว

"เอาไปมัดเอาไปขังไว้เลยหัวหน้า พวกเรากลับออกไปแล้วค่อยปล่อยมัน ส่วนมันจะหนีหายไปไหนต่อก็ช่างหัวมัน"

คุยกันชั่วโมงเศษทั้งกับเจ้าหน้าที่ผู้นำส่ง ผู้ป่วยหนุ่มหนุ่มหน้าตาดี จะว่าไปแล้วถือเป็นเกรดเอเลยละครับถ้าเปรียบเทียบกับคนในบ้านใหญ่ของผม และกับญาติ

เจ้าหน้าที่นำส่งก็เข้าใจบทบาทกันละครับว่า อย่างไรเสียผมไม่มีปัญหาอยู่แล้ว เพราะคุณรับรองเองว่าเดือดร้อนจริง

ผู้ป่วย ยืนยันตลอดรายการว่าไม่ยินดี ไม่สมัครใจ ผมถูกหลอกให้มา

ขณะที่ญาติ ยิ่งคุยก็ยิ่งซับซ้อน เดี๋ยวบอกเป็นคนข้างบ้าน เดี๋ยวบอกเป็นคนอุปการะเลี้ยงดูมาแต่เยาว์วัย รักเหมือนลูกหลานเพราะพ่อแม่เขาตายหมดแล้ว เลยเอาชื่อเขามาเข้าทะเบียนบ้านเรา

"เอาไปมัดเอาไปขังไว้เลยหัวหน้า พวกเรากลับออกไปแล้วค่อยปล่อยมัน ส่วนมันจะหนีหายไปไหนต่อก็ช่างหัวมัน"

ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า ตลอดรายการสนทนา

นักสังคมฯ บ้านนิคมปรือใหญ่ ชักหงุดหงิดโมโห เลยโพล่งออกไป

เออ !!! ตอนจะส่งก็พูดกันอย่างนี้ทั้งนั้นแหละ แน่จริงทำไมไม่ปล่อยทิ้งเสียกลางทางละ ข้ามจังหวัดมาทำไมตั้งหลายร้อยกิโลฯ พอผมรับเข้าอยู่แล้วเกิดเขาหายตัวไปจริงๆ ก็พากันร้องเรียนผมสนุกสิไม่ว่า

 

วันนั้น เรื่องจบลงตรงที่ เจ้าหน้าที่ สนง.พมจ.มหาสารคาม นำส่งกลับคืนจังหวัดมหาสารคาม

เพราะเหตุว่าผู้ป่วยไม่สมัครใจ แข็งแรง สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในชีวิตประจำวัน ทั้งครอบครัวเองก็อยู่ในฐานะที่สามารถให้การดูแลได้

 



ความเห็น (5)

ตาลาย....

ยาวมาก   ขอเวลาอ่านซักสองอาทิตย์

 

ผมก็ว่าอย่างนั้นแหละครับ คุณหมูน้อย

ผมไม่คิดว่าเขาจะอ่านหรอก เพราะหน่วยนำส่งต้นทางกับหน่วยรับส่งปลายทาง มักจะคิดอะไร มองอะไรไม่ค่อยตรงกันนัก

 

แทบจะเรียกได้ว่าเป็นเรื่องปกติ

ถ้าคิดว่าผู้รับบริการมีอาการป่าวยทางจิต ควรได้รับการประเมินจากแพทย์ เพื่อตัดสินใจในการได้รับบริการว่าจะได้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ที่สถานบำบัดหรือนัดตรวจเป็นครั้งคราว หลังจากนั้นก็ให้ผู้รับบริการลงชื่อยินยอมรับการรักษา หรือถ้าผู้รับบริการไม่สามารถลงชื่อได้เองเนื่องจากไม่สามารถตัดสินใจสุขภาพของตนเองได้ด้วยความเห็นของแพทย์สามารถให้ญาติลงชื่อแทนผู้รับบริการได้ (ตามพ.ร.บ.22)

จากประเด็นที่ได้อ่านข้างต้น ผมคิดว่าเป็นการให้ความรู้ที่มีประโยชน์ต่อประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเข้าร่วม รักษา บำบัดเป็นอย่างมาก ซึ่งทำให้เมื่อพบเจอกับสถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านั้น ก็สามารถแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้ทันที

ขอเพิ่มเติมในส่วนของพ.ร.บ. สุขภาพจิต พ.ศ. ๒๕๕๑ "มาตรา ๒๑ การบำบัดรักษาจะกระทำได้ต่อเมื่อผู้ป่วยได้รับการอธิบายเหตุผลความจำเป็นในการบำบัดรักษา รายละเอียดและประโยชน์ของการบำบัดรักษาและได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยเว้นแต่เป็นผู้ป่วยตามมาตรา ๒๒ ถ้าต้องรับผู้ป่วยไว้ในสถานพยาบาลของรัฐหรือสถานบำบัดรักษา ความยินยอมตามวรรคหนึ่งต้องทำเป็นหนังสือ และลงลายมือชื่อผู้ป่วยเป็นสำคัญ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอายุไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์ หรือขาดความสามารถในการตัดสินใจให้ความยินยอมรับการบำบัดรักษา ให้คู่สมรส ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาล หรือผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้น แล้วแต่กรณี เป็นผู้ให้ความยินยอมตามวรรคสองแทน หนังสือให้ความยินยอมตามวรรคสองและวรรคสาม ให้เป็นไปตามแบบที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา" (ที่มาหมวด ๓ การบำบัดรักษาทางสุขภาพจิตส่วนที่ ๑ ผู้ป่วยหรือดูได้จากลิงค์ข้างล่าง)

จากมาตราข้างต้น ผมเห็นว่าเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญต่อการตัดสินใจและการปฏิบัติตนของบุคคลในครอบครัวและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ในการนำผู้ป่วยเข้ารับการรักษา บำบัดต่อไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท