BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

กรอบระเบียบ หน้าที่ เกินหน้าที่ นักบุญและวีรบุรุษ


กรอบระเบียบ หน้าที่ เกินหน้าที่ นักบุญและวีรบุรุษ

วันนี้ อาจารย ์ ชายขอบ มาเยี่ยมถึงกุฏิ แล้วก็รับไปร่วมฟังการสัมมนาเพื่อร่างหลักสูตร (พอไปถึงก็ได้ F2F กับ ครูนงเมืองคอน อีกท่าน ทำให้มิตรภาพแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น)...

ก่อนออกจากวัดก็นั่งคุยกันนิดหน่อย... ผู้เขียนได้ให้หนังสือเรื่อง วัดเปลี่ยนไป เล่มสุดท้ายแก่ท่าน (เขียนหลายปีแล้ว บังเอิญเพิ่งค้นเจอหนึ่งเล่มตอนจัดห้องใหม่)... และเมื่ออาจารย์ได้ชมและอ่านบทคัดย่อวิทยานิพนธ์ของอาตมา ก็เกิดสว่างโพลงขึ้นว่า ประเด็นนี้เชื่อมโยงกับการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงาน ที่ดำเนินการนอกเหนือคำสั่งหรือกรอบระเบียบ ซึ่งถ้าดำเนินการไปถูกต้องก็เป็นการดี แต่ถ้าเกิดผลเสียหายก็จะต้องรับผิดชอบ.... ซึ่งอาจารย์กำลังสนใจอยู่พอดี

ด้วยกำหนดเวลาเป็นเครื่องควบคุม ทำให้ต้องรีบไป จึงต้องไปคุยเรื่องนี้กันต่อในรถอีกเล็กน้อย... อาจารย์ท่านให้ความเห็นทำนองว่า ถ้าเราทำตามกรอบระเบียบ ยึดถือแต่เพียงกรอบระเบียบเท่านั้น ทำให้ประสิทธิภาพของตัวเราเองและองค์กรด้อยลง หรือสัมฤทธิผลเต็มที่ตามที่ควรจะเป็นไม่อาจบังเกิดได้เพราะยืดถึดกรอบระเบียบ...

กรณีตรงกันข้าม... ถ้าเราถ้าเราทำเกินคำสั่ง เกินหน้าที่ แม้ด้วยเจตนาที่ดี แต่ผลที่ได้รับไม่เป็นไปตามความคาดหวัง กล่าวคือ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อตัวเราเองหรือองค์กร ซึ่งเราต้องรับผิดชอบตัวเราเอง และบางครั้งก็ยังต้องได้รับการลงโทษจากองค์กรอีกด้วย... นี้คือ ประเด็นแย้ง

ผู้เขียนจึงบอกว่า ผู้กระทำเกินคำสั่งหรือเกินหน้าที่ทำนองนี้ เรียกว่า นักบุญ หรือ วีรบุรุษ และก็เล่าให้ฟังว่า แนวคิดเรื่องการกระทำเหนือหน้าที่ในจริยศาสตร์ร่วมสมัย ก็เกิดจากบทความชื่อ saints and heroes ของ Urmson J.O.

คุยกันเพียงแค่นี้ ผู้เขียนก็บอกว่าจะกลับมาเขียนเรื่องนี้ เพื่อจะได้ถกปัญหากันต่อไป... แล้วก็เปลี่ยนเรื่องไปคุยถึงถนนหนทาง ชมบ้านชมเมือง ตามเรื่องตามราว...

.............

ตามนัยเบื้องต้น อาจแยกออกเป็น กรอบระเบียบ หน้าที่ และผลลัพธ์ ซึ่งกระจายออกได้เป็น ๔ นัย กล่าวคือ

  1. ทำตามกรอบระเบียบ (หน้าที่)       พนักงานไม่เสียหาย       องค์กรไม่เสียหาย
  2. ทำตามกรอบระเบียบ (หน้าที่)       พนักงานไม่เสียหาย       องค์กรเสียหาย
  3. ทำนอกกรอบระเบียบ (เกินหน้าที่)  พนักงานงานไม่เสียหาย  องค์กรไม่เสียหาย
  4. ทำนอกกรอบระเบียบ (เกินหน้าที่)  พนักงานเสียหาย           องค์กรเสียหาย

 

ตามนัยนี้ จะเห็นได้ว่า  พนักงานทั่วไป น่าจะเลือกตามข้อ 1 และ 2 เพราะไม่มีความเสี่ยง.. แต่ถ้าเลือกตาม 3 หรือ 4  อาจมีความเสี่ยง....

สำหรับพนักงานที่เสี่ยง ด้วยการกระทำนอกกรอบกระเบียบหรือเกินหน้าที่ จะต้องรับผิดชอบการกระทำของเขาเอง ซึ่งผู้กระทำอย่างนี้ ควรเรียกได้ว่า นักบุญ (saints) หรือ วีรบุรุษ (heroes) ตามนัยวัฒนธรรมตะวันตก...

ถามว่า....

  • ใครต้องการจะทำตัวเป็นนักบุญหรือวีรบุรุษบ้างในสังคมไทย ?
  • ในสังคมไทยมีนักบุญหรือวีรบุรุษทำนองนี้บ้างหรือไม่ ?
  • สังคมไทยมีความเห็นต่อนักบุญหรือวีรบุรุษอย่างไร ?

.........

ผู้เขียนก็นำเรื่องแค่นี้ก่อน เผื่อใครสนใจ จะได้คุยเรื่องนี้กันต่อ... ส่วน ขอบเขตและความหมายของคำว่า หน้าที่ และการกระทำเหนือหน้าที่ นั้น ผู้เขียนไม่ได้นำมาลงไว้ เพราะเห็นว่ายากเกินไป คงจะไม่มีใครสนใจ....

แต่เมื่ออาจารย์ชายขอบสนใจ และเห็นว่าสามารถนำมาประยุกต์กับเรื่องที่ท่านสนใจอยู่ได้ ดังนั้น ผู้เขียนจะนำมาลงให้ผู้สนใจอื่นๆ อ่านเล่นในโอกาสต่อไป....

 

 

หมายเลขบันทึก: 170144เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2008 16:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)
  • นมัสการพระคุณเจ้า
  • พระอาจารย์จำแนก กรอบระเบียบ หน้าที่ และผลลัพธ์ ได้กระจะกระจ่างเหมือนเปิดม่านมองเห็นตะวัน ครับกระผม

วันนี้..ได้กำลังเยอะ..จากการอ่าน.บทนี้พระคุณเจ้า..เพราะวันนี้..เกิดขึ้นจริงๆ...กรอบก็ดี..หน้าที่ก็ดี.(ออกเสียงแบบพระพูด)..บางทีไม่ดี..

P

ฮูโต๋

 

  • 5 5 5 5 5....

มีปัญหาเยอะก็เผาตำราให้หมด... คงไว้เพียงแต่ตำราตอนเป็ดตอนไก่ ... หมอฮูโต๋ เป็นอย่างนั้น...

  • 5 5 5 5 5 ....

เจริญพร

นมัสการค่ะ

ข้อ ทำนอกกรอบระเบียบ (เกินหน้าที่)  พนักงานเสียหาย           องค์กรเสียหาย

ในความเห็นดิฉันต้องระวังและดูเป็นเรื่องๆไปค่ะ

ตัวอย่างเรื่องจริงค่ะ องค์กรที่พนักงานทำงานด้วย โดนคู่แข่งโจมตีเรื่องคุณภาพสินค้า พนักงานมีความตั้งใจดีและอยากให้องค์กรเอาชนะคู่แข่ง จึงไปปรึกษาCreativeข้างนอกบริษัท ให้ทำโฆษณา โดยให้ลูกค้าเปรียบเที่ยบสินค้า 2 อย่างให้เห็นกันจะๆ

แต่เขาลืมไปว่า กฏหมายไทยห้ามค่ะ แต่กฏหมายอเมริกันไม่ห้าม

เลยโดนคู่แข่งฟ้อง ทั้งตัวเขาและบริษัท นี่คือความไม่รอบคอบค่ะ

ดิฉันเห็นว่า เราอาจทำเกินหน้าที่ด้วยความหวังดี แต่ต้องดูให้ดีด้วยค่ะ

กราบ 3 หนค่ะ

 

ท่านพระมหาชัยวุฒิ

กรอบระเีบียบ หน้าที่ เกินหน้าที่ นักบุญและวีรบุรุษ ?

ผมเห็นว่าทั้งสี่ระดับที่ท่านพระมหาฯจำแนกคือ

  1. ทำตามกรอบระเบียบ (หน้าที่)       พนักงานไม่เสียหาย       องค์กรไม่เสียหาย
  2. ทำตามกรอบระเบียบ (หน้าที่)       พนักงานไม่เสียหาย       องค์กรเสียหาย
  3. ทำนอกกรอบระเบียบ (เกินหน้าที่)  พนักงานงานไม่เสียหาย  องค์กรไม่เสียหาย
  4. ทำนอกกรอบระเบียบ (เกินหน้าที่)  พนักงานเสียหาย           องค์กรเสียหาย

มันต้องไต่ระดับ หรืออาจจะข้ามระดับกันก็ได้ไหม ?

ระดับพื้นฐานๆอย่างกฏของบ้านเมือง ระดับ 1 กับ 2 หรือกฏของศีลธรรมก็ตามเถอะยังไปไม่ถึงไหนใช่ไหมครับ แล้วไอ้ที่จะยกระดับใส่เกลียวหน้าเกลียวหลังตีลังกากี่รอบๆให้ไปสู่ระดับ 3 และ 4 คือทำนอกกรอบระเบียบละจะมิหายากใหญ่หรือครับ ผมหมายถึงนอกกรอบในทางบวกทางดีกับทั้งตนเอง/และส่วนรวมนะครับ

แต่ผมก็คิดว่านอกกรอบอำนาจหน้าที่ องค์กรได้คือไม่เสียหายแต่คนทำเสียหาย(....ขาดทุน เสียสิทธิ์ เสียหน้า...อยู่อย่างเวทนาเศษสา...ฯลฯ) ก็มีอยู่เยอะเหมือนกันนะครับ ตามชื่นชมคนพันธุ์นี้กัน ซึ่งผมว่าก็มีอยู่เยอะ แต่จับภาพนำมายกย่องได้น้อยไปหรือเปล่า

ซ้ำร้ายหลายคนที่ไปจับภาพเห็นช่องทางได้ประโยชน์จากคนทำดีเจ้าของชิ้นงานองค์ความรู้เหล่านั้น เม้มเอาเป็นของตนเองเสียอีกทำนองที่ท่านพระมหาฯอภิปรายวันนั้นที่สัมมนากันว่าจะต้องคุ้มครองปกป้องเจ้าของผลงานให้เขา อย่าให้ต้องถูกฉกฉวยเอาง่ายๆ ผมก็ว่าดีนะครับ

อภิปรายเท่านี้ครับ

P

ครูนงเมืองคอน

 

  • คุณครูนงว่ามาตามแบบฉบับปักษ์ใต้บ้านเลาเลย (5 5 5)...

แต่ชื่ออาตมานะ พระมหาชัยวุธ (ธ.ธงคนนิยม สะกด... ย้ำ  ธ.ธงคนนิยมสะกด)  ตั้งแต่จำความได้ว่า อาตมาต้องคอยตามแก้ปัญหาเรื่องชื่อผิดพลาดตลอด...

 

เจริญพร

กราบนมัสการหลวงพ่อชัยวุธครับ

กระผมเห็นด้วยกับคุณพี่ศศินันท์และพี่ครูนงครับ

กรอบระเบียบมีไว้เพื่อให้ปฏิบัติตาม แต่ก็ควรปรับให้ทันต่อยุคต่อสมัย แต่เป็นอะไรที่มีคนชอบพูดกันว่า "กฏมีไว้แหก" จริงหรือเปล่าครับ เลยทำให้เกิดปัญหาตามมาให้ต้องเพิ่มกฏใหม่ขึ้นเรื่อยๆ

แล้วการทำนอกกรอบระเบียบเป็นสิ่งที่ทำได้เฉพาะกรณีจริงๆครับ หากใช้กับทุกกรณีอาจได้เป็นฮีโร่เพียงครั้งเดียว ที่เหลืออาจตกที่นั่งลำบากครับ เหมือนที่เขาชอบพูดกันว่า "ทำดีได้แต่อย่าให้เด่นจะเป็นภัยกับตนเอง"  ประมาณนั้นหรือเปล่าครับหลวงพ่อชัยวุธครับ

                                     กราบนมัสการลาครับ

 

นมัสการครับ

               ขอตอบคำถามครับ

  • ใครต้องการจะทำตัวเป็นนักบุญหรือวีรบุรุษบ้างในสังคมไทย ?
  • ในสังคมไทยมีนักบุญหรือวีรบุรุษทำนองนี้บ้างหรือไม่ ?
  • สังคมไทยมีความเห็นต่อนักบุญหรือวีรบุรุษอย่างไร ?
  •        ข้อ 1  ผมว่าหลายคนต้องการทำตัวเป็นนักบุญหรือวีรบุรุษครับ  แต่ลึกๆแล้วเขาทำเพื่ออำนาจและผลประโยชน์ของตัวเองครับ   จึงเป็นนักบุญจอมปลอม  วีรบุรุษจอมลวง

          ข้อ 2 นักบุญหรือวีรบุรุษในสังคมไทย ผมว่าในอดีตเราเคยมีนะครับ   แต่ปัจจุบัน คำตอบอยู่ในสายลมครับ

         ข้อ 3  ในปัจจุบันสังคมไทยมีความเห็นต่อนักบุญหรือวีรบุรุษ มักจะเป็นในเรื่องของ ผลประโยชน์ร่วมกันครับ (ผมให้คุณเป็นวีรบุรุษ แต่คุณต้องให้ผลประโยชน์ผมนะ)

                          ขอบคุณครับ

    P

    ว่าที่ ร.ต. วุฒิชัย สังข์พงษ์

     

    จำได้ว่าตอนกำลังเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ อดีตนายกฯ ทักษิณ  หลักจากได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกครั้งแรกก็มีนโยบายทำนองว่า  ถ้าเห็นว่าสิ่งใดเป็นคุณประโยชน์ต่อประชาชน แต่ติดขัดเรื่องกฎระเบียบก็ให้ดำเนินการไปก่อนได้...อาตมาได้เอากรณีนี้ไปเป็นประเด็นในครั้งเสนอโครงร่างหัวข้อด้วย...

    จากนโยบายนี้ ถ้าพนักงานดำเนินการตาม ก็อาจผิดกฎระเบียบ... แต่ถ้ายึดถือกฎระเบียบก็อาจผิดนโยบาย...

    • ถามว่า ใครรับผิดชอบเรื่องนี้ ?

    แม้กรณีนี้จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ประเด็นนี้ก็ยังคงน่าสนใจ

    เจริญพร

    P

    small man

     

    แม้ความเห็นของท่านผอ. จะเป็นความเห็นส่วนตัว...

    แต่อาตมาคิดว่า ความเห็นนี้ สะท้อนความเห็นของคนส่วนใหญ่ในประเทศ...

    เจริญพร

     

    P

    Sasinanda

     

    ต้องขออภัยคุณโยมด้วย ที่ตอบไปเมื่อคืนหายไป (สงสัยว่าตอบผิดช่อง หรือกดผิดก็ไม่แน่)

    เห็นด้วยกับคุณโยม เพราะคนที่ทำนอกกรอบระเบียบนั้น แม้จะปรารถนาดี แต่มิใช่ว่าสังคมหรือองค์กรจะยกย่องว่าเป็นนักบุญหรือวีรบุรุษทุกคน... (บางคนอาจถูกตราว่าเป็นมารหรือปีศาจก็ได้)

    ดังนั้น แม้จะปรารถนาดี เมื่อจะทำนอกกรอบระเบียบ ก็ จงระวังให้จงหนัก และเตรียมรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพราะอาจมิได้เป็นไปตามความคาดหวังของผู้กระทำก็ได้...

    เจริญพร

     

    นมัสการครับ ขอแถมหน่อยครับ ประเด็นนี้น่าสนใจ

    ถ้าเห็นว่าสิ่งใดเป็นคุณประโยชน์ต่อประชาชน แต่ติดขัดเรื่องกฎระเบียบก็ให้ดำเนินการไปก่อนได้...

       ประเด็นนี้ตามความคิดเห็นของผม ผมว่าเป็นเรื่องที่ตอบแบบ "ฟันธง" ยากครับ   เพราะมีทั้งข้อดี และ ข้อจำกัด

       ข้อดี คือ เป็นความคล่องตัวและความยืดหยุ่นในการทำงาน ส่วนข้อจำกัด คือ  เป็นการพัฒนาที่สร้างปัญหาตามมา

        ผมว่าถ้าจะทำงานโดยไม่ยึดกฏระเบียบกันจริงๆ คงจะต้องมีหลักการพื้นฐานที่สำคัญอยู่ 2 ประการครับ  คือ

       1. เจตนาบริสุทธิ์

       2. ไม่เกิดปัญหาตามมา  หรือ หากเกิดปัญหาตามมา ก็สามารถแก้ไขได้โดยไม่สร้างปัญหาเพิ่ม

         ฟังดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ หรือ เป็นอุดมคติ  แต่มีความเป็นไปได้ และ เป็นเรื่องจริงครับ   เพราะผมเองก็เคยทำมาแล้ว 2 ครั้ง  ผ่านไปด้วยดีครั้งหนึ่ง และ ถูกร้องเรียนครั้งหนึ่ง    ปัญหาจากการถูกร้องเรียน  ผมก็สามารถแก้ไขได้ครับ เพราะผมไม่ได้ทุจริต และมีเจตนาที่บริสุทธิ์

        ส่วนผู้ที่ทำงานโดยยึดกฏระเบียบเป็นสรณะ  ก็ดีครับ แต่ในแง่พัฒนาบางครั้งก็พัฒนายาก และไปได้ช้า  

         มีสำนวนของผู้ใหญ่ท่านหนึ่งบอกว่า " เราต้องเป็นผู้บริหารระเบียบ ไม่ใช่ให้ระเบียบมาบริหารเรา"

         ผมว่าจะใช้แบบใหน  คงต้องดูความเหมาะสมตามสถานการณ์ครับ  บางสถานการณ์ต้องยึดกฎระเบียบ แต่บางสถานการณ์ ก็ต้องยืดหยุ่นได้บ้าง

                                        ขอบคุณครับ

    ท่านพระมหาชัยวุธ

    ขออภัยอย่างสูง....พอดีผมมีเพื่อนรักอยู่คนหนึ่งมันเป็นอาจารย์อยู่วิทยาลัยอาชีวศึกษานครศรีธรรมราชมันชื่อชัยวุฒิ....ขออภัยที่ทำให้เป็นภาระท่านตามแก้...เข้าใจความรู้สึกครับ เพราะผมชื่อจำนง คำของผมไม่มี ค.ควาย การันต์ ย้ำนะครับ ค.ควาย จึงต้องเสียความรู้สึกทุกครั้งเช่นกันที่เมื่อมีหนังสือมาถึงเติม ค.ควาย ให้ผม จำนงของผมคำนี้เป็นคำไทยแท้แต่โบราณ เป็นคำแผลงครับ มาจากคำว่า จง เช่นเดียวกับ เฉวียง มาจากคำว่าเฉียง....จำได้ว่าเคยออกข้อสอบวิชาภาษาไทย ม.ศ. 1 หรือ 2 ราวๆนั้นนั่นแหละเลยจำแม่น สมัยก่อนเรียนแบบท่องเลยจำขึ้นใจ

    เข้าใจแล้วครับท่านพระมหาชัยวุธ วุด....อาวุธ ไม่ใช่วุด.....วุฒิ

    ความของบันทึกนี้ท่านพระมหาชัยวุธต้องการจะโยงเรื่องการคิดนอกกรอบกับ KM กับ R2R หรือเปล่า....ถ้าใช่ดึงกลับหน่อยก็ดี ถ้าแม้นไม่ใช่ก็เปิดตูเลจะไปอย่างไรก็ได้ ใช้ไม๊ อย่างไง มิทราบ  555...

    P

    small man

     

    ท่าน ผอ. เป็นนักบริหารสามารถเข้าใจและตระหนักถึงเรื่องทำนองนี้ได้ดี... อาตมาเป็นเพียงนักทฤษฎีซึ่งอาศัยจินตนาการเท่านั้น...

    แนวคิดทำนองนี้ อาจนำไปประยุกต์ใช้ได้ตามสถานการณ์ แต่ทฤษฎีเรียนเพื่อค้นหาความจริงแท้ ซึ่งพอคิดๆ ไปก็เจอการขบเหลี่ยมทางตรรกะ ที่ไม่อาจแก้ปัญหาได้ ดังเช่นตัวอย่างที่ท่านผอ. ว่ามาก็อาจถูกโต้แย้งได้...

    เจตนาบริสุทธิ์ ? จะใช้เกณฑ์อะไรเป็นตัววัด เพราะเราไม่สามารถเข้าถึงจิตใจของคนอื่นได้... (สิ่งภายใน)

    ไม่เกิดปัญหาตามมา ? นั่นคือใช้ผลลัพธ์เป็นตัววัดใช่ไหม ? ผลลัพธ์ที่ไม่เกิดปัญหาตามมา อาจเกิดจากการกระทำที่ไม่บริสุทธิ์ก็ได้... (สิ่งภายนอก)

     

    สองนัยนี้ อาจเพ่งได้ว่า ใช้สิ่งภายในและสิ่งภายนอกประกอบกันในการตรวจสอบความเป็นผิดเป็นถูก นั่นคือ

    • ถ้าใช้เจตนาก็คือใช้ สิ่งภายใน
    • ถ้าใช้ผลลัพธิ์ที่ตามมาก็คือใช ้สิ่งภายนอก


    สองประเด็นนี้ จัดเป็นข้อถกเถียงในจริยศาสตร์คุณธรรม ซึ่งอาตมาเอามาลงไว้นิดหน่อย (ดูที่ จริยศาสตร์คุณธรรมกับการกระทำเหนือหน้าที่ ๔. (จบ) )

    เจริญพร

    P

    ครูนงเมืองคอน

     

    แม้คุณครูนง เคยเจอปัญหาเรื่องชื่อผิดพลาดบ่อยๆ คงจะซื้งถึงเรื่องนี้... อาตมาต้องตามแก้มาตั้งแต่เด็กๆ เลย แก้ชื่อ แก้นามสกุล และเดียวนี้ก็มาแก้ฉายาอีกอย่างหนึ่ง...

    ปีแล้วก่อน ส่งชื่อว่าจะไปสอบบาลี พอใกล้สอบเค้าก็โทรมาบอกว่า ชื่อผิดอยู่ ให้สอบไปก่อน ถ้าสอบได้ค่อยเสนอแก้ภายหลัง อาตมารู้สึกเซ็ง จึงคิดว่าไม่สอบแล้วบาลี... ก่อนหน้านี้ เพื่อนสนิทซึ่งคบหามาหลายปี ก็บอกว่า อาตมาเคยขยำวุฒิบัตรใส่ถังขยะ เพราะชื่อผิด (5 5 5...)

    .......

    บันทึกนี้ ความตั้งใจเดิมว่าด้วยการกระทำเหนือหน้าที่...  ไม่ได้ว่าด้วยเรื่องการคิดนอกกรอบกับ KM หรือเรื่อง R2R ... 

    แต่ก็คุยแตกประเด็นเรื่องอื่นๆ ได้... ชวนกันบ่นเรื่องชื่อผิดก็ได้... หรือว่าด้วยภาษาไทยก็ได้ เช่น จง ก็แผลงเป็น จำนง (5 5 5 5)

    เจริญพร

    นมัสการหลวงพี่ชัยวุธ ต่อครับ... ไม่ทราบทำไม หลุดไปเป็นตีพิมพ์เสียแล้ว (เริ่มใหม่นะครับ)

         หลังจากที่ได้อ่าน thesis เล่มของหลวงพี่แล้ว ผมยิ่งอยากตอบคำถามว่าทำอย่างไรดีที่จะช่วยให้เรา (กลุ่มข้าราชการ) สามารถคิดและทำเหนือหน้าที่ได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการพัฒนาลำดับขั้นของ initiative, creative และ innovative ได้

         เหตุผลนะครับ เพราะกลัวว่าไม่ใช่หน้าที่ กลัวว่าจะผิดพลาดเพราะเกินหน้าที่ กลัวผิดระเบียบ กลัวทำนอกสั่ง กลัว... ต่าง ๆ จึงทำให้การพัฒนาไม่เป็นไปตามสภาพจริง (ล้าสมัย) เมื่อไม่ทันสมัย ก็แก้ปัญหาไม่ทัน หรือไล่ตามปัญหาที่เกิดใหม่เสมอ ไม่สามารถไปดักหน้าเพื่อจัดการเสียก่อน ในที่สุดเราก็ไม่ประหยัดเลยครับในการจัดการกับปัญหาและการพัฒนา

    P

    ชายขอบ

     

    • ทองพูน โคกโพธิ์ ราษฎรเต็มขั้น

    อาจารย์คงจำหนังดังเรื่องนี้ได้... ทองพูนขับแท๊กซี่และมีปัญหากับเจ้าหน้าที่่บ้านเมือง เพื่อนแท๊กซี่เห็นใจ แต่ไม่มีใครช่วย...

    มึลุงขับแท๊กซี่คนหนึ่งบอกทองพูนว่า  เอ็งอย่าไปโทษพวกเค้าเลย เพราะต่างคนก็มีครอบครัว มีลูกมีเมีย... แต่ข้าไม่มี  มา ! ข้าไปกะเอ็ง...

    ตัวอย่างหนังเรื่องนี้ มาพิจารณาบรรดาข้าราชการ ใครจะรับผิดชอบความผิดพลาดที่เกิดขึ้น (ถ้าเขาผิดพลาดในเรื่องการทำเกินเลยหรือนอกเหนือหน้าที่) พวกเขาก็รักครอบครัว รักผัวรักเมียรักลูก
    ...

    หลวงพี่มักมองจากข้อเท็จจริงทางสังคมมากกว่าความเพ้อฝัน...

    • ทำท่าเพ้อเจ้ออีกแล้ว (5 5 5...)

    เจริญพร

     

     

     

    นมัสการหลวงพี่...

         ไอหยา... เหมือนโดนเบรกเลย แต่ไม่หรอกครับ จะดื้อซะอย่างทำไงได้ ที่บอกว่า "ทำอย่างไร..." นั้นก็คือจะพยายามหาทางให้เกิดขึ้นให้ได้ โดยใช้แนวคิด 6 Sigma ครับ คือผิดพลาดน้อยที่สุดนะครับ จึงต้องยังคิดอีกมากเพื่อให้สมบูรณ์ที่สุด (อันนี้ยิ่งเพ้อเจ้อกว่าอีกครับ 555)

    P

    ชายขอบ

     

     

    • วายเมถว ยาว นิปทา
    • ควรพยายาม จนกว่าจะสำเร็จ

    เจริญพร

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท