BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

หนังสือ


หนังสือ

 

ไม่แน่ใจว่าใครเคยทบทวนการอ่านหนังสือของตนเองบ้าง... สำหรับผู้เขียนเอง ทบทวนเรื่องนี้มาสี่ห้าปีแล้ว คืนนี้จึงมาทบทวนเป็นรอยจารึกอีกครั้ง...

๒๕๑๒-๓ ผู้เขียนอายุได้เจ็ดขวบก็เริ่มเข้าเรียนป.๑ ที่โรงเรียนวัดคูขุด... สมัยนั้น หนังสือบางกอกเป็นที่นิยมในบรรดาญาติผู้ใหญ่ และโยมพ่อผู้เขียนก็เป็นท่านหนึ่งที่ชอบอ่านอย่างยิ่ง ผู้เขียนเด็กๆ จึงถูกใช้หรือวานให้เอาหนังสือบางกอกจากบ้านโน้นไปให้บ้านนี้ จากที่นี้ไปให้ที่โน้น ตั้งแต่เริ่มจำความได้... ระหว่างทางที่เดินไปก็เปิดหนังสือดูรูปภาพไปด้วย และนี้แหละที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นบ่อเกิดให้หัดอ่านหนังสือตั้งแต่เริ่มอ่าน หนังสือออก... ค่อนข้างมั่นใจว่า ป.๒-๓ ก็เริ่มเสพติดนิยายในบางกอกแล้ว (5 5 5...)

นอกจากบางกอกแล้ว... หนังสือเด็กก้าวหน้า ก็เป็นอีกเล่มที่พวกเราเด็กๆ มักจะชอบอ่านกัน...  โดยผู้เขียนอาศัยอ่านตามบ้านญาติ ซึ่งก็มีอยู่หลายบ้าน แต่บางบ้านบางครั้งก็อาจไม่ได้ดังใจ เพราะมีเด็กเยอะ ต้องเข้าคิวกัน และโดยมากพวกอายุมากกว่าจะถืออภิสิทธิ์อ่านก่อน...

บ้านตาฉุ้น ซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่งที่ผู้เขียนระลึกได้ ลูกของท่านคนสุดท้องรุ่นเดียวกับผู้เขียน ดังนั้น ผู้เขียนจึงมักจะไปเที่ยวตามโอกาส... บ้านตาฉุ้นไม่ค่อยมีเด็ก จึงค่อนข้างสงบ และที่สำคัญก็คือ มีชั้นวางหนังสือซึ่งผู้เขียนมักจะไปนั่งคุ้ยหนังสืออยู่ที่นี้ครั้งละ นานๆ... ผู้เขียนระลึกเรื่องนี้ได้ เพราะเมื่อสี่ห้าปีก่อน ได้คุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนรุ่นพี่ ท่านอ้างถึงหนังสือมิตรครู เป็นต้น ซึ่งหนังสือหลายเล่มที่ท่านอ้างมานั้น ผู้เขียนรู้สึกว่าจะเคยเห็นเคยอ่านตอนเด็กๆ จึงย้อนระลึกไปจึงเจออดีตตนเองที่เป็นเด็กแล้วไปนั่งคุ้ยหนังสือที่บ้าน ตาฉุ้นเป็นครึ่งวัน จึงสรุปว่า ชั้นวางหนังสือบ้านตาฉุ้นนี้เองที่เป็นห้องสมุดแห่งแรกของผู้เขียน...

๒๕๑๘ ย้ายเข้ามาอยู่บ่อยาง (ตัวเมืองสงขลา) คราวนี้ หนังสือบางกอกก็ไปซื้อได้ปากซอยในวันจันทร์ตอนเย็นๆ...  จำได้ว่า  หลังจากซื้อหนังสือมาแล้ว ผู้เขียนจะแวะพักใต้ต้นไม้ภายในวังขาว  (วังโบราณ ซึ่งปัจจุบันคร่ำคร่ามากแล้ว  คนสงขลาจะรู้จักวังเขียว-วังขาว)  และผู้เขียนจะอ่านนิยายอย่างมีความสุข จนกระทั้งมืดมองตัวหนังสือไม่เห็น จึงกลับเข้าบ้าน... สาเหตุก็คือ  ถ้าโยมพ่ออยู่บ้านก็มักใช้อภิสิทธิ์เอาไปอ่านก่อน...

เมื่อมาอยู่ใน เมืองก็ย้ายมาเรียน ป.๖-๗ ที่โรงเรียนเทศบาล ๓ (วัดศาลาหัวยาง)... จำได้ว่า เมื่อขึ้นป.๗ ทางโรงเรียนก็เริ่มสร้างห้องสมุด ผู้เขียนมักจะไปหลบอยู่ในห้องสมุด บางครั้งก็ช่วยคุณครูจัดหนังสือตามโอกาส พล นิกร กิมหงวน เริ่มรู้จักที่นี้... จำได้ว่า นิยายจีนเล่มเล็กๆ มีเยอะในห้องสมุด แต่ผู้เขียนหาเล่มแรกไม่เจอ พยายามหัดอ่านบางเล่ม แต่ก็ยังไม่ประทับใจ

เมื่อจบป.๗ ก็เข้าเรียนมศ.๑ ที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ ผู้เขียนก็เลือกสมัครเข้าชมรมห้องสมุด  มีโอกาสก็ไปช่วยงานห้องสมุด และได้สิทธิพิเศษในการยืมนานกว่านักเรียนทั่วไป... แต่ก็ไปช่วยเพียงระยะแรกๆ เท่านั้น เพราะเิีริ่มหนีโรงเรียน และหัดสูบบุหรี่ ตามประสาวัยรุ่น (5 5 5)... จำได้ว่า จดหมายจากเมืองไทย ของโบตั๋น ทำให้ผู้เขียนเจอนิยายที่ต่างไปจากในหนังสือบางกอก

เมื่อทบทวนว่า ผู้เขียนสมัครใจไปช่วยงานห้องสมุดของโรงเรียนโดยไม่มีใครชักชวนทั้งในชั้น ประถมและมัธยม นั่นอาจเป็นวาสนาในบางก่อนที่เคยอบรมมา

..........

เมื่อมาเรียนเทคนิคหาดใหญ่ สาขาช่างก่อสร้าง... ผู้เขียนชอบวิชากลศาสตร์โครงสร้าง และชอบใจตำราของวินิต ช่อวิเชียร... จำได้ว่าอ่านหนังสือของท่านทุกเล่มที่มีอยู่ในห้องสมุด แม้บางเล่มจะไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ก็ยืมไปอ่านด้วยความกระหายใคร่รู้... เมื่อย้อนรำลึกอดีต การฝึกอ่านหนังสือที่ไม่รู้เรื่องให้จบเป็นเล่มๆ น่าจะเกิดขึ้นในช่วงนี้... ขณะที่ตำราภาษาอังกฤษก็เริ่มสอดแทรกเข้ามาในช่วงนี้เช่นเดียวกัน แม้ผู้เขียนอ่านไม่สามารถอ่านได้ แต่ก็ชอบที่จะเปิดดูภาพ การรวมแรง แตกแรง โครงถัก...

เมื่อก่อนรู้จักแต่ของแข็งและของเหลวว่ามีคุณสมบัติต่างกัน เมื่อมาเรียนที่นี้ทำให้ผู้เขียนรู้จัก ของไหล อีกอย่างหนึ่ง... น้ำคือของเหลวจะไปไปยังที่ลุ่มและด้านข้าง ส่วนก๊าซคือของไหล ซึ่งจะไหลออกไปทุกทิศทาง ผู้เขียนรู้สึกชอบอ่านเพราะเป็นการอธิบายถึงธรรมชาติที่ลึกซึ้ง จึงหาหนังสือกลศาสตร์ของไหลอ่านอยู่พักหนึ่ง อ่านไม่รู้เรื่องก็ดูแต่รูป... ยังจำชื่อนักคิดค้นหนึ่งว่า่ ชื่อเปอร์ลูมี อธิบายเรื่องทำนองนี้ แต่เมื่อกี้ลองค้นหาชื่อนี้ในเน็ตก็ไม่มี เจอแต่ชื่อว่า เบอร์นูลลี หรือว่าจะจำมาคลาดเคลื่อนเกินยี่สิบปี (5 5 5)

ผู้เขียนอ่านหนังสือพวกนี้อยู่บ้างเมื่อช่วงไปเรียนเท่านั้น แต่ด้วยความเป็นวัยรุ่นทำให้ผู้เขียนเรียนๆ ออกๆ ไปทำงานเป็นกรรมกรลุนยางแบกปุ๋ยตามท่าเรือบ้าง ได้เงินมาก็สนุกกับการเมาการเที่ยว จนกระทั้งเข้ามาบวช

 

 

คำสำคัญ (Tags): #หนังสือ
หมายเลขบันทึก: 171440เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2008 11:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 21:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท