การให้อภัย


อย่าเอ็นดูเขา จนเอ็นเราขาด

ให้อภัยไปเถอะนะ

เรื่องเล็กน้อย

ขอกันกินมากกว่านี้

ประโยคต่างๆข้างบนนี้ คงคุ้นๆ กันมากใช่ไหมคะ

โดยเฉพาะเมื่อวันหนึ่งวันใด ที่คุณจะรู้สึกว่า "ทำไมถึงเอาเปรียบกันจัง"

 หลายคนอาจคิดว่า เรื่องการให้อภัยมันง่าย ก็แค่พูดว่า ช่างเถอะ ก็น่าจะจบ

แต่ความจริงแล้ว การให้อภัยไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งกับสังคมวัตถุนิยม ที่การจะให้อะไรกับคนอื่นมักจะแฝงการคำนวณผลที่ได้คืนกลับมาก่อน

การเป็นผู้ให้ รวมทั้งให้อภัยอาจถูกเยาะเย้ยว่า โง่ทำเอง

และคนที่ให้ และให้ รวมทั้งให้อภัยเมื่อถูกเอาเปรียบ ไม่ว่าจะถูกเอาเปรียบด้วยเงิน เอาเปรียบเวลา หรือถูกเอาเปรียบแม้แต่บางทีที่จอดรถเล็กๆ ก็ตาม วันหนึ่งก็อาจจะเริ่มหวนคิดว่า "จะยอมอภัยให้ได้อีกไหม"

การให้อภัยจึงไม่ใช่การยอมรับทุกอย่างที่ถูกกระทำ เพราะวันหนึ่งสิ่งที่ไม่พอใจ เก็บกดไว้ อาจนำผลร้ายมาสู่เจ้าตัวได้

แต่ต้องเป็นการให้อภัยที่เกิดขึ้น อย่างสมดุลในตัว

มีคำกล่าวหนึ่งบอกไว้ว่า อย่าเอ็นดูเขาจนเอ็นเราขาด

หมายถึงว่า เมื่อจะให้ความช่วยเหลือ ซึ่งแน่นอนรวมการให้อภัย ต้องไม่มากจนถึงกับทำให้ตัวเองเดือดร้อน

เมื่อไม่พอใจอะไร หรือเริ่มรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ ให้ลองหยุด แล้วคิดทบทวนว่า เพราะเราเองเคยมีภาพลวงตาอะไรมาก่อนหรือไม่

ถ้าหากพบว่า การเอาเปรียบนั้น เป็นเพราะพื้นฐานของคนชอบเอาเปรียบนั้น ก็ให้บอกเขาไปตรงๆว่า เราไม่ชอบสิ่งที่เขาทำ แต่ให้ทำอย่างสุภาพ

อย่าเก็บกดไว้เพราะเกรงใจ

อย่าให้อภัยเมื่อในใจยังไม่ยอมรับ

และอย่าลืมว่าคุณต้องให้อภัยตัวเองด้วย เมื่อวันหนึ่งที่คุณไม่สามารถทำในสิ่งที่อยากทำด้วยนะคะ

 

คำสำคัญ (Tags): #empower
หมายเลขบันทึก: 17828เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2006 09:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

พลังแห่งการให้ นั้นยิ่งใหญ่จริงๆ ...แต่สิ่งที่ยากยิ่งก็คือการ "ให้อภัย" เพราะต้องใช้เมตตามากๆ เลย...เห็นด้วยกับคุณ jc ว่า "ถ้าจิตไม่ปรับ ก็รับดีกว่า" เพราะถ้าจะต้องให้อย่าง "ฝืนใจ" อาจจะเข้าข่าย "ไม่เมตตาตัวเอง" ...หรือเปล่า???

การให้อภัยบางครั้ง ก็ต้องทำใจเหมือนกัน อยู่ที่จิตใจของบุคคลๆนั้นเหมือนกันนะครับ แต่คนเรายังมีกิเลส บางครั้งก็ลืมที่จะคิดถึงการให้อภัยเช่นกัน เมื่อมองเห็นความเสียหายที่เกิดขึ้นตรงหน้า
จากคน ปลุกสำนึกรักบ้านเกิดด้วยภาพ

ให้และให้ต่อไป.....แล้วก็ลืมมันเสีย

 

ความสุขของการให้อยู่ที่การกุลีกุจอ

ความทุกข์ของการให้คือการรอเสียงสะท้อนกลับ

 

ให้อภัยก็เช่นเดียวกัน

...เข้ามาต่อยอดความรู้สึกตัวเองให้ครบความค่ะ...อาจารย์จันทรรัตน์....

ดิฉันอยากเห็นคนที่ พูด คิด เขียน และทำ เป็นเนื้อเดียวกัน  และเพียรพยายามที่จะเป็นคนเช่นนั้นเสมอมา

แต่เมื่ออายุมากขึ้น ดิฉันก็ได้เห็นว่าโลกนี้ไม่มีสิ่งสมบูรณ์แบบ ไม่มีมนุษย์สมบูรณ์พร้อม แต่ดิฉันก็ยังคิดว่า ต้องเพียรพยายาม......  มิใช่คิดว่าสิ่งดีโดยเนื้อแท้ไม่มี  แล้วก็เลิกที่จะเพียรพยายามสร้าง

ดิฉันจึงบอกตัวเองและเด็กๆว่า "......การเป็นมนุษย์ที่ดีในอุดมคตินั้น อาจทำไม่ได้ง่ายนัก.....

แต่หากการได้พบ ได้อยู่ร่วมกับคนดี  ทำให้ชีวิตเราเป็นมงคลกว่าการอยู่ร่วมกับคนร้ายแล้วไซร้......
ก็จงเพียรพยายามสร้าง และทำต่อไปเทอญ..."

(คือเด็กๆก็รับคำพร้อมๆกันว่า  ซ้า...า..า ...ธุ...  ดิฉันก็ขำเธอ  เทศน์เอ๊ยบ่นทีไรเธอสาธุส่งมาทุกที)

ดิฉันจึงรู้สึกรักในวิธีคิด และรักวิธีสื่อสารของอาจารย์ เพราะการสื่อสารอย่างสั้นๆ ใช้คำน้อยแต่กินความมาก  และทำให้ผู้อ่านเห็นจริง ในสถานการณ์ชีวิต และความคิด ความรู้สึกรูปแบบต่างๆได้นั้น   ผู้เขียนต้องตกผลึกทางความคิดแล้วอย่างลึกซึ้ง 

เรื่องการให้อภัยที่อาจารย์เขียนข้างต้นนั้น ตรงกับใจและสถานการณ์ชีวิตในหลายๆครั้งของดิฉัน  ดิฉันได้พยายามฝึกนักศึกษา เพราะไม่อยากให้เขาเป็น "แม่พลอย"  ผิดที่  (ในที่นี้ คือแม่พลอยในเรื่อง สี่แผ่นดิน นะคะ) 

คืออยากฝึกให้เข้าใจในการทำดีด้วยจิตใจดี  และเข้าใจวิธีรับมือกับความโกรธ เมื่อเห็นผู้ที่รู้จักจะรับมากกว่าให้ จนเกินวิสัยมนุษย์ที่ขัดเกลามาดีแล้ว และรู้จักให้อย่างพอเหมาะพอดี   มิใช่การทำดีโดยเบียดเบียนตนเองเกินพอดี ......แล้วคิดเอาว่าดี

เด็กฉลาดปราดเปรียวนั้น ดิฉันไม่ใคร่ได้รบกวนอะไรเธอมากนัก  แต่เด็กจิตใจดี มีใจคิดถึงแต่ผู้อื่นเป็นที่ตั้ง (ซึ่งมีนับคนได้) ดิฉันจะรีบฝึกก่อน  เพื่อให้เขายังคงความเป็นคนจิตใจดีไว้ และอยากฝึกให้ฉลาดรู้เท่าทันคน รู้ว่าควรรับมือกับคนแต่ละชุดอย่างไรจึงจะไม่ถูกเอาเปรียบเกินควร

อาจารย์ได้เขียนตรงๆในสิ่งที่ดิฉันอยากพูด แต่ไม่กล้าพูด  ไม่มั่นใจที่จะพูด ทั้งที่ใจคิดและอยากจะพูดอย่างนี้  ในสถานการณ์ลักษณะนี้   

ดิฉันอยากพูดอย่างนี้นะคะ

"ดิฉันอยากเป็นคนดี ที่ไม่เอาเปรียบใคร และไม่ชอบให้ใครเอาเปรียบ"

คือนึกๆดูแล้ว คุณสมบัติของแม่ช้อยก็เข้าท่าดี.....

ปล.ดิฉันเขียนยาวเลย  เข้าบล็อกอาจารย์ทีไรเขียนยาวเป็นไมล์ทุกทีอะค่ะ :)

อาจารย์ ดอกไม้ทะเล คะ ชอบอ่านความเห็นของอาจารย์เช่นกัน.....เขียนยาวๆ มาให้อ่านบ่อยๆ ด้วยนะคะ

อ่านที่อาจารยฺเขียนแล้วนึกสนุก ที่จะได้คุยเรื่องนิยาย(ร่วมสมัย...)

ในความคิดนะคะ ....คิดว่าแม่พลอย..ยังเหมาะกับสังคมปัจจุบัน ในส่วนที่วางตัวดี นิ่งๆ ...แต่แม่พลอยก็เป็นค่านิยมของผู้หญิงของสังคมระดับกลางในมุมมองของผู้ชาย..ถึงแม้ว่า ผู้ประพันธ์( พลตรี มรวใ คึกฤทธิ์ ปราโมช) จะสร้างความต่างและการปรับตัวยอมรับความจริงของชีวิตที่โลดแล่นในบทของแม่ช้อยนะคะ ...โดยแม่ช้อยก็คือคนธรรมดาที่มีโอกาสได้รับการศึกษาตามยุค(และตามโชค) แต่ก็เจียมตัวไม่ทะเยอทะยานใฝ่สูงจนเกินฐานะ ...ก็ยังเป็นค่านิยมแบบผู้ชาย ว่า ผู้หญิงถึงจะคิดเป็น แต่ก็ต้องทำอะไรๆ ในกรอบและอยู่ภายในขอบเขต(ผู้ประพันธ์ใช้รั้วของวัง และสายตาของผู้หญิงในวังเป็นกรอบ) และสิ่งที่ผู้หญิงสามารถทำเพื่อระบายความเครียดก็คือการคุยกันระหว่างผู้หญิงและภายในบ้าน  (ที่เป็นอาณาจักรของผู้หญิง)

เรื่องสี่แผ่นดิน ชวนอ่าน ให้วิเคราะห์ ในหลายเรื่อง ทั้งการบริหารงานในแบบผู้หญิง บทบาทผู้หญิง สังคมของผู้หญิง วิธีการครองเรือน บทบาทของผู้ชาย ฯลฯ...

อาจารย์ ดอกไม้ทะเล ชวนคุยเรื่องนิยายล่ะ ของชอบเลยค่ะ .....(อิอิ)

สวัสดีปีใหม่ไทยค่ะอาจารย์  ขอให้อาจารย์มีความสุขมากๆในวันครอบครัวนะคะ  :)

เรื่องนิยายนี่ของชอบดิฉันเหมือนกันค่ะ  แต่ไม่ได้อ่านได้ลึกซึ้งอย่างที่อาจารย์อ่านและวิเคราะห์ให้ฟังมากนัก  ออกจะหนักมาทางหนังและเพลงมากกว่า   ช่วงปี 2527 - 2538  จากนั้นก็หนักไปทางการอ่านเพื่อสอน  เน้นไปทางบทความสารคดีอะไรต่างๆค่ะ 

ดิฉันอ่านนวนิยายเรื่อง สี่แผ่นดิน เมื่อครั้งยังเล็กแล้วชอบแม่พลอยมาก เพราะรู้สึกว่าเป็นคนใจดี มีความเห็นอกเห็นใจคนอื่น แล้วก็ชอบแม่ช้อยชะมัด เพราะเฮ้วดี (ขออนุญาตใช้สำนวนวัยรุ่นเท่าอายุนะคะ :) ) และสนใจวิธีเล่าเรื่องในวังด้วยสายตาชาววัง  คือดูมีพิธีและข้อควรระวังเยอะดี 

ถ้าเป็นสมัยนี้คงโดนโขลนจับกันเป็นแถวๆ ...(เอ่อ   ถ้าใช้คำผิดขออภัยนะคะ) 

ชอบชีวิตตัวละครที่ท่านเล่าเป็นฉากๆไปจนจบ  เห็นวิธีคิด ผ่านการคิด(ที่ผู้เขียนบรรยาย)แล้วเชื่อว่านิยายจะช่วยให้คนรู้เท่าทันการสื่อสารในชีวิตประจำวันได้ (ในระดับหนึ่ง) ถ้าคนเรารู้จักเรียนรู้  ไม่ดูแค่พอผ่าน  ใช้ฝึก การรู้เท่าทันสื่อ ได้อีกต่างหาก

(...อูย..บางทีดิฉันก็กลุ้มใจตัวเองค่ะ  คิดอะไรไม่เคยพ้นกรอบของห้องเรียนสักที )

ตอนเรียนเอกไทย ก็ไม่เคยรู้จักแนว Feminism ค่ะ   แต่ไม่ใคร่ชอบความไม่เท่าเทียมระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย  คือไม่ได้เรียกร้องให้เท่านะคะ  แต่อยากให้สมเหตุสมผล  ไม่ใช่ไปหนักอยู่ทางผู้หญิง   

.....สงสัยที่ชอบแม่ช้อย เพราะมีอาการเฟมินิสต์ติสต์หลบลึกอยู่อะค่ะ :)

และสมัยเรียน อาจารย์เคยบอกว่า มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนักเขียนที่เขียนได้หลากสไตล์  วิเคราะห์หาลักษณะเฉพาะในลีลาการเขียนได้ยากที่สุดค่ะ

 

อาจารย์ดอกไม้ทะเลคะ

ขอบคุณค่ะ และขอให้อาจารย์มีความสุขเช่นกันค่ะ

เรื่องรู้เท่าทันการสื่อสาร.  ของคนยุคนี้....ดิฉันคิด(เอง)ว่า จะมีได้เมื่อได้อ่านเยอะ อ่านจากหลากหลายแนวคิด และหลายวิธีการนำเสนอด้วยนะคะ

แต่เพราะสภาพปัจจุบัน สังคมเป็นสังคมฟาสต์ฟูด และกึ่งสำเร็จรูป ทำให้การรู้เท่าทัน เป็นเรื่องยากยิ่งขึ้น และต้องการความเข้าใจเด็กยุคใหม่มากขึ้น

ในแง่ของสื่อ ดูง่ายๆ คือ ทุกเช้า รายการที่มีคนเอาหนังสือพิมพ์มานั่งกาง อ่าน สรุป และเติมความเห็นของพิธีกรลงไป จะได้รับความนิยมมากขึ้นๆ ข่าวสั้นต้นชั่วโมง Breaking News ตัววิ่งบนอินเตอร์เนต ครองตลาดไม่เกินความคาดหมายที่เคยคิดไว้

เหล่านี้ทำให้รายละเอียดบางอย่างที่หายไปส่วนหนึ่งแล้ว ด้วยวิธีการนำเสนอโดยสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีอยู่ ก็ยิ่งหายไปกันใหญ่ แต่สิ่งที่ทับทวีคูณ คือความเห็นของนักข่าว และของพิธีกร ที่เติมสีสรร เข้าไป ตามเบื้องหลังและที่มาที่เป็นของแต่ละคน

ทีนี้ถ้าไปผนวกลูกเล่น ของโพล บางที่ คือเอาค่าสถิติมาบอกว่า เรตติ้งดีไม่ดี แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลว่า ไปสำรวจกับใครที่ไหน..(ส่วนมากก็เฉพาะคนกรุงเทพฯ ) และอย่างไร แล้วหยิบเฉพาะผล เอามาพาดหัวข่าวใหญ่โต ..กลายเป็นเรื่องที่ทำให้ดูเหมือนคนทั้งประเทศคิดเช่นนั้นไปได้

การชี้แนะชี้นำโดยสื่อแบบนี้ ...เลยไปกันได้ดีกับความหยาบทางปัญญา ของคนจำนวนหนึ่งที่ต้องการดิ้นรนไขว่คว้าเขย่งเหยียบเพื่อให้ขึ้นได้สูงที่สุดเร็วที่สุด ขณะเดียวกันกลุ่มคนเหล่านี้ก็คือคนที่เรียกร้องโหยหาการจัดการให้ได้มาซึ่งสังคมที่สงบสุขเพื่อมาเป็นทรัพยากรต้นทุนสำหรับตัวเองที่จะได้มีโอกาสแสวงหาต่อไปไม่หยุดยั้ง เป็นวงจรที่คนอยู่ในวงอาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้

จะรู้เท่าทันสื่อ ก็จะต้องหัดคิดเป็นระบบได้ด้วยนะคะ...ยากไม่ใช่เล่นสำรหับยุคสมัยนี้ที่ทุกอย่างมันสำเร็จรูปมาเกือบหมด

น่าเสียดายที่ดิฉันไม่ได้เรียนด้านภาษา มนุษย์ หรือการสื่อสาร สมัยเรียนพยาบาล ป ตรี หลักสูตรก็เน้นสายวิทย์ ไม่อย่างนั้น คงมีความเห็นแลกเปลี่ยนกับอาจารย์ได้มากกว่านี้น่ะค่ะ

 

 

อาจารย์จันทรรัตน์คะ

ดิฉันก็แสนหนักใจกับสังคมฟาสต์ฟู้ดและกึ่งสำเร็จรูปเช่นกันค่ะ  อาจารย์ใช้คำดีจัง....

เด็กๆก็คงหนักใจกับพวกไดโนโทเปีย 2007 อย่างดิฉันเหมือนกัน  แต่ดิฉันรักพวกเขามากเกินกว่าจะสอนวิชาเฉยๆได้ 

ถึงแม้วิธีการ  ฝึกให้รู้จักคิด  ฝึกให้สนใจเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ  และฝึกเรื่องการรู้เท่าทันการสื่อสาร   จะทำให้เด็กเซ็งดิฉันตลอดสี่ปีการศึกษา  ดิฉันก็ยอม  คือถึงจะเห็นหน้าดิฉันแล้วเบื่อไปตลอดชีวิต  ดิฉันก็ยอมอีก....  

และอยากเรียนว่า อาจารย์วิเคราะห์สถานการณ์การสื่อสารของสื่อมวลชน สังคม และผู้บริโภคสื่อได้กระชับ ชัดเจน  เห็นภาพรวมดีมากๆนะคะ   ดิฉันรู้สึกอายชะมัดที่เขียนแบบนี้ไม่เป็น  ทั้งที่สอนนิเทศศาสตร์อยู่แท้ๆ  นี่เป็นผลมาจากการไม่ได้ฝึกคิดอย่างเป็นระบบค่ะอาจารย์  คืออาจจะเป็นการขาดระบบคิดเชิงวิพากษ์ด้วย

นอกเหนือจากการเรียนไม่เก่ง อันเป็นลักษณะเฉพาะตัว(ห้ามเลียนแบบ) ของดิฉันแล้ว

การคิดไม่เป็นระบบ น่าจะเป็นผลมาจากการเรียนตามหลักสูตรศิลป์เพียวๆไม่มีวิทย์เจือปน        จึงทำให้คิดอะไรเป็น อารมณ์ ความคิดเห็น และความรู้สึกไปหมด  เวลาพูดก็มักจะขึ้นต้นว่า  "...เอ่อ...รู้สึกว่า....."  :-) 

แทนที่จะพูดว่า "ที่ข้าพเจ้าเห็นมา (ข้อมูลเชิงประจักษ์)  จำนวนเท่านั้นเท่านี้ (ข้อมูลเชิงปริมาณ) จากที่นั่นและที่นี่ สรุปได้ว่า จุดจุดจุด...."   คือน่าเชื่อถือกว่ากันเยอะอะค่ะ  ไม่ได้แซวสายวิทย์นะคะ พูดจริงๆค่ะ

ดิฉันดีใจที่รุ่นน้องๆดิฉัน  เขาปรับหลักสูตรใหม่ให้มีวิชาทางวิทย์อยู่บ้างพองามค่ะ

และดิฉันชักสงสัยว่าบริเวณนี้จะมี Postmodernism  อยู่หลายท่าน  เคยอ่านหนังสือ วรรณกรรมโพล แล้วก็ชอบใจจัง  เพราะในอีกมุมมอง โพล อาศัยอำนาจปริมาณ(ของใครมั่งก็ไม่รู้  ขอให้นับได้ก็แล้วกัน)   อันเป็นไสยศาสตร์ของคณิตศาสตร์  มาสร้างอำนาจในการอธิบายปรากฏการณ์  เกิดเป็นปรากฏการณ์เทียมของการแสดงความคิดเห็น  อันไม่ได้เกิดจากการใคร่ครวญไตร่ตรองกลั่นกรองอย่างลึกซึ้ง    ทำให้ผู้สื่อสารหลงเข้าใจผิดไปได้  หากไม่รู้เท่าทันการสื่อสารชุดนี้   ......... ว่าเข้าไปนั่น....... :) 

ยิ่งคุยยิ่งยาว  แต่ยังหยุดไม่ได้  ยังอยากคุยต่ออะค่ะ :)

สวัสดีค่ะ อาจารย์
เมื่อก่อนถูกอบรมให้ระวังการใช้ อารมณ์ ความคิดเห็น และความรู้สึก ในเรื่องของความรู้ ทุกอย่างต้องใช้ความคิดไม่ให้มีความรู้สึกปน หากไม่ใช้ความคิดก็จะไม่เป็นวิทยาศาสตร์
แต่ตอนหลังความคิดก็เปลี่ยนไปค่ะ
ส่วนหนึ่งเพราะเกิดความกังขากับคำว่า วิทยาศาสตร์
ส่วนหนึ่งเพราะ พิจารณาจากตัวเองก็พบช่องโหว่ ว่าการมีแต่ความคิดล้วนๆ มักจะเป็นการหยิบยืมความรู้ของผู้อื่นมาใช้ และความรู้นั้นก็ตื้นๆ ในระดับจำได้เอามาเล่าต่อผสมความคิด(ที่มาจากการจำในเรื่องนั้นหรือใกล้เคียงมาก่อน) เมื่อจำผิดก็ขาดความมั่นใจในตัวเองที่จะมี "ความคิดเห็นด้วยตัวเอง" เพราะมัวไปกังวลกับความจำ แต่เมื่อนำสิ่งที่พบเห็นมาตั้งคำถามก่อนว่า รู้สึกอย่างไร ทำไมถึงรู้สึกอย่างนั้น มีอะไรในช่วงนั้นที่ทำให้เกิดความคิดอย่างนั้น ก็พบว่า สิ่งที่เรียกว่าเชิงประจักษ์เองก็มีจุดอ่อนของขบวนการได้มาซึ่งข้อมูล เอาไปเอามา ไม่ว่าจะเจอข้อมูลชุดไหน ก็ต้องนำมาไตร่ตรองผ่านความรู้สึก สังเกตอารมณ์ตนเองต่อความรู้สึกและความคิด ณ เวลานั้น แล้วถึงจะเกิดความคิดเปรียบเทียบกับสิ่งที่มีคนคิดไว้ก่อนหน้า..หรือจะเรียกว่าทฤษฎีที่มีอยู่ น่ะค่ะ
ไม่ทราบเหมือนกันค่ะว่า การคิดเชิงระบบ จำเป็นต้องมีฐานของวิทยาศาสตร์ก่อน หรือว่ามีฐานจาก ภายในคือ การตระหนักรู้ตัวเองก่อนหรือว่า ควรเอามาผสมกัน.....ตรงนี้ยังคิดไม่ออกค่ะ พยายามหาอ่านอยู่ค่ะ
อาจารย์มีความเห็นอย่างไรบ้างคะ ....
ส่วน  Postmodernism  ใครจะมี หรือไม่มี ลักษณะไหนเป็นไม่เป็น ....ไม่มีความรู้เลยค่ะ อาจารย์กรุณาเล่าให้ฟังสักนิดได้ไหมคะ

ดิฉันแวะเข้ามาเรียนอาจารย์ว่าคำถามของอาจารย์ดีมากเลยค่ะ  และดิฉันอยากตอบอย่างดี จึงต้องนั่งใคร่ครวญสักสามสี่วัน

ถึงแม้จะรู้น้อย  แต่ก็อยากสื่อสารตามที่คิด  รู้สึกมีความสุขอย่างบอกไม่ถูก ...คือ..คือรู้สึก สนิทใจ  ปลอดภัย และเป็นตัวเอง  โอ้ชอบสามความรู้สึกนี้จัง 

ดิฉันอยากให้เด็กๆรู้สึกแบบนี้กับดิฉันมั่งอะค่ะ :)

สวัสดีค่ะอาจารย์จันทรรัตน์

ดิฉันค้างคำตอบเรื่องใหญ่ไว้หนึ่งเรื่อง  เป็นเรื่องที่ดิฉันรู้น้อยที่สุด  แต่นึกสนุกที่จะทำความเข้าใจ   คือPostmodernism ท่านศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์กล่าวสรุปถึง โพสต์โมเดิร์นไว้ในบทความเรื่องการปฏิวัติทางญาณวิทยาว่า 

"ความจริงสูงสุดอาจมีอยู่ก็ได้ แต่เราไม่มีวันเข้าถึง..... ที่เรียกกันว่าความจริงหรือความรู้ล้วนเป็นสิ่งก่อสร้างทางสังคมทั้งนั้น เพื่อเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง" 

ดิฉันก็ขออนุญาตเดาเอานะคะ ว่าPostmodernism เป็นวิธีคิดแนวปฏิเสธ หรือวิพากษ์สิ่งที่มีมาก่อน  เช่น วิธีคิดที่มีมาก่อน  กระแสที่มีมาก่อน  ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธตัวเองไว้เรียบร้อย จนสรุปไม่ลงตัวว่าคืออะไรแน่  ดิฉันก็เลยไม่ใคร่กล้าอธิบายยาวๆอะค่ะ

เข้าใจว่าท่านที่เข้าใจเรื่องแนวคิดนี้ใน GotoKnow น่าจะมีหลายท่านนะคะ  แต่ดิฉันยังไม่เคยมีโอกาสสนทนา  ถ้ามีโอกาส  ดิฉันว่าจะเรียนถามคุณหมอมัทนาดูค่ะ  เพราะท่านมีความรู้ทางสังคมศาสตร์อย่างดี    

ส่วนการคิดเชิงระบบ  ดิฉันคิดว่า เป็นลักษณะการคิดเป็นขั้นเป็นตอน อย่างมีเหตุมีผล  โดยอาศัยข้อมูล ความรู้และประสบการณ์  ต่อเนื่องกันไปเป็นกระบวนการ

และมีอยู่ตามธรรมชาติปกติของมนุษย์ที่ สามารถสร้างความรู้จากข้อมูลได้   และจัดระบบความรู้ได้   

คือเดาเอาว่ามีในเนื้อในตัวเราอยู่แล้ว  จากนั้นเมื่อเกิดเป็นองค์ความรู้  ก็มีการตั้งชื่อกระบวนการในลักษณะข้างต้นตามแบบวิทยาศาสตร์  

ยิ่งตอบยิ่งหวั่นใจ  เพราะไม่รู้แล้วยังอยากตอบอะค่ะ  :)  

หากคำตอบใดผิดพลาดไป  ต้อง "ขออภัย" อาจารย์ด้วยนะคะ  ... :)

(มาเข้าประเด็นของบันทึกนี้เอาตอนจบน่ะค่ะ)......

ขอบคุณค่ะ อาจารย์
P
เริ่มจะเข้าใจมาหน่อยๆค่ะ ...ถ้าจะสรุปว่าคนจะเป็นได้คงต้องขี้สงสัยและไม่เชื่ออะไรง่ายๆ อย่างนั้นใช่หรือเปล่าคะ....
  • อาจารย์จันทรรัตน์คะ.... 
  • ดิฉันคิดว่าใช่นะคะ  กระแสวิชาการด้านสังคมศาสตร์ของไทย   มีนักคิดที่จัดอยู่ในกลุ่ม Postmodernist อยู่มาก   ท่านที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้     น่าจะเป็นคนไม่ยอมจำนนอะไรง่ายๆ  ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ  (อันเป็นญาติกับความขี้สงสัย)  และมีวิธีคิดเชิงวิพากษ์ด้วย
  •  ดิฉันชอบอ่านบทความของท่าน ศ.ดร.นิธิ  เอียวศรีวงค์  ท่านกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้มาก (และมีบทความที่หลายท่านเขียนเกี่ยวกับ โพสต์โมเดิร์นนิซึ่ม จำนวนมากที่เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนค่ะ) แต่ดิฉันก็สรุปความไม่ใคร่ถูก  ด้วยว่ามีกรณีตัวอย่างที่หลากหลาย และดิฉันเองก็ไม่ได้รู้ลึกในเรื่องนี้  แต่สนใจเพราะคิดว่าน่าสนุกดีที่จะสอนเด็กให้หัดตั้งคำถาม  "ต่อคำถาม และคำตอบ  ที่มีมาก่อนหน้า"
  • คือเป็นวิธีการหนึ่งที่คิดว่าน่าจะช่วยฝึกทักษะ การรู้เท่าทันการสื่อสาร แก่เด็กๆได้  
  • เท่าที่ทราบ  แนวคิดโพสต์โมเดิร์น  เชื่อว่า  ความจริง   ขึ้นอยู่กับมุมมอง   ความจริง  เป็นสิ่งประกอบสร้าง  และความจริง  เป็นสิ่งสัมพัทธ์
  • เปรียบเทียบกับการที่เรายืนคนละมุมห้อง  แล้วมองคนหนึ่งคนที่ยืนอยู่กลางห้อง   เราจะเห็นคนๆนั้นจากคนละมุม  แปลว่าความจริงที่เราเห็นจะเป็นคนละชุดด้วย  เมื่อมองจากสายตาของคนละคนกัน 
  • แปลลึกลงไปอีกเช่นว่า  นักพัฒนา  กับ นายทุน อาจจะมองเห็น (ให้ความหมาย)   การกว้านซื้อที่ดินชาวบ้าน  ต่างกับสุดขั้ว  ฝ่ายหนึ่งใช้คำว่า ฮุบ (คือเอาถาวรทรัพย์ของเขาไป  เขาจะยิ่งจนลง)  ในขณะที่อีกฝ่าย ใช่คำว่า ช่วย (คือช่วยให้เขาหลุดพ้นจากความยากจน)
  • การให้ความหมาย ของโพสต์โมเดิร์นนิซึ่ม เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ
  • คือดิฉันคิดว่า วลีนี้ออกแนวเท่ๆดี
  • หมายถึง ใครมีอำนาจมากกว่า  ก็เป็นผู้ให้ความหมาย  ผู้มีอำนาจน้อยกว่า ก็ถูกกระทำโดยการกำหนดความหมาย จากผู้มีอำนาจนั้น 
  • คือถ้าดิฉันเข้าใจไม่ผิด  เขาเรียกว่า  วาทกรรม  เช่น  ถ้าหมอวินิจฉัยว่าเราป่วย  เราก็ต้องเป็น ผู้ป่วย  หรือ  คนไข้  เพราะหมอเป็นแพทย์  (เอาเข้าไปค่ะ)  ท่านจึงมีสิทธิ์ตัดสินเช่นนั้น  และถ้าหมอบอกว่า ต้องรักษาเราโดยวิธีการอันเป็นวิทยาศาสตร์  เช่นนี้ๆๆๆ 
  • แต่เราบอกว่าไม่  เราจะรักษาตามแบบที่เราเห็นว่าเป็นธรรมชาติ  เพราะเรารู้จักร่างกายของเราดีว่าผิดปกติระดับไหน    แต่ญาติของเราก็ย่อมเชื่อหมอมากกว่า  เพราะหมอเป็นแพทย์  :)   แปลว่านี่คือ   วาทกรรม  อะไรอย่างนี้เป็นต้น 
  • คืองี้นะคะ  พูดเรื่อง วาทกรรม    อำนาจ   หรือโพสต์โมโพลิแท่น   นี่ทีไร  ดิฉันถึงแก่วิงเวียนตาลายทุกที   : )
  • พออ่านแล้วงง เยอะๆเข้า  ดิฉันก็เลยแอบตั้งคำถามคุณโพสต์โมเดิร์นเข้าบ้างเหมือนกันค่ะ  ......

ปล. ดิฉันคิดว่า   ที่จริงในสุภาษิต คำพังเพย และสำนวนไทย  มี ทฤษฎี (คือความถี่ซ้ำๆ)    ที่ตรงกับปริบทตะวันออกเยอะแยะ    ถ้าเรารู้จักนำมาแปลความ ตีความ โดยแยบคาย  แล้วถอดกระบวนการคิดที่แฝงอยู่   ถ่ายทอดให้  ให้เป็นขั้นเป็นตอน  แล้วพิสูจน์ให้เห็นว่านำไปใช้ได้จริงในปริบทไทยแล้วนั้น.......  

 ....... เราก็น่าจะได้เป็น   ทฤษฎีตะวันออก  ไปบอกตะวันตก  เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอีกเยอะเลยค่ะ .....   (เอ่อ...คิดว่ามีนักวิจัยไทย หรือผู้รู้ท่านทำอยู่แล้วด้วยค่ะ  เพียงแต่ดิฉันอ่านน้อย  เลยยังไม่มีข้อมูลมาเล่าสู่กันฟังอะค่ะ)  :)

ขอบคุณค่ะ อาจารย์ดอกไม้ทะเล

วนเวียนอ่านอีกรอบและอีกรอบ พยายามคิดตามที่อาจารย์เขียนรวมทั้งความคิดเห็นว่า    ทฤษฎีตะวันออก  ไปบอกตะวันตก

ความจริงที่ใครๆพูดนั้น หมายถึงความจริงสูงสุดที่มนุษย์อยากรู้และอยากพิสูจน์?? หรือเปล่าคะ

ที่สงสัยเรื่องความจริงนี่ คือมองว่า ในเชิงวิทยาศาสตร์ เกิดอะไรขึ้นมักจะหาคำตอบที่ต้องพิสูจน์ได้ แต่ที่ผ่านมาถึงจะพิสูจน์ได้ ก็ต้องมี "คำจำกัดความ" ของสิ่งที่พิสูจน์ และคำจำกัดความนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากจินตนาการคือ "คาดว่า" (ที่เขาเรียกสมมติฐาน) โดยอ้างอิงสิ่งที่มีผู้พิสจน์ในแง่มุมอื่นหรือแง่มุมเดียวกันแต่ต่างการควบคุม ...ซึ่งดิฉันก็มองว่า ตราบใดที่เราต้องการพิสูจน์สิ่งใด ตราบนั้นก็คือเราไม่ยอมรับว่าสิ่งนั้นคือความจริง

พอนึกถึงตรงนี้ เลยขอนึกเฉประเด็นเรื่องความจริง ไปถึงสิ่งอ้างอิงสักนิดค่ะ ...ตรงที่เวลาเขียนอะไร ต้องอ้างอิง...และบอกว่าถ้ามาจากความคิดเราเองไม่ต้องอ้างอิง...แต่ดิฉันอยากคิดอย่างนี้ว่า แม้แต่ความคิดของเรา ...(ที่เรานึกว่าเราสร้างเองบริสุทธิ์จากสมองเราเอง) นั้น.....ถ้าเจาะลึกลงไปเรื่อยๆ ...การใช้ตัวอักษา วลี ภาษา ให้สละสลวยให้ดูดี หรือให้ดูหลักแหลม ไม่ได้งอกขึ้นจากสมองเราเองทั้งหมด....เราก็ยืมคำ ยืมอักษร ยืมวิธีคิดที่สั่งสม ..แล้วมาปั๊มตีตราประทับ (ด้วยความเข้าใจ) ว่า นั่นคือลิขสิทธิ์ของเรา

นั่นคือวิธีคิดแบบความเชื่อมโยงนะคะ..ไม่มีปัจเจก แม้แต่ในปัจเจก

คิดเฉๆ แบบนี้...มีความเห็นกันอย่างไรบ้างคะ

สวัสดีค่ะอาจารย์จันทรรัตน์

  •  ดิฉันชอบมากค่ะ  ที่อาจารย์บอกว่า "ไม่มีปัจเจก แม้แต่ในปัจเจก"
  •  อาจารย์มองเห็นไปเป็นลำดับ และอธิบายว่า โดยเงื่อนไขและปริบทต่อไปนี้  ภาวะที่เราพูดถึง แปลว่าอะไร
  • แล้วก็แปลเป็นลำดับไป จนกระทั่งถึงภาวะอนิจจัง   คือถ้าอาจารย์พูดต่อ ดิฉันว่าไปถึงแน่  :) 
  • ดิฉันเคยยกตัวอย่างคุยกับเด็กๆเรื่อง  "นี่เรียกว่าเก้าอี้ไหม"  ไล่จากจากเก้าอี้ 1 ตัว  (มีนิยามและความหมายครบถ้วน) และดึงออกไปทีละอย่าง ไล่ไปจากขาเหล็ก  4  ขา ไปถึงไม้ที่ตัดมาเป็นแผ่น  ไปเรื่อยๆจนถึงน็อตและเกือบจะไปจนถึงอุตสาหกรรมผลิตเหล็ก  
  • ชั่วโมงนั้นสนุกมากค่ะ  คือดิฉันสนุกมาก  แต่เด็กๆจะรู้สึกอย่างไรไม่แน่ใจเหมือนกัน  เห็นเธอนั่งฟังกันตาแป๋ว 
  • ดิฉันสอนเสร็จแล้วก็ออกมานั่งหอบแฮ่กๆ ขำตัวเอง  สอนนิเทศศาสตร์อยู่ดีๆไม่ชอบ  จู่ก็ไปบ่นเรื่อง "ความจริงของชีวิต" อิอิ

 

  • อาจารย์จันทรรัตน์คะ  ดิฉันไม่แน่ใจว่าเข้าข้างตัวเองไปรึปล่าว  แต่ดิฉันคิดว่า ดิฉัน "เข้าใจ" ที่อาจารย์พูด  และดิฉันมีความสุขมากที่ได้คุยกับอาจารย์ยาวๆ  เพราะดิฉันรู้สึกว่าอาจารย์ "เข้าใจ" ดิฉัน และสื่อสารกับดิฉันอย่างผู้ใหญ่ที่มีจิตเมตตา และพร้อมที่จะรับฟังผู้น้อย 
  • ทำให้ดิฉันกล้าสื่อสารกับอาจารย์อย่างมั่นใจ(จนออกนอกหน้า :)  )มาก
  • อย่างไรก็ตาม  บางที  ดิฉันพูดก็ยาวๆไม่ใคร่ถูกว่าดิฉันคิดถึงเรื่องอะไรบ้าง  และคิดเกี่ยวกับเรื่องนั้นอย่างไร  
  • (คิด  ในที่นี้หมายถึงเพียรพยายามศึกษาเรียนรู้ และเอาจริง เพื่อที่จะทำหน้าที่ครูให้ดี  แบบที่ถ้าพูดกับนักศึกษา  ดิฉันตั้งเป้าไว้ว่าเขาจะนั่งนิ่ง และฟังอย่างสงบ  แล้วนำกลับไปคิดไตร่ตรองต่อ  และอาจถึงขั้นสามารถนำไปปรับใช้เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตและจิตวิญญาณของเขา ในวันหน้า เมื่อเขาเป็นผู้ใหญ่กว่านี้ )
  • สำหรับเรื่องที่อาจารย์พูดถึงนี้ ช่างตรงใจดิฉันเหลือเกิน   ในวันหนึ่งดิฉันจึงบอกตนเองว่า เมื่ออยากรู้และได้พยายามศึกษาแล้ว  แต่ยังหาคำตอบที่ดีที่สุดให้ตนเองไม่ได้  จงกล้าถามผู้รู้ (คืออันนี้ดิฉันบอกตัวเองเพื่อปลุกใจให้กล้านะคะ เพราะดิฉันเป็นคนกลัวผู้ใหญ่  ถ้าไม่มั่นใจจริงๆดิฉันจะไม่กล้าพูดเลย แต่ดิฉันคิดถึงประโยชน์ที่จะเกิดแก่ลูกศิษย์  ก็เลยกล้าขึ้นมา....คือว่า..ขึ้นมา..นิดหน่อย )
  • ถ้าอาจารย์พอมีเวลา  เรียนเชิญอาจารย์อ่านลิงค์นี้ สักนิดนะคะ  ดิฉันโชคดีมากที่ท่านกรุณาตอบให้ยาวๆ  และเชิญอาจารย์แวะไปที่ลิงค์นี้ของน้องเบิร์ดสักนิดด้วย  (ไม่แน่ใจว่าอาจารย์ได้แวะไปแล้วหรือไม่นะคะ) เผื่อว่าอาจารย์จะมีอะไรแนะนำดิฉันเพิ่มเติม
  • ขอชอบใจมากอีกทีนะคะ "ไม่มีปัจเจก แม้แต่ในปัจเจก" ..... ถึงแม้อาจารย์กับดิฉันจะมีโอกาสพบกันช้าหน่อย  แต่ยังไม่สายเกินไปใช่ไหมคะ  รู้สึกว่าตัวเองโชคดีอีกแล้วอ่ะค่ะ
  • ขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ
  • ขออภัยอาจารย์จันทรรัตน์อีกทีนะคะ  ดิฉันคลิก  บันทึกของน้องเบิร์ด  พลาดไปหนึ่งบันทึก  ที่จะเรียนเชิญอาจารย์แวะไปอ่านสักนิด คือลิงค์นี้ค่ะ :)

ขอบคุณค่ะ อาจารย์ดอกไม้ทะเล ที่แนะนำลิงคืให้เข้าไปอ่าน

เข้าไปอ่านมารอบหนึ่งค่ะ ยังไม่ได้ออกความเห็นเพระว่ายังไม่มีความเห็นอะไร ขอเอาข้อมูลไปย่อยก่อนค่ะ

อาจารย์ดอกไม้ทะเล ถ่อมตัวจังค่ะ ดิฉันไม่ได้เป็นผู้ใหญ่อะไรเลย..แต่เป็นผู้แก่ล่ะใช่ ..แน่ๆ พิสูจน์ได้ค่ะ

อาจารย์เป็นครูดีค่ะ ดิฉันเชื่ออย่างนั้น แต่นึกภาพเด็กเรียนเกี่ยวกับการสื่อสารโดย "เขาจะนั่งนิ่ง และฟังอย่างสงบ  แล้วนำกลับไปคิดไตร่ตรองต่อ " ไม่ค่อยออก...กลับนึกภาพเด็กนักศึกษาจะซักถามและตอบกลับอย่างเจี๊ยวจ๊าวไปซะอีก...อืม..น่าไปเข้าเรียนชั่วโมงของอาจารย์จังเลยค่ะ...รับศิษย์แก่ๆ สักคนนะคะอาจารย์ ..

มาเรียนช้าไปหน่อยแต่ก็ยังไม่สายใช่ไหมคะ

  • ขอบพระคุณมากค่ะอาจารย์จันทรรัตน์ที่ให้เกียรติเข้าชั้นเรียน    แต่ผู้น้อยมิกล้าอะค่ะ 
  •  ขอเรียนเชิญอาจารย์เป็นอาจารย์นิเทศน์การสอนดีกว่าค่ะ   สามารถเข้าห้องสายได้   (อิอิ)
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท