วิเคราะห์เฮฮาศาสตร์ ตอนที่ 4


Side Effect หรือ Side Reaction ของคนแซ่เฮ: เวลาชาวบ้านคุยเรื่องกินยาสมุนไพร คุณหมอและนักโภชนาการมักเตือนว่าจะมีผลข้างเคียงนะ ทางที่ดีให้เอาไปตรวจสอบคุณค่าและทำกระบวนการ purify ก่อน อะไรทำนองนั้น แม้แต่ยาที่คุณหมอสั่งให้คนไข้ ก็มักจะสอบถามคนไข้ก่อนว่าแพ้ยาอะไรบ้าง ฯ เรื่องอื่นๆก็เช่นกัน เช่นหน่วยงานหนึ่งทำถนนอย่างดีตัดผ่านทุ่งนา ชาวประชาชื่นชม คราวนี้ได้เส้นทางเข้าออกหมู่บ้านสะดวกมากขึ้น  แต่พอฝนตกหน่อยเดียวน้ำท่วมซะแล้ว  เพราะถนนที่ชื่นชอบใจนั้นไปขวางทางไหลของน้ำตามธรรมชาติ ฯลฯ

 

ทั้งๆที่คุณหมอไม่มีเจตนาจะทำให้คนไข้ต้องเผชิญปัญหาแพ้ยา  ทั้งที่หน่วยงานก่อสร้างถนนไม่มีเจตนาจะไปทำสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำ ล้วนเจตนาดีทั้งสิ้น  แต่มันก็มีสิ่งที่เรียกว่า ผลที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดคิด

 

ผมกำลังสะท้อนมุมมองที่อาศัยประสบการณ์การทำงาน ว่าการกระทำเรานั้นมีผลสองด้าน หรือมากกว่าเสมอ โดยไม่ได้เจตนา การสะท้อนในบันทึกนี่ก็เสี่ยงพอควร แต่อาศัยเจตนาดีนะครับ..  

 

ครั้งหนึ่ง..เมื่อหลายสิบปีก่อนผมกำลังคลั่งหลักการเครดิตยูเนี่ยนที่สร้างคนให้มีสำนึกแห่งการอยู่ร่วมกัน มีจิตตารมณ์แก่กันและทำกิจกรรมร่วมกันโดยการออมเงินคนละเล็กละน้อยตามกำลังทรัพย์ที่แต่ละคนจะพอออมได้ ผมตระเวนขายความคิด ปลุกระดมสำนึกและสร้างความหวังที่ดีกว่าให้แก่คนชนบทในอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่เพื่อร่วมกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์  เราทำงานทั้งกลางวัน กลางคืนแล้วแต่ชาวบ้านจะว่าง 

 

ในที่สุดก็มีชาวบ้านจำนวนหนึ่งก็ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนขึ้น ในระดับหมู่บ้าน และดำเนินกิจกรรมกลุ่มมาจนทุกวันนี้  แต่เส้นทางเดินของกลุ่มนั้นล้มลุกคลุกคลาน สารพัดจะมีปัญหามาให้แก้ ช่วงเวลา 5 ปีที่ผมคลุกคลีอยู่นั้นเราเองก็มือใหม่ มีแต่อุดมการณ์ทำงานชนบท เพื่อนๆเข้าป่ากันหมด การเรียนรู้เรื่องกระบวนการพัฒนาองค์กรชุมชนยังไม่เข้าใจอะไรมากนัก  มีแต่เจตนาดี ปรารถนาดี และเข้าถึงชาวบ้านจนเรียกกันเป็นลูกเป็นแม่ เป็นพ่อ เป็นอ้าย จะไปนอนบ้านไหน กินบ้านไหนก็ได้ ทั้ง 4 ตำบลของอำเภอสะเมิง

 

แต่แล้ววันหนึ่ง ขณะที่ผมนั่งเขียนรายงานอยู่ที่สำนักงานโทรมๆหน้าอำเภอ ชาวบ้านก็เดินเข้ามาหา บอกว่าจะมาปรึกษาเรื่อง การทำมาหากิน เรื่องการเกษตร .... เราคุยกันพักหนึ่ง ผมก็ถามว่า

....พ่อเป็นสมาชิกกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนหรือเปล่า...

โอย..พ่อไม่ได้เป็นหรอก พวกกลุ่มน่ะหรือ..ฯลฯ...  ชาวบ้านท่านนั้นตอบ

 

ผมอึ้งไปเลย เมื่อพ่อคนนี้ได้แสดงทัศนคติที่มีต่อกลุ่มเครดิตยูเยี่ยนที่ผมปั้นมากับมือ....

 

ภาพมันออกมาอย่างนี้ครับ  เราเองก็บ้าแต่กลุ่ม อะไรก็กลุ่ม กลุ่ม ให้น้ำหนักการทำงานที่กลุ่ม คนนอกกลุ่มจะจางลงมา กิจกรรมส่วนใหญ่ก็ลงไปที่กลุ่ม  ไปเยี่ยมไปหาก็ไปที่กลุ่ม  ทั้งๆที่คนนอกกลุ่มก็อยากให้เราไปคุย ไปหา ไปแวะ เยี่ยมเยือนบ้าง อ้าว...ก็หลักการทำงานนั้นให้ค้นหากลุ่มสนใจ แยกแยะประชากร กลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าหน่วยงานไหนก็หากลุ่มทั้งนั้นแหละ  กลุ่มสนใจ กลุ่มผู้ผลิต กลุ่มทอผ้า กลุ่ม OTOP กลุ่มเครือข่าย ร้อยแปด พันเก้า กลุ่ม ฯลฯ

 

หรือว่างานพัฒนานั้นแหลมคมมากๆ ดั่งมีดที่เข้ามาผ่าตัดชุมชนออกเป็นก้อนๆ แล้วเลือกทำงานกับเฉพาะกลุ่ม เฉพาะก้อน  นอกกลุ่มนอกก้อน ไม่สนใจ ไม่แตะ ไม่สัมผัส ไม่ใกล้กราย  มันก็มีผลออกมาเป็นว่า  คนของกลุ่ม กับคนนอกกลุ่ม

 

ชุมชนดั้งเดิมไทยเรานั้น มีระบบเจ้าโคตร เรามีกลุ่มผู้เฒ่า ที่ชุมชน เคารพไหว้สา เมื่อถึงงานบุญประเพณี กลุ่มผู้เฒ่าจะมานั่งเป็นประธานให้ลูกหลานในชุมชนได้รดน้ำ กราบไหว้ขอพร  ไม่ได้แบ่งเชื้อชาติ ตระกูล เผ่าพันธุ์  ผู้เฒ่าของเราประคับประคองชุมชน สังคมมาอย่างนี้  แต่การพัฒนาสมัยใหม่เข้ามาแบ่งคนออกเป็นกลุ่ม เป็นองค์กร เป็นส่วนๆ  โดยมีเจตนาดีทั้งสิ้น มิได้ต้องการจะแบ่งแยกแต่อย่างใด แม้แต่น้อยนิด

 

แต่

 

เรารู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเปล่า

 

หลักการทำงานพัฒนาสังคมของเรา หลุดออกมาจากโครงสร้างสังคมพี่น้องดั้งเดิมหรือเปล่า แล้วโฆษณาว่านี่คือหลักการใหม่ ที่ก้าวหน้าที่สุด แต่ต่อไม่ติดกับฐานเดิมหรือเปล่า

 

หลักการเหล่านี้เป็น การนำเข้า มิได้ปรับเข้ากับชุมชน หรือเปล่า

 

การออกแบบงานต่างๆที่เกี่ยวกับชุมชนนั้น เราจะเอาเสียงนกเสียงกาอย่างนี้มาคิดบ้างหรือเปล่า

 

ท้ายที่สุด

 

กลุ่มคนแซ่เฮ และกระบวนการเฮฮาศาสตร์ กระบวนการกอดของเรา  ที่ผมปิติข้ามวันข้ามคืนอยู่นี่ จะเอาเสียงสะท้อนเหล่านี้มาพิจารณาได้อย่างไรบ้าง..

 

เป็นโจทย์สำหรับเพื่อน g2k ช่วยกันแลกเปลี่ยนครับ 

หรือว่างง อิอิ..

หมายเลขบันทึก: 181009เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2008 11:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)

สวัสดีค่ะพีบางทรายที่เคารพ

  • มาอ่านตอนแรกคิดว่าจะเกี่ยวกับ Side Effect ของยาหรืออาหาร .. อ้าวกลายเป็น Side Effect ของการทำงานในชนบทไปเสียได้... ^_^
  • ประสบการณ์ที่พี่บางทรายนำมาเล่าและเสริมมุมมองนั้น ทำให้น้องเกิดปัญญาขึ้นมาก หันมาทบทวนตัวเองด้วยสายตาที่พินิจพิเคราะห์มากขึ้น
  • โครงการ/งานต่าง ๆ ที่ภาครัฐนำไปในพื้นที่นั้น มีหลักการที่ดีและมุ่งให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ต้องการให้เกิด..เครือข่าย การทำงาน แต่ก็กลายเป็นการแบ่ง คนของกลุ่ม และ คนนอกกลุ่ม ไปเสียได้ดังที่พี่ชายว่า  เป็นประเด็นที่น่าคิดสะกิดใจค่ะ ต่อไปเมื่อต้องทำงาน จะพยายามปรับของนำเข้าให้เป็นของที่เหมาะกับชุมชนเสียก่อน และจะต้องฟังเสียงจากความต้องการของชุมชนด้วยใจที่เปิดกว้าง
  • ...ไม่ใช่สักแต่ว่า...อยากทำก็ทำ ค่ะ
  • ขอบคุณพี่บางทรายมากค่ะ

สวัสดีค่ะ พี่บู๊ท..

หรือว่างานพัฒนานั้นแหลมคมมากๆ ดั่งมีดที่เข้ามาผ่าตัดชุมชนออกเป็นก้อนๆ แล้วเลือกทำงานกับเฉพาะกลุ่ม เฉพาะก้อน  นอกกลุ่มนอกก้อน ไม่สนใจ ไม่แตะ ไม่สัมผัส ไม่ใกล้กราย  มันก็มีผลออกมาเป็นว่า  คนของกลุ่ม กับคนนอกกลุ่ม

  • อ่านแล้ว สะดุด ประโยค ที่พี่บู๊ท ยกมา ข้างบนนี้ค่ะ
  • น่าสนใจ ค่ะ ขอคิดเล่น ๆ นะคะพี่บู๊ท
  • หากไม่ใช่ ก็จะได้นำไปคิดใหม่ ในการพัฒนา ค่ะ

น่าจะเป็นโจทย์วิจัยได้ "ศึกษาวิจัยเพื่อค้นหาการทำงานคนของกลุ่ม กับ คนนอกกลุ่ม"

  • วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาวิธีการทำงานของกลุ่มทั้ง 2 จากนั้น นำมาสรุป เปรียบเทียบ วิเคราะห์และประมวลผล จัดทำสรูป ข้อเด่น ข้อด้อย และข้อเสนอแนะระดับนโยบาย
  • ประโยชน์ที่ได้รับ :เพื่อทราบถึง ระบบการทำงาน, ผลของการทำงานที่เขาทำแตกต่างกันอย่างไร อะไรที่ทำให้ชาวบ้านสองประเภทนี้ได้รับผลทางบวก หรือลบ อย่างไร
  • ผลที่จะได้รับ : ชาวบ้าน แหล่งทุน ภาคีวิจัย หน่วยงานทุกภาคส่วน ตลอดถึงระดับนโยบาย เพื่อการวางแผนในการวางนโยบาย ให้สอดคล้อง เชื่อมโยงสู่การปฏิบัติที่ได้ผล

  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ

มาเรียนรู้ครับ เห็นภาพชัดเจน

แต่ในทางปฏิบัติคงจะยากไม่น้อยเลย

พี่บางทรายคะ

อ่านแล้วได้สติ ได้หันมาทบทวนโปรแกรมที่วางแผนทำ จะใช้เตือนตัวเองในการคิดดี ทำดี แต่ระวังความ sensitive กับวิถีวัฒนธรรมด้วย ฯลฯ

อยากจะบอกว่ารูปแบบการเขียนของพี่ นิ่มนวลแต่กระชากสติได้เยี่ยมยุทธ์...ขออนุญาตเรียนวิธีการด้วยนะคะ

หลวงพี่บางทรายตั้งโจทย์ได้ดี  เก่งมากๆๆ

ช่วยกันตีคนตั้งโจทย์หน่อย  เอ๊ย  ช่วยกันตีโจทย์หน่อย  อิอิ

 

  • ออมเงิน ตั้งกองทุนต่าง ทำเพราะคำแนะนำ และปัจจัยอื่นๆ
  • เราออมใจ เชื่อมใจเป็นสายใยใหญ่ ที่ส่งท่อถึงกันได้ทุกเรื่อง
  • วิจงวิจัยตามโครงสร้างมันก็ดี แต่ยังมีวิธีอื่นไหม วิจัยภายใต้ความสนใจ ตั้งใจ มุงมั่นใจ ที่อยากทำ เพราะอยากรู้

สวัสดีเจ้าค่ะ ลุงทางทรายจ๋า

คิดถึงงงงงงงง กอดดดดดดดดดดดด ว่างๆมาเที่ยวสุพรรณบ้างนะเจ้าค่ะ เดี๋ยวหนูเป็นไกท์นำเที่ยวให้เจ้าค่ะ คิคิ รักษาสุขภาพด้วยนะเจ้าค่ะ

เป็นกำลังใจให้เจ้าค่ะ ---> น้องจิ ^_^

สวัสดีครับ P 1. คนไม่มีราก

  • มาอ่านตอนแรกคิดว่าจะเกี่ยวกับ Side Effect ของยาหรืออาหาร .. อ้าวกลายเป็น Side Effect ของการทำงานในชนบทไปเสียได้... ^_^
  • ประสบการณ์ที่พี่บางทรายนำมาเล่าและเสริมมุมมองนั้น ทำให้น้องเกิดปัญญาขึ้นมาก หันมาทบทวนตัวเองด้วยสายตาที่พินิจพิเคราะห์มากขึ้น
  • โครงการ/งานต่าง ๆ ที่ภาครัฐนำไปในพื้นที่นั้น มีหลักการที่ดีและมุ่งให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ต้องการให้เกิด..เครือข่าย การทำงาน แต่ก็กลายเป็นการแบ่ง คนของกลุ่ม และ คนนอกกลุ่ม ไปเสียได้ดังที่พี่ชายว่า  เป็นประเด็นที่น่าคิดสะกิดใจค่ะ ต่อไปเมื่อต้องทำงาน จะพยายามปรับของนำเข้าให้เป็นของที่เหมาะกับชุมชนเสียก่อน และจะต้องฟังเสียงจากความต้องการของชุมชนด้วยใจที่เปิดกว้าง
  • ...ไม่ใช่สักแต่ว่า...อยากทำก็ทำ ค่ะ

 

เก็บเอามาสานต่อ พี่เองก็หลุดมามาก เมื่อมานั่งทบทวน แลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ ก็มองเห็นอะไร อะไร ที่ช่วงทำงานมองไม่เห็น หรือไม่ชัด  หรือมีกรอบการทำงานขวางกั้นอยู่ ไม่อิสระที่จะปรับเปลี่ยนไปตามที่เหมาะที่ควรกว่า

ใครมองเห็น หยิบเอาไปใช้ ก็ได้ประโยชน์ไปครับ  

น่าสนใจครับน้อง P 2. บัวปริ่มน้ำ

งานวิจัยเป็นประโยชน์ หากประเด็นนั้นๆสอดคล้องกับเงื่อนไขที่จะเอาไปรับใช้สังคมโดยรวม  และจะเป็นประโยชน์มากขึ้นถ้าได้เอาไปใช้จริงๆ

น่าสนใจครับประเด็นที่น้องคิดต่อ

สวัสดีครับน้อง P 3. ธ.วั ช ชั ย

มาเรียนรู้ครับ เห็นภาพชัดเจน

แต่ในทางปฏิบัติคงจะยากไม่น้อยเลย

 

ใช่ครับน้องธวัชชัย การปฏิบัติการทางสังคมนั้นละเอียดอ่อน มีปัจจัยมากมายที่ไม่สามารถควบคุมได้ ตัวแปรมีมาก ยิ่งการทำงานภายใต้เวลาที่จำกัด ภายใต้ระเบียบราชการที่ไม่เอื้อต่อกระบวนการทำงานที่กว้างกว่าระเบียบข้อคับ  ยากตรงนี้  เราจึงพูดกันเสมอว่า "ข้าราชการทำงานภายใต้ข้อจำกัด"  น่าเห็นใจมากๆ หลายท่านเป็นคนดี ก้าวหน้ามากๆ มีรูปธรรม แต่เป็นคนในระบบ

 

น้องจันทร์ครับ P  4. จันทรรัตน์

อ่านแล้วได้สติ ได้หันมาทบทวนโปรแกรมที่วางแผนทำ จะใช้เตือนตัวเองในการคิดดี ทำดี แต่ระวังความ sensitive กับวิถีวัฒนธรรมด้วย ฯลฯ

บางทีเราหันหน้ามุ่งสู่ตะวันตกมากไป โดยเฉพาะความรู้ที่ก้าวหน้ากว่า เพราะมันถูกประทับตรามาแล้ว เราจึงค้อมรับเอามาทั้งดุ้น  โดยลืมมองย้อนกลับมาดูตัวเองว่าหน้าตาตัวเองเป็นอย่างไร  แล้วจะทำอะไร อย่างไรได้บ้าง

แต่พี่มีความเห็นว่า เริ่มจากอะไรก็ได้  หากมีข้อจำกัดว่าเราต้องทำ แต่ต้องเฝ้ามองและ "ปรับ" ไปเรื่อยๆโดยพยายามยืนอยู่บนรากเดิมของเราครับ พี่เชื่อเรื่องทฤษฎี adaptation ครับ

แล้วเจอกันที่สวนป่าครับ

หวัดดีหมอ P 5. คนชอบวิ่ง

หลวงพี่บางทรายตั้งโจทย์ได้ดี  เก่งมากๆๆ

ช่วยกันตีคนตั้งโจทย์หน่อย  เอ๊ย  ช่วยกันตีโจทย์หน่อย  อิอิ

 

แววของ นักแหย่รังมดแดง (Facilitator, stimulator) ที่มีในตัวหมอนี่มีออกมมาตลอดเลยนะ  อย่างนี่นี่เล่า แควนๆ ตรึมเลย ลูกน้องแอบคลั่งใคล้ มิหยุดหย่อน อิอิ

อิจฉาตาร้อน น่ะซี อิอิ 

  • พี่บู๊ท คะ
  • ขอเพิ่มเติมอีกนิดหน่อย
  • กรอบประเด็นที่พี่บู๊ท ยกมาทั้งหมด นี้ สามารถเอามาแปลงเป็น แผนงาน/โครงการ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ได้เยอะทีเดียว แล้วแต่ใครจะหยิบยกมุมใด มาเป็นโจทย์ค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

ท่านครูบาครับ P 6. ครูบา สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์

  • ออมเงิน ตั้งกองทุนต่าง ทำเพราะคำแนะนำ และปัจจัยอื่นๆ
  • เราออมใจ เชื่อมใจเป็นสายใยใหญ่ ที่ส่งท่อถึงกันได้ทุกเรื่อง
  • วิจงวิจัยตามโครงสร้างมันก็ดี แต่ยังมีวิธีอื่นไหม วิจัยภายใต้ความสนใจ ตั้งใจ มุงมั่นใจ ที่อยากทำ เพราะอยากรู้

ถูกใจเผงเลยครับท่านครูบาครับ

ผมเฝ้ามอง ติดตาม ดมกลิ่น ยังกา นักสืบ ดูว่าความแตกต่างของพื้นฐานตรงนี้จะพัฒนาไปอย่างไรบ้างครับ

ก็เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างหนึ่ง อีกแบบหนึ่ง

เรามีสาระที่จะแลกเปลี่ยนกันยาวครับท่านครับ  ผมตั้งโจทย์ไว้ก่อนครับ

P หลานจิ 7. โก๊ะจิจัง แซ่เฮ ^๐^!

สวัสดีเจ้าค่ะ ลุงทางทรายจ๋า

 

จ๋า.... เอไม่เห็นรูปนักศึกษาใหม่เลย  อย่าลืมเอามาอวดนะครับ ลุงอยากเห็น ว่าเหมือนใคร หรือใครมาเหมือนบ้าง อิอิ

น้องบัวครับ P 13. บัวปริ่มน้ำ

  • พี่บู๊ท คะ
  • ขอเพิ่มเติมอีกนิดหน่อย
  • กรอบประเด็นที่พี่บู๊ท ยกมาทั้งหมด นี้ สามารถเอามาแปลงเป็น แผนงาน/โครงการ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ได้เยอะทีเดียว แล้วแต่ใครจะหยิบยกมุมใด มาเป็นโจทย์ค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

ถ้ามันสามารถเอาไปคิดต่อและเกิดประโยชน์ได้ก็ดีใจครับน้องบัวครับ

น้องคนไม่มีรากครับ P 1. คนไม่มีราก

พี่มาเพิ่มเติมสาระครับ

  • สิ่งที่พี่นำเสนอประเด็นนี้คือส่วนหนึ่งของการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงในสนาม เฝ้าสังเกตุ สิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนจากการนำเข้างานพัฒนาต่างๆ สรุปบทเรียน และยกระดับความรู้ขึ้นมาใหม่ กลับเอาไปใช้ต่อไป ในกระบวนท่าที่พัฒนามากขึ้น
  •  สิ่งที่พบส่วนหนึ่งก็คือเรื่องที่พี่กล่าวไปบ้างแล้วคือ "การปรับตัว" ขององค์กร
  • อย่างที่พี่กล่าวไปแล้วว่า "การนำเข้า" งานพัฒนานั้นบางอย่างก็เกิด side reaction กล่าวอีกทีก็คือ เกิดการไม่กลมกลืนกับวัฒนธรรม หรือวิถีชีวิตของเขาทั้งหมด ทั้งที่หลักการดี วิธีคิดดี หากทำแล้วจะเกิดประโยชน์แก่ตัวสมาชิกและชุมชนทางอ้อม  แต่เนื่องจากเป็น "การนำเข้า" เหมือน หมอฉีดยาเข้าร่างกาย ก็ต้องพักฟื้นเพื่อดูอาการตอบรับหรือปฏิเสธของยาที่ฉีดเข้าไป  อาจจะปฏิเสธ หมอก็หาทางแก้ทันทีโดยเตรียมไว้ก่อนแล้ว  หากรับทันทีก็ดีไป  แต่บางทีร่างกายต้องใช้เวลาในการรับพอสมควร
  • พี่สังเกตุเห็นว่า หลักการเดียวกัน เมื่อนำไปใช้กระบวนการเดียวกันกับหมู่บ้าน a กับหมู่บ้าน b เกิดผลการยอมรับที่แตกต่างกัน  หมู่บ้าน a รับทันที พร้อมกับเรียนรู้และปรับตัวอย่างรวดเร็วต่อสาระใหม่ที่เข้ามาในชีวิต เช่นการยอมรับกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนของ "ชาวไทลื้อ" เร็ว ไว และสร้างกระบวนการตอบรับทันที  แต่กับ คนเมืองอีกกลุ่มหนึ่ง ช้า อืดอาด งุ่มง่าม มีปัญหา เราต้องฉีดยาแผนใหม่เข้าไป เช่นทบทวนหลักการ พาไปศึกษาดูงาน... เออ ดีขึ้น และค่อยๆปรับตัวคืบคลานไป และก้าวกระโดดไปในที่สุด เกิดการปรับตัวครั้งใหญ( สองสามหมู่บ้านที่ตั้งกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนแล้ว เกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่ ทำบัญชีเดียวกัน คณะกรรมการเดียวกัน ฯลฯ
  • แต่แน่นอนระหว่างปีต่อปีนั้นมีปัญหาให้ขบคิด แก้ไข กลุ่มก็ค่อยๆเข้มแข็ง ก้าวข้ามปัญหาเหล่านั้นมา แม้สดุดบ้าง  แต่ก็ก้วไปเรื่อยๆ ปรับตรงนั้น เพิ่มตรงนี้ ผู้นำคนนี้ไม่ไหว เอาออก เอาคนใหม่  สามาชิกคนนี้เกเร ลองดี เอาออกไป เปิดรับสมาชิกใหม่ เอากฏระเบียบมาทบทวน ปรับใหม่ เพิ่มมาตราการต่างๆ ลดบางอย่าง พัฒนาระบบการกู้เงิน การสะสมเงิน สวัสดิการกองทุน ฯลฯ
  • นี่คือการปรับตัวขององค์กร

หาก 1,2,3 คือขั้นตอนการเตรียมการจัดตั้งกลุ่ม ขั้นตั้งกลุ่ม และขั้นเป็นกลุ่มขึ้นมาแล้ว

 ช่วงนี้เป็นการประชุม ฝึกอบรม ศึกษาดูงาน พูดคุยแลกเปลี่ยน กันจนพึงพอใจและรู้แจ้งแทงตลอดว่ากลุ่มนี้คืออะไร และเห็นพ้องต้องกันว่าควรจัดตั้งกลุ่ม ก็จัดตั้งกัน และเริ่มพัฒนากลุ่มกัน

ขั้นที่ 4 คือช่วงข้าวใหม่ปลามัน สนุก สนาน ชื่นมื่น มีความสุข

ขั้นที่ 5 คือช่วงพัฒนากลุ่ม และเริ่มมีอุปสรรค ปัญหาเข้ามา และมากขึ้น มากขึ้น ทั้งเรื่องคนและรายละเอียดของกลุ่มต่างๆ ก็แก้ปัญหากันไปตามความรู้ความสามารถของคณะกรรมการและพี่เลี้ยง

ขั้นที่ 6 คือช่วงแก้ไขปัญหาได้แล้ว

ขั้นที่ 7 คือการก้าวเข้าสู่ปัจฉิมวัยขององค์กร

 

ช่วงที่ 4-6 คือช่วงของการเกิดปัญหาสารพัดเข้ามาในกลุ่ม แล้วแก้กันไป  ที่พี่เรียกว่าการปรับตัว ปรับได้ก็ก้าวต่อไป ปรับไม่ได้ก็ล้มหายตายจากไป

ขั้นที่ 7 การก้าวเข้าสู่ความเข้มแข็งของกลุ่ม การเข้าสู่ความสำเร็จของกลุ่ม

สิ่งเหล่านี้เป็นสรุปย่อ

สิ่งเหล่านี้คือการใช้ศาสตร์ และศิลป  ใช้ความรู้สารพัดความรู้เข้ามาประยุกต์

หากคนที่ไม่เกาะติดการพัฒนาการกลุ่มอย่างใกล้ชิดมานานปี จะมองไม่เห็นประเด็นด้านในของความสำเร็จ หรือล้มเหลว

สาระเนื้อแท้คือการพัฒนาคน  กลุ่มจะไปไม่ได้หากคนไม่ได้พัฒนา และการมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง..ฯลฯ...

ยิ่งกลุ่มนั้นมีผลประโยชน์นำหน้า  ปัญหามากมายก็ตามมา

หากกลุ่มนั้นรวมกันด้วยใจจริงๆ......ความเข้มแข็ง ยั่งยืน มั่นคง ก็ย่อมเกิดขึ้นได้

อ้าว ทำไปทำมายาวเลย...อิอิ

เพิ่มเติม น้องคนไม่มีรากครับ

 

ระยะพัฒนานั้น กลุ่มจะวูบวาบ เดี๋ยวขึ้น เดี๋ยวลง  หากใครที่รับผิดชอบไม่เห็นภาพรวมทั้งหมดก็จะ "เครียด"   แต่หากเห็นภาพรวมทั้งหมดก็จะเข้าใจได้ ว่า เออ มันเป็นช่วงปรับตัวขององค์กร เป็นเรื่องปกติ ก็ค่อยๆแกะปมปัญหา แล้วก็ค่อยๆคลายกันไป ปัญหานี้หมด ปัญหาใหม่ก็อาจจะเข้ามาอีก  เป็นเช่นนี้เรื่อยๆ ก็ปรับกันอีก

แต่ละกลุ่มกว่าจะก้าวเข้าขั้นที่ 6 7 ใช้เวลาที่ต่างกัน  บางกลุ่ม แค่ 2-3 ปีก็วิ่งเข้าสู่เป้าหมายแล้ว  บางกลุ่มปรับตัวกันเป็น 5 ปี 10 ปี ความจริงการปรับตัวมีอยู่ตลอดเวลา....

ที่น่าพิจารณาอีกอย่าง คือ การพัฒนามักมีการวัดผล  แล้วหากการวัดผลไปวัดช่วงที่มีปัญหา และกลุ่มกำลังตก ผลออกมา แย่แล้ว กลุ่มไม่ดี จะพังแล้ว คนรับผิดชอบทำงานไม่เป็น หนักเข้าโดนย้ายออกไปก็มี 

ผู้ประเมินผลไม่เข้าใจธรรมชาติของการพัฒนาองค์กร  มองไม่เห็นพัฒนาการทั้งหมดขององค์กร  มองไม่เห็นปรากฏการณ์ธรรมชาติของการพัฒนา

เอาวิชาการมาตัดชีวิตองค์กรเป็นท่อนๆ แล้วก็ประเมทินแค่ท่อนเดียว โดยเฉพาะท่อนปัจจุบัน  แล้วก็รายงานเสียหายไปเลย... พบมาเยอะแล้ว นักประเมินผลที่ไม่เข้าใจถ่องแท้... 

สวัสดีครับ คุณลุงบางทราย

  • ชอบประโยคนี้มากครับ
    ...งานพัฒนานั้นแหลมคมมากๆ ดั่งมีดที่เข้ามาผ่าตัดชุมชนออกเป็นก้อนๆ แล้วเลือกทำงานกับเฉพาะกลุ่ม เฉพาะก้อน  นอกกลุ่มนอกก้อน ไม่สนใจ ไม่แตะ ไม่สัมผัส ไม่ใกล้กราย  มันก็มีผลออกมาเป็นว่า  คนของกลุ่ม กับคนนอกกลุ่ม”...
  • วันก่อนผมได้ดู TV ช่อง Thai เป็นการสัมภาษณ์อาจารย์นักพัฒนาท่านหนึ่ง โดยรวมผมชื่นชมและชื่นชอบงานที่นักพัฒนาท่านนั้นทำมาก ๆ ครับ ท่านมีการสร้างเสริมงานชุมชนกลุ่มต่าง ๆ หลายกลุ่ม จนพยายามจำชื่อโครงการเหล่านั้นไว้เพื่อหวังจะนำมาประยุกต์ใช้บ้าง
  • พอได้อ่านบันทึกนี้ของลุงบางทรายแล้ว ทำให้นึกถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่สถาบันการศึกษาได้มาส่งเสริมให้เป็นหมู่บ้านหัตถกรรม โดยการส่งเสริมกลุ่มสตรีแม่บ้านเป็นกลุ่ม ๆ ประมาณนั้นเลยครับ ...เวลาผ่านไปหลายปี ผมมีโอกาสพาแขกบ้านแขกเมืองไปเยี่ยมชม พบปัญหาอย่างคุณลุงเล่ามา คือ ในหมู่บ้านนี้เกิดก๊กขึ้นหลายก๊ก ทั้งอำนาจเก่า อำนาจใหม่ ...วันหลังเลยแต่งชุดชาวบ้านไปสืบข้อมูล ถึงได้ทราบว่า เกิดการทะเลาะเบาะแว้งแย่งผลประโยชน์และอำนาจระหว่างคนที่เคยเป็นคนในแล้วออกมากลายเป็นคนนอก ส่วนคนนอกรีตในยุคแรกเลิกอาชีพหัตถกรรมไปนานแล้วเพราะทำไม่ได้ ...โอ้...
  • ... ถ้าผมไม่ได้มาอ่านบันทึกนี้ ผมอาจนำเอาแนวคิดการส่งเสริมกลุ่มไปใช้อย่างไม่ระมัดระวัง ซึ่งอาจนำไปสู่ผลกระทบที่....อันตราย.... นั่นคือ การแตกแยกภายในหมู่บ้านในระยะยาวได้...
  • จุดเด่นหรือข้อดีของการจัดการความรู้ (G2K ด้วย) ก็ตรงที่ผู้รู้หรือผู้อาวุโสได้ถ่ายทอดความรู้จากการปฏิบัติเอาไว้ แทนที่จะลองผิดลองถูกด้วยตนเองกว่า 5 ปี ก็ใช้เวลา 5 นาทีอ่านและไตร่ตรองประยุกต์ใช้ต่อยอดต่อไป 

ลุงจ๋า ไม่กล้าใส่ กลัวหมาเห่า เอาไว้ให้ตั้งตัวได้ก่อนค่ะ จะนำมาให้ดู รับรองได้เลย ฟันธง!! แต่ต้องใส่แว่นดูนะค่ะ ไม่งั้นไม่เห็นความงาม คิคิ คิดถึงคุณลุงมากๆๆๆๆ หนูอดไปสวนป่าเลยเนื่องจากติดค่าย ไม่งั้นได้ไปกอดคุณลุงแน่ๆค่ะ คิคิ รักษาสุขภาพด้วยนะเจ้าค่ะ

เป็นกำลังใจให้เจ้าค่ะ --->น้องจิ ^_^

สวัสดีครับ P 19. นิโรธ 

  • ชอบประโยคนี้มากครับ
    ...งานพัฒนานั้นแหลมคมมากๆ ดั่งมีดที่เข้ามาผ่าตัดชุมชนออกเป็นก้อนๆ แล้วเลือกทำงานกับเฉพาะกลุ่ม เฉพาะก้อน  นอกกลุ่มนอกก้อน ไม่สนใจ ไม่แตะ ไม่สัมผัส ไม่ใกล้กราย  มันก็มีผลออกมาเป็นว่า  คนของกลุ่ม กับคนนอกกลุ่ม”...

ผมทำงานพัฒนาชนบทมาพอสมควร ทราบดีว่าความรู้ทางด้านนี้ หรือด้านอื่นๆที่สามารถนำมาใช้ในงานพัฒนาชนบทนั้น พัฒนาไปมากมาย ต่างก็มุ่งให้เป็นเครื่องมือแห่งความสำเร็จ  แต่เมื่อถึงการปฏิบัติจริง กลับพลาดขั้นตอนสำคัญในการที่จะทำอย่างไรมิให้ชุมชนมีปฏิกริยาต่อกลุ่มไม่มากก็น้อย  เขามองเพียงกลุ่ม สมาชิกกลุ่ม แต่ไม่ได้มองว่ากลุ่มนั้นอยู่ในชุมชน  และคนที่เป็นสมาชิกกลุ่มนี้ก็เป็นสมาชิกอีกหลายกลุ่ม.... ยิ่งคนที่เข้าไปพัฒนากลุ่มมีข้อจำกัดในหลายๆด้านก็ยิ่งละเลย ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับชุมชนไปเลย ในทัศนะผม กลุ่มในบางชุมชนกลายเป็น "ความแปลกแยก" ไปเลยครับ

  • วันก่อนผมได้ดู TV ช่อง Thai เป็นการสัมภาษณ์อาจารย์นักพัฒนาท่านหนึ่ง โดยรวมผมชื่นชมและชื่นชอบงานที่นักพัฒนาท่านนั้นทำมาก ๆ ครับ ท่านมีการสร้างเสริมงานชุมชนกลุ่มต่าง ๆ หลายกลุ่ม จนพยายามจำชื่อโครงการเหล่านั้นไว้เพื่อหวังจะนำมาประยุกต์ใช้บ้าง
  • พอได้อ่านบันทึกนี้ของลุงบางทรายแล้ว ทำให้นึกถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่สถาบันการศึกษาได้มาส่งเสริมให้เป็นหมู่บ้านหัตถกรรม โดยการส่งเสริมกลุ่มสตรีแม่บ้านเป็นกลุ่ม ๆ ประมาณนั้นเลยครับ ...เวลาผ่านไปหลายปี ผมมีโอกาสพาแขกบ้านแขกเมืองไปเยี่ยมชม พบปัญหาอย่างคุณลุงเล่ามา คือ ในหมู่บ้านนี้เกิดก๊กขึ้นหลายก๊ก ทั้งอำนาจเก่า อำนาจใหม่ ...วันหลังเลยแต่งชุดชาวบ้านไปสืบข้อมูล ถึงได้ทราบว่า เกิดการทะเลาะเบาะแว้งแย่งผลประโยชน์และอำนาจระหว่างคนที่เคยเป็นคนในแล้วออกมากลายเป็นคนนอก ส่วนคนนอกรีตในยุคแรกเลิกอาชีพหัตถกรรมไปนานแล้วเพราะทำไม่ได้ ...โอ้...

อย่าว่าใครเลย ผมเองแม้จะมีประสบการณ์มาบ้างแต่ก็เกิดปัญหาดังกล่าวบ้างเหมือนกัน เพราะหลายโครงการที่เราเข้าไปรับผิดชอบนั้นมีข้อจำกัดมาก  ผู้บริหารไม่เข้าใจศาสตร์ด้านนี้ มองเพียงการบริหาร มองเพียงการประหยัด มองเพียงหลักการกว้างๆ  แต่มองไม่เห็นว่าปัจจัยของความสำเร็จนั้นมันมิใช่เพียงหลักการที่ท่องกันมา มันมีรายละเอียดและรูปแบบเฉพาะตัวของพื้นที่นั้นๆ ฯลฯ

  • ... ถ้าผมไม่ได้มาอ่านบันทึกนี้ ผมอาจนำเอาแนวคิดการส่งเสริมกลุ่มไปใช้อย่างไม่ระมัดระวัง ซึ่งอาจนำไปสู่ผลกระทบที่....อันตราย.... นั่นคือ การแตกแยกภายในหมู่บ้านในระยะยาวได้...

เป็นการเตือนให้ผู้รับผิดชอบต้องมองรายละเอียด และติดตาม เฝ้าสังเกต สิ่งที่เกิดขึ้น และพึงระมัดระวังการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นครับ

  • จุดเด่นหรือข้อดีของการจัดการความรู้ (G2K ด้วย) ก็ตรงที่ผู้รู้หรือผู้อาวุโสได้ถ่ายทอดความรู้จากการปฏิบัติเอาไว้ แทนที่จะลองผิดลองถูกด้วยตนเองกว่า 5 ปี ก็ใช้เวลา 5 นาทีอ่านและไตร่ตรองประยุกต์ใช้ต่อยอดต่อไป 

ครับนี่คือจุดเด่นของ G2K ที่ผมเองก้เรียนรู้จากเพื่อนๆมากมาย  ก็เป็นตลาดความรู้นี่ครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับหลานจิ คนสวย แซ่เฮ

 

ก็ไม่เป็นไร ลุงก็อยากไปตั้งหลายที่แต่ภาระกิจก็ไม่สามารถไปได้  ก็ติดตามเอานะครับ  หลานจิคนเก่ง  เราพบกันทาง G2K นี่แหละครับ

  • สวัสดีครับพี่บางทราย
  • ขอนำไปคิดต่อนะครับ...อิอิ
  • ขอบพระคุณมากครับที่กรุณาส่งข้อมูลให้
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท