กรประเมินและนำผลการประเมินไปใช้...อีกครั้งหนึ่ง


เราไม่มีนิสัยในเรื่อง PDCA โดยเฉพาะ ตัว A และไม่มีการนำผลการประเมินไปใช้ในกระบวนการตัดสินใจพัฒนางาน อย่างจริงจัง

      วันนี้(พ.ค.51) ช่วงเช้า 10.00-11.00 น. ได้ไปนำเสนอแนวคิด เรื่อง การประเมินและการนำผลการประเมินไปใช้  รายการวิทยุกระจายเสียงผ่านระบบ Web Casting ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

       ผมได้นำเสนอ สาระที่สำคัญ 3 เรื่อง ที่สังเคราะห์มาจาก ข้อมูลในบล๊อก หลายรายการรวมกัน  สาระที่บรรยายเป็นดังนี้

ก.              จุดอ่อนเกี่ยวกับระบบแผนและการประเมินผลในบ้านเรา

     ในอดีต เมื่อประมาณ 5 ปี มาแล้ว หน่วยงานจำนวนมากถูกกล่าวหาว่า มีการวางแผน และนำแผนไปสู่การปฏิบัติ โดยไม่มีการประเมิน หรืออ่อนเรื่องการประเมิน   หรือ Plan  กับ  Do  ไม่มีการ Check  ต่อมาเราเรียนเรื่อง วงจร  P-D-C-A (Plan   Do  Check  Action/Adjust)  บางแห่งทำแค่ Plan   กับ Do  และ Check และเขียนรายงาน เราไม่ติดนิสัยในเรื่องการนำข้อมูลจากการประเมินมาใช้เพื่อการปรับปรุงงาน  ตัวอย่างเช่น การประเมินของ สมศ.(สำนักรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา)   หลังจาก สมศ.กลับ เราก็มักจะไม่มีการ Action หรือ Adjust หรือทำก็ช้าครับ   หรือในกรณีที่ Comment ว่ามีจุดอ่อนหรือจุดที่ควรปรับปรุงหลายประการเราก็ปรับช้าเช่นกัน   อาจเป็นเพราะว่าเราไม่เคยชินกับตัว "A" แบบติดนิสัย

. แนวปฏิบัติในการใช้ผลการประเมิน โดยยกตัวอย่าง แนวปฏิบัติระดับเขตพื้นที่ โดยเสนอว่าอาจปฏิบัติดังต่อไปนี้ เช่น จัดประชุมระดับเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อระดมสมองผู้บริหารโรงเรียนให้ร่วมคิดแนวทางการพัฒนาอย่างจริงจัง   หรือให้โรงเรียนแต่ละโรง จัดสัมมนาวิพากษ์ผลการสอบ NT ในโรงเรียนตนเองแบบเร่งด่วนภายในเดือนแรกของการเปิดภาคเรียน พร้อมจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา(โรงเรียนร้อยละ 100 จะต้องส่งแผนงาน/โครงการ แจ้งให้ สพท. ทราบว่าจะดำเนินการอย่างไร)  

        ส่วนในระดับสถานศึกษา  หลังทราบผลการประเมินใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นผลการประเมินของ สมศ.  หรือ ผลการสอบ NT สิ่งที่โรงเรียนควรทำ คือ  ควรอภิปรายเพื่อตอบคำถามดังต่อไปนี้

 

       1) เราเป็นโรงเรียนประเภทคัดเด็กได้เต็มร้อย หรือ ว่าต้องรับทั้งหมดโดยไม่มีโอกาสคัดเลือกเลย ขณะนี้ ผลการสอบระดับชาติ สะท้อนให้เห็นว่าเรามีคุณภาพในระดับใด  เช่น ปรากฏค่าเฉลี่ยสูงกว่าค่ากลางของประเทศ หรืออยู่ในกลุ่มสูง และ การกระจายของคะแนนต่ำมาก-ถือว่าเป็นโรงเรียน เกรด A  หรือ มีค่าคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าค่ากลางประเทศ และมีการกระจายน้อย(ต่ำกันทั้งโรงเรียน)-ถือเป็นโรงเรียน เกรด F  เป็นต้น

 

      2) ในระดับกลุ่มสาระการเรียนรู้  กลุ่มสาระใดได้คะแนนต่ำ หรือ สูง  น่าจะเพราะสาเหตุใด  ให้วิเคราะห์สาเหตุอย่างละเอียด ลึกซึ้ง ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้

 

       3)  ในปีต่อไป เราตั้งเป้าว่าจะพัฒนาคุณภาพให้อยู่ในระดับใด หรือให้คะแนนเพิ่มขึ้นร้อยละเท่าไหร่  ให้ร่วมกันตั้งเป้าหมายความสำเร็จในปีหน้า

 

       4)  ทางเลือกในการยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนในระดับกลุ่มสาระที่เป็นไปได้ มีอะไรบ้าง...ให้วิเคราะห์ทางเลือกหรือแนวทางการพัฒนาในระดับกลุ่มสาระการเรียนรู้ และระดับรายวิชา

 

        5)  สรุป รายการ งาน/โครงการ /กิจกรรมที่ต้องทำเร่งด่วน ในภาคเรียนนี้และภาคเรียนต่อไป คืออะไร

 

     ค. กรณีตัวอย่างโรงเรียนที่นำผลการประเมินไปใช้   ได้ยกตัวอย่างโรงเรียนปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี  ที่มีการสัมมนาวิพากษ์ผลการประเมิน  มีการกำหนดเป้าหมายความสำเร็จ และคิดกลยุทธ์แนวทางการพัฒนางาน ทั้งนี้ ในการอธิบาย  ได้ยกตัวอย่างโรงเรียนแห่งนี้ ที่ได้ดำเนินการอย่างเป็นระบบ ดังรายละเอียดใน   http://gotoknow.org/blog/sup001/182467 

หมายเลขบันทึก: 183769เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2008 23:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 08:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

แวะมาเยี่ยมครับ..ได้ความรู้จากแนวคิดที่คมชัดเหมือนเดิม สพท.นบ.ข.2 ที่มีท่านเป็นประธานกรรมการฯ คงมีทิศทางการพัฒนาที่ก้าวหน้าแน่นอน

เรื่องวงจร PDCA ไม่ต่อเนื่องยั่งยืนนี้ พูดกันมานานก็แก้ไม่ได้ เพราะวัฒนธรรมการทำงานของพวกเราชอบทำเป็นท่อนๆ ทำเพื่อโชว์ เพื่อประเมิน และคนที่ประเมินจำนวนมากยังประเมินกันตรงนี้ หรือไม่ก็เกรงใจกัน เขาจึงรู้ทาง ลามไปถึงเรื่องผลงานทางวิชาการด้วย สมศ.พยายามแก้ด้วย "การประเมินอิงสถานศึกษา" ก็ยังทำกันติดฟอร์มเหมือนเดิม ยังไม่เห็นวัฒนธรรม KM เกิดจริงจังกันที่ไหน เราคงจำได้ที่ท่าน ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ เคยบอกว่า "อยากให้เขาทำอะไรเราก็ประเมินเขาตรงนั้น เดี๋ยวเขาก็ทำเอง"

เมื่อพฤหัสที่แล้ว มสธ.เชิญผมไปวิพากษ์หลักสูตร ป.บัณฑิตบริหาร พอดีผมรับปากกับ ม.ราชภัฎบ้านสมเด็จฯไปวิพากษ์หลักสูตร ป.บัณฑิตเหมือนกันจึงไปที่ มสธ.ไม่ได้ แต่ก็ส่งความเห็นไปทางจดหมายแล้ว ตอนนี้ผมยังเห็นช่องว่างของหลักสูตรที่เราใส่เนื้อหาครบถ้วนหมด แต่ทำไมผู้เรียนจึงขาดจิดวิญญาณของวิชาชีพจริงๆก็ไม่รู้ เอาอย่างวิจัย ผมใช้ KM เข้าไปส่งเสริม อาจารย์ก็เคยไปช่วยโรงเรียนนี้ จนครูทุกคนทำวิจัยกันเป็นหมด มีผลงานวิจัยนำเสนอในตลาดนัดวิจัย และเป้าหมายการวิจัยก็ตรงกันว่าจะพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนนักเรียน ผลการวิจัยก็ออกมาดีหมด (ตามฟอร์มวิจัย) แต่พอผลสอบ NT ออกมาตกกราวรูดหมด นี่มันอะไรกัน แสดงว่าเราติดที่ฟอร์มวิจัยมากกว่าการจะมุ่งใช้กระบวนการวิจัยมาพัฒนาด้วยจิตวิญญาณ ด้วยความสำนึกในชีวิตจริงใช่ไหม

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมเชิญผู้บริหารและรองฯวิชาการ โรงเรียนมัธยมฯทั้งรัฐและเอกชน ใน สพท.นบ.ข.1 มาวิเคราะห์เชิงลึกกันว่าทำไมผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจึงต่ำกว่าปี 49 โดยนำร่องที่ ม.3 วิชาวิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษก่อน (ซึ่งต่ำสุด) โดยนำข้อมูลมาดูกัน แล้ววิเคราะห์สาเหตุของปัญหา และกำหนดแนวทางการแก้ปัญหา เพื่อทำแผนเป็นรายโรงเรียนกัน ต้นเดือนหน้าจะเชิญครู ม.3 วิชาวิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษมาวิเคราะห์เชิงลึกกันอีก ทีนี้จะเอาข้อสอบมาวิเคราะห์กันว่าเขาออกแนวไหน แล้วแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันว่าเราสอนกันอย่างไร เพื่อหาแนวทางแก้กันจริงๆ แล้วตามดูกัน ที่น่าสนใจคือยุทธศาสตร์เรื่องศูนย์เครือข่ายวิชา เขาอยากจะ Action กันจริงจัง แต่ระบบราชการไม่เอื้อเขาเท่าที่ควร เรื่องศูนย์ฯนี้เมื่อสองสามวันนี้ ผอ.นคร ตังคะพิภพ โทรมาคุยกับผม เราต่างเห็นตรงกันว่าสิ่งดีๆในอดีตน่าจะนำมาปรับใช้กัน ก็ฝากท่านนครให้พูดในระดับนโยบาย เพราะตอนนี้เขาจะฟังท่านมาก

ผมยังจำเรื่องราวในอดีตตอนทำงานที่กรม เวลาผมคิดผมออกแบบอะไรแล้วให้ ดร.สุพักตร์ช่วยดู ท่านจะเป็นทางออกที่สร้างสรรค์ให้ผมเสมอ

อีกไม่กี่เดือนผมคงได้ไปใช้ชีวิตอีกมิติหนึ่งที่ไทรน้อย เวลาของชีวิตเริ่มเหลือน้อยเต็มที ผมสะบักสะบอมกับชีวิตช่วงท้ายพอสมควร ก็กุมสติ ใช้ EQ และบารมีทางวิชาการที่สั่งสมมาเป็นโล่ป้องให้อยู่รอดปลอดภัยจนถึงเวลานี้ คงจะจบชีวิตราชการและงานการศึกษาเสียทีครับ

สวัสดีครับ อ.ธเนศ

  • ขอบคุณมากครับที่เข้ามาเยี่ยม
  • ท่านทำยอดเยี่ยมมากเลยนะครับ ที่มีการประชุม วิพากษ์ และค้นหาแนวทางการพัฒนาคุณภาพ หลังจากทราบผลสอบ NT หรือ O-NET ตามที่เล่า ผมจะได้นำตัวอย่างนี้ ไปเล่าย้ำกับ สพท.นนทบุรี เขต 2 อีกครั้งหนึ่ง(ได้พูดคุย หารือเรื่องนี้กันเป็นระยะ ๆ 2-3 ครั้งแล้ว   ในที่สุด ท่านธนสิทธิ์ก็ได้ไปปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรมในระดับสถานศึกษา ดังที่ยกตัวอย่างข้างต้นนะครับ)
  • ผมคิดว่า เรื่อง "วัฒนธรรมคุณภาพ" เป็นเรื่องใหญ่มาก ที่เรายังไม่สามารถสร้างนิสัยตัวนี้ได้  เราคงต้องจริงจังกับ "การฝึกปฏิบัติกันจนเป็นนิสัย ในหลักสูตรผลิตครูและผู้บริหารสถานศึกษา นะครับ"  ขณะนี้ เราผลิตบุคลากรแบบฉาบฉวยมาก  ไม่มีการประเมินกันอย่างจริงจังว่า "คนนี้ มีวัฒนธรรมคุณภาพ หรือมีพฤตินิสัยที่ดี ในการพัฒนางานหรือยัง"
  • ขอขอบคุณเป็นอย่างมากที่ยกคำพุดของท่านโกวิทย์มาให้ผมได้ทบทวน เรื่อง ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ เคยบอกว่า "อยากให้เขาทำอะไรเราก็ประเมินเขาตรงนั้น เดี๋ยวเขาก็ทำเอง"  ผมพยามยามนึกเรื่องนี้มานาน แต่นึกไม่ออกว่าใครพูด  อันที่จริงมันตรงกับแนวคิดทางการประเมินการปฏิบัติงานประการหนึ่งที่ผมใช้เป็นปัจจุบันคือ  "ยุทธศาสตร์ การให้อาหารปลา  อยากให้ปลาว่ายน้ำไปทางไหน ก็ให้โยนเหยื่อไปทางนั้น...หมายถึง กำหนดเกณฑ์ ตัวชี้วัดและน้ำหนักคะแนนให้ตรงกับนโยบายที่เราอยากให้เกิด"

 

หนูเห็นด้วยกับท่านอ.สุพักตร์ ในหลายประเด็น รวมถึงความเห็นที่มีประโยชน์ของท่านธเนศ...."การประเมินและการนำผลการประเมินไปใช้"  จากประสบการณ์ตรงการประเมินโรงเรียนได้ทำอย่างเป็นวัฒนธรรม แต่การนำผลการประเมินมาใช้....คงต้องให้ความสำคัญและนำลงสู่ภาคปฏิบัติอย่างชัดเจน......ในมุมมองของตนเอง วงจรของ Demming เป็นวงจรที่ใช้ได้กับทุกเรื่อง....แต่ก็พบว่า วงจรยังไม่เป็นวงจร...หรืออาจเป็นวงจรเปิด....(แบบวงจรไฟฟ้า)  ในมุมมองของครูผู้สอน

  • จุดอ่อนของระบบแผนและการประเมิน  การทำงานทุกด้านของโรงเรียนมีการประเมิน เมื่อผู้ปฏิบัติได้รายงานผลการประเมิน พบว่า ผู้บริหารบางท่านยังไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูลสารสนเทศ ซึ่งส่งผลให้การรายงานผลครั้งต่อไปเป็นไปตามกลไลการทำงาน ในทางกลับกันผู้บริหารที่ให้ความสำคัญกับการประเมินจะทำให้ทีมประเมินมีศักยภาพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และระบบงานต่างๆ ที่ได้รับการประเมินก็พัฒนาอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับสารสนเทศ และความต้องการขององค์กร
  • แนวทางการปฏิบัติในการปฏิบัติของการใช้ผลการประเมิน ควรนำผลการประเมินมาแจ้งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และวางแผนร่วมกันในการพัฒนาและปรับปรุงองค์กร ร่วมทั้งติดตามอย่างต่อเนื่อง การแก้นำผลการประเมินมาใช้ก็จะเป็นรูปธรรมมากขึ้น

สุดท้ายขอบพระคุณค่ะท่านอาจารย์สุพักตร์ที่นำเสนอยุทธศาสตร์การให้อาหารปลา....หนูจะนำไปใช้เมื่อมีโอกาสค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท