54 ความตายในตู้คอนเทนเนอร์และอีกมากมายความตายที่ชายขอบ(ตอนที่ 3)


คำตอบนั้นอาจจะได้ว่า มันเป็นวิกฤติและข้อจำกัดของอำนาจการจัดการแห่งรัฐ ที่ไม่สามารถทำความเข้าใจและตอบปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ภายใต้กรอบคิดที่จำกัดแค่เส้นแดนสมมติของพวกเราและเขาเท่านั้น ทำให้เรามองไม่เห็นภาวะความเป็นสีเทาๆของความเป็นตัวเขา (ระหว่างความเป็นผู้ลี้ภัย ความเป็นแรงงานข้ามชาติ หรือความเป็นผู้ลี้ภัยที่มองไม่เห็น) ไม่เข้าใจภาวะของการ “อยู่ระหว่างกลาง” ของพวกเขาเหล่านั้น

เราสามารถเข้าใจและข้ามพ้นความตายนี้ได้อย่างไร?

            เราจะทำความเข้าใจเรื่องราวเล่านี้ได้อย่างไร? สังคมบางส่วนอาจจะเลือกเข้าใจว่า เพราะพวกเขาเหล่านั้นลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ดังนั้นถ้าเข้าเมืองถูกกฎหมายเหตุการณ์ดังกล่าวก็จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งเราก็จะต้องหาคำตอบมาตอบสถานการณ์ที่กล่าวมาแล้วว่า อำนาจรัฐ พม่าก็ไม่ได้ใยดีต่อพวกเขามากนัก นอกจากจะไม่ปกป้องแล้วหลายครั้งเองยังเป็นผู้หยิบยื่นความตายและชีวิตที่ยากลำบากให้ ในขณะที่อำนาจอธิปไตยแห่งรัฐไทยก็ไม่อาจจะทำให้ อำนาจอธิปไตยแห่งรัฐหรือ ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายในนิยามแบบรัฐไทย ถูกกลุ่มคนที่ด้อยอำนาจทางการเมืองเหล่านี้มาล่วงละเมิดได้

แล้วอะไรเหล่าจะทำให้เขาสามารถเดินทางเข้ามาอย่างสง่าผ่าเผย เฉกเช่นผู้เดินทางข้ามแดนคนอื่น ๆ ได้ เพราะดูราวกับว่าช่องทางเหล่านั้นได้ถูกปิดไปแล้ว ด้วยอำนาจแห่งรัฐทั้งสองฝากฝั่ง

ใช่หรือไม่ว่าคนทั้งสองกลุ่มนี้อาจจะต่างกันเพียงแค่คนกลุ่มหนึ่งถือกระดาษที่มีตราสารแห่งอำนาจรัฐประทับไว้เท่านั้น

            ในอีกด้านหนึ่งของสังคมก็อาจจะมองประเด็นจากแง่มุมแห่งความเป็นมนุษย์ มองเห็นความทุกข์ยาก มองเห็นความเป็นไปในชีวิตของมนุษย์ ก็ไม่อาจจะทะลุผ่านกรอบอำนาจของแนวคิดแรกได้ สิ่งที่พอทำได้ก็คือให้พวกเขาเหล่านั้นได้รับสิ่งที่ควรจะได้รับเมื่อประสบเหตุการณ์ เท่าที่ความปราณีของอำนาจที่ตั้งตระหง่านจะเอื้ออาทรมาให้เท่านั้นเอง

            ในภาวะความอึดอัดที่สังคมไทยต้องเผชิญกับสองสิ่งพร้อมกัน นั่นคือกระแสแห่งโลกาภิวัฒน์ที่สิ่งต่าง ๆ ไหล่ผ่าน ข้ามรัฐ ลอดรัฐอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเงินตรา การสื่อสาร เทคโนโลยี อุดมการณ์ และการเคลื่อนย้ายของคน ในขณะที่การเคลื่อนย้ายของผู้คนที่เราประสบอยู่กลับเป็นผู้คนที่อำนาจอันตระหง่านอยู่ทั้งสองฟากฝังต่างมิพึงปราถนา แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธอยู่ในที

พวกเขาเหล่านั้นจึงเป็นผู้คนที่ อยู่ระหว่าง (In -between) พรมแดนสองฝั่งที่ผลัดกันผลักไปผลักมาราวกับเป็นตุ๊กตาล้มลุก มากที่สุดก็คงมายืนอยู่ได้เพียงชายขอบของระหว่างกลาง ที่พร้อมจะถูกผลักกลับไปเป็นตุ๊กตาล้มลุกเช่นเดิม

สิ่งที่จะช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์ดังกล่าวมากขึ้น อาจจะเป็นความเข้าใจในภาวะการ อยู่ระหว่าง ของพวกเขาเหล่านั้น เข้าใจว่าการจากมาของพวกเขาไม่ได้ราบรื่นเรียบง่าย เหมือนเวลาที่พวกเราจะจากบ้านไป และเข้าใจว่าเพราะความไม่ราบรื่นและไม่ปรกติของการจากลาก็ทำให้เขาเดินทางเข้ามาอยู่ร่วมกับพวกเราอย่างไม่ราบรื่น และไม่ปรกติ ตามข้อกำหนดของกฎหมายแห่งรัฐได้ และอาจจะทำให้เข้าใจว่าทำไมวงจรนี้จึงวนเวียนเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

            นอกจากนั้นแล้วหากเรามองในเชิงตั้งคำถามต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า มันเป็นวิกฤติและข้อจำกัดของอะไร

คำตอบนั้นอาจจะได้ว่า มันเป็นวิกฤติและข้อจำกัดของอำนาจการจัดการแห่งรัฐ ที่ไม่สามารถทำความเข้าใจและตอบปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ภายใต้กรอบคิดที่จำกัดแค่เส้นแดนสมมติของพวกเราและเขาเท่านั้น ทำให้เรามองไม่เห็นภาวะความเป็นสีเทาๆของความเป็นตัวเขา (ระหว่างความเป็นผู้ลี้ภัย ความเป็นแรงงานข้ามชาติ หรือความเป็นผู้ลี้ภัยที่มองไม่เห็น)  ไม่เข้าใจภาวะของการ อยู่ระหว่างกลาง ของพวกเขาเหล่านั้น

หรือแม้จะเข้าใจเราก็ไม่อาจจะเปิดรับให้เขาขยับข้ามกรอบแห่งความเป็น ระหว่างกลาง ออกมาได้ นั่นก็อาจจะทำให้เราไม่สามารถที่จะมีจินตนาการต่อการแสวงหานโยบายหรือแนวทางที่เหมาะสมต่อการจัดการกับสถานการณ์เหล่านี้ได้ในช่วงที่ผ่านมา

            ท้ายที่สุดความเข้าใจของพวกเราอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการยุติความตายที่อาจจะเกิดขึ้นใหม่เมื่อใดก็ได้ หรืออาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการมีจินตนาการชุดใหม่ต่อภาวะการณ์ข้ามพรมแดนแห่งรัฐ และพรมแดนแห่งความเข้าใจของพวกเรา

            แม้เราไม่อาจจะก้าวข้ามพ้นความตายที่เกิดขึ้นในขณะนี้ แต่มันก็ทำให้เราตระหนักถึงความตายเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

           

หมายเลขบันทึก: 187399เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2008 22:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท