BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

บทขัด


บทขัด

ว่าจะเขียนเล่าเรื่องบทขัดมานานแล้ว แต่ยังไม่มีโอกาสจาก บันทึกนี้ อ้างถึงบทขัดแล้ว อาจารย์ขจิต ฝอยทอง  ถามมา จึงเป็นอันว่าสบช่องโอกาสที่เจะเล่า... สำหรับผู้ไม่คุ้นเคยให้จำง่ายๆ ว่า...

 

  • บทขัด คือ บทสวดมนต์ที่เป็นบทนำของบทสวดมนต์ทั่วไป

มิใช่ว่าบทสวดมนต์ทั้งหมดจะมีบทขัดทุกบท บางบทอาจไม่มีบทขัด (แต่โดยมากมักจะมี).... การจำแนกบทสวดมนต์นั้น มีหลายนัย แต่สำหรับผู้ไม่คุ้นเคยหนังสือสวดมนต์นั้น แม้เล่าไปก็คิดว่าน่าจะจินตนาการไม่ออก (ยกเว้นมีหนังสือสวดมนต์อยู่ในมือแล้วพลิกเรียงหน้าไปเท่านั้น จึงจะเข้าใจ) ดังนั้น ผู้เขียนจะทิ้งประเด็นนี้ไป...

สำหรับการเจริญพระุพุทธมนต์ (งานมงคล) หรือ สวดพระพุทธมนต์ (งานอวมงคล) ทั่วๆ ไป นั้น...  หลังจากมีการให้ศีลรับศีลแล้ว  อุบาสกเจ้าพิธีก็จะอาราธนาพระปริตว่า วิปัตติปฏิพาหายะ.... ต่อจากนั้นพระสงฆ์ก็จะเริ่มสวด แต่ก่อนจะสวดนั้น จะมีการชุมนุมเทวดาก่อนว่า สะหัชชัง สะเสนัง... หรือโดยมากใช้แบบย่อ ซึ่งเริ่มต้นที่ ผะริตวานะ เมตตัง... บทชุมนุมเทวดานี้ เป็นการเชื้อเชิญให้เทพยดาในที่ต่างๆ มาประชุมกันเพื่อฟังธรรม จัดว่าเป็นบทคำนำของบทสวดมนต์ก็ว่าได้ ซึ่งบทชุมนุมเทวดานี้ เรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่า ขัดสัคเค (สัคเค จ รูเป คิริสิข... )  จึงจัดว่าเป็นบทขัดเหมือนกัน แต่เป็นบทขัดที่ไม่เป็นทางการ...

บทชุมนุมเทวดาหรือขัดสัคเคนี้ เป็นหน้าที่ของพระภิกษุรูปที่ ๓ ถัดจากหัวแถว หรือบางครั้งก็อาจเป็นรูปที่ ๒ หรือ ๔ ก็ได้... โดยท่านจะตั้งตาลปัตรขึ้นมาแล้วก็ว่าไป หรือถ้าไม่มีตาลปัตรก็พนมมือ โดยมีสายสินธุ์พาดอยู่ที่มือ... หลังจากท่านขัดสัคเคเสร็จแล้ว  ก็จะเก็บตาลปัตร ต่อจากนั้น พระเถระผู้เป็นประธานในพิธีสงฆ์ก็จะเริ่มสวด  โดยเริ่มต้นตั้งแต่บท นะโม  ตัสสะ ภะคะวะโต... พุทธัง สะระณัง....  จนกระทั้งจบ ซึ่งจะใช้เวลาสวดประมาณ ๒๐-๔๐ นาที (ท่านที่เข้าร่วมบ่อย  และสนใจสังเกตคงจะพอนึกได้)  นี้ว่าโดยทั่วไป... ซึ่งโดยมากถ้าเป็นงานสวดมนต์ทั่วไปแล้ว บทขัดพระปริตต่างๆ มักนิยมตัดออกไป เพราะถ้าเอาแบบฉบับสมบูรณ์ครบถ้วนนั้น ต้องใช้เวลาอย่างน้อยก็เกือบสองชั่วโมง (และพระโดยมากที่จำฉบับสมบูรณ์ก็มีน้อย)

แต่ถ้ามีการระบุบทพิเศษว่า สวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร หรือ สวดธัมมนิยามสูตร เป็นต้น... พระสูตรเหล่านี้ก็จะมีบทขัดด้วยเช่นกัน  ซึ่งถ้าเป็นงานธรรมดาก็อาจตัดทิ้งไป แต่ถ้าเป็นงานใหญ่หรือสำคัญนั้น พระเถระบางรูปก็มีคำสั่งว่าให้ ขัด ด้วย... นั่นคือ พอจะขึ้นบทพระสูตรที่ต้องการ พระสงฆ์ก็จะหยุด แล้วให้พระรูปที่ ๓ ตั้งตาลปัตรขึ้นมา ขัด รูปเดียว เช่น ถ้าเป็นธรรมจักร์ ก็ขึ้นต้นว่า อะนุตตะรัง อะภิสัมโพธิง... หรือถ้าเป็นธรรมนิยาม ก็ขึ้นต้นว่า ยัง เว นิพพานะญาณัสสะ... เป็นต้น

บทขัดเหล่านี้ พระภิกษุทั่วไป มักไม่ค่อยจำ หรือที่จำแล้วมักจะลืมๆ ยกเว้นพระภิกษุจำพวกนักสวดโดยเฉพาะที่มักจะจำได้ทุกบท... ระยะหลังมานี้ ผู้เขียนมีพรรษายุกาลมากขึ้น แม้ไม่ค่อยจะได้เข้าร่วมพิธีบ่อยนัก แต่มักถูกระบุให้ขึ้นไปนั่งตำแหน่งที่ต้อง ขัด เสมอ... ตอนนี้จึงกลับมาทบทวนบทขัด เพราะถึงวัยที่ควรจำ จะได้ไม่เก้อเขิน เมื่อถูกระบุ... ประมาณนั้น

โดยมากบทขัดจะไม่ยาว ถ้าเป็นพระปริตก็ ๔ บรรทัดเกือบทั้งหมด ถ้าเป็นพระสูตรอื่นๆ ก็ประมาณ ๘-๑๐ บรรทัด ขณะที่มงคลสูตรและรตนสูตรมีบทขัดเกือบ ๒๐ บรรทัด ซึ่งจัดว่ายาวที่สุด... ส่วนเนื้อหาของบทขัด เมื่อแปลมาแล้ว จะว่าด้วยประวัติ กล่าวสรรเสริญ แล้วลงท้ายด้วยการเชื้อเชิญให้ท่องบทสวดมนต์นั้นๆ...

............

อนึ่ง เฉพาะบทขัดพระปริตในสวดมนต์เจ็ตตำนานและสิบสองตำนานนั้น นิยมใช้บทขัดบางบทมาเป็นบทสวดสะเดาะ์เคราะห์ ซึ่งมีระเบียบการใช้สะเดาะเคราะห์ประจำวันว่า..

  • อาทิตย์ อุเท คะเนหมาย            จันทร์ นิยาย ยันทุน พ่อคุณเอย
  • อังคาร สวด ยัสสานุภาเวย       พุธ เฉลย สัพพาสี บาลีตรง
  • พระเสาร์ สวด ยะโต อย่าโอหัง   พหัสชัง ปูเรนตัม คำอย่าหลง
  • ราหู สวด กินนุสัน อย่างมั่นคง    พระศุกร์ตรง ยัสสานุต ยุติเอย

.....

อีกอย่างหนึ่ง สำนวนว่า ขัดสัคเค หมายถึง การขัดคอผู้อื่น การทะลุกลางปล้อง การติติงผู้อื่นกลางที่ประชุม... ซึ่งเป็นความหมายที่งอกขึ้นไปจากเดิม

คำสำคัญ (Tags): #ขัดสัคเค#บทขัด
หมายเลขบันทึก: 192819เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2008 11:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • นมัสการหลวงพี่
  • มีไม่น้อยเลยนะครับ
  • เคยได้ยินแต่
  • วิปัตติปฏิพาหายะ....
  • ผะริตวานะ เมตตัง
  • สองบทแค่นั้นเองครับ
  • ขอบคุณครับ

P

ขจิต ฝอยทอง

 

  • วิปัตติปฏิพาหายะ.... เป็นคำอาราธนาพระปริต
  • ผะริตวานะ เมตตัง.... เป็นบทชุมนุมเทวดา (ขัดสัคเค)

เฉพาะบทขัดทั้งหมด ถ้านำมารวมกัน ก็จะได้เป็นหนังสือเล่มย่อมได้....

เจริญพร

ผมได้เรียนรู้สิ่งที่ไม่เคยรู้จากบันทึกของหลวงพี่มหา..บันทึกนี้หลายเรื่อง..ขออนุโมทนาในธรรมทานครับ

เพิ่งทราบความหมายที่แท้จริงของ บทขัด ครับ กราบนมัสการขอบพระคุณครับ

ตอนบวชที่วัด ทำวัตรเช้า, เย็น ถ้ามีสวดพระปริตร หรือบทสวดยาวๆ บางครั้งก็มีบทขัด บางครั้งก็ไม่มี ขึ้นอยู่กับจริตของพระผู้ใหญ่สวดนำ…. ถ้าไม่มีสวดบทขัด พระใหม่อย่างผมก็สบายขาขึ้นหน่อย (เพราะถ้ามี คนอ้วนอย่างผม “ทรมานสุดๆ”

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท