ไปดูมาแล้ว (๑) >>> สถานสงเคราะห์บ้านเมตตา : บ้านเก่า คนเก่ง


บ้านเก่า มีอายุยาวนานเช่นนี้ ย่อมจะมีวัฒนธรรมองค์กรเฉพาะของบ้าน อาจต้องเขย่าขวดก่อนใช้ยา เป็นระยะ

หมายเหตุบันทึกบ้านนิคมปรือใหญ่:
๔ บันทึกนับจากนี้ ขอนำเสนอข้อสังเกตตามโครงการศึกษาดูงานประจำปี ๒๕๕๑ ระหว่างวันที่ ๑๕-๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ของสถานสงเคราะห์บ้านนิคมปรือใหญ่ และหลังจากนั้นอาจตั้งข้อสังเกตการเรียนรู้จากการศึกษาดูงาน ในปีนี้พี่ๆ น้องๆ อยากให้ทะเลเป็นจุดหมายปลายทาง โครงการศึกษาดูงานก็เลยตอบสนองความต้องการ
๑๕ เช้า  ศึกษาดูงานสถานสงเคราะห์บ้านเมตตา นครราชสีมา : บ้านเก่า คนเก่ง
๑๕ บ่าย  ศึกษาดูงานสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งทับกวาง สระบุรี : บ้านคุ้มครอง ป้องภัย
๑๖ เช้า  ศึกษาดูงานที่สถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งกุ่มสะแก จังหวัดเพชรบุรี : เราจะเป็นที่หนึ่ง
๑๖ บ่าย  ศึกษาดูงานที่สถานสงเคราะห์ประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ : ศักยภาพที่ถูกซ่อนเร้น
๑๗ พัก ทบทวน ท่องเที่ยว ที่อ่าวมะนาว ประจวบคีรีขันธ์
๑๘ เดินทางกลับบ้านใหญ่ท้ายซอยที่ศรีสะเกษ ระหว่างทางก็แวะเข้าวัด แวะเข้าวัง ตามสมควร

ผมได้นำเสนอข้อสังเกตนี้ในรูปของ ppt ต่อที่ประชุมประจำเดือนสถานสงเคราะห์บ้านนิคมปรือใหญ่ เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๑
เกรงว่าตัวเองจะลืมความคิดอ่านและอยากให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน จึงขอปัดฝุ่นนำเสนออีกวาระครับ

อนึ่ง บันทึกข้อสังเกตนี้ (รวมทั้งสร้อยที่เป็นข้อสังเกตตัวหนังสือสีแดง) เป็นข้อสังเกตส่วนตัวเพียงลำพังครับผม ส่วนภาพประกอบ ขอเลือกเสนอเฉพาะภาพที่พอเผยแพร่ในที่สาธารณะได้ละกันนะครับ

------------------------------------------------------------------------


เสื้อทีมบ้านปรือใหญ่ PREUYAI ACTIVITY : Help them to help themselves


สถานสงเคราะห์บ้านเมตตา : บ้านเก่า คนเก่ง

สถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของไทย ก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๐๙ แน่นอนครับว่าเป็นบ้านเก่า คนเก่ง
เป็นบ้านเก่า ที่สั่งสมและถ่ายทอดประสบการณ์จากรุ่นสู่รุ่น ผมตั้งข้อสังเกตความโดดเด่นที่สัมผัสได้เบื้องต้น ดังนี้

ประเด็นข้อสังเกตและชื่นชม ๕ ประการ
๑. สมุดรายงานการปฏิบัติงานรายบุคคล สมุดบัญชีคุมยอดผู้รับบริการในเขตเรือนนอน
- จนท.ทุกคนมีสมุดบันทึกการปฏิบัติงานประจำวัน และแสดงในที่เปิดเผย
- ในส่วนของผู้ดูแลฯ มีสมุดรายงานสถิติผู้รับบริการรายวันจำแนกตามเรือนนอน
- มีสมุดบันทึกการปฏิบัติหน้าที่เวรยามแยกพิเศษต่างหาก
- มีบัญชีแยกเฉพาะตามภารกิจ เช่น โรงอาหาร ห้องพยาบาล

๒. การจัดการเวรยามผู้ดูแลผู้รับบริการ
- มี จนท.ผู้ดูแล ทั้งสิ้น ๕ คน หมุนเวียนปฏิบัติหน้าที่วันละ ๓ คน
- กำหนดให้มีวันหยุดคนละ ๒ วันต่อสัปดาห์ โดยให้หยุดก่อนและหลังวันที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่เวรยาม


อาคารแสดงผลิตภัณฑ์การฝึกอาชีพและอาชีวบำบัด แม้จะตั้งอยู่ติดรั้วด้านหน้าสถานสงเคราะห์แต่ก็เหมือนว่าจะไม่โดดเด่นนัก ซึ่งแตกต่างจากภายในอาคารซึ่งจัดแสดงงานฝีมือได้หลากหลายชนิด


น้องผู้หญิงคนซ้ายมือเป็นครูสอนงานฝีมือสำหรับผู้รับบริการหญิง "หนูไม่ได้จบมาสายนี้หรอกค่ะ เพียงแต่ชอบใจ ไปตลาดเห็นอันไหนสวยก็ซื้อมาแกะ มาดูแบบ มาดูลาย ก็หัดทำกัน ออกแบบกันค่ะ"  ส่วนคนเสื้อดำคือพี่ติ๋งต่าง หัวหน้าทีมของเราครับ


๓. ศักยภาพของงานอาชีวบำบัดและผลิตภัณฑ์ของผู้รับบริการ
- การฝึกอาชีพ/อาชีวบำบัด ได้แก่ งานปูน/งานเกษตร/งานถักทอชาย-หญิง
- เจ้าหน้าที่มีศักยภาพในการพัฒนางานในส่วนที่รับผิดชอบได้อย่างต่อเนื่อง
- ผลิตภัณฑ์มีโอกาสที่จะพัฒนา ขยายงาน และสร้างแบรนด์ของ “บ้านเมตตา” ได้

๔. การจัดการสภาพแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม
- มีพื้นที่สีเขียว และมุมส่วนตัว (ม้านั่ง) สำหรับบริการกระจายทั่วทั้งพื้นที่
- มีห้องน้ำ ห้องสุขา ภายนอกอาคารเรือนนอน (กลางวันปิดอาคารเรือนนอน)
- มีราวตากผ้าในพื้นที่บริเวณลานกว้างรับแดด
- ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการด้านการสุขาภิบาลและป้องกันโรค


สภาพแวดล้อมโดยทั่วไป "สะอาด เขียวสด ลดมลพิษ" ครับ  ทราบต่อมาว่าหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าไปมีส่วนจัดการอยู่เหมือนกันครับ ประสาหน่วยงานที่มีคนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากแล้วตั้งอยู่กลางเมือง ถ้าไม่ได้รับการจัดการที่เหมาะสม ชุมชนโดยรอบย่อมได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้


๕. ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่สนับสนุนต่อการจัดบริการของฝ่ายสวัสดิการสงเคราะห์
- การพัฒนา/จัดการระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการจัดบริการสวัสดิการสังคมของหน่วยงานยังไม่โดดเด่น
- เทคโนโลยีสารสนเทศของฝ่ายสวัสดิการสงเคราะห์ยังไม่เพียงพอต่อการใช้งาน (แม้หน่วยงานจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์เหลือใช้)
- ความข้อนี้ ตั้งข้อสังเกตได้ง่ายเพราะเป็นปกติของทุกบ้าน และนักสังคมฯ ขอให้นำมาอภิปรายเป็นการเฉพาะ (ฮา)

 
การเรียนรู้จากบ้านเก่า คนเก่ง หลังนี้ คือ
- เจ้าหน้าที่แต่ละคนมีหน้างานรับผิดชอบเฉพาะด้านที่ชัดเจน สามารถควบคุมและพัฒนางานได้ (ในลักษณะทีมเฉพาะ)
- สร้างแบรนด์สินค้าผลิตภัณฑ์งานฝึกอาชีพ/อาชีวบำบัดให้เป็นเรื่องเป็นราวเป็นสิ่งที่สามารถทำได้
- บ้านเก่า มีอายุยาวนานเช่นนี้ ย่อมจะมีวัฒนธรรมองค์กรเฉพาะของบ้าน อาจต้องเขย่าขวดก่อนใช้ยา เป็นระยะ

ขอบคุณ
คุณน้ำหวาน : กันตา  ดีเดิม  นักสังคมสงเคราะห์ ประจำสถานสงเคราะห์บ้านเมตตา
พี่ปุ๊ย ป้านวล และเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ให้การต้อนรับ


รับประทานอาหารกลางวันเสร็จแล้ว เดินทางต่อ
เพื่อไปเยี่ยมชม ศึกษาดูงานที่บ้านทับกวาง สระบุรี

โปรดติดตามตอนต่อไป >>>

 

หมายเลขบันทึก: 193996เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2008 22:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท