ไปดูมาแล้ว (๒) >>> สถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งทับกวาง : บ้านคุ้มครอง ป้องภัย


เป็นความฝันของผมเลยนะครับ ว่าทำอย่างไรบ้านใหญ่ของผมถึงจะจบทุกอย่างได้ที่หอเรือนนอนแบบนี้ ผมคงต้องฝันต่อไปอีกสักพัก - - พักยาวๆ เลยแหละ


หมายเหตุบันทึกบ้านนิคมปรือใหญ่:
เป็นบันทึกข้อสังเกตตามโครงการศึกษาดูงานประจำปี ๒๕๕๑ ระหว่างวันที่ ๑๕-๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ของสถานสงเคราะห์บ้านนิคมปรือใหญ่ และหลังจากนั้นอาจตั้งข้อสังเกตการเรียนรู้จากการศึกษาดูงาน ในปีนี้พี่ๆ น้องๆ อยากให้ทะเลเป็นจุดหมายปลายทาง โครงการศึกษาดูงานก็เลยตอบสนองความต้องการ
๑๕ เช้า  ศึกษาดูงานสถานสงเคราะห์บ้านเมตตา นครราชสีมา : บ้านเก่า คนเก่ง
๑๕ บ่าย  ศึกษาดูงานสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งทับกวาง สระบุรี : บ้านคุ้มครอง ป้องภัย
๑๖ เช้า  ศึกษาดูงานที่สถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งกุ่มสะแก จังหวัดเพชรบุรี : เราจะเป็นที่หนึ่ง
๑๖ บ่าย  ศึกษาดูงานที่สถานสงเคราะห์ประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ : ศักยภาพที่ถูกซ่อนเร้น
๑๗ พัก ทบทวน ท่องเที่ยว ที่อ่าวมะนาว ประจวบคีรีขันธ์
๑๘ เดินทางกลับบ้านใหญ่ท้ายซอยที่ศรีสะเกษ ระหว่างทางก็แวะเข้าวัด แวะเข้าวัง ตามสมควร

ผมได้นำเสนอข้อสังเกตนี้ในรูปของ ppt ต่อที่ประชุมประจำเดือนสถานสงเคราะห์บ้านนิคมปรือใหญ่ เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๑
เกรงว่าตัวเองจะลืมความคิดอ่านและอยากให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน จึงขอปัดฝุ่นนำเสนออีกวาระครับ

อนึ่ง บันทึกข้อสังเกตนี้ (รวมทั้งสร้อยที่เป็นข้อสังเกตตัวหนังสือสีแดง) เป็นข้อสังเกตส่วนตัวเพียงลำพังครับผม ส่วนภาพประกอบ ขอเลือกเสนอเฉพาะภาพที่พอเผยแพร่ในที่สาธารณะได้ละกันนะครับ

------------------------------------------------------------------------


ผู้ปกครองสถานสงเคราะห์ (ตรงกลางหัวโต๊ะ) ให้ข้อคิด เตือนใจ ในการปฏิบัติราชการ และประโยคเด็ด "ผมมาอยู่ที่นี่ เพราะผมกลัวเครื่องบิน"

 

สถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งทับกวาง : บ้านคุ้มครอง ป้องภัย

ถึงสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งทับกวาง สระบุรี ราวบ่ายโมงครึ่ง ตรงกับวันที่มีการประชุมประจำเดือนพอดี จึงมีโอกาสได้พบปะทักทายพี่น้องกันถ้วนหน้า กิจกรรมเริ่มแต่รับฟังบรรยายจากผู้ปกครองฯ เป็นที่รับรู้กันนะครับว่า ใครได้ฟังบรรยายจากท่านแล้วก็จะเพลิดเพลินใจ กับหลักการสังคมสงเคราะห์ทั่วไปผนวกเข้ากับความเป็นไปเป็นมาของกรมประชาสงเคราะห์ งานสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง ผ่านมุมมองอดีต ปัจจุบัน และอนาคตจะไปอย่างไร

ผู้ปกครองฯท่านมีประสบการณ์ยาวนานครับ เป็น พมจ. (สมัยนั้นคงเป็นตำแหน่ง "ประชาสงเคราะห์จังหวัด") อยู่หลายจังหวัด จึงเพลิดเพลินกับการถ่ายทอดประสบการณ์ หลักการ และแนวคิดการทำงานกับประชากรกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายของท่าน  และได้สะท้อนหน่วยงานของท่านเองว่า "เจ้าหน้าที่เก่ง มีศักยภาพ แต่ทิศทางยังไม่ชัด"

ต่อจากนั้น ก็เยี่ยมชมสำนักงานและส่วนต่างๆ ตามที่ใจอยากดู


ประเด็นข้อสังเกต ๕ ประการ
๑. สำนักงานแยกส่วนเฉพาะตามภารกิจ

- มีการแยกส่วนของสำนักงานตามภารกิจเฉพาะ ได้แก่ การบริหารงานทั่วไป การเงิน บัญชี และพัสดุ งานมูลนิธิ และฝ่ายสวัสดิการสงเคราะห์ ซึ่งมักไม่ค่อยเห็นการจัดการสำนักงานชนิดเป็นเรื่องเป็นราวเช่นนี้ในงานสถานสงเคราะห์ เพราะโดยทั่วไปมักจะออกไปในรูปของการบูรณาการ (ถ้าบูรณาการแปลกันว่า "อยู่กันแบบมั่วๆ")
- การแยกส่วนส่งผลต่อ (การติดตาม) ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน การวางแผนและการจัดการด้านทรัพยากร
- เอื้อต่อการก้าวไปสู่การบริหารองค์กรรูปของแท่ง ทีม และขวาง  (หรือจะทำกันแล้วก็มิอาจทราบได้ - - มิได้ถามลึกขนาดนั้น)


๒. ระบบงานพัสดุ การเงิน บัญชี กับความภาคภูมิใจเป็นอันดับหนึ่งของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.)
- มีการจัดวางระบบสำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านการเงิน บัญชี และพัสดุ จนได้รับยกย่องในระดับแนวหน้าของ พส.
- ระบบดังกล่าวนำมาใช้ถึงระดับบุคคลและฝ่ายสวัสดิการสงเคราะห์ (ระบบงานบัญชีเป็นตัวนำ) เช่น ระบบการเบิกจ่ายเครื่องใช้ประจำวันของผู้รับบริการประจำเรือนนอน
- อาจปรับระบบดังกล่าว มาสนับสนุนระบบรายงานสำหรับงานสวัสดิการสงเคราะห์ตามความเหมาะสม


ขวามือเป็นเขตอาคารเรือนนอนหญิงและโรงอาหาร ตรงไปเป็นเขตเรือนนอนชายและเรือนพยาบาล ขณะที่ซ้ายมือเป็นพื้นที่ว่างเพราะสายไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่าน มองเลยไปจะเห็นสถานีจ่ายกระแสไฟฟ้าแรงสูง (อันตรายถึงชีวิตเชียว อย่าเข้าไกล้)


๓. อาคารสำนักงานห่างจากเรือนนอน
- เพราะข้อจำกัดที่สายไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านกลางสถานสงเคราะห์เช่นนั้น ทำให้พื้นที่แยกเป็น ๓ ส่วน ด้านหน้าเป็นอาคารสำนักงาน บ้านพักของเจ้าหน้าที่ และพื้นที่สำหรับกิจกรรมการฝึกอาชีพ เว้นพื้นที่ตรงกลางไว้เพราะสายไฟฟ้าพาดผ่าน ลึกเข้าไปจึงเป็นเขตอาคารเรือนนอน เรือนพยาบาล และโรงอาหาร
- ห่างเหิน มากไปแบบนี้ไม่ดีแน่ๆ ครับ ถ้าเอาตัวเองเป็นตัวตั้ง เพราะนักสังคมฯ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในฝ่ายสวัสดิการสงเคราะห์จะกลายเป็นสาวออฟฟิศ จมอยู่กับกองเอกสารมากเกินไป
- สำนักงานที่ห่างไกลจากพื้นที่พักของผู้รับบริการ อาจส่งผลให้เจ้าหน้าที่ใช้เวลาทำงานกับ "คอม" มากกว่าทำงานกับ "คน"


๔. การออกแบบอาคารสถานที่สะท้อนภาพ “บ้านคุ้มครอง ป้องภัย”
- จะเพราะสายไฟฟ้าที่พัดผ่าน เพราะโรงจำหน่ายไฟฟ้าแรงสูงอยู่ติดกับสถานสงเคราะห์ก็มิอาจทราบได้ การออกแบบจึงทำให้รู้สึกมั่นคงแข็งแรง ในลักษณะปกป้อง คุ้มภัย
- ยังไม่ชัดว่าได้มีการส่งสัญญาณหรือสื่อสารความเข้าใจในเรื่องนี้ต่อผู้รับบริการมากน้อยเพียงใด
- การใช้เหล็กดัดแทนประตู และมีลวดหนามบนกำแพง ทำให้รู้สึกอึดอัด หายใจค่อยไม่ออก (หรือเพราะผมจบมาทางปรัชญาจึงให้ความสนใจเรื่อง Free Will มากไปหน่อย)
- อย่างไรก็ดี ถ้าสื่อสารได้ เข้าใจตรงกันก็อาจลดข้อขัดข้องอึดอัดใจ อย่างที่กามูส์ เคยบอกไว้ใน "คนนอก" ว่า  "เดี๋ยวก็ชินไปเอง"



ผู้ปกครองฯนำเยี่ยมชมสถานที่ทุกส่วน ทุกซอกที่อยากดู ขณะที่พี่โบ๊ะ นักสังคมสงเคราะห์คอยให้รายละเอียดเพิ่มเติม



๕. ทุกอย่างจบที่หอเรือนนอน
- ตัดผม จ่ายยา ซักผ้า ตัดเล็บ ฯลฯ ทุกอย่างจบที่หอ วันที่ไปเยี่ยมชมพี่ผู้ดูแลหญิงกำลังแต่งผมให้คนในบ้าน โดยใช้อุปกรณ์ทุกอย่างเช่นเดียวกับที่มีในร้านตัด/แต่ง/ต่อ/ผมสตรี จะต่างก็แต่ไม่มีเครื่องอบ แน่นอนครับว่าผมไม่คิดว่าเรื่องทำนองนี้จะมีให้เห็นในสถานสงเคราะห์
- มีเครื่องซักผ้าประจำแต่ละเรือนนอน รวมทั้งมีระบบสนับสนุนการซักมือ ซึ่งเอื้อต่อการออกแบบกิจกรรมการดูแลตัวเอง การเตรียมความพร้อมก่อนกลับบ้าน
- พื้นที่ว่างโดยรอบเรือนนอนปลูกผักสวนครัว มะละกอ สวยงาม ดูเย็นสบาย
- เขตเรือนนอนชาย เหมือนว่าจะแฉะกว่า ลุ่มกว่า มีกลิ่นแรงกว่า (เพราะความมักง่ายของชาย (ทั้งผู้รับบริการและเจ้าหน้าที่) หรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ เพราะบ้านผมก็มิได้แตกต่าง)



คุณพี่พยาบาลประจำสถานสงเคราะห์หนึ่งเดียว (คนที่ ๒ จากซ้าย) ในห้องทำงานเรือนพยาบาลสภาพจริง กับการนำเสนอเทคนิคการจัดเตรียมยาสำหรับผู้รับบริการ



เรียนรู้อะไรจากทับกวาง
- ผู้ปกครองฯท่านให้ข้อคิดว่าข้าราชการควรที่จะต้อง "เก่ง" แต่ "เก่ง" อย่างเดียวไม่พอ ต้องทำให้ "ถูกใจและถูกกฎ" ด้วย : ถูกใจเครือข่าย ถูกใจผู้รับบริการ ถูกใจเพื่อนร่วมงาน, ถูกกฎหมาย ถูกหลักการ มีจุดยืนชัดเจน
- เป็นความฝันของผมเลยนะครับ ว่าทำอย่างไรบ้านใหญ่ของผมถึงจะจบทุกอย่างได้ที่หอเรือนนอนแบบนี้  ผมคงต้องฝันต่อไปอีกสักพัก - - พักยาวๆ เลยแหละ
- พี่โบ๊ะ แวะเข้ามาอ่านแล้ว จะว่าอย่างไรก็เชิญนะครับพี่


ขอขอบคุณ
- ผู้ปกครองสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งทับกวาง
- พี่โบ๊ะ : บุญฑิตา  สุขอร่าม  นักสังคมสงเคราะห์ ประจำสถานสงเคราะห์
- พี่กบ พี่ออด และพี่ๆ น้องๆ สถานสงเคราะห์ทุกท่านให้การต้อนรับอย่างดียิ่ง

 

ออกจากทับกวางก็วิ่งฉิวปลายทางสมุทรสงคราม
คืนนี้ พาพี่ๆ น้องๆ ไปพักรีสอร์ทเปิดใหม่ใจกลางสวนมะพร้าว นั่งเรือชมหิ่งห้อย และตลาดน้ำอัมพวา
บรรยากาศรอบข้างคืนนั้น อดทำให้นึกถึงฉากหนังเรื่อง "นางนาค" มิได้

คืนนี้นอนสมุทรสงคราม  พรุ่งนี้เช้าเดินทางต่อไปเพชรบุรี
ไปเยี่ยมชมสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งกุ่มสะแก >>>

 

หมายเลขบันทึก: 194188เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2008 23:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

    สวัสดีคะ ...

  มาร่วมเป็นกำลังใจ  สู้.สู้ นะคะ 

ขอบคุณครับ

ขอบคุณ คุณ"เอื้อง...แสงเดือน v.2"

สู้ๆ ครับ !!!!!

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท