จินตนาการ ผังเมืองกุสาวดีราชธานี


สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงจินตนาการ ที่เกิดขึ้นในช่วงหนึ่งของชีวิต ผู้เขียนไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นมัน
ข้าพเจ้าเอามาวางไว้ที่นี่....พอให้ได้เห็นร่องรอยแห่งความนึกคิด...ในชีวิตของคนๆ หนึ่งเท่านั้น.
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

อาศัยข้อมูลจากผังเมืองของมหาสุทัสสนสูตร

ขนาดเมือง
"กุสาวดี เป็นราชธานีของพระเจ้ามหาสุทัสสนะ โดย ยาวด้านทิศบูรพาและทิศประจิม ๑๒ โยชน์ โดยกว้างด้านทิศอุดรและทิศทักษิณ ๗ โยชน์" (กว้าง 112กม. ยาว 192กม. เมื่อคิด๑โยชน์= 16กม.)  มีกำแพงล้อม 7 ชั้น

พระราชวัง
สมมติขนาดพื้นที่ตั้งพระราชวังตามมหาสุทัสสนสูตร คือ ประกอบด้วยธรรมปราสาท(กว้างกึ่งโยชน์ ยาว๑โยชน์) กับธรรมาโบกขรณี(กว้างกึ่งโยชน์ ยาว๑โยชน์).  รวมเป็นพื้นที่กว้าง๑โยชน์ ยาว๑โยชน์ เป็นบริเวณที่ตั้งของพระราชวังของพระราชา.

บริเวณโรงทาน ป่าตาลรัตนะและโบกขรณี.
ขนาดสระโบกขรณี ยาว๑๐๐ช่วงธนู (คือ นับเอาความยาวลูกศร สมมติว่า ศรแต่ละลูกยาวประมาณ 1เมตร ก็จะถือประมาณว่า สระโบกขรณีนี้ ยาวประมาณ 100 เมตร)   ตั้งอยู่ในระหว่างป่าตาล และข้างสระมีโรงทาน.

อาศัยข้อมูลจากตำนานพระศรีอารย์

ขนาดเมือง
ไม่ได้บอกเป็นความกว้างความยาว หากแต่บอกเป็นปริมาณบ้านเรือนว่า มีปราสาท๓หลัง และมีบ้านเรือน ๓โกฏิ๖ล้านหลัง คือ ประมาณ 36ล้านหลัง.

พระราชวัง
กว้าง16กม.ยาว16กม. (ตรงกันกับมหาสุทัสสนสูตร)  ภายในบริเวณนั้น มีปราสาท๓หลัง คือ ปราสาทแก้ว ปราสาททองคำ และปราสาทเงิน.

โรงทาน
มีต้นกัลปพฤกษ์อยู่  นับรวมทั้งหมด 1,600ต้น.

ผสมข้อมูลจากทั้งสองเรื่องนั้นเข้าด้วยกัน

จะได้เมืองนี้มีขนาดกว้างประมาณ ๗โยชน์ทางเหนือใต้-ยาวประมาณ ๑๒โยชน์ทางตะวันออกตะวันตก.   ในอาณาบริเวณนั้น บรรจุปราสาท๓หลัง และบ้านเรือนราษฎรจำนวน 36,000,000 หลัง.  กำหนดให้บริเวณที่ตั้งพระราชวังนั้น มีขนาดกว้าง ๑โยชน์ ยาว๑โยชน์.

นี่เป็นโจทย์ปัญหาในการออกแบบ.  สำหรับท่านที่เรียนการออกแบบมา เป็นต้นว่าเป็นสถาปนิก นักวางผังเมือง หรือวิศวกร หรือว่าใจรักใจชอบก็ตาม.   หากท่านได้โจทย์ปัญหามาเพียงเท่านี้ แล้วให้ออกแบบบ้านเมืองเอง จะพอออกแบบได้หรือไม่?

พิจารณาโจทย์ปัญหา

เมื่อพิจารณาโจทย์ปัญหาแล้ว อาจจะเกิดปัญหาตามมาอีกมากมายว่า แล้วขนาดบ้านเรือนมีขนาดเท่าไร? ถนนหนทางเท่าไร? มีแบ่งตรอกซอกซอยอย่างไร? แล้วมีสิ่งก่อสร้างอื่นๆอีกหรือไม่ เป็นต้นว่า โรงเรียน โรงพยาบาล ที่ว่าการหมู่บ้าน สถานที่ราชการอื่นๆ เหมือนอย่างที่มีกันอยู่ในบัดนี้?

เมื่อพิจารณาแล้ว ทำใจเหมือนว่า เราเป็นผู้รับจ้างทำงาน  เขามาจ้างเรา เขาบอกข้อกำหนดเราไว้แค่นั้น  ในส่วนที่เขาไม่ได้บอกเราไว้ เราสามารถจะจัดวางอะไรอย่างไรก็ได้ ขอเพียงให้มันไม่ผิดจากสเป็กกว้างๆพวกนั้น ซึ่งเป็นข้อจำกัดของโจทย์

นั่นคือ จะพบปัญหาของโจทย์เพิ่มขึ้นมาอีกข้อหนึ่งว่า เมืองๆนี้ ออกแบบมาแล้ว ต้องใช้การได้จริงๆ สามารถรองรับการใช้ชีวิตของคนในเมืองได้อย่างทั่วถึง  มีการพิจารณาป้องกันปัญหาต่างๆไว้พร้อมด้วย.  คิดค้นวิธีการจัดการบริหารบ้านเมืองด้วย การกำจัดของเสีย กำจัดขยะ การขนส่งมวลชน การขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค การทำกิจกรรมอื่นๆในเมือง .  เหล่านี้เป็นปัญหาที่ต้องได้พิจารณา แม้จะไม่มีกำหนดไว้ในโจทย์ก็ตาม.

ผลของการออกแบบของข้าพเจ้า

เมื่อพิจารณาโจทย์ปัญหา เพื่อทำความเข้าใจมหาสุทัสสนสูตรแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้เขียนผังเมืองขึ้นมาคร่าวๆ คือ อาจจะมีบกพร่องบ้าง เพราะไม่ได้ไปเรียนออกแบบผังเมืองมา ก็คิดคำนึงถึงปัจจัยต่างๆเท่าที่จะพอนึกออกเท่านั้นเอง.  ได้เท่านี้ ก็พอใจแล้ว เพราะเขียนขึ้นมานำเสนอเท่านั้นเอง.  ทำมันมาเพราะใจรัก เพราะอยากจะรู้จัก มหาสุทัสสนสูตรของพระพุทธเจ้า.

-

ก็พอดี มีของแถมในข้อมูลประกอบการออกแบบ คือ นำมาจากตำนานพระศรีอารย์อีก ที่เขากล่าวว่า เมืองใหม่พระศรีอารย์จะตั้งอยู่ภาคเหนือของประเทศไทย.  จึงได้นำแผนผังจาก Google earth ในบริเวณภาคเหนือของไทยมาใช้ประกอบการวางผังเมือง

นอกจากนั้น ยังได้นำข้อมูลจากทางตำนานศาสนาอื่นๆมาประกอบด้วย เป็นต้นว่า ทางอิสลามกล่าวถึงเรื่องสงครามแย่งชิงภูเขาทองคำ ซึ่งจะเกิดขึ้นในบริเวณระหว่างแม่น้ำสองสาย

ตำนานอิสลาม เขาว่า น้ำสองสายนั้นคือ ไทกรีส-ยูเฟรตีส  แต่ข้าพเจ้าเอามาผสมผสานกับตำนานพระศรีอารย์ด้วย เพราะตำนานพระศรีอารย์ก็มีกล่าวถึงเรื่องขุมทองคำ แต่บังเอิญระบุตำแหน่งที่ภาคเหนือของไทย เมื่อผสมกันในข้อมูลพวกนี้ คือ บริเวณระหว่างน้ำสองสาย และอยู่บริเวณภาคเหนือของไทย  ก็ได้เป็น บริเวณระหว่าง แม่น้ำโขงกับแม่น้ำสาละวิน.

เพราะเมืองกุสาวดีในมหาสุทัสสนสูตร ไม่ได้บอกไว้ว่า ตั้งอยู่บริเวณใดของโลก.  จึงต้องได้สมมติที่ตั้งขึ้นมาเอง และข้าพเจ้าก็อาศัยข้อมูลประกอบเอาจากที่อื่นๆ พอดี มันมีอยู่ในตำนานแล้ว ก็ผสมผสานจินตนาการเข้าไปด้วย จึงเอาจุดศูนย์กลางเมืองกุสาวดี ตั้งทับชายแดนไทยพม่าเสียเลย เพราะ ตำแหน่งแม่น้ำสองสาย มันไปเกี่ยวข้องกับเขื่อนในผังเมืองนี้ด้วย.

หมายเลขบันทึก: 200573เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2008 10:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:25 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ

  • ชมว่า จินตนาการได้ดีครับ ยกนิ้วให้
  • คิดๆไป อยากไปเรียนแบบนี้บ้าง ออกแบบอดีต จากข้อมูลบันทึก....
  • ธรรมสวัสดีนะโยม
  • เข้ามาเรียนรู้สิ่งดีๆ
  • เป็นจินตนาการที่มีคุณค่ามาก
  • อนุโมทนาสาธุบุญด้วย
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท