เจ้าที่


การจุดธูปบอกแจ้งแก่ปู่ตาและการบอกกล่าวแก่เจ้าของผู้ปกครองพื้นที่ก็มีลักษณะมิได้แตกต่างกัน การจุดธูปบอกกับการมีหนังสือแจ้ง ก็มีความหมายเดียวกัน การุกที่โดยไม่บอกกล่าวหรือทำการอันใดซึ่งเจ้าที่เห็นว่าไม่เหมาะ ไม่ควร ย่อมจะได้รับการตอบโต้ตามสมควร เจ้าที่จึงเป็นเรื่องพื้นที่ เป็นเรื่องของการครอบครอง และเป็นเรื่องของการเคารพและให้เกียรติ ทั้งคน ทั้งผี เราก็ควรให้เกียรติและเคารพกัน


เขียนเรื่อง "พื้นที่" นานมาแล้ว ทั้งแจ้งว่าจะชวนคุยเรื่อง "เจ้าที่" เสียอีกทีนึงคงได้โอกาสแล้วละครับ

 

เจ้าที่ ๑ : เรื่องของอำนาจดลบันดาลที่มองไม่เห็น

เหมือนจะเป็นเรื่องปกติเสียแล้วละครับ สำหรับเจ้าหน้าที่ (โดยเฉพาะเป็นคนต่างถิ่น) ที่มาบรรจุเข้ารับราชการในสถานสงเคราะห์แห่งนี้ ที่มักจะพบว่าภายใน ๓ วัน ๗ วัน เป็นอันต้องฝันถึงเรื่องอย่างเดียวกันหรือเรื่องทำนองเดียวกัน--เป็นฝันถึงเรื่องของคนโบราณ นักรบโบราณ และสงครามโบราณ โดยในฝันจะตรงกันว่าพื้นที่ซึ่งยังคงมีสภาพเป็นป่าในสถานสงเคราะห์บริเวณนั้น เป็นพื้นที่สนามรบคืนแรกๆ ที่มารับราชการที่นี่ก็ฝันทำนองเดียวกันนี้ ครั้นเอาไปเล่าให้ลุง ป้า น้า อา ทุกคนก็ยิ้มๆ แล้วก็มาเข้าใจเมื่อทราบว่าน้องๆ ที่มาอยู่ภายหลังผมก็ล้วนแล้วแต่ฝันในลักษณะเดียวกัน--ผมเชื่อว่าน้องใหม่ที่มาบรรจุรับราชการที่นี่จะยังคงฝันกันอย่างนี้ต่อไป ตราบเท่าที่ป่ายังคงเหลืออยู่เพราะมักไม่ปรากฏว่าเรื่องราวทำนองนี้จะถูกเล่าจากสังคมเมือง (เมืองในความหมายว่าศิวิไลซ์)

ความฝันนี่มันเป็นเรื่องแปลกนะครับ อย่างไรก็ดี คัมภีร์ทางการแพทย์และคัมภีร์ทางศาสนาท่านก็มีคำตอบแก่เราได้อยู่เหมือนกันว่าที่คนเราฝันกันนั้นเพราะมีสาเหตุมาจากสิ่งใดบ้าง--ท่านให้เป็นคำอธิบายเชิงหลักการ

เรื่องฝันที่ออกจะประหลาดใจอย่างที่สุดตั้งแต่มาประจำอยู่ที่นี่ น่าจะเป็นเรื่องราวความฝันของหมอหนิง น้องพยาบาลของเรานี่แหละครับ ที่ฝันไปว่ามีปลาช่อนตัวโตขนาดเท่าแขน ประมาณ ๗-๘ ตัว มาดิ้นๆๆ พร้อมกันที่หน้าบ้านพักอย่างน่าสงสัย แต่เมื่อครั้นรุ่งเช้าขึ้นมาก็พบว่ามีปลาช่อนตัวขนาดเท่าแขน นับได้ ๘ ตัว ตายไปเสียแล้ว ๓ ตัว ดิ้นๆ อยู่สนามหน้าบ้านพัก--ฝันอะไรจะแม่นถึงเพียงนั้น

ปลาช่อนเข้าฝันกันขนาดนี้ หมอหนิงของเราจะอยู่เฉยได้หรือครับ
ขนลุกซู่ จับปลาไปปล่อยบ่อกว้าง ส่วนที่ตายแล้วก็ฝังเสีย พร้อมกับไปถวายสังฆทาน พรมน้ำมนต์ และไม่กินปลาช่อนตั้งแต่บัดนั้น  ไม่มีคำบรรยาย เว้นแต่จะบอกว่านี่เป็นความบังเอิญ แน่นอนพระคุณท่านหรือคนสายวัด สายเวทย์ อาจมีคำอธิบายเชิงลึกลับให้เราแก่เราได้

 


ศาลรูปเคารพพระประชาบดี ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าชิดติดรั้ว ประตูสถานสงเคราะห์
คนที่กำลังตัดแต่งกิ่งอยู่นั้น ดูกันชัดๆ แขนขวาเขาไม่ีมีนะครับ--จนท.ตำรวจนำส่งมาฟื้นฟูจากสถานีรถไฟศรีสะเกษ
เพราะเหตุเร่ร่อน ขอทาน เมาสุรา ไร้ที่พึ่ง (คดีเยอะเนอะ แต่มิได้ดำิเนินคดี ส่งต่อมายังท่านเพื่อฟื้นฟู)

 

ว่าจำเพาะในสถานสงเคราะห์แล้ว มีสิ่งเคารพ ๓ อย่างคือ รูปเคารพพระประชาบดี เจ้าแม่ฉวีวรรณ และศาลปู่ตา
รูปเคารพพระประชาบดีนั้น จัดตั้งไว้เป็นเช่นเป็นศาลพระภูมิไว้ตรงกลางหน้าสถานสงเคราะห์ เป็นรูปเคารพซึ่งเป็นสัญลักษณ์/เครื่องหมายของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ แต่เมื่อครั้งเป็นกรมประชาสงเคราะห์ มีคำอธิบายว่า พระประชาบดี หมายถึง เทพผู้เป็นที่พึ่งของประชาชน เป็นบุตรของพระพรหม หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เทพมเหศักข์ ซึ่งเป็นผู้ให้การสงเคราะห์แก่ประชาชน เป็น มนสาบุตร หมายถึง พระพรหมนึกให้เกิด พระประชาบดีได้รับมอบหมายจากพระพรหมให้มาสร้างมนุษย์และสัตว์อื่นๆ เมื่อทรงสร้างเสร็จแล้วก็ได้ถนอมเลี้ยงดูดุจบิดาเลี้ยงดูบุตร ด้วยเมตตากรุณา โดยไม่คำนึงถึงผลตอบแทนแม้แต่น้อย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (สืบเนื่องจากกรมประชาสงเคราะห์) ได้กำหนดให้เป็นเครื่องหมายประจำกรม การเคารพกราบไหว้บูชาจึงเป็นเรื่องเฉพาะของเจ้าหน้าที่ ซึ่งใช้คำเรียกกันว่าเป็นลูกพระประชาบดี

เจ้าแม่ฉวีวรรณ เป็นศาลพระภูมิตามแบบฉบับของชาวบ้าน ตั้งอยู่ด้านหน้ามุมด้านซ้ายมือของสถานสงเคราะห์ ความเป็นมาอย่างไรไม่แน่ชัดตรงกัน แต่มีชื่อทางด้านการปกป้องคุ้มภัย ทั้งเจ้าแม่ก็ให้หวยแม่นเสียด้วย ซึ่งเราจะพบว่ายามค่ำคืนของวันที่ ๑๕ และ ๓๑ จะปรากฏแสงและประกายไฟส่องสว่างทั้งกลิ่นธูปหอมอบอวลโดยรอบศาลเจ้าแม่ นับเป็นอิทธิปาฏิหาริย์ของเจ้าแม่ที่ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้คนทั้งใกล้ไกล กล่าวกันว่าศาลของเจ้าแม่ที่สวยเด่นเป็นสง่าอย่างที่เห็น เพราะเหตุไปดลบันดาลให้ ผอ.ศูนย์สงเคราะห์และฝึกอาชีพเด็กและเยาวชนจังหวัดศรีสะเกษ (คนปัจจุบัน) สมดังปรารถนา

ขณะที่ศาลปู่ตา เป็นศาลพระภูมิตามแบบฉบับของชาวบ้านอีกเช่นกัน ตั้งอยู่ด้านหน้ามุมด้านขวามือของสถานสงเคราะห์ แน่นอนครับว่าในบรรดาความลึกลับ ศาลปู่ตาดูท่าว่าจะลึกลับกว่า เข้มขรึมกว่า ผมไม่แน่ใจว่าโดยทั่วไปแล้วศาลปู่ตาหรือดอนปู่ตา นอกเหนือจะมีบทบาทในการปกป้องคุ้มภัยลูกหลานแล้ว จะยังคงมีหน้าที่โดยตรงในการปกป้องทรัพยากรในพื้นที่ (โดยเฉพาะป่าไม้) หรือไม่ เมื่อครั้งยังเด็กจะปรากฏอยู่เสมอถ้ามีใครไปตัดไม้หรือตะโกนด่าทอบุตรหลานที่ป่าในเขตหวงห้าม (ว่าเป็นพื้นที่ในการดูแลของปู่) โดยไม่ได้รับอนุญาต (หรือในความหมายคือขออนุญาต) จากปู่เสียก่อนแล้วละก็ เป็นอันต้องมีอาการนอนเพ้อนอนฝันทุรนทุรายทุกคนไป เป็นต้องเดือดร้อนไปตามลุงมหา หมอผี หมอธรรมเพื่อมาสื่อสารกับปู่ว่าไปทำผิดพลาดอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ดี ปู่ตาก็ใช่ว่าจะหวงแหนอย่างไม่มีเหตุผล ถ้าได้เซ่นไหว้ขอใช้ทรัพยากรเป็นเรื่องเป็นราวเสียอาการดังว่าก็ไม่ปรากฏให้เห็น ปู่ตาจึงเป็นผู้ใหญ่ที่เคร่งขรึม น่ากลัวเกรง และมีเหตุมีผล

 


////////ศาลเจ้าแม่ฉวีวรรณยามเย็น ใต้ร่มกัลปพฤกษ์ เมื่อฤดูกาลแห้งแล้ง//////////

 

แน่นอนว่า เมื่อแรกที่มาบรรจุรับราชการที่นี่ลุง ป้า น้า อา บอกผมไปไหว้สิ่งเคารพทั้ง ๓
ปัญหาคือ แต่ไหนแต่ไรมา ผมไม่เคยไหว้ศาลพระภูมิเสียด้วยสิ จนถึงบัดนี้ผมก็เลยยังมิได้ไปเซ่น ไหว้ บูชา และร้องขอ
อีกไม่กี่วันถึงเทศกาลกล้วยแสนหวี ประเพณีแซนโฎนตา ประจำปีนี้ของคนพื้นที่การเซ่น ไหว้ บูชาสิ่งเคารพทั้งหลายก็คงได้เห็นกัน

ผมเป็นคนกลัวครูมาตั้งแต่เด็กครับ เห็นครูเป็นต้องหงอและเหงียม ครูที่เคารพไปเยี่ยมบ้าน ผมเป็นต้องวิ่งหลบหลังบ้าน
ต่อเมื่อโตแล้ว เข้าสู่ร่มกาสาวพัสดุ์แล้ว ก็ดูท่าว่าอาการยิ่งเหมือนจะหนัก ยิ่งเคารพมาก นับถือมาก ก็ยิ่งกลัวเกรงมาก
ยิ่งทราบว่ามีอำนาจมาก มีอิทธิผลต่อผมมาก ผมก็จะยิ่งห่าง หากแต่ก็ห่างด้วยการติดตาม ชื่นชม และเชิดชู อยู่ห่างๆ
ต่อเมื่อท่านเรียกใช้ผมจึงจะมีโอกาสได้เข้าไปใกล้
ลักษณะเช่นนี้ผมปฏิบัติทั้งกับคน กับพระ และกับผี ครับ

 

เจ้าที่ ๒ : เรื่องของอำนาจที่ประจักษ์ชัดแจ้ง

ถ้าเราจะได้สังเกตระหว่างเดินทางจะพบว่าข้างถนนตลอดการเดินทางจะมีป้ายก่อนและหลังผ่านหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ทำนองบอกเขตขณะนี้เราอยู่ในพื้นที่หรือนอกพื้นที่แล้ว

เขตพื้นที่ อบต. หนองฉลอง
เขตพื้นที่สอบสวน สภ.ปรือใหญ่
ฯลฯ
เหมือนกำลังจะบอกว่า รู้ไว้ซะด้วยใครคุม (ฮา)

เป็นธรรมดาอยู่เองที่คนทำงานในพื้นที่เดียวกันต้องทำความรู้จักมักคุ้น ไปมาหาสู่กัน นัยว่าเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกัน ประเดี๋ยวเจ้าที่ท่านไม่อนุญาต ไม่ให้ความร่วมมือเสียแล้วละก็ทำงานลำบากแน่ๆ ครับ แน่นอนครับว่าเมื่อแรกที่มาประจำในพื้นที่ย่อมจะได้รับคำแนะนำเพื่อทำความรู้จักกับผู้นำชุมชนและผู้นำหน่วยงานราชการ

เพื่อนปลัด อบต. ของผม เคยให้คำแนะนำกรณีที่ต้องติดต่อประสานงานกับ "เจ้าที่" ในชุมชนว่า ควรอย่างยิ่งที่ผมจะต้องถือตะกร้าผลไม้ หรือเครื่องดื่มยอดนิยมติดมือไปพร้อมกับการชื่นชมยินดีกับผลงานของท่าน -- ผมได้ยินเพียงเท่านี้ก็ได้อภิปรายกันเสียยาวละครับ เพราะเหตุว่าถ้าเราจะทำงานร่วมกัน เป็นเพื่อนกัน แต่กลับต้องคลานเข่าเข้าไปหา ผมเข้าใจว่านั่นมิไม่ใช่ความร่วมมือแล้วกระมัง--เขาคงเข้าใจผิดคิดว่าผมเป็นผู้รับเหมายื่นซองประกวดราคาเป็นแน่แท้ (ฮา)

มาถึงตรงนี้ คงเข้าใจได้ตรงกันนะครับว่า พอพูดถึงเจ้าที่ ผมหมายรวมถึงเจ้าที่ในมิติของจิตวิญญาณ เจ้าที่ในมิติของผู้มีอำนาจในการตัดสินใจหรือในมิติของเจ้าผู้ปกครองอาณาเขต ซึ่งน่าสังเกตว่าการเซ่นเจ้าที่ในความหมายนี้ มีลักษณะร่วมประการหนึ่งว่าเป็นการเซ่นด้วยสิ่งของด้วยธูปเทียนและสิ่งอื่นที่มิใช่ธูปเทียน ตามแต่เจ้าที่จะร้องขอหรือโปรดปราน และลักษณะร่วมสำคัญอีกอีกประการ ได้แก่ การมีพื้นที่ชัดเจน มีการกำหนดขอบเขต ผีปอบที่สกลนครไม่ตามมากินตับคนศรีสะเกษนะครับ ขณะเดียวกันเจ้าที่แถวศรีสะเกษก็ไม่ได้ไปเบ่งคับฟ้าแถบภาคเหนือเช่นกัน

ถ้าใครอ่านเรื่องมอม ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็พอเข้าใจรูปธรรมนามธรรมได้อย่างชัดแจ้งว่า มอม มีวิธีการกำหนดหรือประกาศเขตแดนด้วยวิธีใด ใช่แล้วครับ เป็นมอมที่อ่านไม่ออก เป็นมอมที่เขียนไม่ได้นะแหละครับ

 


ภาพศาลปู่ตาเมื่อวันก่อน ตั้งอยู่ติดถนนมุมสถานสงเคราะห์ ภายใต้ร่มไม้ครึ้มให้น่าเกรงขามยามค่ำคืน
ป้ายสีน้ำเงินนั้นระบุข้อความว่าเป็นเขตพื้นที่ อบต.หนองฉลอง

เจ้าที่ ๓ : การเรียนรู้ร่วมมือกับเจ้าที่ เพื่อให้เป็นเจ้าภาพ

ประสาคนทำงานเกี่ยวเนื่องกับคนที่เขาไม่รัก สิ่งที่เขามองไม่เห็นค่า เขาไม่อยากรับคืนนี่มันยากนะครับ
ประโยคทำนองว่า "แล้วแต่สถานสงเคราะห์จะจัดการ จะเอาไปที่ไหนก็เอาไป ชุมชนนี้ไม่รับ รับมาก็สร้างแต่ปัญหา ครอบครัวไม่มีปัญญาดูแลหรอก.... แต่ละคนก็ต่างทำมาหากิน เวลาจะไปทำบุญที่วัดยังไม่มีเลย แล้วใครละจะมาส่งจังหันมัน ถ้ารับกลับคืนมา"  เป็นคำพูดที่ได้ยินอยู่บ่อยครั้ง ได้ยินแล้วมันเจ็บปวดเสียจริงๆ นะครับ เมื่อลงพื้นที่เพื่อประสานนำส่งผู้รับบริการตามโครงการคืนนี้นอนบ้าน : ทดลองอยู่ร่วมกับครอบครัวและชุมชน

มีอยู่เสมอๆ ที่เมื่อเวลาไปราชการ ออกหน่วยเคลื่อนที่ หรือลงพื้นที่/ชุมชนห่างไกลออกไปจากสถานสงเคราะห์ เมื่อนึกขึ้นมาได้ว่าในละแวกแถบนั้นมีบ้านของผู้รับบริการที่รู้จักมักคุ้นกันเพราะเหตุเคยอยู่ร่วมสถานสงเคราะห์ด้วยกัน การออกนอกเส้นทางเพื่อแวะเยี่ยมบ้านและทักทาย ถามไถ่ความเป็นไปและการได้รับปัจจัยเกื้อหนุนทางสังคมประการใดบ้างหรือไม่ ทั้งหากมีเครื่องอุปโภคบริโภคติดรถไปด้วยก็เป็นอันได้แบ่งปันกันไป

เรื่องทำนองนี้เป็นสิ่งที่พวกเราทำกันอยู่เสมอๆ ในช่วงเวลายามเย็นและวันหยุดราชการ แน่นอนว่าการทำเช่นนั้นประสบการณ์สอนเราว่าหมิ่นเหม่ต่อการจะถูกต่อว่าและค่อนขอดหรือมากกว่านั้นจากเจ้าที่ โดยเฉพาะยามแดดร่มลมตกนั้นเจ้าที่มักจะเมากัน

"ทุกวันนี้หน่วยงานราชการลงพื้นที่เขาไม่บอกกล่าวฝ่ายปกครองในพื้นที่กันแล้วหรือครับ ทำแบบนี้จะมีฝ่ายปกครองไว้ทำไม....ฯลฯ.... แล้วอีแบบนี้ผมจะรู้ได้ยังไงละว่าเป็นแก๊งค์หลอกลวงหรือเปล่า ทุกวันนี้มันมีเยอะที่เอารถหลวงมานอกเวลาราชการแบบนี้ ไม่ต้องหรอก ไม่ต้องเอาบัตรอะไรมาให้ผมดูหรอก...." เสียงดังขึ้นๆๆๆๆ ชาวบ้านก็เริ่มมารุมล้อม ผมชอบเสียด้วยสิครับ ยิ่งมารุมเยอะก็จะยิ่งชอบเสียด้วย (ฮา) เรื่องทำนองแบบนี้มีให้ได้พบเจอกันอยู่บ่อยครั้ง ก็ถือเสียว่าเป็นต้นทุนที่เราต้องจ่ายแลกกับความมักง่ายของเรา ที่นึกจะแวะเสียก็แวะ จะโดนเจ้าที่อาละวาดบ้างก็ถือเสียว่าคุ้ม จะน่าเห็นใจก็แต่พี่คนขับรถของผมแหละครับ ที่หัวฟัดหัวเหวี่ยง "ผมอัดมันดีไหมหัวหน้า ไอ้นี่....."

แน่นอนครับว่า กระบวนการลงเยี่ยมบ้านผมได้มีการทบทวนกระบวนการนี้อยู่เนืองๆ ครับ
นับแต่การลดภาพของความเป็นข้าราชการ โดยเฉพาะในพื้นที่ไม่เกิน ๑๐ กม. เลิกงานยามเย็นหรือวันหยุดว่างๆ ผมขับฟีโน่ไปเยี่ยมอยู่บ่อยครั้ง  แต่ก็นั่นแหละภาพที่ปรากฏตามสื่อที่มีกระบวนการแอบอ้างล่อลวงก็มีบ่อย ก็ไม่แปลกถ้าจะโดนต่อว่าเช่นนั้น
นี่ถ้าบ้านไหนมีลูกสาวก็คงไม่พ้นข้อหาไปจีบลูกสาวชาวบ้านแหละครับ
มีอยู่เหมือนกันที่น้องๆ เสนอว่า
"ติดสติ๊กเกอร์ข้างฝามันเลยเป็นไงหัวหน้า เขาจะได้รู้ว่านี่เป็นบ้านที่เราต้องมาเยี่ยมเยียน"

ก่อนจะลงเยี่ยมบ้านแต่ละครั้งพร้อมๆ กับการเตรียมข้อมูลครอบครัว ลักษณะชุมชน ฯลฯ
คือ การนอนมือก่ายหน้าผากละครับ (ฮา)
นอนคิดว่าจะทำอย่างไร เมื่อเราไปหาเจ้าที่จะกลายเป็นเจ้าภาพ แม้ไม่ใช่เจ้าภาพหลักก็น่าจะเป็นเจ้าภาพร่วม

ว่าจำเพาะโรงพยาบาลจิตเวช การลงพื้นที่ก็จะประสานลงไปที่สถานีอนามัย
ถ้าชุมชนไม่พร้อมก็เอาชั้นล่างของสถานีอนามัยนะแหละง่ายดี
แล้วของผมล่ะ ?

การเรียนรู้เบื้องต้นพบว่า หนังสือราชการนอกจากจะมีถึง อบต. ซึ่งเป็นกลไกอย่างเป็นทางการแล้ว
กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็จำเป็นต้องมีไปถึง แต่ก็นั่นแหละนายอำเภอและท้องถิ่นอำเภอก็เหมือนว่าจะอยากให้ผ่านด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี การผ่านสถานีอนามัย/ศูนย์สุขภาพชุมชน พบว่านอกจากจะอบอุ่นใจอย่างที่สุดแล้ว
ยังรู้สึกเป็นมิตร ได้เครือข่าย่การทำงานเพิ่มทุกครั้งไป ยิ่งโดยเฉพาะระยะหลังที่มีพยาบาลวิชาชีพประจำสอ. กันเกือบครบทุกแห่งแล้ว นอกจากการโทรไปถามไถ่สารทุกข์สุกดิบของผู้รับบริการแล้ว การคิดอ่านทำกิจกรรมร่วมกันก็เป็นสิ่งที่ดำเนินอยู่เสมอๆ  และนานๆ ที จะได้มีเสื้อประชาสัมพันธ์สถานสงเคราะห์ส่งไปแทนคำขอบคุณไปให้พี่ๆ น้องๆ ชาว สอ.


เยี่ยมบ้านอย่างไม่เป็นทางการ ก็แวะไปเยี่ยมบ้านกันง่ายๆ อย่างนี้แหละครับ
เจอก็คุย ไม่เจอก็คุยกับเพื่อนบ้าน ผู้ให้การเกื้อหนุนทางสังคม

 

ถึงตรงนี้ เราได้เรียนรู้อะไร
การจุดธูปบอกแจ้งแก่ปู่ตาและการบอกกล่าวแก่เจ้าของผู้ปกครองพื้นที่ก็มีลักษณะมิได้แตกต่างกัน
การจุดธูปบอกกับการมีหนังสือแจ้ง ก็มีความหมายเดียวกัน
การุกที่โดยไม่บอกกล่าวหรือทำการอันใดซึ่งเจ้าที่เห็นว่าไม่เหมาะ ไม่ควร ย่อมจะได้รับการตอบโต้ตามสมควร
เจ้าที่จึงเป็นเรื่องพื้นที่ เป็นเรื่องของการครอบครอง และเป็นเรื่องของการเคารพและให้เกียรติ
ทั้งคน ทั้งผี เราก็ควรให้เกียรติและเคารพกัน

ถึงตรงนี้ เราได้ตระหนักอย่างไร
ผมว่าการดำรง คงอยู่ของเจ้าที่ ของเจ้าแม่ฉวีวรรณ ของศาลปู่ตา แม้กระทั่ง อปท. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และหลวงตา ในมิติของเจ้าที่ผู้มีอำนาจดลบันดาลและเป็นที่เคารพยำเกรงนั้น ขึ้นอยู่กับเราทั้งหลายเองแหละครับว่าจะให้ยังยงคงอยู่ต่อไป หรือจะปรับเปลี่ยนไปในทิศทางใด ทั้งหลายทั้งปวงถูกสร้างขึ้นมาเพราะเหตุใดก็สุดแท้ หากแต่ผลพลอยได้คือป่ายังคงเหลืออยู่สู่รุ่นลูกหลาน มีการบีบแตรและชลอความเร็วเมื่อถึงทางโค้งบริเวณศาลเจ้า การให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน ฯลฯ

ถ้าเราไม่เชื่อมั่น ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไ่ม่ให้เกียรติ ทั้งกับเจ้าแม่ฉวีวรรณ ทั้งกับปู่ตา ทั้งกับ อบต. ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หลวงพ่อ หลวงพี่ และผู้ทรงคุณวุฒิในชุมชน ก็ป่วยการที่เราจะดำเนินกิจกรรมในลักษณะของการมีส่วนร่วม ถ้าจะมีบ้างก็เป็นแต่เพียงความร่วมมือ ปัญหาสำคัญน่าจะได้แก่ ทำอย่างไรถึงจะให้เจ้าที่เป็นเจ้าภาพ ถ้าไม่เริ่มจากการยอมรับ ส่งเสริม สนับสนุน เจ้าที่ ให้มีบทบาทตามสมควรแก่หน้าที่


การรุกที่
การแจ้งเจ้าที่
การเคารพเจ้าที่
การให้เจ้าที่ กลายมาเป็น เจ้าภาพ
จึงเป็นประเด็นที่ควรนำมาอภิปรายอย่างพอเหมาะพอควร
เหมาะควรกับทั้งรูปแบบและวิธีการ ในยุคสมัยที่อะไรๆ ก็บูรณาการนี่แหละครับ


เอ้า ใครจะร่วมวงแลกเปลี่ยน เรียนเชิญครับ

 

 

หมายเลขบันทึก: 210766เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2008 16:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท