ข้อตกลงความร่วมมือการดูแลผู้ป่วยโรคจิตทุเลาไร้ญาติและไร้ที่อยู่อาศัยฯ พ.ศ. ๒๕๔๙


กรมทั้งสองจะจัดตั้งคณะกรรมการทำงานร่วมกัน เพื่อปรับปรุงและพัฒนากระบวนการทำงานให้เกิดประโยชน์ และมีประสิทธิภาพมากที่สุดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยโรคจิตอาการทุเลาซึ่งไร้ญาติและไร้ที่อยู่อาศัย ซึ่งอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวช กรมสุขภาพจิต หรืออยู่ในสถานสงเคราะห์ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ


เขียนบันทึกเรื่องพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. ๒๕๕๑ : ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ แล้วก็สะดุดใจเล็กน้อย โดยเฉพาะในประเด็นหารือและมติที่ประชุมที่ระบุว่า ".....๓) ให้มีการจัดแถลงข่าวลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมสุขภาพจิตและกรมสวัสดิการสังคมและสงเคราะห์ (ผมเข้าใจว่าน่าจะหมายถึง "กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ"---มงคล) ตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.๒๕๕๑ ณ ห้องประชุมกรมสุขภาพจิต โดยเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นประธาน"  เหตุเพราะก่อนหน้านี้ได้มีการจัดทำ MOU ระหว่างกรมสุขภาพจิและกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการแล้ว

ในบันทึกนี้ ใคร่ขออนุญาตนำความบางตอนมานำเสนอเพื่อความสมบูรณ์ของเนื้อหาและความร่วมมือระหว่างทั้งสองกรม


ข้อตกลงความร่วมมือ
การดูแลผู้ป่วยโรคจิตทุเลาไร้ญาติและไร้ที่อยู่อาศัย
ที่อยู่ในโรงพยาบาลจิตเวช สังกัดกรมสุขภาพจิต และอยู่ในสถานสงเคราะห์ สังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
ระหว่าง กรมสุขภาพจิต และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ


ตามความในรัฐธรรมนูญแห่งงราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ ระบุไว้ว่าการใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร จะต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ รวมถึงการวางนโยบายเกี่ยวกับผู้เจ็บป่วยหรือผู้พิการไม่ว่าจะทางกายหรือทางจิตไว้ว่า ผู้เจ็บป่วยหรือผู้พิการไม่ว่าจะทางด้านร่างกายหรือจิตใจมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครอง การรักษา การดูแล การช่วยเหลือและการฟื้นฟูจากรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เจ็บป่วยหรือทางอาการทางจิตที่ไม่มีญาติหรือไร้ที่อยู่อาศัยขาดผู้ดูแลให้การช่วยเหลือ รัฐจะต้องสงเคราะห์ให้สิทธิในการที่จะเลี้ยงดูและให้ที่อยู่อาศัย.....ฯลฯ

กรมสุขภาพจิต และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ มีวัตถุประสงค์ร่วมกันที่จะให้การดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยโรคจิตที่ไม่มีญาติและไร้ที่อยู่อาศัยรักษาอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวชสังกัดกรมสุขภาพจิตและเมื่ออาการทุเลาผู้ป่วยเหล่านี้ก็จะต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการฟื้นฟูทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อให้สามารถดูแลและพึ่งพาตนเองและพึ่งพาตนเองและอยู่ในสังคมได้ ประกอบกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการมีสถานสงเคราะห์ที่มามารถรองรับผู้ป่วยโรคจิตอาการทุเลาซึ่งไร้ญาติและไร้ที่อยู่อาศัย

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานของทั้งสองหน่วยงานบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว กรมสุขภาพจิต และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จึงได้ทำความตกลงร่วมกัน ดังนี้

๑. กรมสุขภาพจิต โดยโรงพยาบาลจิตเวช สังกัดกรมสุขภาพจิต จะทำหน้าที่ให้การรักษาพยาบาล ผู้ป่วยโรคทางจิตเวชซึ่งไร้ญาติและไร้ที่อยู่อาศัย จนกระทั่งอาการทางจิตทุเลาสามารถจะกลับไปสู่ชุมชนได้ กรมสุขภาพจิตก็จะส่งผู้ป่วยโรคจิตอาการทุเลาซึ่งไร้ญาติและไร้ที่อยู่อาศัยเหล่านี้ให้สถานสงเคราะห์ ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เพื่อให้การดูแลตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

๒. กรมสุขภาพจิต และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จะประสานความร่วมมือทั้งในระดับการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ในการดำเนินการให้การดูแลรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชอาการทุเลาซึ่งไร้ญาติและไร้ที่อยู่อาศัย ทั้งที่อยู่ในโรงพยาบาลจิตเวชหรืออยู่ในสถานสงเคราะห์

๓. กรมสุขภาพจิต และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จะให้การสนับสนุนแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การวิจัยพัฒนาซึ่งกันและกัน เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อจะให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพมากที่สุด โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วยโรคจิตอาการทุเลา ซึ่งไร้ญาติและไร้ที่อยู่อาศัย


บทบาทภารกิจของหน่วยงานที่ร่วมลงนาม

๑. กรมสุขภาพจิต

๑.๑ โรงพยาบาลจิตเวช สังกัดกรมสุขภาพจิต จะให้การดูแลรักษาพยาบาล ฟื้นฟูสรรถภาพผู้ป่วยโรคจิตซึ่งไร้ญาติและไร้ที่อยู่อาศัย จนกระทั่งอาการทางจิตทุเลาสามารถกลับไปอยู่ในสังคมได้ จึงประสานจัดส่งผู้ป่วยโรคจิตเหล่านี้ให้ไปอยู่ในการคุ้มครองดูแลของสถานสงเคราะห์ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

๑.๒ โรงพยาบาลจิตเวช กรมสุขภาพจิต จะประสานและส่งข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ของผู้ป่วยโรคจิตอาการทุเลาไร้ญาติและไร้ที่อยู่อาศัย เช่นข้อมูลการเจ็บป่วย การรักษาพยาบาล รูปถ่ายและรายละเอียดต่างๆ ให้สถานสงเคราะห์ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการทราบเพื่อประกอบในการจัดผู้ป่วยเหล่านี้เข้าอยู่ในสถานสงเคราะห์ได้เหมาะสมและการดูแลอย่างต่อเนื่อง

๑.๓ โรงพยาบาลจิตเวช กรมสุขภาพจิต จะให้การดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวชในสถานสงเคราะห์เป็นประจำ โดยจะจัดส่งยาของผู้ป่วยแต่ละรายไปยังสถานสงเคราะห์และหากผู้ป่วยทางจิตเวชมีอาการกำเริบให้สถานสงเคราะห์ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลจิตเวช กรมสุขภาพจิต หรือประสานให้โรงพยาบาลจิตเวชส่งบุคลากรเข้าไปดูแลรักษาในสถานสงเคราะห์ตามความเหมาะสม

๑.๔ โรงพยาบาลจิตเวช กรมสุขภาพจิต จะรับผู้ป่วยโรคจิตที่ไปอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์ เมื่อเกิดอาการทางจิตกำเริบ กลับมาให้การดูแลรักษาในโรงพยาบาลจนกว่าอาการจะดีขึ้นสามารถนำกลับคืนไปสถานสงเคราะห์ได้ดังเดิม

๑.๕ กรมสุขภาพจิต จะให้ความช่วยเหลือและพัฒนาบุคลากรของสถานสงเคราะห์ให้มีความพร้อมในการให้การดูแลผู้ป่วยโรคจิตอาการทุเลาได้ในระดับหนึ่ง


๒. กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

เมื่อสถานสงเคราะห์ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการได้รับมอบผู้ป่วยโรคจิตอาการทุเลาซึ่งไร้ญาติและที่อยู่อาศัย ต้องพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้

๒.๑ สถานสงเคราะห์ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จะจัดทำข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคจิตอาการทุเลาเหล่านี้ และให้การรักษาพยาบาลตามแผนการรักษาของกรมสุขภาพจิต

๒.๒ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จะให้การดูแล คุ้มครอง ให้บริการในด้านปัจจัยสี่ และบริการด้านอื่นๆ ตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่ผู้ป่วยจะพึงได้รับ

๒.๓ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จะพิจารณาดำเนินการจัดทำบัตรประกันสุขภาพให้ผู้ป่วยโรคจิตที่ไร้ญาติและไร้ที่อยู่อาศัยในความอุปการะของสถานสงเคราะห์ในรายที่สามารถดำเนินการได้

๒.๔ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จะใช้กระบวนการสังคมสงเคราะห์ในการฟื้นฟูพัฒนาและหางานให้ผู้ป่วยโรคจิตอาการทุเลาตามความเหมาะสมในแต่ละราย


๓. บทบาทร่วมกันของกรมสุขภาพจิต และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

๓.๑ กรมทั้งสองจะจัดตั้งคณะกรรมการทำงานร่วมกัน เพื่อปรับปรุงและพัฒนากระบวนการทำงานให้เกิดประโยชน์ และมีประสิทธิภาพมากที่สุดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยโรคจิตอาการทุเลาซึ่งไร้ญาติและไร้ที่อยู่อาศัย ซึ่งอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวช กรมสุขภาพจิต หรืออยู่ในสถานสงเคราะห์ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

๓.๒ การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในข้อตกลงนี้ ให้ทั้งสองกรมร่วมกันพิจารณาแก้ไขให้เหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ ข้อตกลงนี้ได้มีการลงนาม ณ วันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ โดย

หม่อมหลวงสมชาย  จักรพันธุ์
อธิบดีกรมสุขภาพจิต

นางพนิตา  กำภู ณ อยุธยา
อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

นายเกียรติภูมิ  วงศ์รจิต
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญา

นายปกรณ์  พันธุ
ผู้อำนวยการสำนักบริการสวัสดิการสังคม

 


----------------------------------------------------------------------------------------

การมี พ.ร.บ. สุขภาพจิต พ.ศ. ๒๕๕๑  เป็นเครื่องมือสำหรับดำเนินงานอีกชั้นหนึ่ง ก็น่าเชื่อได้ว่าการดำเนินงานร่วมกันระหว่างทั้งสองกรม ในการดูแลผู้ป่วยโรคจิตทุเลาไร้ญาติและไร้ที่อยู่อาศัยที่อยู่ในการดูแลของกรมทั้งสองจะได้รับการยกระดับ และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

 



ความเห็น (3)

ขอบคุณสำหรับความรู้ในเรื่องของพระราชบัญญัติทางสุขภาพจิตค่ะ ข้าพเจ้ามีความเข้าใจดังนี้ ผู้รับบริการทางจิตเวชหากมีญาติ มีครอบครัว ก็จะเป็นการดูแลระหว่างบุคคลในครอบครัวร่วมกับโรงพยาบาลทางจิต แต่หากผู้รับบริการทางจิตเวชที่ไร้ญาติการดูแลจะเกิดขึ้นระหว่าง โรงพยาบาลทางจิตเวช กับสถานสงเคราะห์แทน (เปลี่ยนจากครอบครัวเป็นสถานสงเคราะห์) ซึ่งก็สรุปได้ว่าหน่วยงานที่มีบทบาทอย่างเด่นชัดในผู้รับบริการทางจิตเวชที่ไร้ญาติ และไร้ที่อยู่ คือ กรมสุขภาพจิต และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ "แล้วถ้าหากว่าผู้รับบริการไร้ญาติ แต่ไม่ไร้ที่อยู่ หากได้รับการออกจากโรงพยาบาลทางจิตเวชแล้ว ผู้รับบริการจะมีสิทธิ์กลับไปใช้ชีวิตที่บ้านของตนได้หรือไม่ อย่างไร" ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

ผมต้องการไฟล์ต้นฉบับของบันทึกข้อตกลงฯ นี้ ไม่ทราบว่าจะหาโหลดจากไหนได้บ้างครับ โปรดแนะนำ

ขอบคุณครับ

เรียน คุณสิทธิโชครับ

เอกสารที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พุทธศักราช ๒๕๕๑
น่าจะถูกรวบรวมไว้ที่ เว็บไซต์
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
โดยสมบูรณ์แล้วครับ ที่ http://www.omhc.dmh.go.th/dmhlaw/

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท