๒๘. มิตร สงคราม และความสงบ ในหิโตปเทศ


"...คำว่า มิตร เป็นคำที่มาจากรากเดียวกันกับคำว่า เมตตา ซึ่งเป็นหนึ่งใน 4 มิติของ หลักพรหมวิหารธรรม 4 : เมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา และ เมตตา เป็น วิถีแห่งโพธิสัตว์ (กวนอิม / อวโลกิเตศวร) ซึ่งโน้มนำความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เมตตา และเกื้อกูล ต่อสรรพสัตว์และสรรพสิ่ง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เป็นคำที่มีรากความหมายร่วมกับคำว่า สนธิ อันแปลว่า ความสงบ และการทำให้มีศานติ ความร่วมกัน ความคุ้นเคย ความเป็นญาติ ภราดรภาพ และความเป็นพี่น้องกันของผู้คน..."

            ว่างๆ ผมชอบผ่อนคลายไปตามอริยาบทต่างๆของชีวิต   ส่วนหนึ่งคือเล่นดนตรี  กีตาร์และขลุ่ย  อันที่จริง ขลุ่ยนั้น  ผมเล่นไม่เป็นในทางขลุ่ย  ทว่า ผมเคยเล่นคลาลิเน็ตและแซกโซโฟนได้แบบกล้อมแกล้มประสาแตรวงบ้านนอกและวงดนตรีโรงเรียนมัธยมอำเภอ  ก็เลยเล่นขลุ่ยในทางของคลาลิเน็ตและแซกโซโฟน โดยไม่รู้เลยว่าเขาเป่าขลุยกันอย่างไร 

           ในส่วนเพื่อนๆและผู้ที่เคยให้ผมเล่นเพลงขลุ่ยผสมกับเครื่องดนตรีอื่นๆ  ก็เคยได้ความชื่นชมและออกปากว่าผมเป่าขลุ่ยได้ไพเราะ โดยที่ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า ผมเป่าขลุ่ยไม่เป็น ที่ได้เห็นและได้ยินนั้น  ผมเป่าขลุ่ยด้วยแนวคิดและอารมณ์ของคลาลิเน็ตและแซกโซโฟน  ขลุ่ยเป็นเครื่องมือและอุปกรณ์ถ่ายทอดอารมณ์ดนตรีให้ผมเท่านั้น

          มีอยู่เพลงหนึ่งที่ผมมักฮัมในหัว  และเมื่อเล่นออกมาเป็นเพลงไม่ว่าด้วยเครื่องเป่า  หรือเครื่องเคาะแบบขิม  ก็มักจะออกมาโดยที่ก็ไม่รู้ว่าเพลงอะไรและได้มาจากแหล่งไหน เมื่อเล่นก็มักจะนึกถึงฝูงนกกับนายพราน  แล้วจังหวะและอารมณ์เพลงก็จะผุดพรายขึ้นมาในหัวระหว่างเล่น  แทบทุกครั้งก็มักจะนึกถึงบ้านนอกและชีวิตวัยเด็ก นึกถึงพ่อแม่ บรรยากาศยามเย็นหลังเลิกไถนา และทุ่งนายามแล้ง  แจ่มชัดมาก แต่ก็นึกไม่ออกว่าเพลงนี้ติดมือมาจากไหน และอย่างไร

         เมื่อคืน  ผมลองนั่งคิดทบทวนจริงๆจังๆ  แล้วก็ลองคะเนเอาว่า  เค้าเงื่อนน่าจะมาจากหนังสือ หิโตปเทศ  หนังสือเล่มนี้ผมชอบอ่านเมื่อตอนเด็กและเคยนำกลับมาอ่านอีกหลายครั้งตอนโต  ทุกครั้งก็มักได้อะไรใหม่ๆ ไปด้วยเสมอ พอนำกลับออกมานั่งอ่านอีก ก็คิดว่าใช่แน่ๆ หนังสือเล่มนี้  ตอนหนึ่งมีนิยายเรื่อง ฝูงนกพิราบ ความสามัคคีของฝูงนกที่ช่วยกันหอบตาข่ายหนีนายพราน  พลังความสามัคคี และพลังแห่งมิตรภาพ 

         ผมพอจะนึกออกและจำได้บ้างแล้วว่า เพลงนี้ผมน่าจะแว่วยินมาจากวิทยุ  ในช่วงวัยเด็กที่ได้อ่านนิทานฝูงนกกระจาบกับนายพราน ซึ่งดัดแปลงสู่พากย์ไทยจากเค้าเงื่อนในหนังสือ 5 เล่ม หรือปัญจตรันตระ ของหิโตปเทศ และเพลงที่ว่านี้  มีช่วงท้ายแสดงความพร้อมเพรียง เป็นจังหวะ  ซึ่งคนที่ได้ฟังก็คงสามารถจินตนาการไปได้ต่างๆนาๆ ทว่า ผมมักเห็นภาพฝูงนกบินพรึ่บพรั่บทุกที 

        เลยก็นำหนังสือออกมาอ่านเล่นเสียอีกรอบ  คราวนี้ผมไม่อ่านอย่างเดียว ทว่า เพลิดเพลินไปในรายละเอียดต่างๆของการทำหนังสือ (โดยสำนักพิมพ์ ศยาม ใช้โลโก้อักษร ตัวเดียว) ก็ได้อะไรเพิ่มขึ้นอีกมากมายตามเคย  ...........

  • หนังสือหิโตปเทศของพากย์ไทยที่ผมมี  เป็นฉบับของการทำงานร่วมกันของสองกูรุ คือ "คารม" หรือ เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป  หรือ พระสารประเสริฐ(ตรี นาคะประทีป) เป็นงานหนังสือและประติมากรรมทางปัญญา  ที่ร่วมสร้างขึ้นด้วยความเคารพบูชาซึ่งกันและกันของสองปราชญ์แห่งสยาม และทำเพื่อเป็นเครื่องบำรุงสุขสาธารณะของสังคม ยิ่งใหญ่ ดี จริง งาม ทั้งเป้าหมาย  วิธีการ และกระบวนการ หรืองดงามทั้งเบื้องต้น  ท่ามกลาง และเบื้องปลาย  ที่รองปกหนังสือมีรูปวาดสองท่านคู่กัน  ผมอ่านแล้วกราบ  และแม้รำลึกถึงก็กราบคารวะ ถือว่าเป็นสุดยอดของการรวมกลุ่มทำกิจสร้างสรรค์ทางปัญญาเพื่อส่วนรวม ด้วยจิตสาธารณะของปัจเจกในวิถีไทย
  • หนังสือ หิโตปเทศ ต้นฉบับภาษาสันสกฤต มี 5 เล่ม  จึงเรียกว่าชุดหนังสือ 5 เล่ม หรือ คัมภีร์ปัญจตรันตระ  แต่เมื่อทำเป็นเล่มรวมในพากษ์ไทย ก็เหลือเพียง 4 หมวด  ซึ่งผ่านการแปลจากหลากหลายภาษาในช่วงสืบเนื่องกันนับศตวรรษ เช่น สู่สันสกฤต ลาติน เยอรมัน ภาษาอังกฤษ จีน เรียกว่าเป็นกระแสความรู้ที่ไหลผ่านสังคมวัฒนธรรมที่สำคัญมาทั่วโลก ของไทยนั้นท่านแปลมาจากรุ่นที่ 5 ในภาษาอังกฤษและสอบทานกับต้นฉบับบาลีและสันสกฤตอีกต่อหนึ่ง  เป็นหนึ่งตัวอย่างของการเลือกสรรความรู้และการเรียนรู้ทางสังคมอย่างที่สุด ของสังคมไทย
  • กล่าวโดยสรุป  ก็เป็นหนังสือให้การศึกษาอบรมเพื่อพัฒนาภาวะผู้นำของปัจเจก สร้างผู้นำรุ่นใหม่ ผู้ปกครองคน และยุวราชา  มองในแง่ของการเรียนการสอนแล้วน่าสนใจอย่างยิ่ง  เพราะเป็น การสร้างวิธีคิด มโนทัศน์ หลักคิด (Principles and Conceptuals Learning) และการใช้วิจารณญาณ  มิใช่การสอนความจำ  รูปแบบสำคัญคือ  สอนด้วยกรณีตัวอย่างหลากหลายสถานการณ์ ด้วยนิทาน เรื่องเล่าอุปมาอุปมัย โศลก และนิยาย ให้ผู้เรียนสร้างบทสรุปให้เป็นปรีชาญาณจำเพาะตน   
  • รูปแบบการสร้างมโนทัศน์และพาเข้าถึงวิธีคิดนั้น  มีการผสมผสานในแบบที่ผมสรุปเอาเอง คือ ทั้งในลีลาวรรณกรรมของอินเดีย คือการขึ้นโศลกหรือกระทู้ แล้วแจกแจงสำแดงกรณีศึกษาให้ประจักษ์แจ้ง(Analytical) และแนวทางงานเขียนแบบจีน ซึ่งจะสาธยายและยกกรณีศึกษาขึ้นก่อนอย่างรอบด้าน แล้วค่อยขมวด สรุปเชิงหลักการ หรือสร้างเป็นมโนทัศน์สั้นๆ (Synthesis)  ในแต่ละประเด็น  มีการให้หมวดและหมายเลขกำกับ ผมได้วิธีดัดแปลงรูปแบบนี้ มาเป็นการเข้ารหัสและจัดหมวดหมู่ข้อมูลเชิงคุณภาพเวลาทำงานข้อมูลส่วนตัว  รวมทั้งทำวิจัยเชิงคุณภาพ
  • หนังสือ มีแง่มุมและสิ่งต่างๆให้เรียนรู้มากมาย ทว่า หลักใหญ่ใจความ ก็ว่าด้วย มิตร  มิตรลาภ  การแตกทำลายแห่งมิตร การสงคราม และการสู่ความสงบ  นอกจากมีความเป็นอิสระต่อกันในแต่ละหมวดแล้ว ในภาพรวม  ก็เป็นอนิจลักษณะทางสังคม สืบเนื่องเป็นเหตุปัจจัยและเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา ต้องแยบคายและมีวิจารณญาณ ท่องจำเป็นความรู้แยกส่วนหลุดจากบริบท ไม่ได้
  • หลักคิดที่ว่าด้วยมิตร  มีเต่า  กา  กวาง  หนู เป็นตัวเดินเรื่อง ทว่า ให้วิธีคิดสำคัญว่า  ทรัพย์สินเงินทอง  ความมีหน้ามีตา ความสำเร็จ ชื่อเสียง การชนะทางดินแดน ยศถาบรรดาศักดิ์ และความเป็นมิตร ทั้งหลายทั้งปวงนี้  หากแม้นต้องเลือกสิ่งมีคุณสูงสุดสิ่งเดียว  ท่านว่า ขอให้เลือกความเป็นมิตรและความคุ้นเคยกันดังญาติมิตรของหมู่มนุษย์เถิด  สิ่งอื่นจักตามมาเอง ทว่า หากไม่มีสิ่งนี้  สิ่งอื่นที่มีอยู่ก็จะล่มสลาย ใดที่ไม่มีก็จะไม่บังเกิดขึ้นเลย
  • เต่า กา กวาง หนู  เป็นโวหารกวีที่สื่อสถานการณ์เชิงสัญลักษณ์ เต่าเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ กาเป็นสัตว์ปีกกินซากเนื้อสัตว์ กวางกินหญ้าและเดินท่องไพร หนูเป็นสัตว์กลางคืนและอยู่รู  ว่าด้วยตัวตนโดยธรรมชาติและสิ่งที่ต้องการในชีวิตแล้วก็ไม่มีทางจะต้องมาเกี่ยวข้องและไปด้วยกันได้เลย ทว่า ความนัยที่ผู้อ่านและผู้สร้างปัญญาจากการอ่านต้องหาเอาจากความเป็นจริงในยุคสมัยของตนก็คือ ความเป็นจริงของโลกมีความแตกต่างหลากหลายสุดขั้วเสมอ  ดังนั้น ความศานติและความสุขร่วมกัน จะเป็นได้จริงก็โดยวิถีแห่งมิตรเท่านั้น หากใช้วิธีการเชิงเหตุผลและจุดยืนจากต่างกระบวนทรรศน์มิติเดียว ดังจะเห็นว่า อีกากับหนูอาจแย่งซากสัตว์และพากันเดือดร้อนโดยก็หาทางคุยกันไม่ได้เพราะอีกาบินอยู่บนฟ้าและหากินตอนกลางวัน ส่วนหนูหากินกลางคืน ทำรูในดินและกลัวอีกา ส่วนกวางนั้นกินหญ้าและเดือดร้อนจากการไม่มีกอหญ้าให้ซุกกายจากการที่กวางมากินหญ้าได้ แต่ก็อยู่และหากินได้ทั้งในน้ำและบนบก ในขณะที่กวางลงน้ำและหากินพืชในน้ำเหมือนเต่าไม่ได้ ดังนั้น เหตุผลที่ชัดแจ้งที่สุดของแต่ละฝ่ายต่อให้ล้ำเลิศอย่างไร ก็มีแต่จะมุ่งขจัด ห้ำหั่นผู้อื่น และติดยึดตัวกูของกู ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นจริงแม้ในปัจจุบัน แม้นมิได้มีเจตนาร้ายต่อผู้อื่นแต่อย่างใด แต่ก็มีธรรมชาติที่ขัดแย้งกันอย่างสุดขั้วได้ 
  • คำว่า มิตร เป็นคำที่มาจากรากเดียวกันกับคำว่า มตตา  ซึ่งเป็นหนึ่งใน 4 มิติ ของ หลักแห่งพรหมวิหารธรรม 4 ประการ คือ เมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา ซึ่ง ความเมตตา นั้น จัดว่าเป็น วิถีแห่งโพธิสัตว์(กวนอิม/อวโลกิเตศวร)  ซึ่งเน้นการโน้มนำความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเกื้อกูลต่อสรรพสัตว์และสรรพสิ่งอย่างไม่มีที่สิ้นสุด  เป็นคำที่มีรากความหมายร่วมกับคำว่า สนธิ อันมีความนัยถึง ความสงบ ของหลายฝ่าย หรือ สมานฉันท์   สิ่งที่เป็นพื้นฐานแห่งมิตรภาพที่หิโตปเทศแนะนำก็คือ ความบริสุทธิ์ใจและความวางใจ  ที่สื่อออกมาจากพื้นนิสัยใจคอ หรือความจริงใจ อันมีองค์ประกอบของคุณธรรมและเมตตาธรรมต่อกัน นั่นเอง
  • การแตกทำลายแห่งมิตร  มักเกิดจากอำนาจแห่งความโลภต่างๆและอวิชชาในตัวตนของปัจเจก  ผู้คนมักหาทางแก้ไขโดยภาคีที่สาม แต่โดยวิธีนี้ ท่านว่าจะทำให้ปัญหาบานปลายมากกว่า  หรือหากแก้ไขได้  มิตรภาพและความคุ้นเคยดังญาติ  ก็จะไม่สมานคืนได้ดังเดิมอีกเลย  ท่านจึงว่าให้หาหนทางแก้ไขกันให้ได้ด้วยวิธีของคู่กรณีนั่นเอง
  • โดยการมีพื้นแห่งมิตร หากเกิดการสงคราม  วิถีสงครามจะโน้มไปในทางไม่ทำที่สุดแห่งการสงครามเข่นฆ่า เพราะต่างรู้ดีว่ามีแต่ความเสียหายทั้งสองฝ่าย อีกทั้งนำสถานการณ์ไปสู่ความไม่แน่นอนทั้งสองฝ่าย ทว่า กลับจะเลี่ยงทำสงครามเชิงกุศโลบาย  ชนะกันในเชิงคุณธรรมและวิถีที่ปราศจากการสู้รบ ความว่างเปล่า อ่อนล้า สติและความแยบคาย จะกลับมาทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไป  ซึ่งก็เป็นแนวคิดที่แปลกดี  ดูแล้วจะคล้ายกับแนวปรัชญา Philosopher King ของกรีก ซึ่งพอดูการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางสังคมกันในอดีตแล้ว ก็ไม่แปลกใจ
  • การคืนสู่ความสงบจากการแตกทำลายแห่งมิตรภาพ ในหิโตปเทศมีแนวให้ศึกษาหลายสถานการณ์  สถานการณ์หนึ่งคือ การสร้างกลไกพิจารณาปมของการมีความทุกข์สุขร่วมกัน และพิจารณาปมดังกล่าวว่าฝ่ายหนึ่ง(ฝ่ายตน) กระทำอย่างไรต่อกรณีนั้น และผลแห่งการกระทำนั้น  กระทบและสร้างผลสืบเนื่องต่ออีกฝ่ายอย่างไร  โดยมีคู่เจรจาที่แต่ละฝ่ายเชื่อถือ แต่มีข้อสังเกตว่า ต้องได้รับความเชื่อถือว่ามีความบริสุทธิ์ใจ จริงใจ ซื่อสัตย์และซื่อตรง (น่าสังเกตว่า ชื่อของ มหาตมคานธี ซึ่งเป็นตัวแบบวีรชนในความอหิงสาและศานติของโลกนั้น มีความหมายว่า วิถีแห่งผู้มีใจเป็นใหญ่ หรือ หนุมาน ยอดทหารเอกของพระรามนั้น ก็มีความนัยว่า วิถีศรัทธาด้วยใจบริสุทธิ์ )  แนวการเป็นกลไกเจรจาก็น่าสนใจ กล่าวคือ ต่างคุยเพื่อขออภัยและรับเป็นฝ่ายผิดในกรณีนั้นๆ พร้อมกับต่างมุ่งแสดงด้วยว่า เนื่องจากฝ่ายตนได้ทำให้เกิดผลไม่ดีต่ออีกฝ่ายอย่างไร สวนทางและตรงข้ามกับทั่วไปที่เมื่อเกิดการปะทะและต่อสู่เป็นคู่ขัดแย้งแล้ว สังคมโดยทั่วไปมักสู้เพื่อให้อีกฝ่ายเพลี่ยงพล้ำพ่ายแพ้และทำให้เป็นฝ่ายผิด ขณะเดียวกันก็มุ่งทำให้ตนชนะและเป็นฝ่ายถูกต้อง

        จริงๆแล้ว หนังสือหิโตปเทศ เป็นหนังสือสอนเด็ก สร้างพลเมืองเด็กเพื่อเป็นผู้นำของสังคมในอนาคต เลยมีแนวคิดที่กระตุ้นให้คนอ่าน  ศึกษาค้นคว้า และทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งด้วยตนเองเพื่อนำไปใช้ในชีวิตจริงว่า ลูกหลานและคนรุ่นใหม่  หากไม่ศึกษาเรียนรู้หลักชีวิตดังในหนังสือปัญจตันตระนี้ ก็จะโง่เขลาต่อชีวิต และหากเป็นลูกหลานก็จะเป็นเหมือนศัตรูของพ่อแม่ หากเป็นพ่อแม่ แต่ไม่สอนสิ่งนี้แก่ลูกหลาน  ก็จะเป็นเหมือนไพรีหรือศัตรูของกุลบุตร

        แต่ข้อนี้ก็เป็นวิธีพูดแบบสำนวนคนโบราณ  ความหมายคือ เป็นหลักที่ต้องเรียนรู้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ หรือเป็นวิชาพลเมืองเพื่อสร้างสุขภาวะส่วนรวม สำหรับอยู่ร่วมกันแบบมนุษย์ทั้งผองพี่น้องกัน นั่นเอง.

หมายเลขบันทึก: 219287เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2008 13:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 14:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

อาจารย์ครับ

ผมรบกวนฝากอาจารย์ช่วยประชาสัมพันธ์ โครงการจิตอาสาที่ผมและเพื่อนทำขึ้นมาด้วยนะครับ

จิตอาสา gotoknow : มอบน้ำใจสู่ผู้ขาดแคลนบนดอยสูง ไปปายด้วยกันไหมครับ?

 

ได้เลย จะเผยแพร่ในสถาบันผมด้วย และหากมีโอกาสก็จะช่วยระดมสิ่งของมาฮอมด้วยนะครับ ขอบคุณมากด้วย ผมได้แวะไปอ่านบันทึกคุณจตุพรด้วย มีพลังดีจริงๆ เยี่ยมๆ

มาอ่านตามคำแนะนำแล้วค่ะ.อาจารย์..ขอบคุณค่ะ..

  • คำว่า มิตร เป็นคำที่มาจากรากเดียวกันกับคำว่า มตตา  ซึ่งเป็นหนึ่งใน 4 มิติ ของ หลักแห่งพรหมวิหารธรรม 4 ประการ คือเมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา ซึ่ง ความเมตตา นั้น จัดว่าเป็น วิถีแห่งโพธิสัตว์(กวนอิม/อวโลกิเตศวร)  ซึ่งเน้นการโน้มนำความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเกื้อกูลต่อสรรพสัตว์และสรรพสิ่งอย่างไม่มีที่สิ้นสุด  เป็นคำที่มีรากความหมายร่วมกับคำว่า สนธิ อันมีความนัยถึง ความสงบ ของหลายฝ่าย หรือ สมานฉันท์   สิ่งที่เป็นพื้นฐานแห่งมิตรภาพที่หิโตปเทศแนะนำก็คือ ความบริสุทธิ์ใจและความวางใจ  ที่สื่อออกมาจากพื้นนิสัยใจคอ หรือความจริงใจ อันมีองค์ประกอบของคุณธรรมและเมตตาธรรมต่อกัน นั่นเอง 

  • สวัสดีครับคุณครูอ้อยเล็ก
  • อย่าลืมเล่าถ่ายทอดประสบการณ์การสอนและการเรียนรู้ไปกับเด็กๆในสังคมเขตเมืองของนครปฐมให้อ่านและชมผลงานไปด้วยเสมอๆนะครับ
  • เทศบาลนคร นครปฐม เป็น ๑ ใน ๔ แห่ง ของเทศบาลนครที่มีอยู่ในประเทศไทยครับ เป็นการบริหารจัดการท้องถิ่นที่มีสถานะสูงที่สุดครับ
  • โดยบริบทของท้องถิ่นซึ่งเหมือนกับอยู่แถวหน้าในเรื่องต่างๆอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว ในเรื่องการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพชีวิต จึงสามารถพัฒนารูปแบบในลักษณะที่เป็นผู้นำและผู้ชี้นำการเปลี่ยนแปลง ได้หลายอย่างเลยครับ เลยสนใจมากๆครับ

พึ่งรู้จักคำว่าหิโตปเทศ จาก dictionary ของ สอ เสถบุตร สงสัย ก็เลยค้น Google มาพบ

ไม่รู้ว่าพวกราเคยเรียนกันรึเปล่านะ อ่านข้อความเบื้องต้นแล้วรู้สึกดีขึ้นแฮะ

  • เลยทำให้ผมต้องลองเข้าไปดูด้วยเลย ขอบคุณครับที่ทำให้ได้แง่มุมที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง 
  • แล้วก็ได้เห็นคนคุยกันเรื่องหนังสือหิโตปเทศมากมายในกูเกิ้ล หิโตปเทศ[Click here]
  • ใน GotoKnow ก็มีคนเขียนถึงครับได้ความรู้หลากหลายดีครับ หิโตปเทศ[Click here]
  • ด้วยความยินดีครับที่คุณลูกเป็ดขี้เหร่บอกว่าเข้ามาอ่านแล้ว เพียงจากข้อความเบื้องต้นก็เริ่มรู้สึกดีแล้ว เป็นวิธีสะท้อนทรรศนะที่ให้กำลังใจกันไปในตัวนะครับ 
  • เรื่องลูกเป็ดขี้เหร่อย่างนามปากกาคุณนี่ก็สนุกและให้สติปัญญามากนะครับ ผมชอบอ่านและชอบฟังด้วยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท