ทีมงานนิเทศของเขตพื้นที่การศึกษา..ในอนาคต(หากมีการลดจำนวนศึกษานิเทศก์)


หากมี ศน. เพียงเขตละ 15-20 คน จะต้องเน้นพัฒนาศึกษานิเทศก์ให้มีศักยภาพสูงขึ้น ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยในการนิเทศมากขึ้น หรือ สร้างเครือข่ายนิเทศให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น

       ในการประชุมกรรมการเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรีเขต 2  เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2551 ที่ผ่านมา ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ได้แจ้งเรื่องที่ สพฐ.หรือกระทรวง  มีแนวโน้มให้ลดจำนวนเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และจำนวนศึกษานิเทศก์ประจำเขตพื้นที่การศึกษา ประมาณ 40 %  โดยนัยนี้ ตามเป้าหมายเดิมที่คาดหวังให้มีศึกษานิเทศก์เขตพื้นที่การศึกษาละ 30 คน ในอนาคต น่าจะเหลือศึกษานิเทศก์เพียงเขตละ 18-20 คน เท่านั้น ซึ่งหากจำนวนศึกษานิเทศก์น้อยลง ก็ต้องเน้นพัฒนาศึกษานิเทศก์ให้มีศักยภาพสูงขึ้น ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยในการนิเทศการศึกษามากขึ้น หรือ อาจใช้วิธีสร้างเครือข่ายนิเทศให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งขอขยายความทางเลือกที่เป็นไปได้ ที่สำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้

       1) การพัฒนาศึกษานิเทศก์ให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งต้องพัฒนาในด้านต่าง ๆ เช่น  ด้านองค์ความรู้ในหลักวิชาหรือเนื้อหาวิชา  ทักษะการบริหารจัดการ/ทักษะการกำกับติดตามและนิเทศงาน   ทักษะด้านการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ ทักษะด้าน ไอ ที  เป็นต้น อีกทั้งจะต้องเน้นการประเมินคุณภาพการปฏิบัติงานของศึกษานิเทศก์ “แบบเน้นผลงาน” โดยเฉพาะศึกษานิเทศก์ที่มีวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ/เชี่ยวชาญ ต้องแสดงคุณภาพผลงานตามมาตรฐานวิทยฐานะ(ดูที่ http://gotoknow.org/blog/sup004/223167)

2) การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าช่วยในการนิเทศ ซึ่งมักจะเป็นเรื่องของ “ทักษะ ไอทีเพื่อการนิเทศ”  เชื่อว่า ศึกษานิเทศก์ในอนาคต จะต้องพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อการนิเทศ พัฒนาระบบการจัดการความรู้เพื่อการนิเทศ(KM) โดยจะต้องเน้นการนิเทศผ่านจอภาพหรือผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตมากขึ้น บทบาทการนิเทศในลักษณะนี้ สามารถดูได้จาก NitesOnline ซึ่งจากการสังเกต พบว่า การนิเทศผ่านจอภาพในลักษณะนี้     มีผู้นิเทศ ที่คอยดูแล ให้ความรู้แก่ครู อยู่เพียงไม่กี่คน แต่สามารถสร้างผลงานได้ในวงกว้าง และเกิดประโยชน์มาก

       3) การสร้างเครือข่ายนิเทศ  ในปัจจุบัน มีครูเชี่ยวชาญ คศ.4 กระจายอยู่ตามโรงเรียนต่าง ๆ ในประเทศ จำนวนมาก ครู คศ.4 เหล่านี้ โดยมาตรฐานตำแหน่งวิทยฐานะ นอกจากรับผิดชอบงานสอนในส่วนของตนเองแล้ว จะต้องปฏิบัติตนเป็นแกนนำ ที่เป็นประโยชน์ต่อครู-อาจารย์ เพื่อนร่วมงานหรือต่อสถานศึกษา  ในอนาคต ศึกษานิเทศก์แต่ละเขตพื้นที่จะต้องประสานงาน ส่งเสริมให้ครู คศ.3-4 เหล่านี้ เข้ามามีบทบาทในการนิเทศ อย่างน้อยก็นิเทศ ในโรงเรียนที่ตนสังกัด...ในประเด็นนี้ ปัญหาที่ต้องระวัง คือ ในทันทีที่จะดึงครูเหล่านี้มาร่วมนิเทศ เรามักจะนึกถึงการเชิญให้ไปร่วมนิเทศ แนะนำ หรือ ร่วมจัดอบรม ซึ่งหากทำเช่นนี้ จะทำให้ครูเหล่านี้ ต้องละทิ้งห้องเรียน และอาจสร้างความขัดแย้งทั้งภายในโรงเรียนและระหว่างโรงเรียนกับ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(ไปดึงครูออกนอกห้องเรียน สร้างปัญหาให้กับโรงเรียน)ทางออกในเรื่องนี้ ผมคิดว่า น่าจะเน้นให้ครูเหล่านี้ เป็นแกนนำในสถานศึกษาที่ตนเองสังกัด ภายใต้การประสานงานโดยศึกษานิเทศก์ของเขตพื้นที่การศึกษา  หรือ อาจส่งเสริมให้ครูแกนนำเหล่านี้พัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง แล้ว ศึกษานิเทศก์ของเขตพื้นที่การศึกษา สร้างห้องนิเทศผ่านเว็บไซด์ เพื่อให้ครูเหล่านี้ ได้นำเสนอผลงาน หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง(ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต)

       4) การส่งเสริม “ศูนย์พัฒนาการเรียนรู้กลุ่มสาระต่าง ๆ” ให้มีความเข้มแข็ง สามารถนิเทศ หรือจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในเขตกลุ่มโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ในการนี้ ครูแกนนำของศูนย์พัฒนาการเรียนรู้เหล่านี้ ควรได้รับการอบรม หรือพัฒนาทักษะในการกำกับติดตามและนิเทศงาน ในลักษณะเดียวกับศึกษานิเทศก์ทั่วไป  อีกทั้งจะต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อการนิเทศ หรือจัดอบรม สัมมนา ให้แก่ศูนย์พัฒนาการเรียนรู้ด้วย หรือ โรงเรียนในเขตบริการของกลุ่ม ทั้งรัฐและเอกชน อาจจะต้องลงขันค่าใช้จ่ายเพื่อการนิเทศ/พัฒนาครู ตามสัดส่วนความพร้อมของโรงเรียน เช่น ตามสัดส่วนรายหัวของนักเรียน เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 223338เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2008 16:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 16:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ..อาจารย์

  • ทั้งสี่ทางเลือกเยี่ยมยอดเชียวค่ะ
  • หากมีการเอาจริงเอาจังของกลุ่มนิเทศ ฯ และเขตพื้นที่
  • หากภาพดังกล่าวสามารถฉายออกมาได้ตามนี้..วิเศษสุดค่ะ
  • พร้อมเป็นหนึ่งแรงแข็งขันด้วยค่ะ

เรียน อ.วัชราภรณ์

  • ขอบคุณครับที่เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น
  • ถ้าอย่างไร ผมคิด ว่า ศน.เชียงใหม่ เขต 1 คงจะต้องเป็นแกนหลักในการพัฒนาเทคนิคการนิเทศผ่านจอภาพ/นิเทศผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต นะครับ เพราะมีผลงานเชิงประจักษ์แล้ว(ฝากระลึกถึง อ.ชัด อ.จงภพ และทีมงานด้วยครับ)

สวัสดีค่ะ

  • ในฐานะครู >>อ่านและนึกภาพตามแล้วน่าสนใจและมีประโยชน์ในการปฏิบัติงานควบคู่กับการพัฒนางานมากๆค่ะ
  • ถ้าปฏิบัติได้อย่างจริงจังและต่อเนื่องน่าจะทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้นเป็นลำดับ
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์

  • ยอดเยี่ยมเลยค่ะให้ประโยชน์แก่คุณครูได้ดีมากๆค่ะ
  • ขอบพระคุณอาจารย์มากๆค่ะที่ให้ความรู้
  • รักษาสุขภาพนะคะ

คุณ กานท์กวี คุณ Preeda

  • เห็นคุณกานท์กวีถอนใจแล้ว  ก็เลยถอนใจตาม ขอบคุณครับที่แวะเข้ามา ถอนใจ/พักใจในห้องนี้
  • ขอบคุณ คุณ Preeda นะครับ  ที่เข้ามาเยี่ยมคงจะสบายดีนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท