๓๘. รอยยิ้มสยาม : สินค้า ตลาด และราคา ที่ต้องเป็นตัวของตัวเอง


"... ผมพอจะสรุปได้จากสัมผัสแรกในครั้งนี้ว่า รอยยิ้มสยาม ยังไม่สามารถยิ้มออกจากใจได้ เพราะการนึกถึงความเป็นสินค้าของรอยยิ้ม ตลาด และราคา ของการแลกเปลี่ยน โดยใช้ศิลปะและวัฒนธรรม มาเป็นแพ็คเกจนั้น อาจจะทำให้รอยยิ้มเป็นรอยยิ้มที่ไม่ค่อยสง่างามและงดงามเท่าไหร่นัก หอศิลป์กรุงเทพฯ น่าจะเป็นรอยยิ้มและด้วยจิตวิญญาณที่เป็นตัวของตัวเอง มากยิ่งๆขึ้น อย่างที่เราอยากมุ่งหวังและอยากเป็น เพื่อส่งยิ้มให้แก่ผู้คนทั่วโลกแบบคนจิตใหญ่ มากกว่าดูดเงินและการจ่ายเยี่ยงจิตใจที่เล็กและคับแคบ.....ผมคิด..."

           เมื่อบ่ายแก่ๆจนถึงค่ำของวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้ไปฟังเสวนา ประเมิน สรุปบทเรียน และสร้างแนวคิดดีๆ จากประสบการณ์ของการจัดเทศกาลศิลปะการแสดงสด เอเชียโทเปีย ที่ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมแห่งกรุงเพทพมหานคร ตรงสี่แยกปทุมวัน หรือสี่แยกสยาม-มาบุญครอง เป็นการเสวนาสะท้อนทรรศนะต่อการจัดเทศกาลศิลปะในธีม รอยยิ้มสยาม จากทรรศนะของสื่อ นักวิชาการ และคนในแวดวงศิลปะและวัฒนธรรม

          ท่านหนึ่งจากหนังสือพิมพ์เครือเดอะเนชั่น ท่านหนึ่งจากหนังสือสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์และแมกกาซีนสีสัน  อีกท่านเป็นอาจารย์และนักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และผู้ดำเนินรายการเป็นหัวหน้าภาควิชาวิจิตรศิลป์  จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ลาดกระบัง 

          ต้องขออภัยมากเลยที่ผมจำชื่อได้เพียงสองคน คือ คุณภัทรวดี จากเดอะเนชั่น และคุณไพศาล ธีรพงศ์วิษณุพร จากสยามรัฐ เพราะท่านแรกชื่อคล้ายกับภัทราวดีซึ่งติดปากอยู่ และท่านสอง คุณไพศาลนี่เป็นเพื่อนของเพื่อน กลุ่มกังหัน กลุ่มศิลปะแนววิพากษ์สังคมเมื่อยุค 20-30 ปีก่อน ซึ่งผมพอจะจำเขาได้ (ถึงแม้ดูจะผมน้อยเกือบล้านและท้วมทรงภูมิต่างจากเดิมไปมากมาย ทั้งที่แต่ก่อนตัวผอมและผมยาวสลวย) แต่เชื่อว่าเขาจำผมไม่ได้หรอก

        ผมไม่ได้ตั้งใจไว้ก่อนว่าจะไปฟัง  เผอิญว่าผมร่วมกับกลุ่มเพื่อนไปแสดงงานด้วยกันที่หอศิลป์จามจุรี  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วเพื่อนสอง-สามคน ที่ไม่ค่อยได้มีโอกาสพบเจอกันมาหลายปี บอกว่าจะแวะมาที่หอศิลป์จามจุรี เลยก็ไปกัน  ระหว่างที่คุยกัน ก็เหลือบไปเห็นใบปิดงานเสวนาเรื่อง รอยยิ้มสยาม เมื่อรวมๆ กับการจัดที่ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งยังไม่เคยไปสักที  ก็เลยถือโอกาสไป

        กลุ่มเสวนาสะท้อนทรรศนะ และเปิดประเด็นที่น่าสนใจมากมาย  อันที่จริงก็ชวนเวทีให้คุยกันและทักทายมาทางผมด้วย ทว่า ผมเพิ่งเคยไป และยังเดินดูได้ไม่ทั่ว เลยก็ไม่สามารถมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนทรรศนะด้วย

        ก่อนการเสวนาเลิกเล็กน้อย  ผมเกรงว่าหอศิลป์จะปิด  เลยก็ขอปลีกตัวและเดินชมให้ทั่ว  งานเทศกาลศิลปะครั้งนี้  มีท่านศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ แห่งคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ในนามผู้อำนวยการสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย) เป็น Curator หรือ คนกุมธีม จัดองค์ประกอบ และวางแนวจัดหาผลงานภายใต้ธีม รอยยิ้มสยาม มาแสดงทั้งของศิลปินไทยและเทศ มีการทำเวิร์คช็อป  การเสวนาทางวิชาการ  รวมทั้งเคลื่อนไหวทางสื่ออย่างต่อเนื่องหลายเดือน

        พอเริ่มออกเดินดูงาน ผมก็ได้สัมผัสพลังแห่งรอยยิ้มสยาม  จากองค์ประกอบทั้งหมดที่เกิดจากการจัดการ และจากบรรยากาศแวดล้อมทั้งมวลของหอศิลป์  ซึ่งทั้งประทับใจและกระอักกระอ่วนใจ  แต่รวมๆแล้วก็เห็นนัยและภาพในใจ ว่ารอยยิ้มสยามในท่ามกลางความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของโลกรอบข้าง ณ เวลานี้  เป็นอย่างไร 

        บางแง่มุมก็ได้ความปวดใจและสะท้อนใจไปด้วยลึกๆ รวมทั้ง คิดว่าผมเห็นบางแง่มุม ที่เชื่อว่ามือ Curator และทีมที่ผมพอรู้จักผลงานบ้างเล็กน้อย ต้องการทำให้ผุดบังเกิดอะไรขึ้นในใจของผู้ชมในบางเรื่องแบบสื่อจากใจสู่ใจด้วยภาษาศิลปะและองค์ประกอบการจัดวางทั้งมวล อย่างไม่ต้องให้พูดแบบผิวเผิน เหมือนกับให้ตอบตนเองต่อคำถามใหญ่ที่ติดหราไว้ว่า...ท่านต้องการพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์จริงหรือ ?

       ผมคิดว่าผมเห็น เพราะประเมินดูแล้ว หลายเรื่องไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่ๆ  หากจะแปรความว่าเป็นการทำไม่ถึง ก็คิดใคร่ครวญดูแล้ว คิดว่าไม่น่าจะใช่ครับ มันทำให้หลายคนต้องรีบตอบอย่างรู้สึกจริงจังออกมาจากใจเลยว่าทั้งต้องการและอยากได้การบริหารจัดการที่ดีอีกด้วย ให้อารมณ์ศิลปะกระตุ้นสำนึกการร่วมเป็นเจ้าของและเร้าการอยากมีส่วนร่วมได้ดีทีเดียว

        ชื่องานเป็นเรื่องการนำเอา รอยยิ้มสยาม มาก่อให้เกิดการเรียนรู้ตนเองและวิพากษ์ให้ได้คุณค่าและความหมายใหม่ๆ ที่จะทำให้เห็นโลกและเห็นตนเองด้วยพลังของศิลปะและวัฒนธรรม  ทว่า  ในอีกด้านหนึ่ง  ในมุมมองผมแล้ว  หอศิลป์ พื้นที่ และการแสดงออกทางศิลปะและวัฒนธรรมนั้น  โดยตัวมันเอง  ก็เป็นรอยยิ้มและจิตวิญญาณของสังคมด้วย 

        ผมนั้น ซึ่งคงจะเหมือนกับผู้คนอีกมากมายที่ว่า หากได้ไปต่างถิ่น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  เรื่องหนึ่งที่เราอยากเข้าถึงผู้คนและสังคมนั้นๆอย่างดีก็คือ ขอให้มีโอกาสได้ไปเยือนหอศิลป์  พิพิธภัณฑ์  แหล่งใช้ชีวิตในเมือง-ชนบท และที่แสดงออกทางวิทยาการสมัยใหม่  หากคิดแบบผิวเผิน  หอศิลป์อาจเป็นได้แค่แหล่งใช้ศิลปะจูงใจค้าขายสินค้าเพื่อดูดเงินจากกระเป๋าผู้คน (ซึ่งคนทางศิลปะจะไม่ยอมรับว่าเป็นเรื่องทางศิลปะ)

         ทว่า หากมองให้เห็นถึงการเป็นแหล่งเคลื่อนไหวทางภาษาของหัวใจและโลกของจิตใจสร้างสรรค์ของผู้คน  ก็อาจจัดศิลปะและหอศิลป์ได้ว่า เป็นรอยยิ้มและจิตวิญญาณของสังคมที่ลึกซึ้งที่สุด  ก่อนที่พลังนี้จะสะท้อนไปสู่การพัฒนาทางวัตถุ  หรือเป็นปรัชญาชีวิตที่กำกับการเคลื่อนไหวของสังคม  การดำเนินชีวิต  การทำมาหากิน และการจัดความสัมพันธ์กับโลกรอบข้าง

         เป็นตลาดและแหล่งแลกเปลี่ยนรอยยิ้ม เสมือนสินค้าอย่างหนึ่งซึ่งในยุคเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์  ก็อาจจะมีราคาค่างวด หลากมิติกว่าการยิ้มให้กันด้วยความวางใจและเป็นมิตร

         มูลค่าและราคาของสินค้านี้  บ้างอาจเป็นรอยยิ้ม บ้างเป็นเสียงร้องให้โหยหวน  คับแค้น  ชิงชัง กอบโกย เอาเปรียบ รุนแรง ซึ่งรวมๆแล้ว  เป็นรอยยิ้มที่มีราคาและมีเงื่อนไขเพื่อการแลกเปลี่ยนซื้อขาย บนพื้นที่ที่เป็นตลาดทางจิตวิญญาณแห่งนี้

         หอศิลป์มี 5 ชั้นครับ  ที่ชั้นสาม  ก่อนขึ้นไปยังบริเวณจัดวางผลงานศิลปะมากมาย และดีๆทั้งนั้น  ก็จะมีเคาน์เตอร์ และประตูเข้าช่องเดียวแคบๆ  โดยมียามเฝ้าอยู่อย่างแข็งขัน

          แต่เดิมผมก็เดินเพลิน และมองรอบข้างแบบสบายๆ  มองอย่างสายตาที่พยายามเข้าใจและให้โอกาสผู้คน ทำนองว่า  เดินด้วยรอยยิ้มในใจว่างั้นเถอะ  แต่พอจะขึ้นไปดูงาน  ก็โดน รปภ กักครับ เขาบอกว่า  ไปลงชื่อก่อน  ผมบอกว่า ผมลงแล้วที่ชั้นล่าง  เขาก็บอกว่า ต้องไปลงอีก  ไม่มีอะไรหรอกว่างั้น

         โอ้โฮ  จากรอยยิ้มสยามในใจ ก็ค่อยๆกลายเป็นอารมณ์ยักษ์สยามล่ะซีครับคราวนี้  ผมรู้สึกฉุนและปวดหัวตึบขั้นมาเลย  ตัวตนเขื่องขึ้นมาโดยพลัน  รู้สึกเหมือนถูกข่มขืนจิตใจแบบมัดมือชก 

         "..อะไรกัน นึกจะตั้งกติกากดหัวคนอื่นอย่างไรก็ตั้งขึ้นมาอย่างงั้นเชียวรึ ฉุนจริงๆ ให้ตาย.."

         แต่เขาก็เป็นเพียงผู้ปฏิบัติตัวเล็กๆ จะไปรู้เรื่องที่จะใช้วิจารณญาณเองในที่อย่างนี้ได้อย่างไร อีกทั้ง  งานที่เขาจัดไว้  ก็มีเหตุผลอยู่ที่จะต้องดูแลอย่างดี  แม้ไม่ใช่อย่างวิธีนี้ก็ตาม

         แล้วจุดหมายของผมก็ไม่ได้มาแสวงหาความพอใจจากการปฏิบัติและบริการต่อกันที่แย่ๆในที่สาธารณะอย่างนี้  ผมมาดูงานศิลปะและผมก็ไม่ค่อยมีเวลาที่จะเข้าเมืองมากนัก  เลยก็ยืนกำหนดใจ  ข่มใจ นับหนึ่งสองสาม  ที่สุดก็ยอมปฏิบัติอย่างหมดสภาพ มันเป็นราคาที่ผมต้องจ่ายเพื่อเข้าไปซื้อสินค้าในตลาดแห่งนี้

         นี่ไงครับ รอยยิ้มด้วยความขมขื่นในสังคมของเรา รอยยิ้มแห่งความฉาบฉวย  รอยยิ้มแห่งความอับจนและจนใจ รอยยิ้มที่จำเป็นต้องปั้นหน้าและอดทน  รอยยิ้มจากจิตวิญญาณที่ร่ำไห้  ปวดร้าว ร่าเริง ลิงโลดใจ  เผื่อแผ่ และอีกมากมาย

         พอเดินไปลงชื่อก็เอาอีกครับ  มีอีก ต้องไปฝากของและรับบัตรล็อคเกอร์อีกครับ หมดสภาพเลยคราวนี้  กว่าจะดึงอารมณ์กลับมาให้นิ่งพอที่จะดูงานศิลปะได้ก็เกือบแย่

          ดูเป็นรายชิ้นแล้วก็ถือว่าได้ความซาบซึ้งมากมายครับ ทว่า ดูภายใต้ธีมและการจัดวางองค์ประกอบต่างๆแล้ว  ยังต้องทำอะไรอีกเอยะครับ ซึ่งน่าเห็นใจเป็นที่สุดสำหรับ Curator ในบ้านเรา

         หากให้สะท้อนความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะแบบถือเอาการลงมือไว้ก่อน ก็คงต้องบอกว่า อย่าเพิ่งคุยเพื่อหาข้อสรุปแบบเบ็ดเสร็จไปหมดเลยครับ

         ทำไปให้ได้บทเรียนจากการปฏิบัติให้มากที่สุด ภายใต้เงื่อนไขแวดล้อมทางสังคมของเราเอง แล้วค่อยดึงมาสกัดให้ลึกซึ้งแยบคายไปทีละนิดดีกว่า ใช้ความรู้และตัวแบบจากต่างประเทศมานำร่องคงจะยาก  อีกทั้งไม่ควรทำ

         เรื่องทางศิลปะนี่อย่าไปมัวคุยมาก ให้มันเป็นเพียงกระบวนการและองค์ประกอบเล็กๆ  ที่ต้องทำไปแล้วก็บ่มเพาะวัฒนธรรมการปรึกษาหารือกันของสาธารณะไปด้วย  เพราะนอกจากไม่ได้อะไรแล้วยังเสียพลังการทำงานและทะเลาะกันทางความคิดให้เปลืองพื้นที่สมองไปอย่างว่างเปล่ากันอีกต่างหาก

         ก่อนกลับเมื่อมืดค่ำ  พอออกประตูด้านหน้าก็เจอการแสดงสด ของกลุ่มนานาชาติ ที่เป็นเครือข่ายศิลปะการแสดงสด ซึ่งบ้านเราดูเหมือนจะมีคุณจุมพล อภิสุข เป็นแกนหลักคนหนึ่ง กำลังแสดงงานอยู่ด้านหน้า ศิลปินที่จัดวางการแสดงสดอยู่นั้น  เป็นชาวต่างประเทศ อยู่ในชุดขาวหม่นทั้งชุด ใบหน้ามุ่งมั่น   นิ่งสงบ  อ้อมอกกำลังโอบกอดหน่ออ่อนของพรรณไม้เหมือนเลือดเนื้อเชื้อไข 

        เธอกอดและส่งความเอื้ออาทรอ่อนโยนไปยังหน่ออ่อนของพรรณไม้เหล่านั้น เสร็จแล้วก็ค่อยตะกรอง  ใช้สองมือเปล่าเปลือย ตะกายไปบนพื้นคอนกรีตหน้าหอศิลป์ กดดันความรู้สึก  รับรู้ได้ทั้งความมุ่งมั่นและความเจ็บปวดไปถึงจิตวิญญาณ มองในด้านการสื่อความรักและความเผื่อแผ่แก่โลกทั้งผองไปยังสรรพสิ่งก็ถือว่าเวิร์คครับ

        มองในแง่ของการวิพากษ์ของศิลปิน ก็เหมือนกับอารมณ์ของการสร้างหอศิลป์กรุงเทพที่กำลังเกิดอยู่ในใจของหลายคนครับ มันเจ็บปวด โดดเดี่ยว และยากแสนเข็ญ เหมือนกับเพียรปลูกความหวังในชีวิตลงไปบนลานคอนกรีตแห่งความกันดาร  เป็นไปไม่ได้ สิ้นหวัง เรียกว่ากำลังจะผ่อนคลายจากการได้ดูงานในหอศิลป์ก็ถึงกับช็อค ต้องเบือนหน้าหนีและอยากเข้าไปตะโกนว่า "พอเถอะ ได้โปรด"

        ดูแล้ว ก็ทำให้ผมเห็นพลังของ Performance Art ที่งานแนวอื่นจะทำไม่ได้ และไม่สามารถถ่ายทอดได้อย่างเพียงพอ นอกจากใช้สัมผัสตรง  สอดคล้องกับกระบวนทรรศน์การวิจัยและสร้างความรู้ในบริบทของสังคมปัจจุบันอย่างยิ่ง

        ผมดูได้นิดเดียว แต่รู้สึกใจหวิวๆ ทนดูให้จบไม่ไหว เลยออกมาก่อน

        ผมผละออกจากกลุ่มศิลปะแสดงสด ก็ขึ้นสะพานลอย  มองลงไปก็เห็นกลุ่มคนที่สนใจศิลปะห้อมล้อมงานแสดงชุดนั้นเป็นกลุ่มเล็กๆ คนเดินถนนมองผ่านแบบงงๆ  รอบข้างเป็นรถเมล์ติดและส่งเสียงกระหึ่มเหมือนเสียงครวญครางของเมืองใหญ่  ผู้คนในรถผินหน้ามองไปตามทิศทางที่สนใจต่างๆนาๆ  ท้องฟ้ามืดสลัวแผ่คลุมไร้ขอบเขต รถไฟฟ้าวิ่งผ่านเลยไปยังจุดหมายอย่างเป็นเอกเทศ

        ผมพอจะสรุปได้จากสัมผัสแรกในครั้งนี้ว่า รอยยิ้มสยาม ยังไม่สามารถยิ้มออกจากใจได้ เพราะการนึกถึงความเป็นสินค้าของรอยยิ้ม ตลาด และราคา ของการแลกเปลี่ยน โดยใช้ศิลปะและวัฒนธรรม มาเป็นแพ็คเกจนั้น อาจจะทำให้รอยยิ้มเป็นรอยยิ้มที่ไม่ค่อยสง่างามและงดงามเท่าไหร่นัก หอศิลป์กรุงเทพฯ น่าจะเป็นรอยยิ้มและด้วยจิตวิญญาณที่เป็นตัวของตัวเอง มากยิ่งๆขึ้น อย่างที่เราอยากมุ่งหวังและอยากเป็น เพื่อส่งยิ้มให้แก่ผู้คนทั่วโลกแบบคนจิตใหญ่ มากกว่าดูดเงินและการจ่ายเยี่ยงจิตใจที่เล็กและคับแคบ.....ผมคิด.

หมายเลขบันทึก: 225379เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2008 13:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 18:10 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

อ.วิรัตน์คะ

ใบไม้นำบันทึกแนะนำงานรอยยิ้มสยามมาฝากค่ะ คิดว่าคงเป็นงานเดียวกับที่อาจารย์ได้ไปดู และนำมาเขียนเป็นบันทึกนี้

เป็นบันทึกของคนรักงานศิลปะที่ทำงานให้หอศิลป์ฯ หอศิลป์ฯ ยังมีความไม่ลงตัวบางประการ (ได้ยินคนบ่นให้ฟังมาพอควร) ในบันทึกบอกเหตุผลเรื่องการให้ฝากของอยู่บ้างค่ะ

ส่วนเรื่องงานศิลปะนั้น ใบไม้แลกเปลี่ยนด้วยไม่ได้เลย เพราะว่าไม่ได้ไปดูค่ะ

  • ขอบคุณครับคุณใบไม้ย้อนแสง เข้าใจและเห็นใจมากเลยแหละ ขอให้คนรักงานศิลปะมีกำลังใจนะครับ
  • แวะไปดูมาแล้วครับ ดีจัง

รอยยิ้มกับการดำรงอยู่

นอกกับในประตูที่แตกต่าง

รักษายิ้มสุขซุกหทัยางค์

แล้วออกเดินทางไม่ช้าที

.

มาแอบอ่านความเคลื่อนไหว ค้นหาอะไรบางอย่างในความมืด อาจารย์พบบ้างหรือเปล่าครับ... "ทางที่หายไป"

http://gotoknow.org/blog/krugarn1/225477

สวัสดีครับอาจารย์ เมื่อวันไปดูงาน ถ้าได้ไปด้วยกันกับอาจารย์ก็วิเศษเลย

นึกถึงหัวข้อการคุยอย่างนี้ เมื่อตอนที่นั่งคุยกับอาจารย์และอาจารย์ณรงค์เดช

ที่เมืองกาญจน์เมื่อหลายปีมาแล้วเลย

อันที่จริงผมว่าก็ดีนะอาจารย์ ถึงแม้นบางครั้งจะอยู่ในความมืด หรือไม่มีทาง ก็ไม่เป็นไร

ขอให้เรารู้จักวิธีเดินที่ดีด้วยตัวเราเอง

บางทีก็ยิ่งจะดีมากขึ้นไปอีก เพราะมันเป็นทางที่เราเป็นคนสร้างและรู้จักดีกว่าใครอื่น

อาจารย์มีความสุขนะครับ

อาจบทกวีของครูกานท์ หรือผู้ช่วยศาสตราจารย์ศิวกานท์ ปทุมสูติแล้ว เลยก็ดันคุยแบบอารมณ์กวีไปกับอาจารย์ไปด้วยเลย อุปมาอุปมัยจนเหมือนกับมีความนัยที่รู้เรื่องกันภายในกลุ่มจำเพาะ คนอื่นจะอ่านรู้เรื่องไหมเนี่ย

ยิ่งบรรยากาศสังคม ที่ตามข้อมูลข่าวสารไม่ค่อยทันอย่างนี้ ประเดี๋ยวเจอคนหวาดระแวงยัดเยียดให้เป็นอะไรต่ออะไรอย่างที่ตนเองคิดกันไปอีก เลยขอขยายความกระจ่างนิดหนึ่งนะครับ

คือ เมื่อ 10 กว่าปีก่อนเห็นจะได้ ผมกับท่านอาจารย์ศิวกานท์ หรือครูกานท์ของนักอ่านมากมาย กับเพื่อนๆคนทำงานและมีความคิดเกือบคล้ายกัน และเมื่อมีโอกาสก็ชอบคุยกัน ซึ่งบางเรื่อง เข้าใจว่าอาจารย์คงสะท้อนภาพและย้อนรำลึกเพื่อให้ผมมั่นใจตนเองในบางเรื่อง อันนี้ผมประเมินเอาเอง เช่น

(1) เราชวนกันทำงานวิชาการ และเมื่อมีเวลาก็อย่าไปเสียเวลาทำอะไรที่ว่างเปล่า ลงไปรากหญ้า กลุ่มคนชายขอบ หรือทำอะไรในชุมชนต่างๆด้วยกันดีกว่า โดยเฉพาะการสร้างการเรียนรู้ให้เด็กและภาคประชาชน อาจารย์บอกว่าผมทั้งสร้างความรู้ชุมชน วาดรูป และเล่นดนตรีเป็น เส้นทางของผมน่าจะเป็นวิจัย เขียนหนังสือ และวาดรูป แล้วก็หาเวทีแสดงออกด้วยกันแบบแนวอินดี้ เข้าถึงกลุ่มคนด้วยตัวเราเอง

ผมบอกว่าหากผมสร้างงานเชื่อมกับวิถีของชาวบ้านไม่ได้ ผมจะยังไม่ทำอะไรอย่างนั้น ขอเป็นนักเรียนและเป็นแรงงาน ทำอะไรกับใครก็ได้ อาจารย์สะท้อนทรรศนะไว้ให้ในตอนนั้นว่า งั้นอาจารย์ก็คงจะไม่ได้ทำอะไรจนชาติหน้าโน่นแหละ

เสร็จแล้ว อาจารย์ก็เดินดุ่มอย่างท้าทายออกจากระบบ เพียรทำบ้านขึ้นใหม่กลางทุ่งนาและสวนอ้อย เปิดเป็นสถานศึกษาแบบอาศรม พาเด็กๆ ครู นักพัฒนา และผู้คนที่สนใจ เข้าถึงงานวรรณศิลป์ อย่างเป็นเนื้อเป็นหนัง บางครั้งผมเห็นจับมือกับครูสลา คุณาวุฒิ ชินกร ไกรลาศ ศักดิ์สิริ มีสมสืบ และอีกมากมาย ไปทำค่ายศิลปวัฒนธรรม คอนเสิร์ตสารบันเทิง และอะไรต่ออะไรที่โน่นที่นี่เต็มไปหมด ในขณะที่ผมเตี้ยลงสาลวันเตี้ยลง จะดับ-มิดับแหล่

(2) เราถกเถียงกันทางความคิดและวิถีการทำงานวิชาการด้วย อาจารย์และหมู่มิตรกลุ่มเล็กๆบอกว่า หากทำงานเพื่อคนชนบทและคนรากหญ้า ผมต้องเลือกเคลื่อนไหวไปกับประเด็นของคนส่วนใหญ่ที่เสียโอกาส ไม่ควรรับฟังหรือเปิดเวทีให้กับกลุ่มคนที่ได้เปรียบในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มทุนและคนมีอำนาจ ผมบอกว่าคนอื่นมากมายก็ทำอยู่และดีอยู่แล้ว ทำไมจะต้องไหลไปทางนั้นอย่างเดียว

แต่ที่คนไม่ค่อยทำคือทำไมไม่เดินคุยและเป็นภาพสภาพแวดล้อม ที่พูดคุยและปรึกษาหารือกันก่อน ถึงแม้นจะยากแต่ก็ควรเข้าถึงและคุยกับคนจำนวนน้อยที่การริเริ่มและตัดสินใจอะไรของเขา แม้นเล็กน้อยจากคนไม่กี่คน ทว่า จะกระทบกับคนจำนวนมาก

แม้นจะคุยกันยาก ก็ย่อมดีกว่าให้เกิดปัญหาแล้วให้คนจำนวนมากมาเผชิญหน้ากัน

ยังพอรำลึกได้ว่าอาจารย์บอกว่า มันอุดมคติเหลือเกิน แล้วก็ไม่มีจุดเยือนชัดเจน (ทำนองว่า..ทำไมไม่เลือกข้างว่าจะเป็นข้างชนชั้นไหนกันแน่ ทำนองนั้น ผมก็บอกว่า แม้นยาก ก็น่าจะมีคนทำ และผมก็ยินดีที่จะมุ่งสู่วิถีทำ ณ จุดเล็กๆ แม้คนๆเดียว ซึ่งรวมทั้งตัวเองด้วย ได้เรียนรู้กันและเปลี่ยนแปลงตนเองได้เล็กๆน้อย ผมก็จะเพียรทำ ไม่ใช่ว่าจะมีอะไรดีไปกว่าใครอื่นหรอกครับ แต่ทำอย่างที่คนอื่นทำน่ะทำได้ไม่ได้ไปกว่าเขาหรอก

เข้าใจว่าอาจารย์เห็นงานผม และรับทราบความเคลื่อนไหวบางส่วนที่คงทำให้ดีใจฉันท์คนที่มักให้ความรู้สึกดีๆกับผู้คนอยู่เสมอ ก็เลยแสดงความดีใจด้วยให้ทราบ

จริงๆแล้วก็ได้ยินเสียงที่อาจารย์ไม่ได้พูดอีกด้วยว่า ผมบอกแล้วว่าอาจารย์ต้องทำอย่างนี้ ต้องทำอย่างนี้ ทำนองนั้นเลย

มีความสุขครับอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท