การแถลงข่าวเนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล


ท้ายที่สุดการใช้นโยบายแนวชาตินิยมเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานในวิกฤติเศรษฐกิจ ไม่ใช่แนวทางการแก้ไขปัญหาที่จะช่วยให้ชีวิตของแรงงานทุกคนดีขึ้นแม้แต่น้อย เป็นเพียงกุศโลบายทางการเมืองที่จะหลีกเลี่ยงการแก้ไขปัญหาที่แท้จริงให้แก่ผู้ใช้แรงงาน นั้นคือความมั่นคงในชีวิตและการทำงานของผู้ใช้แรงงานนั่นเอง

 

การแถลงข่าวเนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล

21 ธันวาคม 2551

ณ สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน สะพานหัวช้าง พญาไท

โดยคุณวิไลวรรณ แซ่เตีย คุณบัณฑิต แป้นวิเศษ และคุณซาชูมิ มาเยอะ

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจของโลกใบนี้ได้ขับเคลื่อนอย่างรวดเร็วตามกระแสของโลกาภิวัฒน์ที่เกิดขึ้น เราพบเห็นการเจริญเติบโต ความมั่งคั่งของเมืองใหญ่ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ความสุขสบายของผู้คน กล่าวได้ว่าแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมานั้น ล้วนเกิดจากหยาดเหงื่อและแรงกายของผู้ใช้แรงงานทั่วโลกแทบทั้งสิ้น และเลี่ยงไม่ได้ที่จะบอกเช่นกันว่าความเติบโตของประเทศร่ำรวยที่เกิดขึ้น ต่างเป็นผลมาจากแรงกายและความมุ่งมั่นของแรงงานข้ามชาติ ผู้จากบ้านเกิดเมืองนอนเข้าไปทำงาน

ใน ประเทศไทย ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตัวเลขมูลค่าการส่งออก ผู้คอยแบกรับภาระงานบ้านต่างๆ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยนั้น มี แรงงานข้ามชาติ เป็นผู้แบกรับงานต่างๆที่แทบจะไม่มีใครมองเห็นคุณค่าในสังคมไทย ทั้งภาคประมงทะเล เกษตรกรรม งานบ้าน รวมทั้งภาคบริการต่าง ๆ ซึ่งคอยพยุงและสร้างสรรค์เศรษฐกิจไทยอยู่อย่างเงียบๆ

            แต่อีกด้านหนึ่ง ข่าวการเสียชีวิตของคนข้ามชาติจากประเทศพม่า ในขณะที่เดินทางข้ามเส้นสมมติของรัฐเข้ามาทำงานในประเทศไทย เพื่อหาโอกาสใหม่ของชีวิต สร้างทางเลือกที่มองไม่เห็นอนาคตในพม่า 54 ศพ ต้องสังเวยชีวิตอันเนื่องมาจากการเดินทางในรถตู้คอนเทรนเนอร์ ส่วนผู้ที่รอดชีวิตถูกส่งกลับบ้านเดิมในฐานะผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย กระบวนการในการเรียกร้องค่าชดเชย ค่าเสียหายก็ยังดำเนินต่อไป ชี้ชัดว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านั้นจำเป็นต้องสร้างทางเลือกให้กับชีวิตตนเอง เพื่อหลุดพ้นจากชะตากรรมที่เลวร้าย ท่ามกลางความไม่พร้อม และระบบที่ไม่เอื้อให้เดินทางเข้ามาทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงภาวการณ์ที่ความปลอดภัยในการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติ ยังเป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามไม่ได้รับการแก้ไข

ขณะเดียวกันภายใต้ข้อจำกัดและข้ออ้างเรื่องของการเข้าเมืองไม่ถูกกฎหมาย ทำให้กระบวนการจ้างแรงงานในประเทศไทยไม่เคยยอมรับว่า แรงงานข้ามชาติมีศักดิ์ศรีหรือสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์เท่าที่พวกเขาพึงมี ไม่มีสิทธิที่จะเดินทางได้ตามที่ตนเองปรารถนา หรือแม้แต่ความจำเป็นต่อครอบครัวของตนเอง เนื่องด้วยข้ออ้างของเหตุผลความมั่นคงของรัฐที่ดูจะอยู่เหนือความมั่นคงของมนุษย์ อีกทั้งสิทธิที่ควรจะได้รับตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานก็เป็นเพียงเกราะคุ้มกันที่ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ ทำได้เพียงจ้องมองดูแต่ไม่สามารถคุ้มกันภัยใดที่จะเข้ามาทำอันตรายได้เลย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การไม่สามารถเข้าถึงหลักประกันความปลอดภัยในการทำงานของแรงงานข้ามชาติ แม้รัฐไทยจะสร้างกลไกในการลดความเสี่ยงในการได้รับความคุ้มครอง เมื่อแรงงานประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน ผ่านกองทุนเงินทดแทน แต่แรงงานข้ามชาติเหล่านี้กลับไม่สามารถเข้าถึงได้ เนื่องจากมีข้อกำหนดที่ปิดกั้นเอาไว้ แม้กระทั่งกระบวนการยุติธรรมที่เป็นความหวังของประชาชน ดังเช่น ศาลปกครอง ก็ไม่สามารถเอื้อมมือเข้ามาคุ้มครองแรงงานข้ามชาติได้แม้แต่น้อย

อีกด้านหนึ่งวิกฤติเศรษฐกิจที่ก่อตัวขึ้นระดับโลกได้สร้างผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานทั้งระบบ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจทำให้กระบวนการจ้างแรงงานเกิดความไม่มั่นคง หลายกิจการเลือกใช้ช่องทางการเลิกจ้าง เพื่อลดความเสี่ยงของผู้ประกอบการ โดยไม่ใส่ใจต่อความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงาน

เมื่อเกิดภาวการณ์ตกงานของแรงงาน สิ่งหนึ่งที่รัฐทั้งหลายในโลกนี้นิยมทำ คือ การหาแพะรับบาปต่อวิกฤติที่เกิดขึ้น ซึ่งมักจะเป็นแรงงานข้ามชาติที่เข้าไปทำงานในประเทศนั้นๆ

            ในหลายประเทศจะมีนโยบายกีดกัน และผลักดันให้แรงงานข้ามชาติออกจากกระบวนการจ้างงาน เพื่อให้เกิดภาพว่าได้ดำเนินการจัดหางานให้กับแรงงานของตนเองที่ตกงานแล้ว และสร้างภาพให้แรงงานข้ามชาติ เป็นเสมือนภัยคุกคามการมีงานทำของแรงงานในประเทศ ภาวะดังกล่าวยิ่งทำให้แรงงานข้ามชาติถูกเพิกเฉย หรือไม่ได้รับการคุ้มครองจากกลไกที่มีอยู่ เนื่องจากทัศนคติในแง่ลบที่ได้ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ต้น

ในขณะเดียวกันสังคมก็ได้หลงลืมไปว่า เราได้ละเลยการสร้างความมั่นคงในกระบวนการจ้างงาน และความยั่งยืนของกระบวนการคุ้มครองแรงงานทั้งระบบด้วยเช่นกัน

ภาวะความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ จึงเป็นเรื่องทางเทคนิคที่มีแรงงานข้ามชาติเข้ามาแย่งงานแรงงานไทย โดยไม่ได้ไถ่ถามถึงความรับผิดชอบของผู้ประกอบการที่จ้างแรงงาน ไม่ได้ไถ่ถามถึงนโยบายที่ยั่งยืนในเรื่องการสร้างความมั่นคงของผู้ใช้แรงงาน หลงลืมความล้มเหลวของระบบตาข่ายนิรภัยทางสังคม (Social Safety Net) ที่ไม่ได้ทำหน้าที่รองรับผู้ใช้แรงงานในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่ล้มเหลว แต่กลับสร้างภาวะความขัดแย้งในกลุ่มผู้ใช้แรงงานขึ้นมาเพื่อหลีกหนีความรับผิดชอบของตนเอง

ดังนั้นในวันแรงงานข้ามชาติสากลปีนี้ เราจึงส่งเสียงและเรียกร้องว่า

ในห้วงเวลาที่แรงงานข้ามชาติได้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก แต่การย้ายถิ่นอย่างปลอดภัยยังถูกทิ้งเอาไว้อยู่เบื้องหลัง โดยเฉพาะแรงงานกลุ่มชายขอบที่ขาดอำนาจการต่อรองทางการเมือง การคุ้มครองแรงงาน และสิทธิมนุษยชนได้ถูกทำให้สิ้นสุดลง ขณะเดียวกันก็กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ที่รัฐต่างๆจะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ ต่อการสร้างความมั่นคงของผู้ใช้แรงงานทั้งหมด

ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังคืบคลานเข้ามา ผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกมาโดยตลอด ต้องประกาศร่วมกันว่า แรงงานจะต้องมาก่อน พวกเราไม่ว่าจะเป็นแรงงานจากแห่งหนไหน จะต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิและมีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสม โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติใดๆทั้งสิ้น

รัฐไทยจะต้องสร้างกลไกในการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่แรงงานข้ามชาติจะสามารถ เข้าถึงได้จริง ยกระดับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ให้ทำหน้าที่สมกับเป็นกฎหมายเพื่อผู้ใช้แรงงานทั้งหมดอย่างแท้จริง มิใช่เพียงถ้อยคำในกฎหมายที่ปราศจากความศักดิ์สิทธิ หรือเป็นเกราะป้องกันได้แต่เพียงชื่นชมความสวยงาม แต่ป้องกันอันตรายใดๆมิได้เลย ขณะเดียวกันก็จะต้องส่งเสริมและผลักดันให้แรงงานทุกคนสามารถก่อตั้งสหภาพแรง งาน ที่เป็นเสมือนเครื่องมือในการช่วยปกป้องสิทธิของตัวแรงงานเอง โดยจะต้องเปิดให้แรงงานข้ามชาติสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานของตนเองได้

รัฐไทยจะต้องทำให้แรงงานทุกคนสามารถเข้าถึงหลักประกันทางสังคมที่จะทำให้ช่วยให้แรงงานและครอบครัวรวมถึงแรงงานข้ามชาติ จะมีหลักประกันทั้งทางสุขภาพ การศึกษา และความปลอดภัยในชีวิต รวมถึงสามารถมีเสรีภาพในการเดินทางตามที่มนุษย์คนหนึ่งพึงจะได้รับ

รัฐไทยจะต้องเปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยอย่างถูกต้องเพื่อสร้างหลักประกันในการทำงานอย่างปลอดภัย รวมถึงให้มีการจดทะเบียนแรงงานให้กับพนักงานบริการอพยพ เพื่อที่จะสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบและได้รับความคุ้มครองแรงงานเหมือนกับแรงงานอพยพอื่นๆ

ท้ายที่สุดการใช้นโยบายแนวชาตินิยมเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานในวิกฤติเศรษฐกิจ ไม่ใช่แนวทางการแก้ไขปัญหาที่จะช่วยให้ชีวิตของแรงงานทุกคนดีขึ้นแม้แต่น้อย เป็นเพียงกุศโลบายทางการเมืองที่จะหลีกเลี่ยงการแก้ไขปัญหาที่แท้จริงให้แก่ผู้ใช้แรงงาน นั้นคือความมั่นคงในชีวิตและการทำงานของผู้ใช้แรงงานนั่นเอง

ด้วยความสมานฉันท์

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ

องค์กรและชุมชนแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย

 

หมายเลขบันทึก: 231167เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2008 11:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มาติดตามข่าวคราวค่ะ

เป็นกำลังใจให้นะคะ

...

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท