125 โรงเรียนดัง ขอเลือกแต่เด็กเก่ง.. เด็กเรียนอ่อนที่บ้านอยู่หน้าประตูโรงเรียนไม่มีสิทธิ์เข้าเรียน


ในปี 2552 คือ จะมีนักเรียนที่มีบ้านอยู่ในซอย หรือบ้านอยู่หน้าโรงเรียนมีชื่อเสียง จำนวนหนึ่งสอบเข้าไม่ได้ ต้องเดินทางออกจากซอยในตอนเช้าเพื่อไปเรียนที่อื่น ในทางกลับกัน จะมีนักเรียนเก่ง ๆ จากที่อื่นที่อยู่ห่างไกลหรือต่างจังหวัด จะต้องตื่นแต่เช้า ตี 4 เพื่อเตรียมตัวเดินทางไปเรียนในโรงเรียนดัง ๆ

      อีกครั้งหนึ่งที่ต้องเขียนเรื่อง วิธีการรับนักเรียน หลังจากอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันที่ 23 ธ.ค.2551 ที่ปรากฏข้อมูลจาก สพฐ.ว่า มีโรงเรียนดัง ๆ ที่มีชื่อเสียง เป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมในระดับที่สูงมาก (พร้อมทั้งด้านครู คือ วุฒิครูและจำนวนครู  และ ด้านวัสดุ อุปกรณ์ ซึ่งถ้าเทียบกับโรงพยาบาลก็จะจัดเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือโรงพยาบาลศูนย์ ที่เน้นการรับผู้ป่วยหนัก หรือผู้ป่วยที่รักษายาก)  จำนวน 125 โรง เป็นโรงเรียนในเขต กทม. 12 โรงเรียน ที่เหลือน่าจะเป็นโรงเรียนประจำจังหวัด หรือโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในภูมิภาค โรงเรียนกลุ่มนี้ ได้ใช้วิธีการสอบคัดเลือกแบบ 100 % เพื่อคัดเฉพาะเด็กเก่งเข้าไปเรียน ม.1 กล่าวคือ สอบคัดเลือกเด็กในเขตพื้นที่บริการ 50 % และสอบคัดเลือกทั่วไป 50 %

สภาพการคัดเลือกของโรงเรียนมีชื่อเสียงดังกล่าวข้างต้น จะทำให้เด็กที่เรียนอ่อนต้องแห่ไปรวมตัวกันในโรงเรียนเกรด 2 ซึ่งไม่มีความพร้อม หรือมีความพร้อมน้อยกว่า เป็นการสร้างภาระในการสอนที่หนักอึ้งให้แก่โรงเรียนเหล่านั้น(เด็กพื้นฐานอ่อน และโรงเรียนก็ไม่พร้อม) อีกทั้งภาพที่เราจะเห็นอีกในปี 2552 คือ จะมีนักเรียนที่มีบ้านอยู่ในซอย หรือบ้านอยู่หน้าโรงเรียนมีชื่อเสียง จำนวนหนึ่งสอบเข้าไม่ได้ ต้องเดินทางออกจากซอยในตอนเช้าเพื่อไปเรียนที่อื่น ในทางกลับกัน มีนักเรียนเก่ง ๆ จากที่อื่น เช่น ถ้าเป็นโรงเรียนใน กทม. ก็จะมีนักเรียนจาก  ราชบุรี สุพรรณบุรี  สมุทรสงคราม  นครปฐม  ที่สอบคัดเลือกเข้าเรียนในโรงเรียนดัง ๆ ในกรุงเทพฯ ได้ นักเรียนเหล่านี้จะต้องตื่นแต่เช้า ตี 4 เพื่อเตรียมตัวเดินทางไปโรงเรียนดัง ๆ ใน กทม.(เช่าเหมารถตู้เป็นรายเดือน เพื่อไปโรงเรียน)  การเกิดภาพเช่นนี้ ในทัศนะของผู้เขียนแล้ว เห็นว่า การเลือกเฉพาะเด็กเก่งของโรงเรียนขนาดใหญ่เหล่านี้ ได้สร้างปัญหาทางสังคมตามมา เช่น นักเรียนที่ผู้ปกครองยากจน แม้จะอยู่ใกล้โรงเรียนที่มีชื่อเสียง ก็ไม่สามารถเข้าเรียนได้ ต้องเดินทางไปเรียนที่อื่น สร้างภาระให้ครอบครัวที่ยากจนอยู่แล้ว  หรือ การที่เด็กนอกเขตพื้นที่ แต่สอบเข้าเรียนได้ ก็ต้องเดินทางไกลมาเรียน สร้างปัญญาจราจร เป็นต้น

 

  ในหลักการ โรงเรียนควรรับผิดชอบต่อสังคมหรือชุมชนที่เป็นที่ตั้งของโรงเรียนมากขึ้น โดยการให้โอกาสนักเรียนในละแวกใกล้โรงเรียนได้เข้าเรียน  โรงเรียนที่มีชื่อเสียงทุกโรงจะต้องกำหนดสัดส่วนที่พอเหมาะในการรับนักเรียน จะต้องให้โอกาสกับเด็กในรัศมี 500-1000 เมตร ที่อยู่ใกล้โรงเรียนได้เข้าเรียน  จริง ๆ แล้ว ถ้าทุกโรง รับเด็กในเขตพื้นที่บริการร้อยละ 60-70 แล้วสอบคัดเลือกทั่วไปสัก 30-40 % น่าจะเป็นสัดส่วนที่เหมาะสม โดยโรงเรียนต้องมั่นใจในฝีมือการสอนของครู ครูเราต้องสอนได้ทั้งเด็กเก่ง ปานกลาง และ อ่อน(สมัยหนึ่ง โรงเรียนสาธิตต่าง ๆ ได้พยายามรับเด็กแบบคละความสามารถเพื่อทดลองวิธีสอนที่เหมาะสมตามสภาพเด็ก   ปัจจุบัน ไม่แน่ใจว่า เลิกระบบนี้หมดหรือยัง  ถ้าเลิกไปหมดแล้ว ก็แสดงว่า ทกลองสอนแล้วไม่ได้ผล) “อย่าคิดว่า ครูโรงเรียนดัง ๆ จะมีความสามารถสอนได้เฉพาะเด็กเก่ง เป็นการดูถูกฝีมือกันเกินไป”

ในการประเมินคุณภาพผู้เรียนในโรงเรียนที่คัดเลือกแบบ 100 % ควรมีการตรวจสอบว่า โรงเรียนเหล่านี้ มีผลสัมฤทธิ์สูง ติดในกลุ่ม 4 % แรกของประเทศหรือไม่(อยู่ในส่วนหัวของโค้งปกติ  Normal Curve หรือไม่) ถ้าไม่ติด แสดงว่า เรารับเด็กเก่งมาแล้ว เราไม่สามารถสร้างให้เขาอยู่ในระดับเดิมได้ แถมยังทำให้เขาตกต่ำลงกว่าเดิม  ยิ่งถ้าผลสัมฤทธิ์ในโรงเรียนเหล่านี้ สูงพอ ๆ กับโรงเรียนที่จับฉลาก 50 %  แสดงว่าฝีมือการสอนของเรา สู้เขาไม่ได้(ทั้ง ๆที่เขารับเด็กเรียนอ่อนเข้ามาเรียนด้วย)

 เราจัดการศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน  ให้โรงเรียนตัดสินใจเอง(โดยคณะกรรมการสถานศึกษา) ในปีนี้ ถ้าเราตัดสินใจไปแล้ว ก็แล้วไป แต่...ถ้าแก้ไขได้ทัน จะเป็นการดียิ่ง  ผมอยากเห็น  โรงเรียนดัง ๆ ให้โอกาสเด็กในเขตพื้นที่บริการ ร้อยละ 60-70 ได้เข้าเรียนโดยจับฉลาก  แล้วเรามาทดลอง หรือพัฒนาวิธีสอนที่เหมาะสมกับเด็กที่เข้ามาเรียนแบบคละความสามารถเหล่านี้ ...มันท้าทายความสามารถมากๆ เพื่อพิสูจน์ว่า  “เด็กเกรด C ถ้าเจอครูเกรด A++   เด็กเหล่านั้นก็สามารถก้าวสู่ระดับ B หรือ A ได้”

 

หมายเลขบันทึก: 231344เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2008 09:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 06:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

สวัสดีครับ

    เรื่องการรับรักเรียน   ขออนุญาตเสนอมุมมองที่แตกต่างครับ ( เป็นมุมมองส่วนตัวของผมเองครับ  ไม่ยืนยันว่าถูก)

    ผมมีความคิดว่า (เป็นเพียงความคิด ครับ ไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้อง)

   น่าจะสอบเด็กร้อยเปอร์เซ็นต์เลยครับ   เพราะ

    1. มุมมองว่าด้วยความเสมอภาค  และ ความเสมอภาคตามมุมมองของผมเอง ผมมีมุมมองความเสมอภาคตามศักยภาพของแต่ละบุคคลครับ  เป็นความเสมอภาคในเชิงคุณภาพ  นั่นคือ เด็กที่มีความสามารถ ต้องได้เข้าโรงเรียนที่เหมาะสมกับความสามารถของเขา  เด็กเก่งควรต้องได้รับการพัฒนาให้เหมาะกับความเก่งของเขา ผมมองความเสมอภาคอย่างนี้ครับ

    2. เรื่องการจับฉลาก  ยังไงก็ต้องมีเด็กที่จับฉลากเข้าไม่ได้ครับ  เด็กที่อยู่ข้างโรงเรียน อาจจับฉลากไม่ได้ก็เป็นไปได้

    3. การจับฉลาก เด็กเก่งอาจต้องหลุดไปเรียนที่อื่น แทนที่เขาจะได้รับการพัฒนาตามศักยภาพอย่างเต็มที่ เขากลับต้องล้าหลัง ไม่มีความเสมอภาคในการได้รับการพัฒนา

    4. การจับฉลาก อาจเกิดปัญหาเด็กเรียนไม่จบพร้อมเพื่อนครับ  คือ เด็กไม่เก่งไปเรียนรวมกับเด็กเก่ง ตามไม่ทัน  เลยท้อแท้ ถดถอย เรียนไม่จบรุ่นพร้อมเพื่อน  กรณีนี้ มีข้อมุลยืนยันครับ

     เป็นความคิดเห็นส่วนตัวครับ อาจไม่เป็นเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ต้องขออภัยด้วยครับ

                                    ขอบคุณครับ

ทำไมต้องคัดเด็กเรียนไปเรียนกับเด็กเก่ง ทำไมไม่พัฒนาเด็กไม่เก่งให้เก่งบ้างครับ

ท่าน small man~natadee

  • ขอบคุณครับ ที่ร่วมแสดงความคิดเห็น เป็นมุมมองที่น่าสนใจ
  •  ปัญหาเกิดขึ้นในการศึกษาภาคบังคับนะครับ เราบังคับให้เขาต้องส่งลูกเข้าเรียน แต่พอเขามาสมัคร เพราะบ้านอยู่ใกล้โรงเรียน เรากลับขอคัดเลือกก่อน(เพราะโควต้ามีจำกัด)
  • ในความเห็นของผม เด็กในรัศมีใกล้โรงเรียน 500-1000 เมตร ควรได้รับโอกาสเข้าเรียนก่อน เพื่อลดปัญหาการเดินทาง ปัญหาค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ ในรัศมีใกล้วงรอบที่สอง ควรใช้วิธีการที่ให้โอกาสแบบเท่าเทียมกัน(การจับฉลากเป็นวิธีการทางสถิติที่มีโอกาสความน่าจะเป็นเท่าเทียมกัน)
  • ในวงรอบรัศมีที่ 3 "นักเรียนทั่วไป" ใช้วิธีสอบคัดเลือก เด็กเก่งที่บ้านอยู่ใกล้โรงเรียน แม้จะพลาดการจับฉลาก ก็ไม่มีปัญหา เขาน่าจะสามารถผ่านเข้ามาทางระบบสอบคัดเลือกได้
  • ในกรณีที่เด็กเรียนอ่อนต้องเข้าไปเรียนร่วมกับเด็กเก่ง ตรงนี้ เป็นความสามารถของผู้สอนครับ ที่ต้องคิดหาวิธีสอนที่เหมาะสม ไม่ควรสอนแบบเดียวกับเด็กเรียนเก่ง...แน่นอน การสอนจะยากขึ้นอีกหลายเท่าตัว..ครูที่สอนเด็กแบบคละความสามารถ ต้องเป็นครูที่ยอดเยี่ยม เพราะ "ยากกว่าการสอนเด็กเก่งแบบยกห้อง"
  • จริง ๆ แล้ว ในวิชาชีพครูเรา ต้องทดลองพัฒนาวิธีการต่าง ๆ ตลอดเวลา ดูที่ Academy http://gotoknow.org/blog/sup001/228907

คุณ ฤทธิชัย

  • "ทำไมไม่พัฒนาเด็กไม่เก่งให้เก่งบ้างครับ"  เป็นคำถามที่ท้าทายวิชาชีพครูนะครับ คุณฤทธิชัย
  • ครูที่สอน "เด็กอ่อน(เกรด C)"  แล้วกลายเป็น "เด็กเก่ง(เกรด B หรือ A)"  เขาคือ "ครู เกรด A++"
  • ครูที่สอนเด็กเก่งอยู่แล้ว(เกรด A) แล้วยังเก่งอยู่ ...คือ ครูธรรมดา ครับ
  • เรื่องนี้คงเถียงกันไปถึงไปการศึกษาหน้า ก็ยังไม่จบต้องต่อปี 53 มั้งคะ
  • หากกำลัง พูดถึง"เด็กเก่ง"  ในสายตาของครู ๆ และสังคมไทย  ดังนั้น ควรนิยามด้วย
  • ว่า  เด็กเก่ง คือ เด็กที่มีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง ? 
  • ใช่  "เรียนดี แต่เอาตัวไม่รอด ฆ่าตัวตายเมื่อคะแนนน้อยไปนิด  ใครขัดใจไม่ได้  มีพฤติกรรมเห็นแก่ตัว  หรือว่า ไม่มีสัมพันธภาพกับเพื่อนฝูงเลย, อย่างนั้นหรือเปล่า  ที่ครู ๆ และสังคมทั้งไทย ต่างยื้อแย่งกันจะรับเด็กเก่ง พวกนี้เข้าเรียน ? "

คุณ จิด้า

  • เห็นด้วยครับว่าต้องนิยาม "เด็กเก่ง" (โดยทั่วไป ดูที่ความรู้ ความสามารถ) หรือ "เด็กดี"(ดูที่คุณลักษณะด้านจิตใจ หรือ การประพฤติ)

ผมไม่เห็นด้วยกับวิธีคัดเด็ก ด้วยการสอบ ต้องให้โอกาสเด็กทุกคน โดยเฉพาะการเรียนโรงเรียนใกล้บ้านจะไม่ก่อปัญหาทางสังคม เช่นค่าใช้จ่าย รถติด และอื่น ๆ อีกมาก ตามกฎหมายบอกว่าเด็กทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ ถ้าครูแน่จริงต้องสอนเด็กอ่อนให้เป็นเด็กเก่ง และสอนเด็กที่มีความสามารถแตกต่างกันภายในห้องได้นี่คือครูมืออาชีพ ทุกวันนี้โรงเรียนยอดนิยม ไม่ได้สอนเด็กให้เป็นคนเก่ง เพราะเด็กที่มาเรียนถูกคัดหรือเรียกว่าหัวกะทิ เด็กมีทุนเดิมคือความเก่ง และเด็กกลุ่มนี้ก็ไปเรียนพิเศษนอกโรงเรียนหมด ถ้าครูเก่งจริงต้องแสดงออกซึ่งนวัตกรรมในการสอนที่มากมายออกมาสู่สารรณะชนแล้ว ครับ

สวัสดียามเช้าค่ะ ขอให้มีความสุขค่ะ

ท่าน ยืนยง

  • ขอบคุณมากครับ ที่เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น
  • ก็รอความหวังว่า เมื่อไหร่โรงเรียนไทย จึงจะกล้าและก้าวหน้าในความสามารถด้านการสอน อย่างที่อาจารย์กล่าวถึง
  • ผมเอง อยากให้โรงเรียนดัง ๆ รับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการประมาณ 70 % ทุกคนจะได้มีที่เรียน
  • ดิฉันเห็นด้วยกับการไม่สอบคัดเลือก  เด็กควรได้เรียนโรงเรียนใกล้บ้าน 
  • หลายปีก่อนกระทรวงศึกษาธิการพยายามเดินตามนี้  ตอนนี้ซาๆ ไปแล้ว  เปิดโอกาสให้โรงเรียนคัดเด็กเก่งในสัดส่วนที่มากขึ้น  น่าจะเดินตามทางเดิม  แต่ไปพัฒนาครูให้สามารถสอนเด็ก "ไม่เก่ง" ให้ "เก่ง"
  • ดิฉันเชื่ออย่างหนึ่งว่า  ถ้าครูมี "วิธีสอน" ที่ถูกปรับให้เหมาะกับเด็กแต่ละกลุ่ม  แต่ละคน  จะช่วยให้เด็กๆ เรียนอย่างมีความสุข  และ เขาจะรักที่จะเรียน  เด็กไม่จำเป็นต้อง "เรียนเก่ง" ทุกคน
  • ดิฉันเชื่อว่า  เด็กทุกคนเรียนรู้ได้เท่ากัน  ต่างกันที่เวลาสำหรับการเรียนรู้  และวิธีการ ที่ครูใช้
  • ดิฉันขัดใจโรงเรียน "อภิสิทธิ์" บางโรงที่คัดเอาครีมของโรงเรียนอื่นไปอยู่ที่ตัวเอง  กลายเป็นโรงเรียนของตัวเองเป็นโรงเรียนชั้นเลิศ  ลูกชายดิฉันตอนเรียนมัธยม  เคยพูดว่า  "เด็กเก่งมันเรียนของมันเอง  ครูไม่ต้องสอนยังได้แม่  ครูน่าจะไปทุ่มเวลามากๆ กับเด็กอ่อน"  ลูกพูดแบบนี้  และยังวิเคราะห์วิจารณ์โรงเรียนอีกมากมายค่ะ
  • เชื่อแบบนี้จริงๆ มิได้เขียนมาให้สวยหรู
  • ดิฉันสนใจประเด็น "จัดเด็กเก่งเรียนรวมกับเด็กอ่อน"  นักจิตวิทยา จิตแพทย์เชื่อว่า  เป็นการดีที่เด็กๆ จะได้ช่วยกัน  แต่ดิฉันไม่เห็นด้วยค่ะ  ขอความเห็นเรื่องนี้ด้วยค่ะ

เรียน คุณ nui

  • ขอชื่นชมในความคิดของท่าน และของลูกชาย นะครับ
  • ผมเชื่อเช่นเดียวกับท่าน  และเคยช่วย ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ ขณะเป็นอธิบดีกรมสามัญ ในการศึกษา ค้นคว้า และพัฒนากระบวนการรับนักเรียนในเขตพื้นที่ และช่วยต่อในสมัย อธิบดี บรรจง พงศ์ศาสตร์ ก้าวมาถึง "การรับเด็กในเขตพื้นที่ใกล้โรงเรียนร้อยละ 60"  แต่ต่อมานโบบายเรื่องนี้ก็เปลี่ยนไป โรงเรียนหันมาใช้กระบวนการสอบคัดเลือกมากขึ้น "เน้นเลือกเด็กเก่ง"
  • ในกรณีของการรับเด็กแบบคละความสามารถ ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของครู และฝึกให้เด็กอยู่ร่วมกัน ช่วยเหลือกัน เป็นสิ่งที่น่าทดลอง  ท่านลองอ่านเรื่อง Academy ที่http://gotoknow.org/blog/sup001/228907 นะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท