เทคนิคการใช้ผังกราฟิก (graphic organizer)


เทคนิคการใช้ผังกราฟิก (graphic organizer)

เทคนิคการใช้ผังกราฟิก เป็นเทคนิคที่พัฒนาต่อเนื่องมาจากการจัดโครงสร้างความคิดล่วงหน้าตามทฤษฎีการเรียนรู้อย่างมีความหมาย (meaningful learning theory) ของเดวิด อูซูเบล (David P. Ausubel) นักจิตวิทยาอเมริกัน ที่เสนอการจัดโครงสร้างความคิด หรือโครงสร้างภาพรวมล่วงหน้า (presenting first) เพื่อใช้สำหรับอ่านและทำความเข้าใจเนื้อหาจากตำรา หลังจากนั้นมีแผนภาพแบบต่างๆเกิดขึ้นมากกว่า 20 ชนิด รวมทั้งโครงสร้างภาพรวมที่นำมาใช้ทำความเข้าใจบทความที่มีความยาวมากๆ โดยนำเสนอข้อมูลในรูปไดอะแกรม และรูปภาพต่างๆ

ทฤษฎีของอูซูเบลเป็นทฤษฎีที่หาหลักการอธิบายการเรียนรู้ที่เน้นการเชื่อมโยงความรู้ที่ปรากฏในหนังสือที่โรงเรียนใช้กับความรู้เดิมที่อยู่ในสมองของผู้เรียนในโครงสร้างสติปัญญา(cognitive structure) หรือการสอนโดยวิธีการให้ข้อมูลข่าวสาร เขาเรียกทฤษฏีนี้ว่าทฤษฏีการเรียนรู้อย่างมีความหมาย( meaningful verbal learning)” โดยนิยามว่าเป็นการเรียนที่ผู้เรียนได้รับมาจากการที่ผู้สอน อธิบายสิ่งที่จะต้องเรียนรู้ให้ทราบและผู้เรียนรับฟังด้วยความเข้าใจ โดยผู้เรียนเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งที่เรียนรู้กับโครงสร้างภาพรวมที่ได้เก็บไว้ในความทรงจำ และจะสามารถนำมาใช้ในอนาคต

อูซูเบลมองว่าในสมองของมนุษย์มีการจัดความรู้ต่างๆ ที่ได้เรียนรู้อย่างมีระบบ โครงสร้างทางปัญญาซึ่งมีการจัดลำดับความสัมพันธ์เชื่อมโยงจากความคิดรวบยอด (concept) ที่กว้างและครอบคลุมลงมาจนถึงความคิดรวบยอดย่อยๆ ที่มีความเฉพาะเจาะจง ดังนั้นการเรียนรู้ที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงควรจะต้องเป็นการเรียนรู้อย่างมีความหมายที่ผู้เรียนสามารถนำการเรียนรู้ใหม่เข้าไปเชื่อมโยงกับความรู้เดิมหรือความคิดรวบยอดที่มีอยู่แล้ว โดยความรู้ใหม่ที่ได้เรียนรู้อย่างมีความหมายจะถูกเก็บไว้ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง อันเป็นผลจากการดูดซึมกับความรู้เดิมที่มีอยู่และจะช่วยขยายความรู้เดิมหรือมโนทัศน์เดิมที่มีอยู่แล้ว ทั้งนี้การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ถ้าในการเรียนรู้สิ่งใหม่นั้นผู้เรียนมีพื้นฐานที่เชื่อมโยงเข้ากับความรู้เดิมได้ ซึ่งจะทำให้การเรียนรู้สิ่งใหม่นั้นมีความหมาย ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้ได้จากการรับข้อมูลข่าวสารหรือเกิดจากการค้นพบด้วยตนเอง และวิธีเรียนนั้นอาจจะเป็นการเรียนรู้อย่างเข้าใจและมีความหมาย หรือการเรียนรู้แบบท่องจำโดยไม่ใช้ความคิด ซึ่ง อูซูเบล แบ่งการเรียนรู้เป็น ๔ ประเภทคือ การเรียนรู้ด้วยการรับอย่างมีความหมาย (meaning reception learning), การเรียนรู้ด้วยการท่องจำโดยไม่ใช้ความคิด (rote reception learning), การเรียนรู้ด้วยการค้นพบอย่างมีความหมาย (meaningful discovery learning) และการเรียนรู้ด้วยการค้นพบแบบท่องจำโดยไม่ใช้ความคิด (rote discovery learning)[1]

อูซูเบลยังได้เสนอแนะเกี่ยวกับเทคนิค การจัดการล่วงหน้า (advance organizer)” หรือก็คือการแนะนำรายวิชาก่อนเรียนนั่นเอง ซึ่งเป็นเทคนิคที่ช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีความหมายจากการสอนหรือบรรยายของครู โดยการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างความรู้ที่มีมาก่อนกับข้อมูลใหม่ หรือความคิดรวบยอดใหม่ ที่จะต้องเรียน จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมายที่ไม่ต้องท่องจำ หลักการทั่วไปที่นำมาใช้ คือ

๑.      การจัด เรียบเรียง ข้อมูลข่าวสารที่ต้องการให้เรียนรู้ ออกเป็นหมวด

๒.     นำเสนอกรอบ หลักการกว้างๆ ก่อนที่จะให้เรียนรู้ในเรื่องใหม่

๓.     แบ่งบทเรียนเป็นหัวข้อที่สำคัญ และบอกให้ทราบเกี่ยวกับหัวข้อสำคัญที่เป็นความคิดรวบยอดใหม่ที่จะต้องเรียน

อูซูเบลมองว่า การจัดการล่วงหน้านี้มีความสำคัญมากเพราะเป็นวิธีการสร้างการเชื่อมช่องว่างระหว่างความรู้ที่ผู้เรียนได้รู้แล้ว (ความรู้เดิม) กับความรู้ใหม่ที่ได้รับ ผู้สอนควรจะใช้เทคนิค การจัดการล่วงหน้า ช่วยผู้เรียนในการเรียนรู้ทั้งประเภทการรับอย่างมีความหมายและการค้นพบอย่างมีความหมาย เนื่องด้วยทฤษฏีของเขาเน้นความสำคัญของการเรียนรู้อย่างมีความเข้าใจและมีความหมาย การเรียนรู้เกิดขึ้นเมื่อผู้เรียนได้เรียนรวมหรือเชื่อมโยง (subsume) สิ่งที่เรียนรู้ใหม่หรือข้อมูลใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นความคิดรวบยอด(concept) หรือความรู้ที่ได้รับใหม่ในโครงสร้างสติปัญญากับความรู้เดิมที่อยู่ในสมองของผู้เรียนอยู่แล้ว ทฤษฎีของอูซูเบลบางครั้งจึงเรียกว่าทฤษฏีเชื่อมโยงความรู้ (subsumption theory)”[2]

         ทฤษฏีของอูซูเบลถูกพัฒนาจนกลายเป็นสื่อทางการเรียนการสอนที่เรียกว่า โครงสร้างภาพรวม (presenting first or structure overview)” ต่อมาได้รับความนิยมเรียกเป็นผังกราฟิก(graphic organizer)” หรือ GO ซึ่งได้รับความนิยมในการใช้เป็นเครื่องมือจัดการกิจกรรมการเรียนรู้ โจเซฟ โนวัค (Joseph Donald Novak) ได้พัฒนารูปแบบจนกลายเป็นผังความคิดรวบยอด (concept mapping)” ซึ่งทำให้การเรียนการสอนด้วยผังกราฟิกได้รับความนิยมอย่างมาก ซึ่งในแวดวงการศึกษาในปัจจุบันผังกราฟิกจึงคือ เครื่องมือช่วยแสดงความคิดให้ออกมาเป็นรูปธรรมในลักษณะของภาพ โดยสื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันของเนื้อหาหรือข้อมูลที่ได้รับ ซึ่งผังกราฟิกมีหลายรูปแบบ ผู้ใช้สามารถเลือกใช้หรือสร้างขึ้นเองได้ตามความสะดวกและเหมาะสมกับการใช้งาน ซึ่งในปัจจุบันก็มีผู้ที่มีชื่อเสียงขึ้นมาจากการสร้างผังกราฟิกขึ้นมาช่วยในการคิดในเรื่องต่างๆ เช่นโทนี บูซาน (Tony Buzan), โจเซฟ โนวัค (Joseph D. Novak) เป็นต้น[3]



[1] Mental Model Theory” at http://tip.psychology.org/models.html  and “Subsumption Theory  (D. Ausubel)” at  http://tip.psychology.org/ausubel.html

[2] ทฤษฎีการเรียนรู้อย่างมีความหมายของ ออซูเบล” at  http://ednet.kku.ac.th/~sumcha/2545/nong/ausubel.html การเรียกว่า subsumption theory โปรดดูSubsumption Theory  (D. Ausubel)” , ibid.

[3] บูซานดูจะโด่งดังในโลกตะวันตกมากพอดู ดู http://www.buzanworld.com ส่วนโนวัคจะเป็นลักษณะเชิงวิชาการมากกว่า ดู Joseph D. Novak & Alberto J. Cañas, “The Theory Underlying Concept Maps and How to Construct and Use Them” at http://cmap.ihmc.us/Publications/ResearchPapers/TheoryCmaps/TheoryUnderlyingConceptMaps.htm

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา
หมายเลขบันทึก: 237842เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2009 01:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เยี่ยมค่ะ ครูอ้อย เรียนรู้มานิดหน่อยเรื่องนี้ และนำมาสอนนักเรียนในเรื่อง thinking maps ค่ะ

ข้อมูลดีจังค่ะ กำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่อยากลองนำมาใช้ในชีวิตจริงบ้าง

เป็นข้อมูลที่ดีมากค่ะ กำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่

เป็นข้อมูลที่น่าสนใจ กำลังศึกษาอยู่ ว่าสิ่งที่ปฏิบัติอยู่แล้ว ใช่หรือไม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท