การเมืองเรื่องสุนทรียะ ของ รองสิแยร์ ๓


ที่ยกมานี้นอกจากจะชี้ให้เห็นได้ถึงความใกล้เคียงกันทางความหมายของทั้งสองคำนี้ แต่กระนั้นก็ต้องกล่าวก่อนด้วยว่าในโลกภาษาอังกฤษนั้น ‘instruction’ มีความหมายที่สำคัญรองลงมาจาก ‘education’ และโดยตัวคำศัพท์นั้นมีนัยว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความรู้ที่ถูกคัดกรองโดยผู้ที่รู้หนังสือเพื่อที่จะสอนสั่งผู้ไม่รู้หนังสือ ในขณะที่ ‘education’ นั้นได้รับสืบทอดความหมายจากภาษาละตินคือ educere(; เอ ดู เซ เร) ที่มีนัยถึงการฟูมฟัก, การชี้นำ, และการเลี้ยงดู ที่มีนัยไปถึงการที่มนุษย์ถูกสอนแล้วปรับความรู้นั้นให้เข้ากับโลกรอบๆตัว[1] การศึกษาในความหมายแบบนี้จึงแสดงให้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่าง ผู้มาก่อน(ancestors)และ ผู้มาทีหลัง”(descendents)อย่างชัดเจน นัยเช่นนี้ความรู้นั้นจึงควรถูกสอนทั้งหมดที่มีแล้วปล่อยให้เด็กนั้นนำมาปรับใช้เอาเอง ดังนี้แล้วจึงสามารถแบ่งกระบวนการทางความรู้ที่เกิดกับมนุษย์ได้อย่างน้อย 2 ข้อ คือ ข้อแรก มนุษย์ถูกสอนความรู้ และ มนุษย์ปรับความรู้ ซึ่งทั้งสองกระบวนการเป็นไปเพื่อ มนุษย์เข้ากันได้กับโลกรอบๆตัว [2] ในกรณีที่มนุษย์ที่มีอารยธรรมทางสังคมต้องดำรงอยู่ในสังคมการเมืองแล้วนั้น โลกรอบๆตัว ก็คือ สังคมการเมือง นี่จึงพาไปสู่ข้อสมมติฐานได้ว่า สังคมการเมืองนั้นคือผู้อยู่หลังม่านของการฟูมฟัก, ชี้นำ, และเลี้ยงดูมนุษย์ในสังคมการเมืองผ่านตัวแทนหรือสถาบันที่สังคมการเมืองไว้วางใจเพียงพอ เช่นที่เพลโตมองว่า ความรู้ ว่าด้วย แบบ นั้นเป็นสิ่งสำคัญในการสรรสร้างสังคมการเมืองที่ ดี และความรู้ที่ผ่านการคัดกรองจากนครด้วยมาตรฐานที่ ดี เช่น กฎหมาย และ จารีตประเพณีจะมีประสิทธิภาพ และประสิทธิพลผ่านระบบการศึกษาที่มุ่งหวังในการสร้างสมาชิกในสังคมให้เหมาะสมกับธรรมชาติของชีวิตในสังคมการเมือง แต่กระนั้นการศึกษานั้นก็สมควรที่จะคำนึงถึงขอบเขตของชนชั้น เนื่องด้วยความรู้แต่ละ แบบ นั้นก็เหมาะสมและสำคัญต่อแต่ละชนชั้นต่างกันไป สำหรับเพลโตแล้วมนุษย์จึงสำคัญน้อยกว่าสังคมการเมือง เช่นนั้นแล้วจึงหมายความต่อไปได้ว่า การศึกษานั้นมีหน้าที่ในการจำกัด/ครอบงำความรู้ของสมาชิกของแต่ละชนชั้นในสังคมการเมืองทว่าในช่วงกระแสมนุษยนิยม(Humanism) มีการมองการศึกษาที่แตกต่างออกไป การศึกษาถูกมองว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้มนุษย์มีชีวิตที่ ดี ในสังคม ความรู้จึงไม่ได้ถูกสร้างเพื่อตอบสนองความมั่นคงสังคมการเมืองเป็นหลัก ในทางกลับกันกลับเชื่อว่าหากความรู้ที่ดี สร้างมนุษย์ที่ดี สุดท้ายก็จะได้ได้สังคมการเมืองที่ดี อันจะก่อให้เกิดชีวิตทางการเมืองที่ดีตามมาเอง การศึกษาจึงเป็นการปลดปล่อยมนุษย์ออกจากค่านิยม, จารีตประเพณีเดิมๆของสังคมการเมือง กระนั้นขณะเดียวกันการศึกษานั้นก็เป็นเครื่องมือที่สังคมการเมืองจำเป็นต้องควบคุมและต้องใช้ในการสร้างสมาชิกของสังคมการเมืองที่ตอบสนองต่อรูปแบบของสังคมการเมืองแบบรัฐ-ชาติ(Nation-State)ที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วงเวลาใกล้ๆกันด้วย ดังนั้นมนุษย์จึงถูกการศึกษา พัฒนา ให้กลายเป็นพลเมืองไปพร้อมๆกับมนุษย์ที่สมบูรณ์[3] แต่แน่นอนหากเป็นภาษาของรองสิแยร์แล้วนี่คือตัวอย่างของตรรกะของการตรวจตรา/ตำรวจที่ชัดเจนยิ่ง

วิวาทะระหว่างฝ่ายที่เสนอให้มองการศึกษาแบบ educere ที่กล่าวว่านี่เป็นการศึกษาที่เป็น การศึกษา ที่กลับไปสู่รากเหง้า ในขณะเดียวกันฝ่ายที่เห็นว่าอย่างไรเสียการศึกษาก็เป็นไปได้แต่ในทาง instruction นั้นเพราะการ educere เองสุดท้ายก็ไม่ได้หลุดไปจากความพยายามในการสร้างให้ผู้รับการศึกษารับรู้แต่เฉพาะสิ่งที่สังคมเห็นว่าดี เห็นว่าเหมาะสมอยู่ดี วิวาทะระหว่างนักการศึกษา 2 ฝ่ายนี้สืบทอดมาตั้งแต่ช่วง ศ.ต. ที่ 18 ตอนปลายก็ยังไม่มีข้อสรุป แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้คือผลจากวิวาทะทั้งสองฝ่ายได้ช่วยพัฒนาฐานคิดในเรื่องการจัดการการศึกษาในทางการเมืองในเวลาต่อมาเป็นอย่างมากทีเดียว[4] การถกเถียงในเรื่องการศึกษาในหมู่นักการศึกษาจึงสามารถสนับสนุนความคิดของรองสิแยร์ได้อย่างชัดเจน เห็นได้ว่าการที่การศึกษานั้นเกิดมิติขึ้น 2 มิติ คือมิติว่าด้วยการครอบงำ และมิติของการปลดปล่อยนั้น แสดงให้เห็นว่ามีความพยายามของนักการศึกษาที่เชื่อว่าการศึกษาซึ่งเป็นแหล่งที่มาสำคัญของความรู้ของสมาชิกในสังคมการเมือง พยายามนำเอาการศึกษาที่แท้จริง กลับมาแทนการชี้นำ หากพูดด้วยภาษาของรองสิแยร์ก็คือความพยายามในการนำความเป็นการเมือง(the political) กลับมาสู่สิ่งที่ถูกรับรู้ว่า การศึกษา เพราะการศึกษาสิ่งเดียวกันนั้นถูกรับรู้ทั้งในแบบ  educere และ instruction และนั่นทำให้นักวิชาการการศึกษาได้มีโอกาสเข้ามาพูดคุยกันได้ ซึ่งก็เป็นไปเพื่อสรรสร้าง การศึกษา ให้วัฒนาต่อไป

กลับมาสู่สิ่งที่รองสิแยร์เรียกว่า ความเป็นการเมือง นั้น เป็นเรื่องของความไม่ลงรอย(dis-agreement)ตรรกะของการตรวจตรา/ตำรวจ(the police)และการเมือง(politics) [5] ที่ฝ่ายหนึ่งต้องการเก็บกดปิดกั้น และอีกฝ่ายหนึ่งต้องการปลดปล่อย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต่อสู้กับในเรื่องของการรับรู้ในสังคมที่ กล่าวง่ายๆ ความเป็นการเมืองจะเกิดขึ้นทันทีเมื่อมีการตั้งคำถามตามการแบ่งแยกการรับรู้ในเรื่องต่างๆจากส่วนต่างๆที่สังคมกระทำต่อสมาชิกของสังคม ดังนั้นความเป็นการเมืองของรองสิแยร์จึงเป็นพื้นที่แห่งการถกเถียง และพิจารณาด้วยเหตุและผลของสมาชิกในแต่ละภาคส่วนของสังคม ความเป็นการเมืองจึงเป็นพื้นที่แห่งสิทธิของสมาชิกของสังคมการเมืองที่สามารถแสดงออกได้อย่างเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง[6] ซึ่งสิ่งนี้เองที่ความเท่าเทียมจะกลายเป็นความเท่าเทียมที่แท้จริงไม่ใช่ความเท่าเทียมที่ถูกยกมาเป็นข้ออ้างดังที่เคยเป็นอยู่ภายใต้สังคมที่ใช้ตรรกะของการตรวจตรา/ตำรวจ และเมื่อความเป็นการเมืองถูกนำกลับมาสู่การเมือง สังคมที่ไร้การเมืองก็จะกลายเป็นสังคมการเมืองที่สมาชิกในทุกภาคส่วน(parts)สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองการปกครองของตนได้อย่างเต็มที่ ความไม่ลงรอยในทางการเมืองในที่สุดจึงเป็นการสรรสร้างสังคมการเมืองให้เกิดขึ้น และจุดนี้เองจึงจะเป็นการสรรสร้าง ประชาธิปไตย ให้กับชีวิตทางการเมืองของสมาชิกของสังคมการเมืองได้ การเมืองของรองสิแยร์จึงเป็นเรื่องของสุนทรียะในการถกเถียงมากกว่าสยบยอม เป็นเรื่องของการแสดงออกมากกว่าเก็บกดปิดกั้น เป็นเรื่องของการนำเอาผู้ที่ไม่เคยรับรู้ว่าเกี่ยวข้องมาเกี่ยวข้องกัน และเป็นการให้ที่ยืนในสังคมที่มีการเมืองให้กับผู้ที่ไร้ที่ทางในสังคม[7] การเมืองจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับภาษาเพราะนอกจากภาษาจะถูกใช้ไปพร้อมๆกับการแบ่งแยกการรับรู้แล้วนั้น การที่จะสามารถตั้งคำถามกับการแบ่งแยกการรับรู้เองก็ต้องทั้งกระทำผ่านภาษา ทั้งยังต้องใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในทางการเมืองเพื่อต่อกรกับสิ่งที่เคยพูดไม่ได้/คิดไม่ถึงมาก่อน[8]

มีต่อ http://gotoknow.org/blog/iammean/237909

[1] Stanley Leathes. What is Education?. London : G. Bell & Sons Ltd.(1913), p. 1 - 2.

[2] G. B. Clough. A Short History of Education. London : Ralph Holland & CO.(1904), p. 1.

[3] John Dewey, Democracy and Education : an Introduction to the Philosophy of Education. (New York : The Free Press, 1994), p. 81 – 95.

[4] Charles C. Boyles. Story of The National Education. New York · Chicago · Boston : Charles Scribner’s Son, 1919), p. 363 – 373.

[5] Dis-agreement มาจากคำว่า Mésentente แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า dis-census ส่วน police มาจาก la politique/police ขณะที่ politics มาจาก la politique/politique  จึงเห็นได้ว่ารองสิแยร์เองก็มองการเมือง(la politique) เป็น 2 นัย หรือพูดอีกทางหนึ่งคือทั้งตรรกะของการตรวจตรา/ตำรวจ และ การเมืองนั้นต่างเป็นการเมืองทั้งคู่ ซึ่งอยู่ด้วยกันเพียงแต่จะพูดถึง/คิดถึงในลักษณะใด หรือก็คือแม้แต่ตัวการเมือง(la politique) เองก็ต้องถูกเข้าใจผ่านมโนทัศน์เรื่องการแบ่งแยกการรับรู้เช่นกัน

[6] Jacques Rancière, Dis-Agreement, p. 57 - 58.

[7] Jacques Rancière, ibid, p. 89. ในภาษาฝรั่งเศสใช้คำว่า la part des sans-part มีสำนวนแปลว่า the portion of the portionless แปลได้ว่า ส่วนของความไม่เป็นส่วน สำนวนแปลของไชยรัตน์ เจริญสินโอฬารใช้ว่า ส่วนที่ไม่เป็นส่วนทางการเมือง

[8] Solange Guénoun and James H. Kavanagh(interview), ibid, p. 12.

หมายเลขบันทึก: 237908เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2009 12:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 22:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท