Universal Design : การออกแบบสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับทุกคน


คู่มือปฏิบัติวิชาชีพฉบับนี้เป็นการรวบรวม คู่มือปฏิบัติวิชาชีพสำหรับการออกแบบเพื่อทุกคนในประเทศต่างๆ และเอกสาร งานวิจัยในประเทศ นำมาวิเคราะห์หาแนวทางในการจัดทำคู่มือปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม การออกแบบสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับทุกคนที่เหมาะสมกับประเทศไทย เพื่อให้สถาปนิกและบุคลากรที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ในการออกแบบทั้งด้านการออกแบบชุมชนเมือง สถาปัตยกรรม การตกแต่งภายใน และการออกแบบผลิตภัณฑ์ ในสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน สำหรับประชาชนทุกเพศทุกวัย ทั้งเด็ก ผู้หญิง สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และคนพิการ

 

ในรอบเดือนที่ผ่านมา มีโอกาสได้อ่านหนังสือที่ให้ความรู้สึกสุขใจ อิ่มเอมใจอยู่หลายเล่มครับ

หนังสือที่อ่านแล้วทำให้รู้สึกสุขใจ อิ่มเอมใจ มิใช่เฉพาะแต่กลุ่มหนังสือที่บันเทิงคดีหรือกลุ่มหนังสือเมตตาธรรมค้ำจุนโลกเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงกลุ่มหนังสืออื่นใดที่เมื่ออ่านแล้วทำให้คนอ่านหัวใจพองโต อ่านแล้วรู้สึกสุขใจ เห็นความหวังในการเปลี่ยนแปลง

หนังสือที่เพิ่งอ่านจบและอิ่มเอมเล่มล่าสุด เป็นหนังสือวิชาการครับ
ร่าง คู่มือปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม การออกแบบสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับทุกคน (Universal Design Code of Practice) พ.ศ. ๒๕๕๑ โดย สมาคามสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์


อ่าน บางตอนของ
"คำนำ ของคณะผู้จัดทำ" ก็พอจะทราบได้ถึงความเป็นมาและความมุ่งมั่น ดังนี้

คู่มือปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม การออกแบบสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับทุกคน (Universal Design Code of Practice) ได้จัดทำขึ้นตามนโยบายของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเห็นความสำคัญในการประกอบวิชาชีพการออกแบบให้มีมาตรฐาน มีองค์ความรู้ที่ทันสมัยทัดเทียมกันในระดับนานาชาติ

คู่มือปฏิบัติวิชาชีพฉบับนี้เป็นการรวบรวม คู่มือปฏิบัติวิชาชีพสำหรับการออกแบบเพื่อทุกคนในประเทศต่างๆ และเอกสาร งานวิจัยในประเทศ นำมาวิเคราะห์หาแนวทางในการจัดทำคู่มือปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม การออกแบบสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับทุกคนที่เหมาะสมกับประเทศไทย เพื่อให้สถาปนิกและบุคลากรที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ในการออกแบบทั้งด้านการออกแบบชุมชนเมือง สถาปัตยกรรม การตกแต่งภายใน และการออกแบบผลิตภัณฑ์ ในสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน สำหรับประชาชนทุกเพศทุกวัย ทั้งเด็ก ผู้หญิง สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และคนพิการ


อ่านกรอบแนวคิดในการจัดทำแล้วก็ยิ่งทำให้ทราบถึงความตั้งใจ
ขอบเขตด้านเนื้อหา
การออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) ครอบคลุมงานออกแบบสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ เด็ก สตรีมีครรภ์ โดยงานออกแบบมีขอบเขตตั้งแต่การออกแบบชุมชนเมือง (Urban Design) การออกแบบสถาปัตยกรรม (Architecture Design) การออกแบบตกแต่งภายใน (Interior Design) และการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) สิ่งแวดล้อมเหล่านี้ครอบคลุมกิจกรรมทุกประเภท เช่น การทำงาน การอยู่อาศัย การพักผ่อนและการใช้ชีวิตปรกติของคนทั่วๆ ไป ทั้งพื้นที่ในเมือง และนอกเมือง ทั้งที่เป็นอาคาร สถานที่ ระบบขนส่งมวลชน อุปกรณ์ เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ

ขอบเขตด้านกระบวนการจัดทำ
การจัดทำคู่มือปฏิบัติวิชาชีพฯนี้การวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research) ในขั้นแรกโดยอาศัยแหล่งข้อมูลจาก Accessibility for the Disabled A Design Manual for a Barrier Free Environment (United Nations Economic and Social Commission for Western Asia) ; ADA Accessibility Guidelines for Buildings and Facilities (ADAAG)

 


***************** ภาพปก*********************


หนังสือดังกล่าวมีลักษณะการเขียนเป็นแนวทางสรุปเป็นข้อๆ พร้อมรูปภาพประกอบ หรือแบบขยาย ทั้งนี้ หากผู้สนใจในรายละเอียดเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพิ่มเติม สามารถค้นคว้าเพิ่มเติมจาก รายการอ้างอิงทั้งที่อยู่ที่เชิงอรรถท้ายหน้า (Footnote) หรือรายการอ้างอิง (Reference) ท้ายเล่ม

นอกจากนี้ เพื่อความชัดเจนในการใช้คู่มือมากขึ้น คณะผู้จัดทำได้จัดทำ สัญลักษณ์เพื่ออธิบายว่าสภาพแวดล้อม หรืออุปกรณ์เหล่านั้นเหมาะสมกับประชากรกลุ่มไหน โดยแบ่งเป็น ๕ ประเภทสัญลักษณ์ คือ สัญลักษณ์แทนการออกแบบเพื่อผู้สูงอายุ ผู้พิการทางร่างกาย การมองเห็น ทางการได้ยิน และสตรีมีครรภ์


ประสาคนไม่มีพื้นความรู้ด้านสถาปัตยกรรม ก็ได้แต่อ่านเพลินๆ อ่านแบบมีความสุข
โดยเฉพาะ ภาคผนวก ข. เส้นทาง และผังการเข้าถึง : การวิเคราะห์ห่วงโซ่การเดินทาง และเส้นทางการเข้าถึง 
โดยเฉพาะ ภาคผนวก จ. ปัญหาและแนวทางการแก้ไข
ที่เหมือนกับจะสอนผู้อ่านในเรื่องมุมมอง ให้มองปัญหาแล้วแสวงหาแนวทางในการลดข้อจำกัดอย่างไม่มีเงื่อนไข

 

เป็นมุมมองจากข้อจำกัดของคนทุกกลุ่มวัยและแนวทางแก้ไข ที่ผมขอนุญาต "ลอก" มาเพื่อได้สะกิดใจ ดังนี้


๑. ผู้ใช้รถเก้าอี้ล้อ (Wheelchair)
ป. = ปัญหา น. = แนวทาง
ป. การขึ้น-ลงทางต่างระดับระหว่างถนนกับทางเท้า
น. ทำทางลาดขอบถนน

ป. ทางต่างระดับที่ต่างกันมากมักใช้บันไดเป็นตัวเชื่อม
น. สร้างทางลาด ลิฟต์ที่กว้าง หรือ ลิฟต์แบบกระเช้า

ป. อุปสรรค์ในที่แคบ
น. มีทางและพื้นที่กว้าง

ป. ผ่านประตูที่แคบและธรณีประตูที่สูง
น. ติดตั้งประตูที่มีความกว้างเพียงพอและธรณีประตูที่เล็กหรือไม่มีเลย

ป. เอื้อมไม่ถึงแผงควบคุมหรือสิ่งของที่อยู่สูง
น. ติดตั้งแผงควบคุมที่ต่ำลงมา

ป. อุปสรรคในห้องน้ำ
ข. ติดตั้งราวจับ อ่างอาบน้ำ และเก้าอี้อาบน้ำ


๒. ผู้มีความจำกัดในการเดิน
ป. การขึ้นทางต่างระดับ
น. สร้างทางลาดขอบถนน ทางลาด ลิฟต์ หรือลิฟต์ยกรถเก้าอี้ล้อเลื่อน (Plat form)

ป. อุปสรรค์ในสถานการณ์ที่ต้องใช้ความเร็ว
น. เพิ่มระยะเวลาการข้ามถนน เพิ่มระยะเวลาการเปิด-ปิดของประตูลิฟต์ หรือประตูอัตโนมัติ

ป. การขึ้นบันไดหรือทางลาด
น. ติดตั้งราวจับ

ป. อุปสรรคในห้องน้ำ
น. สร้างห้องน้ำที่มีขนาดใหญ่เพียงพอ ติดตั้งราวจับ อ่างอาบน้ำ และเก้าอี้อาบน้ำ

ป. ผ่านประตูที่แคบและธรณีประตูที่สูง
น. ติดตั้งประตูที่มีความกว้างเพียงพอและธรณีประตูที่เล็กหรือไม่มีเลย


๓. บุคคลผู้มีความจำกัดในการใช้แขนหรือมือ
ป. เปิดประตู
น. ใช้ประตูที่เปิดง่ายหรือประตูอัตโนมัติ

ป. ลูกบิดประตู
น. ใช้เป็นลักษณะลูกบิดเขาควาย

ป. ก๊อกน้ำ
น. ใช้เป็นลักษณะก้านโยก หรือก้านปัด


๔. ผู้มีความพิการทางสายตา
ป. การรับรู้
น. ติดตั้งพื้นผิวต่างสัมผัสบอกทางบนพื้นผิวทางเท้า

ป. ติดตั้งพื้นผิวต่างสัมผัสที่เป็นปุ่มเพื่อแสดง
น. ถึงการเปลี่ยนทิศทางหรือที่ตั้งของทางลาดและบันได

ป. การบอกสิ่งกีดขวางบนทางเท้า
น. มีพื้นผิวต่างสัมผัสบนพื้นผิวทางเท้ารอบสิ่งกีดขวาง

ป. ข้ามถนน
น. มีไฟข้ามถนน ที่มีสัญญาณเสียง

ป. รับรู้ถึงเหตุฉุกเฉิน
น. สัญญาณเตือนภัยรูปแบบเสียง

ป. การบอกทางออกและบันได
น. ติดตั้งเบรลล์ รอบๆ ลูกบิดประตู และราวจับบริเวณทางออก


๕. ผู้มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น
ป. การบอกสิ่งกีดขวางบนทางเท้า
น. มีพื้นผิวต่างสัมผัสบนพื้นผิวทางเท้ารอบสิ่งกีดขวาง

ป. การรับรู้
น. ติดตั้งป้ายที่มีอักษรขนาดใหญ่และอ่านง่าย

ป. ข้ามถนน
น. มีไฟข้ามถนนในรูปแบบเสียง

ป. อุปสรรคในลิฟต์และเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
น. ใช้สีที่ตัดกันสำหรับประตู ราวจับ ป้าย

ป. การบ่งบอกสถานที่
น. ติดตั้งสัญญาณเสียงบอกสถานที่


๖. ผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยิน
ป. ข้ามถนน
น. ติดตั้งป้ายและสัญญาณจารจรด้วยสีที่มองเห็นได้ง่าย

ป. ปัญหาในสถานการณ์ที่อาศัยการใช้เสียงสื่อสาร โต้ตอบ
น. มีข้อความที่เห็นได้ง่ายโดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉิน และควรมีเครื่องช่วยฟัง ในห้องประชุมหรือโทรศัพท์สาธารณะ

ป. ไม่ได้ยินเสียงประตู ลิฟต์ หรือสัญญาณเตือนภัย
น. ติดตั้งสัญญาณไฟกระพริบ


แม้ว่าก่อนหน้านี้ เราจะได้อิ่มเอมเรื่องทำนองเดียวกันนี้จากเนื้อหาของ
- ระเบียบคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ว่าด้วยมาตรฐานอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ พ.ศ. ๒๕๔๔
- กฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา พ.ศ. ๒๕๔๘ หรือ
- กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้คนพิการมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๐


เพื่อความอิ่มเอมใจกันโดยถ้วนทั่ว
ผมใคร่ขอเชิญชวนให้ทุกท่านได้ลองอ่านหนังสือ ระเบียบ และกฎกระทรวงดังกล่าวข้างต้น
เพื่อจะได้มีส่วนกระตุ้นให้สังคมไทยไร้อุปสรรค (กันเสียที) ครับ

 

เว็บไซต์สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
http://www.asa.or.th/

 

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท