ปัญหาสองกองทุนสองมาตรฐาน


ผลเสียต่อความสามารถในการรักษากติกาชุมชนของกองทุนที่มีกติกาเข้มข้นกว่า

กองทุนหมู่บ้านมีอยู่ในทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ

การเข้ามาของกองทุนหมู่บ้านมีผลกระทบต่อกองทุนที่มีอยู่เดิมอย่างไร..

ผลระยะสั้น ต่อสมาชิก ดูจะไม่ต่าง คือ สมาชิกมีทางเลือกมากขึ้น มีทางหมุนเงินมากขึ้น   (จะดีหรือเสียอย่างไรเป็นอีกประเด็นหนึ่ง)    แต่ ผลต่อกลุ่มดั้งเดิม นั้นเป็นอย่างไร    .. ทีมวิจัยช่วยกันคิด...  แน่นอนว่า  คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน

ที่ชัยนาท  กองทุนหมู่บ้านทำให้กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตเติบโตขึ้น  ด้วยเหตุที่

·     กรรมการกำหนดให้ผู้เข้ามาเป็นสมาชิกกองทุนหมู่บ้านต้องไปออมกับกลุ่มออมทรัพย์อย่างน้อย 6 เดือนก่อน 

·     กลุ่มออมทรัพย์กับกองทุนหมู่บ้านกำหนดอัตราดอกเบี้ยเท่ากัน

·     กติกาสองกองทุนนี้ดูจะใกล้เคียงกัน (ต้องสำรวจรายละเอียดเพิ่ม)

ภาพเชิงลบเกิดขึ้นที่บ้านเปร็ดใน  จังหวัดตราด   กล่าวคือ  กองทุนหมู่บ้านมีผลเชิงลบต่อกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรและกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์  เรื่องของเรื่องก็คือ   สมาชิกที่จะได้กู้จากกลุ่มสัจจะฯนั้นต้องยอมรับกติกากลุ่มซึ่งผนวกเอากติกาของการอนุรักษ์ทรัพยากรไว้ด้วย 

  

เมื่อกองทุนหมู่บ้าน (กองทุนเงินล้าน) เข้ามา   สมาชิกที่ละเมิดกติกาการอนุรักษ์ทรัพยากรก็สามารถกู้ยืมจากกองทุนเงินล้านได้ 

 

 มันทำให้เกิดสองมาตรฐานในหมู่บ้านเดียวกัน  แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ที่เป็นประธานกลุ่มสัจจะฯด้วยบอกด้วยสีหน้าไม่สบายใจ 

 

ปีแรก  เราขอรับแค่เงินกองทุนแต่ขอให้ใช้กติกาเดิมที่เรามีอยู่   แต่ราชการบอกว่าไม่ได้  เพราะกฎระเบียบของเขาต้องใช้เหมือนกันทั่วประเทศ เราจึงปฏิเสธไม่รับกองทุนหมู่บ้าน  

 

แต่ปีที่สอง  เราถูกทางการบังคับให้ต้องรับกองทุน  กลุ่มสัจจะฯอาจไม่สามารถใช้เงินเป็นเครื่องมือพัฒนาได้อย่างที่เคยเป็น

โชคดีที่กองทุนเงินล้านปล่อยกู้ได้แค่ไม่กี่แสน...

เพราะสมาชิกต้องการกู้ระยะยาว และเงินจำนวนมาก   แต่กองทุนเงินล้านกู้ได้ไม่กี่หมื่นแค่หนึ่งปี

เมื่อเราเอาภาพของชาวบ้านที่มีอาชีพทำสวนผลไม้ สวนยางพารา ประมงพื้นบ้าน  ไม่ใช่พืชไร่ล้มลุก  ก็ทำให้เห็นภาพว่า   รอบการกู้ยืมของกองทุนเงินล้านไม่สอดคล้องกับการผลิตของพื้นที่  [เช่นเดียวกับที่ชัยนาท  ที่ชาวบ้านต้องการกู้ถี่กว่าหนึ่งปี  (ตรงข้ามกับการกู้ระยะยาวที่ตราด)  เพราะต้องใช้ทำนาหลายรอบในปีหนึ่งๆ แต่กองทุนหมู่บ้านหลายหมู่ให้กู้แค่ปีละครั้ง  เหตุเพราะกรรมการไม่มีเวลามาทำบัญชีให้หลายๆรอบ]  การใช้กติกาเดียวทั่วประเทศจึงเป็นข้อจำกัดของกองทุนเงินล้าน

ชาวบ้านที่ตราดโชคดีที่มีกลุ่มสัจจะฯซึ่งมีเงื่อนไขการกู้สอดคล้องกับพื้นที่ (เพราะเป็นพื้นที่ของกลุ่มต้นแบบเอง)  และกลุ่มสัจจะฯในหมู่บ้านมีเงินมากพอ (ประมาณสิบล้าน) และยังมีเครือข่ายระดับจังหวัดหนุนเสริม  [ในขณะที่กองทุนหมู่บ้านที่ชัยนาทมีเงินไม่เพียงพอกับความต้องการ]  กลุ่มสัจจะฯจึงยังเป็นที่พึ่ง  และสมาชิกยังต้องรักษากติกากลุ่มที่ผนวกการอนุรักษ์เอาไว้

เราตรวจสอบบัญชีไขว้กันระหว่างหมู่บ้าน  เช่น หมู่ 3 มาตรวจบัญชีของหมู่ 2  สิ้นปีเครือข่ายจังหวัดจะช่วยตรวจสอบด้วยอีกรอบ   พระสุบินท่านจะลงมาดูเอง  แกนนำอธิบาย   

เมื่อถามถึงการตรวจสอบบัญชีของกองทุนหมู่บ้าน   แกนนำกลุ่มสัจจะฯ บอกว่าไม่รู้

เรานึกขึ้นได้ว่า   เมื่อลงสำรวจพื้นที่ชัยนาท   นักวิจัยลืมสำรวจเรื่องกระบวนการตรวจสอบบัญชีไปเสียสนิท

... เราพอได้ภาพเบื้องต้น เพื่อทำงานต่อ....

  

เงินหนึ่งล้านบาทต่อหมู่บ้าน (ประมาณ 100 ครัวเรือน) เพียงพอหรือไม่กับการผลิตแบบกระแสหลัก   คำตอบคือ ตอบไม่ได้  บางที่เงินไม่พอ บางที่เงินเหลือ  ทั้งนี้ ต้องดูภาพรวมของปริมาณเงินหมุนเวียนที่มีอยู่ (supply) ในพื้นที่  ดอกเบี้ยและเงื่อนไขการกู้ยืมโดยจำเป็นต้องเปรียบเทียบกับกองทุนอื่นๆ   ทั้งความเข้มงวดและความสอดคล้องกับความต้องการเงินทุนในพื้นที่

ผลของการมีหลายกองทุนนั้น  นอกจากสนับสนุนการหมุนเงินของสมาชิกแล้ว  (เพราะเพิ่มรอบของการให้บริการเงินกู้) ยังอาจมีผลเสียต่อความสามารถในการรักษากติกาชุมชนของกองทุนที่มีกติกาเข้มข้นกว่า   แสดงว่าอาจสร้างผลลบเชิงสังคมได้

หมายเลขบันทึก: 240792เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2009 15:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 20:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อาจารย์ครับผมประธานกทบ.ในพื้นที่จังหวัดลำปาง(มีธรรมศาสตร์ด้วย)ผมเพิ่งเข้ามารับหน้าที่ไม่นานสะสางงานไปแทบกระอักเลือดก็พอจะดำเนินต่อไปได้แต่ที่นี้มันยังไม่รู้สึกถึงว่าจะทำให้กทบ.อยู่รอดได้อย่างไรเป็นภาพที่ยังไม่เห็นผมอยากให้ช่วยหน่อยครับไม่ว่าเป็นเรื่องของการบริหาร การเงิน บัญชี หรือจะเป็นงานวิจัยของอาจารย์ก็ได้ครับอยากให้มีนักวิชาการมาดูแลหน่อยครับ.....ถ้าเป็นไปได้ขอบคุณครับ

ติดต่อได้เลย 083-154-5834 บอยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท