BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

นิมนต์พระกิ่รูป


นิมนต์พระกิ่รูป

วันนี้คณะญาติมาทำบุญเพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลไปให้แก่คุณลุงผู้ถึงแก่กรรมไปหลายสิบปีแล้ว ก็มีคนหนึ่งถามถึงสาเหตุหรือที่มาของจำนวนพระสงฆ์ที่นิมนต์ไปในงานพิธีต่างๆ ว่าต้องมีจำนวน ๕ รูป หรือ ๙ รูป เป็นต้น... ผู้เขียนก็ควานหาในคลองความคิด คล้ายๆ ว่าจะเคยได้ทราบเรื่องนี้ แต่ข้อมูลก็ไม่ผุดขึ้นมา จึงตอบไปว่า ไม่รู้เหมือนกัน ! และก็ตั้งใจว่าจะเอาเรื่องนี้มาเขียน...

สำหรับสังฆกรรมตามพระวินัยนั้น กำหนดพระสงฆ์ออกเป็น ๔ วรรค นั่นคือ จตุวรรค (๔ รูป) ปัญจวรรค (๕ รูป) ทศวรรค (๑๐ รูป) และ วีสติวรรค (๒๐ รูป) ... ซึ่งพระวินัยจะกำหนดว่า สังฆกรรมแบบใดบ้างที่จะต้องใช้พระภิกษุจำนวนเท่าไหร่ เช่น ถ้าลงอุโปสถสวดปาฏิโมกข์ก็ต้องใช้จตุวรรค (๔ รูป) เป็นอย่างน้อย หรือถ้าอัพภานกรรมต้องใช้วีสติวรรค (๒๐ รูป) เป็นต้น... จำนวนพระภิกษุกระทำกรรมตามพระวินัยทำนองนี้ มีระบุไว้ชัดเจนในพระไตรปิฏก แต่ประเด็นนี้ ไม่เกี่ยวกับพิธีกรรมตามประเพณีภายหลังที่งอกเงยขึ้นมาในวัฒนธรรมทางศาสนา...

พิธีกรรมตามประเพณีทั่วไป... สวดศพ มักจะนิยมนิมนต์พระเป็นชุดเรียกว่า เตียง ซึ่งเตียงหนึ่งก็มี ๔ รูป... เฉพาะเรื่องนี้ฟังว่า สมัยก่อนนั้น จะจัดทำเตียงให้พระนั่งสวดศพ ซึ่งเตียงนี้นั่งได้ ๔ รูป ต่อมาจึงถือเป็นจำนวนว่าเตียงหนึ่งมี ๔ รูป จะสวดกิ่เตียงก็ตามแต่คณะเจ้าภาพ เช่น บางงานก็นิมนต์พระสวดคืนละเตียง บางงานก็สวดคืนละสองเตียงแต่สวดไม่พร้อมกัน บางงานสวดพร้อมกันคืนละสองเตียง หรือคืนสุดท้ายอาจสวดครั้งละสองเตียงแต่มีสี่ชุด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การสวดศพที่ไม่นิยมสวดเป็นเตียงก็มี เช่น บ้านนอกในคราวนอกฤดูเข้าพรรษา มีพระ-เณรน้อยเพียงวัดละรูปสองรูป ก็อาจนิมนต์มาหมดครบทุกวัดในย่านใกล้เคียงได้จำนวน ๕-๖ รูป หรือสิบกว่ารูปแล้วเข้านั่งยังปะรำพิธีสวดครั้งเดียว... ขณะที่ในป่า ท้องถิ่นทุรกันดาร หรือต่างประเทศที่หาพระ-เณรได้ยาก ก็อาจมีเพียงรูปเดียวหรือสองรูปเท่านั้นทำพิธีสวดศพ อย่างนี้ก็มีเหมือนกัน... แม้แต่ในเมืองใหญ่ที่มีพระ-เณรหาได้ง่าย เจ้าภาพบางงานก็อาจไม่ใช้การสวดเป็นเตียง ซึ่งก็มิใช่เรื่องแปลกอะไร...

สรุปว่าการนิมนต์พระสวดศพนั้น ถ้านิมนต์เป็นเตียงๆ ก็เตียงละ ๔ รูป หรือถ้าไม่นิมนต์เป็นเตียงก็ตามความพอใจของเจ้าภาพ...

 

ส่วนงานอื่นๆ เท่าที่เคยฟังมานั้น บางความเห็นบอกว่า งานมงคลให้นิมนต์พระจำนวนคี่เช่น ๕ รูป ๙ รูป ส่วนงานอวมงคลให้นิมนต์พระจำนวนคู่เช่น ๑๐ รูป... แต่ผู้เขียนเคยเห็นงานมงคลเยอะแยะที่นิมนต์พระเป็นจำนวนคู่... นอกจากนั้นบางงานก็จัดสองอย่าง เป็นต้นว่าทำบุญให้ผู้ตายซึ่งเป็นงานอวมงคลก่อน และต่อจากนั้นก็เจริญพุทธมนต์ขึ้นบ้านใหม่ซึ่งจัดเป็นงานมงคล นั่นคือทำทั้งสองอย่างในคราวเดียวกัน ซึ่งไม่เคยเห็นว่าพระเถระหรือเจ้าภาพทักท้วงว่าให้ลดพระหรือเพิ่มพระให้ได้จำนวนคี่หรือคู่เลย... ดังนั้นจึงอาจสรุปว่า จำนวนพระสงฆ์นี้ ใช้หลักตามความเหมาะสม มิได้เน้นระเบียบกฎเกณฑ์อะไรนัก

เมื่อว่าตามความนิยมแบบชาวบ้าน นอกจากสวดศพที่นิยมใช้ ๔ รูปแล้ว งานอื่นๆ มักจะนิมนต์ ๕ รูป หรือ ๙ รูปเป็นพื้น ไม่ว่าจะเป็นงานขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน หรือทำบุญตักบาตรให้ผู้ตาย ฯลฯ... ซึ่งประเด็นนี้ อาจพิจารณาสถานที่และกำลังของเจ้าภาพเป็นเบื้องต้น นั่นคือ ถ้าเจ้าภาพมีกำลังต้องการทำบุญเยอะๆ และมีสถานที่กว้างขวางก็อาจนิมนต์จำนวน ๙ รูป แต่ถ้าเจ้าภาพไม่ค่อยมีกำลังนักและสถานที่คับแคบหรือมีพระสงฆ์น้อยก็อาจนิมนต์เพียง ๕ รูป

๕ รูป หรือ ๙ รูป ในงานทั่วไปนี้ ก็ทำนองเดียวกับการสวดศพ เช่นญาติโยมบางคณะจะมาทำบุญที่วัด ต้องการจะนิมนต์พระเพียง ๕ รูป แต่พระ-เณรในวัดมีอยู่ ๗ รูป ก็อาจนิมนต์ครบหมดทั้งวัด... หรือต้องการนิมนต์ ๙ รูปไปฉันที่บ้าน แต่พระ-เณรในวัดมีอยู่เพียง ๗ รูป ก็อาจนิมนต์หมดทั้งวัดในทำนองเดียวกัน... สรุปว่า งานทั่วๆ ไปนั้น นิยมนิมนต์ ๕ หรือ ๙ รูป แต่ถ้าไม่ได้ตามจำนวนที่ระบุไว้ จะนิมนต์กิ่รูปก็ได้ มิใช่เป็นการเสียหายหรือผิดแผกอะไรนัก...

อนึ่ง พิธีหลวงในกรุงเทพฯ นั้น ผู้เขียนไม่มีประสบการณ์เลย เคยฟังมาว่ามักนิมนต์ ๑๕ รูป แต่ที่เคยดูตามข่าวก็หลายครั้งที่จำนวนมากหรือน้อยกว่า ๑๕ รูป... อีกงานก็เจริญชยมงคลคาถาในงานรับปริญญา ซึ่งผู้เขียนพอมีประสบการณ์อยู่บ้าง ก็เห็นบางครั้งนิมนต์ ๕ รูป บางครั้ง ๗ รูป เป็นต้น น่าจะไม่มีระเบียบกำหนด คงจะใช้ตามความเหมาะสมในทำนองเดียวกัน

 

การที่จะนิมนต์พระสงฆ์จำนวนกิ่รูปนั้น น่าจะมีองค์ประกอบดังนี้มาพิจารณาก่อนตัดสินใจ กล่าวคือ

กำลังของเจ้าภาพ แม้การทำบุญจะเป็นเรื่องประเสริฐ แต่ก็ไม่ควรทำจนเกินกำลังถึงกับเป็นการเบียดเบียนตนเอง

สถานที่ประกอบพิธี ถ้าสถานที่ค่อนข้างคับแคบก็ไม่จำเป็นต้องนิมนต์พระมาก เพียง ๕ รูปก็พอแล้ว ถ้ามีกำลังสูงจะถวายให้มากๆ พระท่านคงจะอนุโมทนายิ่ง

ท้องถิ่นนั้นๆ ถ้าอยู่ในท้องถิ่นที่อัตคัตพระ-เณร ก็นิมนต์เท่าที่มีอยู่ ไม่ต้องลำบากไปนิมนต์จากที่ไกลๆ ทำให้ยุ่งยากเรื่องการรับส่งเป็นต้น

ช่วงเวลานิมนต์ ในคราวเทศกาลเช่นปีใหม่เป็นต้น แม้มีกำลังมากก็ไม่ควรนิมนต์พระ-เณรให้มากเกินไป ควรจะแบ่งปันให้ญาติโยมอื่นๆ เค้าบ้าง

และ ปลีกย่อยอื่นๆ เช่น มีพระ ๖ รูปในวัด จะนิมนต์เพียง ๕ รูป ให้อีกรูปเฝ้ากุฏิหรือ? ควรนิมนต์ให้หมดทั้งวัดเป็นต้น

  • จะนิมนต์กิ่รูปไม่สำคัญ ความเหมาะสม ความเหมาะสม นับว่าสำคัญที่สุด 
คำสำคัญ (Tags): #การนิมนต์พระ
หมายเลขบันทึก: 242148เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2009 18:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

กราบนมัสการพระคุณเจ้า

เป็นพระคุณยิ่งนัก ที่ พระคุณเจ้าให้ความกระจ่างต่อชาวพุทธศาสนิกชน พึ่งควรทราบ และปฏิบัติตามความเหมาะสม ตามโอกาส สถานที่และท้องถิ่น

กราบนมัสการเจ้าค่ะ

นมัสการค่ะพระคุณเจ้า

เป็นความรู้ที่เมื่อก่อนยัง สา สา ว่า (ไม่แน่ใจ) แต่ตอนนี้ชัดเจนแล้วค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท