วิพากษ์ ระเด่นลันได (ระเด่นไล่ดัน) และ กาพย์พระไชยสุริยา (ค่ำเช้าเฝ้าสีซอ เข้าแต่หอล่อกามา)


ระเด่นลันไดวรรณกรรมอำพราง เป็นหนังสือที่เนื่องด้วยวิชารัฐศาสตร์

B2523 
ปกหนังสือ ระเด่นลันไดวรรณกรรมอำพราง (1)




เพลงบุหลันลอยเลื่อน (2)

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 พระองค์ทรงโปรดดนตรีไทยมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งซอสามสายเป็นเครื่องดนตรีที่พระองค์โปรดปรานมาก ถึงกับพระราชทาน "ตราภูมิคุ้มห้าม" แก่เจ้าของสวนที่มีกะลามะพร้าวชนิดที่ใช้กระโหลกซอสามสายได้ เพื่อมิต้องเสียภาษีอากร ซอสามสายที่เป็นคู่พระหัตถ์นั้นทรงพระราชทานนามว่า " ซอสายฟ้าฟาด" เมื่อว่าง จากพระราชกิจพระองค์มักจะทรงโปรดซอสามสายอยู่เสมอ ถ้าไม่รวมวงก็จะทรงเดี่ยวด้วยพระองค์เอง มีเรื่องเล่ากันว่า " คืนหนึ่งหลังจากที่ได้ทรงซอสามสายอยู่จนดึกแล้วเสด็จเข้าที่บรรทม ก็ทรงสุบินว่า พระองค์เสด็จพระราชดำเนิน ไปในสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นสถานที่สวยงามมาก และได้ทอดพระเนตรเห็นดวงจันทร์ลอยเข้ามาใกล้พระองค์ สาดแสงสว่างไสวไปทั่วบริเวณ ทันใดนั้นก็พลันได้ทรงสดับเสียงดนตรีทิพย์อันไพเราะเสนาะกรรณเป็นอย่างยิ่ง จึงเสด็จประทับทอดพระเนตรทิวทัศน์อันงดงาม และทรงสดับเสียงดนตรีอันไพเราะอยู่ด้วยความเพลิดเพลินเจริญพระราชหฤทัย ครั้งแล้วดวงจันทร์ก็เริ่มถอยห่างออกไปในท้องฟ้า พร้อมกับเสียงดนตรีทิพย์ค่อย ๆ ห่างจนเสียงหายไป ก็ทรงตื่นพระบรรทม เพื่อพระองค์ทรงตื่นจากพระบรรทมแล้ว เสียงดนตรีในทรงสุบินก็ยังกังวานอยู่ในพระโสตจึงโปรดให้ตามพนักงาน ดนตรีเข้ามาต่อเพลงไว้ แล้วพระราชทานนามว่า ." เพลงบุหลันลอยเลื่อน" หรือ "บุหลันเลื่อนลอยฟ้า" หรือบางทีเรียกว่า " เพลงสรรเสริญพระจันทร์" มีนักดนตรีจำสืบมาจนบัดนี้ แต่เป็นรู้จักกันดีในชื่อว่า " เพลงทรงพระสุบิน" และเคยใช้เป็นเพลง สรรเสริญพระบารมีในสมัยหนึ่ง ต่อมามีผู้แต่งเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นทำนองอย่างอื่นหรือเป็นทำนองฝรั่งขึ้น จึงเรียกเพลงทรงพระสุบินที่ใช้เป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้นว่า " เพลงสรรเสริญพระบารมีไทย" ทำนองเพลงพระสุบินนี้เคยใช้เป็นทำนองในบทละครเรื่องอิเหนาประกอบบทร้องว่า กิดาหยันหม่อมกรานอยู่งานพัด พระบรมโสมนัสอยู่ในที่ บุหลันเลื่อนลอยฟ้าไม่ราคี รัศมีส่องสว่างดังกลางวัน พระนิ่งนึกตรีกไตรไปมา จะแต่งคูหาสะตาหมัน ป่านนี้พระองค์ทรงธรรม์ จะนับว่าเคร่าคอยทุกเวลา (2)


รัชสมัยรัชกาลที่ 2 เป็นรัชสมัยกวีเฟื่องภายในราชสำนัก มีกวีสำคัญๆเกิดขึ้นหลายท่าน คนสำคัญที่สุด คือ สุนทรภู่ ดังที่ทราบและรู้จักกันดี  ทว่าในสมัยรัชกาลที่ 3 นั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นสมัยแรกที่เกิด 'กวีอิสระ' 'แหวกแนว' ไปจากการแต่งวรรณกรรมแต่โบราณมา ที่จริงแล้วกวีท่านแรกที่ 'แหวกแนว' ไปจากแบบอย่าง คือ พระมหามนตรี (ทรัพย์) เจ้ากรมพระตำรวจในซ้าย ผู้แต่งบทละครเรื่อง ระเด่นลันได (3)

พระมหามนตรี (ทรัพย์) ท่านเกิดในราวต้นรัชการที่ 1 เป็นคนสมัยเดียวกันกับสุนทรภู่ ถึงแก่กรรมก่อน พ.ศ. 2388 ในสมัยของรัชกาลที่ 2  ผลงานที่โดดเด่นของท่านคือ บทละครเรื่อง  ระเด่นลันได(4)


ระเด่นลันได ถือเป็น วรรณกรรมล้อ  หรือ parody  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เสาวณิต  จุลวงศ์ อรรถาธิบาย ถึง “วรรณกรรมล้อ” เอาไว้ใน วรรณกรรมล้อแนวหลังสมัยใหม่ของไทย ว่าคำว่า  วรรณกรรมล้อ เป็นศัพท์ที่ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติขึ้นใช้แทนคำภาษาอังกฤษว่า “parody”  หมายถึงงานเขียนที่เลียนคำพูดลีลาทัศนคติน้ำเสียงและความคิดของนักเขียนคนใดคนหนึ่งโดยทำให้กลายเป็นเรื่องตลกขบขันน่าหัวเราะ  ด้วยการนำลักษณะบางประการมาเน้นทำให้เกินความเป็นจริง  ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับที่นักเขียนการ์ตูนเขียนภาพล้อ  จัดว่าเป็นการล้อเชิงเสียดสีประเภทหนึ่ง  และจุดประสงค์ก็อาจจะเป็นได้ทั้งเพื่อท้วงติงหรือเพื่อเยาะเย้ยถากถาง (5)

 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ โชษิตา มณีใส ผู้ทำวิจัยในหัวข้อเรื่อง ระเด่นลันไดวรรณกรรมอำพราง จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2544 ได้ชี้ให้เราเห็นว่า ซอ และการสีซอ มีความนิยมในหมู่ชนชั้นสูงเช่นพระมหากษัตริย์ แน่นอนว่าเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงโปรดการสีซอ ข้าราชบริภาร ย่อมที่จะต้องนิยมการสีซอไปด้วยโดยปริยาย (นายว่าขี้ข้าพลอย) พระมหามนตรี จึงจับประเด็น ซอและการสีซอ  นำมาล้อเลียน/เสียดสี  กลุ่มข้าราชการชั้นสูง ที่มัวแต่นั่งสีซอ ไม่ว่าราชการงานแผ่นดิน ผ่านบทละคร ระเด่นลันได ซึ่งเนื้อหาของ ระเด่นลันได ก็ล้อ วรรณคดีอิเหนาอีกทอดหนึ่ง (บทละครเรื่อง อินเหนา กล่าวถึง ระเด่นมนตรีเจ้าชายวงศ์อสัญแดหวา แต่เรื่องระเด่นลันได กล่าวถึงพระเอกซึ่งมีอาชีพเป็นขอทาน สีซอ ขอข้าวเขากิน)

สำหรับประเด็นการ สีซอ นี้แม้นแต่ พระสุนทรโวหาร (สุนทรภู่) ซึ่งเป็นคนในยุคเดียวกับพระมหามนตรี เองก็ได้สะท้อนภาพ ความมัวเมาอยู่กับ การสีซอ ไว้ใน กาพย์พระไชยสุริยา ความว่า 

 

จะร่ำคำต่อไป พอล่อใจกุมารา ธรณีมีราชา เจ้าพาราสาวะถี ชื่อพระไชยสุริยา มีสุดามเหสี ชื่อว่าสุมาลี อยู่บุรีไม่มีภัย ข้าเฝ้าเหล่าเสนา มีกิริยาอัชฌาศัย พ่อค้ามาแต่ไกล ได้อาศัยในพารา ไพร่ฟ้าประชาชี ชาวบุรีก็ปรีดา ทำไร่ข้าวไถนา ได้ข้าวปลาแลสาลี อยู่มาหมู่ข้าเฝ้า ก็หาเยาวนารี ที่หน้าตาดีดี ทำมโหรีที่เคหา ค่ำเช้าเฝ้าสีซอ เข้าแต่หอล่อกามา หาได้ให้ภริยา โลโภพาให้บ้าใจ ไม่จำคำพระเจ้า เหไปเข้าภาษาไสย ถือดีมีข้าไท ฉ้อแต่ไพร่ใส่ขื่อคา คดีที่มีคู่ คือไก่หมูเจ้าสุภา ใครเอาข้าวปลามา ให้สุภาก็ว่าดี ที่แพ้แก้ชนะ ไม่ถือพระประเวณี ขี้ฉ้อก็ได้ดี ไล่ด่าตีมีอาญา (6)
 
สรุป

บทละครระเด่นลันไดของพระมหามนตรี (ทรัพย์) เจ้ากรมพระตำรวจในซ้าย รวมถึงกาพย์พระไชยสุริยาของ พระสุนทรโวหาร (สุนทรภู่) สะท้อนให้เราเห็นถึงภาพของ ข้าราชการที่มัวแต่นั่งสี ไวโอลิน ซอ บนความทุกข์ยากของประชาชน การฝักใฝ่อยู่กับการสีซอก็เพื่อเอาใจพระมหากษัตริย์ในครั้งกระโน้น ทั้งพระมหามนตรี (ทรัพย์) และ พระสุนทรโวหาร (ภู่) นั้นล้วนแล้วแต่มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ของตน จึงกล้าออกมาทักท้วงพฤติกรรมดังกล่าวของข้าราชการในยุคของตน หาใช่เป็นการหมิ่นพระบรมราชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ แต่อย่างใดไม่ แต่เป็นเพราะความจงรักภักดีอย่างสุดซึ้งต่างหาก จะมีสักกี่คนที่กล้าเตือนผู้ที่ มีคุณวุฒิ/วัยวุฒิ มากกว่าตน แถมผู้นั้นมีอำนาจชี้เป็นชี้ตายตนเองด้วยแล้ว ด้วยเหตุที่ว่า ภยาคติ คือสิ่งที่บดบัง มโนมยจักษุ ให้มืดบอด แต่สำหรับ มโนมยจักษุของพระมหามนตรี (ทรัพย์) และ พระสุนทรโวหาร (สุนทรภู่) หาได้มืดบอดเหมือนคนอื่นๆ ไม่  เช่นนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า รัตนโกสินทร์ยังไม่สิ้นคนดี ผู้มีจักษุแจ่มใส

โปรดอ่าน เพลงยาวว่าพระมหาเทพ ซึ่งแต่งโดยพระมหามนตรี (ทรัพย์) อันมีลักษณะเป็นบัตรสนเท่ห์ ฉบับแรกๆ ของยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น?: ภาพสะท้อนกรมตำรวจไทยในอดีต ถึงปัจจุบัน

 อ้างอิง

(1) โชษิตา มณีใส. ระเด่นลันไดวรรณกรรมอำพราง .พิมพ์ครั้งที่ 1 พิมพ์ลักษณ์ : กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2544

(2) พระอิจฉริยภาพ [cited 2009 february 22]. Available from: http://www.kingrama2found.or.th/intelligence/intelligence_dontree.html

(3) จุลลดา ภักดีภูมินทร์ .กวีแห่งกรุงสยาม .สกุลไทยฉบับที่ 2698 ปีที่  52 ประจำวัน  อังคาร ที่  4 กรกฎาคม  2549  [cited 2009 february 22]. Available from:  http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp?stcolumnid=4819&stissueid=2698&stcolcatid=2&stauthorid=13

(4) พระมหามนตรีทรัพย์ . [cited 2009 february 22]. Available from: http://www.geocities.com/Tokyo/Club/8843/compose/siam/00005mahamontri.htm

(5) เสาวณิต  จุลวงศ์. วรรณกรรมล้อแนวหลังสมัยใหม่ของไทย. โครงการวิจัย "กระแสและแนวโน้มวรรณกรรมในบริบทสังคมและวัีฒนธรรมไทย"  โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนเพื่อสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เสนอในโครงการจัดประชุมวิชาการระดับชาติ: เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย อ้างใน [cited 2009 february 22]. Available from: http://www.phd-lit.arts.chula.ac.th/research.htm

(6) จรรย์สมร เกษสิมมา. กาพย์พระไชยสุริย โดย สุนทรภู่ [cited 2009 february 22]. Available from:  http://thaieclass.com/gapchai/fullstory.doc

คำสำคัญ (Tags): #ระเด่นลันได
หมายเลขบันทึก: 244005เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2009 21:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

"ค่ำเช้าเฝ้าสีซอ เข้าแต่หอล่อกามา"

คำว่า กามา ในกาพย์พระไชยสุริยานี้ มิได้หมายถึง เรื่องที่เนื่องด้วย เพศรส เพียงสถานเดียว หาไม่เลย หากแต่ กามา นี้มีความหมายกว้างขวางกว่านั้น สอดคล้องกับท่าน พุทธทาสภิกขุ ที่ได้อรรถาธิบายเกี่ยวกับคำว่า กามา หรือ กาม ไว้ในหนังสือ ตัวกูของกู หน้า 80 ความว่า

โลกแห่งปัจจุบันนี้เป็นโลกของวัตถุนิยมมากยิ่งขึ้นทุกที เป็นโลกของกาม ขึ้นทุกที แม้นจะทำให้ละเอียดสุขุมเพียงไร ก็หาได้ปลอดภัยจากโทษของกามไม่ มีแต่เป็นโทษของกามอย่างละเอียดปราณีตสุขุมยิ่งขึ้นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพราะความไม่ประสีประสา ต่อความรู้เรื่องกามและภพ ความตกเป็นทาสของ กาม หรือวัตถุ มีแต่ขยายตัวกว้างออกไป สามารถลุกล้ำเข้าไปได้แม้นในเขตวัดวาอารามของพุทธศาสนาซึ่งถือว่าเป็นป้อมค่ายที่มั่นคงที่จะใช้ต่อต้าน กาม หรือวัตถุนิยม ดังจะสังเกตได้ว่านักบวชสมัยนี้ตกเป็นทาสของ กาม ของวัตถุนิยมเพียงใด ลุ่มหลงแต่กามหรือติดอยู่ในวัตถุนิยมกันไปแล้วแค่ไหน? ไม่ผิดไปจากชาวบ้านเลย นี้เรียกว่าการขยายตัวของวัตถุนิยมซึ่งเคยเรียกกันครั้งกระโน้นว่ากาม

ในหนังสือ ตัวกูของกู หน้า 58 ท่านพุทธทาสยังได้แสดงทรรศนะเอาไว้อีกว่า แม้นว่าคนสมัยนี้จะได้ทำตนให้มีประสทิธิภาพในการงานมากขึ้นเท่าใดประสิทธิภาพเหล่านั้นๆ ก็มีแต่จะนำคนให้ไหลไปสู่สังสารวัฎ คือความทุกข์ซ้ำ ซากๆ ไม่สิ้นสุด ไม่มีส่วนที่จะพาให้คนไหลไปใกล้นิพพานหรือความพ้นทุกข์ กล่าวคือ สันติภาพอันแท้จริงและถาวร ได้เลย มีแต่จะยิ่งห่างออกไปจาก สันติภาพอันแท้จริง (6)

อ้างอิง(ต่อ)
(7) พระธรรมโกษาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ). ตัวกูของกู .พิมพ์ครั้งที่ 2: กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2549

แก้ไข

สันติภาพอันแท้จริงและถาวร
ได้เลย มีแต่จะยิ่งห่างออกไปจาก สันติภาพอันแท้จริง (7)

อ้างอิง(ต่อ)
(7) พระธรรมโกษาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ). ตัวกูของกู .พิมพ์ครั้งที่ 2: กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2549

แก้ไข 2

พระมหามนตรี (ทรัพย์) เจ้ากรมพระตำรวจในซ้าย ที่ถูกต้องคือ เจ้ากรมพระตำรวจในขวา

กามา ก็น่าจะเป็น กามตัณหา จึงทำให้หมกมุ่นในกามา ใช่ไหมครับ คุณ กวิน

กามา แปลว่า กา(บินมา) ก็ได้ครับ

 ดังเช่นโคลงสี่สุภาพที่ว่า

กามาเกาะกิ่งต้น              กาหลง
กลางป่ากาหลงพง          ร่อนเหล้
กาหลศัพท์เสียงสง-         กาก่า ก้าเอย
กาละครั้งโพล้เพล้            กู่ก้องเอกา

ดูที่ กา(บิน)มา

ส่วน กาม/ตัณหา นั้น หาก หมกมุ่นครุ่นคิดด้วย ปฏิจจสมุปบาท ทั้งแบบ อนุโลม-ปฏิโลม ก็ทำให้เห็น อวิชชา หรือเห็น ทุกข์ ได้ครับ

สวัสดีครับคุณกวิน

นึกว่ามาผิดเว็บซะแล้ว

เพลงไทยเดิมเพราะดีเหมือนกัน

บางพวก บางกลุ่ม ก็ล่อกามา .. ไม่ว่างเว้น มองแต่ความสุขที่ตัวเองจะเสพได้ กลัวตายไปแล้วไม่มีความสุขแบบนี้ เพราะไม่เคยทำความดี ให้คนอื่นบ้างเลย

คุณกวินสบายดีนะครับ

ขอบคุณคุณต้องครับ ในหนังสือ ตัวกูของกู โดย ท่านพุทธทาส หน้าที่ 31 ได้อรรถาธิบายถึงเรื่อง สวรรค์เอาไว้อย่างมีนัยสำคัญ  ที่ว่า

คนทั้งหลายที่ไม่รู้ความจริงก็หลงใหลในสวรรค์มุ่งกันแต่จะเอาสวรรค์ซึ่งเป็นสุขาวดีซึ่งเป็นแดนที่ตนจะได้เสพกามารมณ์ตามปราถนาเป็นเมืองที่ตนจะหาความสำราญได้อย่างสุดเหวี่ยง แบบสวรรค์นิรันดรของศาสนาอื่นๆ ที่เขาใช้สวรรค์เป็นเครื่องล่อให้คนทำความดี คนจึงไม่สนใจที่จะดับทุกข์กันที่นี่และเดี่ญวนี้ตามความมุ่งหมายอันแท้จริงของพุทธศาสนานี่คืออุปสรรคสำคัญและเป็นข้อแรกสุดเพราะไปมุ่งเอาตัณหาอุทานกันเสียหมดฉะนั้นเราต้องสั่งสอนกันเสียใหม่และพุทธบริษัทควรจะเข้าใจให้ถูกต้องว่าสวรรค์ดังที่กล่าวเป็นเมืองที่จะต้องไปให้ถึงนั้นเป็นการกล่าวอย่าง บุคคลาธิษฐาน คือการกล่าวสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรม หรือเป็นวัตถุขึ้นมา การกล่าวเช่นนี้เป็นการโฆษณาชวนเชื่อเบื้องต้นที่เหมาะสำหรับบุคคลไม่ฉลาดทั่วไปที่ยังไม่มีสติปัญญามากพอที่จะเข้าถึงความหมายอันแท้จริงของพุทธศาสนาได้แม้คำว่านิพพานซึ่งหมายถึงการดับทุกข์ ก็ยังกลายเป็นเมืองแก้ว หรือนครแห่งความไม่ตายมีลักษณะอย่างเดียวกับ เทียนไท้ หรือสุขาวดี ของพวกอาซิ้มตามโรงเจทั่วไป สุขาวดี ตามความหมายอันแท้จริงก็มิได้หมายความดังที่พวกอาซิ้มเข้าใจเช่นเดียวกัน แต่มีความหมายถึงนิพพานคือความว่างจากกิเลส ว่างจากทุกข์ มิได้หมายถึงบ้านเมืองอันสวยงามทางทิศตะวันตก ซึ่งมีพระพุทธเจ้าชื่อ อมิตาภะ ประทับอยู่เป็นประธานที่ใครๆ ไปอยู่ที่นั่นแล้วก็ได้รับความพอใจทุกประการอย่างที่ตนหวังเพราะว่าแวดล้อมไปด้วยสิ่งสวยงามและรื่นรมย์ที่สุดมนุษย์หรือเทวดาจัมีได้ นี่เป็นการกล่าวอย่างบุคคลาธิษฐานทั้งนั้น
(1)
 


อ้างอิง

(1) พุทธทาสภิกขุ (พระธรรมโกศาจารย์; เงื่อม อินทรปัญโญ). ตัวกูของกู.--กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2549

อ้าว...มาเยี่ยมคุณกวิน

มาเจอต้อง  ใจเดียวกันแฮะ

คุณกวินสบายดีนะคะ  เพลงไทยเดิมเลยหรือ ... มาผิดที่ผิดทางแล้วเรา

รักษาสุขภาพนะคะ

เป็นห่วงน่ะ

คนที่จะเข้าใจคำสอนนี้ได้ต้องเคยถูก ตบหน้า ถูกคดโกง และถูกบังคับ/กลั่นแกล้ง เท่านั้นจึงจะทราบซึ้ง ใครที่ทำกับเรา ตาม 3 ข้อที่กล่าวมา นั้นถือเป็นครูของเราว่าด้วยเรื่องของการให้อภัย ควรจะให้ความนอบน้อมเขาไว้ให้มากๆ อ้างอิง (1) วอลเตอร์ วิงค์. เยซูและอลินสกี แปลโดย กล้วยกัทลี. เวปไซต์ คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ (ยส.) [online] 2008 December 16 [cited 2009 mar 18]. Available from: http://www.jpthai.org/content/view/124/7/

ภาพที่เห็นคือภาพลักษณ์...ขอบคุณค่ะ..มีผู้ใหญ่ที่เมตตาพี่เคยปลอบใจในยามที่ท้อแท้ว่า...สิ่งที่ผ่านมาแล้วสิ่งนั้นดีเสมอ...ว่างั้นไหมสบายใจขึ้นพะ-เรอ...

คิดอย่างนั้น ก็น่าจะเป็นอย่างนั้นครับพี่นุส

1.บอกข้อคิดจากเรื่องระเด่นลันไดให้หน่อยได้ไหมค่ะ3ข้อ

2.บอกลักษณะนิสัยของตัวละครเด่นมา2ตัวด้วยนะค่ะ

ขอคำตอบด่วนเลยนะค่ะ จะต้องส่งครูแล้ว!!!!!!!!!!!!!!!!!!@0@

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท