๕๔. ดำรงอยู่เพื่อสร้างความงาม : ประยูร จันทวงษ์


"......วิถีของจ่อย ต่างไปจากกระแสหลักของสังคม เพราะความต้องการมีกิจการของเขา หาใช่ด้วยวิธีคิดอย่างที่คนส่วนใหญ่มุ่งไขว่คว้า เขาต้องการเพียงวิถีการงานและการดำรงชีวิตศิลปะ เพื่อสร้างความงาม อยู่เพื่อสร้างสรรค์งานศิลปะ........."

             

               เมื่อต้นเดือน  ผมไปเป็นวิทยากรสร้างศักยภาพชมรมสร้างสุขภาพและเครือข่ายชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดขอนแก่น และเตรียมสร้างเครือข่ายถอดบทเรียนสุขศึกษาชุมชน จากโครงการกิจกรรมของเครือข่ายด้านสุขภาพร่วมใจต้านภัยบุหรี่และยาสูบ ของกองสุขศึกษา กระทรวงสาธารณสุข

             ส่วนที่เป็นโครงการกิจกรรมนั้น กองสุขศึกษา กับเครือข่ายชุมชนในระดับพื้นที่ ในพื้นที่นำร่อง 4 ภาคทั่วประเทศเป็นเจ้าภาพดำเนินการ สนับสนุนโดยองค์การอนามัยโลก  

             ส่วนการถอดบทเรียนและวิจัยประเมินผลแบบสร้างพลังที่ผมและทีมจะเข้าไปทำนั้น กองทุน สสส และศูนย์จัดการความรู้เพื่อป้องกันและควบคุมบุหรี่และยาสูบ (ศจย) เป็นผู้ให้ทุนสนับสนุน   ผมเลยไปทั้งเป็นวิทยากร และพาทีมไปเตรียมรับรู้ให้เกิดความเป็นเครือข่ายการทำงานกับคนในพื้นที่นำร่องเสียตั้งแต่ต้น เพื่อจะเป็นทีมถอดบทเรียนและวิจัยประเมินแบบสร้างพลังในระยะต่อไป 

             บนทางผ่านระหว่างเดินทางไปขอนแก่น  น้องในทีมก็ถือโอกาสแวะเยี่ยมน้องชายแถวเขาใหญ่  นครราชสีมา เขาบอกว่าน้องชายมีสตูดิโอทำงานศิลปะ ประติมากรรม และแกะสลักหินอยู่แถวนั้น 

             เขากับน้องชาย กำลังปรึกษาหารือกับชมรมชีวเกษม (1) และศูนย์เบิกฟ้าธรรมาศรม(2)  เพื่อแกะสลักหินองค์พระปฏิมาสำหรับนำไปเป็นพระประธาน ประดิษฐาน ณ ลานปฏิบัติธรรมและเจริญสติภาวนากลางแจ้งของศูนย์เบิกฟ้าธรรมาศรม ที่จังหวัดสุพรรณบุรี  ซึ่งพวกผมร่วมเป็นเครือข่ายวิชาการสนับสนุนการทำกิจกรรมกับชมรมและเครือข่ายนี้อยู่ ทั้งที่พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และที่สุพรรณบุรี(3)

             ผมเคยดูรูปผลงานน้องของเพื่อนผู้น้องมาครั้งหนึ่ง เป็นภาพปั้นในหลวงและเขาปั้นให้วัดพระบาทน้ำพุ  จังหวัดลพบุรี ซึ่งก็ทำให้ผมรู้สึกประทับใจระคนประหลาดใจ เนื่องจากผมสนิทสนมกับน้องคนนี้และครอบครัวของเขามากพอสมควร แต่ผมไม่เคยทราบเลยว่าเขามีน้องทำงานดำรงชีพทางศิลปะ 

            ความที่ตนเองก็(พยายาม)ทำงานศิลปะควบคู่ไปกับด้านอื่นไปด้วย  ก็เลยรู้สึกเห่อเหมือนมีพวกกันเองทำเรื่องที่เราชื่นชอบ  เลยขอแวะเข้าไปเยี่ยมน้องเขาด้วย  แสดงตนให้ทราบเลยว่าไม่ต้องเกรงใจและรีบร้อนเดินทางต่อไปนัก ก็ได้ จะได้มีเวลาดูให้ทั่วหน่อย

            พอเห็นกับตาก็สุดจะปลาบปลื้มใจและปีติไปกับสิ่งที่น้องของเพื่อนผู้น้องผมกำลังทำไปด้วย

            น้องของเพื่อนผู้น้องของผม ชื่อประยูร จันทวงษ์ ชื่อเล่นว่าจ่อย พอเห็นพวกเราไปเยี่ยมถึงสตูดิโอก็กุลีกุจอออกมาต้อนรับ และเมื่อเห็นว่าทั้งหมดใช่ใครอื่น ทว่า เป็นเพื่อนๆของพี่ชายเขาที่มาทำงานและแวะมาเยี่ยม การแนะนำหรือจะต้องพูดคุยกันด้วยภาษาสังคมแบบทั่วๆ ไป ก็เป็นอันข้ามไปเลย 

            ไม่ต้องคุยด้วยริมฝีปากและสื่อสารด้วยสมองแล้ว ใช้หัวใจแผ่ความจริงใจสู่กันและกันได้เลย

            พลันทั้งกลุ่มก็ปฏิสันถารสนิทสนมและคุ้นเคยกันดังญาติ  ทั้งที่ไม่เคยรู้จักมักคุ้นกันมาก่อน

            จ่อย ผม และเพื่อนๆ  เดินเพ่นพ่านและดูผลงานของจ่อยในสตูดิโอของเขาอย่างละลานตาและเหลือใจในพลังชีวิตของมนุษย์ตัวผอมกร่อง ไม่น่าเชื่อว่ามันเป็นการทำงานของคนคนเดียว

            สตูดิโอของจ่อย ชื่อ ขวัญตะวัน  จ่อยเรียนศิลปะจากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  สำนักเดียวกับพงศ์เทพ กระโดนชำนาญและคนมีชื่อเสียงหลายคนของประเทศ ไม่มีลูกมือ เพราะในถิ่นชนบทนั้น นอกจากหาคนทำงานศิลปะเป็นได้ยากแล้ว การตั้งสตูดิโอรับทำงานศิลปะ แกะสลัก และดำเนินชีวิตด้วยศิลปะ ยังเป็นคนประหลาดสำหรับผู้คนอยู่

            เลยต้องทำคนเดียว  เป็นทุกอย่างทั้งการรับงาน การค้นหาหินและวัตถุดิบเพื่อทำงานทั้งจากแหล่งในและต่างประเทศ การปั้นและหล่อแบบต้นฉบับ การแกะสลัก  การติดตั้งงาน  การจัดที่ทางบ้านช่อง ที่ดัดแปลงให้เป็นสตูดิโอซอมซ่ออยู่่ริมถนน 

            เห็นแล้วก็แทบจะไม่เชื่อสายตาว่า ผลงานที่งดงามและจำนวนไม่น้อยที่เป็นสิ่งเคารพศรัทธา ของผู้คนและชุมชนหลายแห่งของประเทศ ไปจากแหล่งสร้างงานเล็กๆ แห่งนี้

 

                                                     ผู้ถ่ายภาพวิรัตน์ คำศรีจันทร์    กุมภาพันธ์ 2552

                                                           ผู้ถ่ายภาพ :  ณัฐพัชร์ ทองคำ  กุมภาพันธ์ 2552

 

                แต่การทำงานด้วยตนเองคนเดียว  ก็ใช่ว่าผลงานจะหย่อนความยิ่งใหญ่ทางศิลปะลงไป ดูการทำงานจริงๆของจ่อยแล้ว ก็ยากที่คนทั่วไปจะทำได้ด้วยสำนึกแบบธรรมดาๆ  มีตัวอย่างงานที่จ่อยกำลังทำอยู่พอดีครับ  เป็นรูปแกะสลักหลวงพ่อชา สุภัทโท

                                                         ผู้ถ่ายภาพวิรัตน์ คำศรีจันทร์    กุมภาพันธ์ 2552

 

                   ด้านหลัง  คือรูปหล่อปูนปลาสเตอร์หลวงพ่อชา และด้านหน้า คือรูปแกะสลักหิน  เป็นหินทราย ชิ้นงานที่ต้องการ คือ รูปแกะสลักหินทรายหลวงพ่อชาที่อยู้ด้านหน้า ซึ่งขึ้นรูปในภาพรวมไว้ได้แล้ว

                   แต่กระบวนการทำนั้น  เขาจะต้องศึกษาจากภาพถ่ายและข้อมูลของเหลวงพ่อ เท่าที่จะรวบรวมได้  จากนั้นก็สเก็ตช์เป็นภาพร่างให้เจ้าของงาน ลูกศิษย์ลูกหา และคนที่เคยเห็นตัวจิรงของหลวงพ่อ มาช่วยกันดู  ติ และปรับแก้

                 เมื่อลงตัวแล้ว ก็เริ่มขึ้นรูป  ปั้นเป็นดินเหนียว  แล้วก็อีกรอบครับ  ให้ลูกศิษย์ลูกหาหลวงพ่อและคนที่รู้ว่าเหมือนหรือไม่เหมือนหลวงพอ่ มาช่วยกันดู  ติชม  ปรับแก้ จากนั้นก็หล่อเป็นปูนปลาสเตอร์อย่างที่เห็นเป็นชิ้นงานที่อยู่ลึกเข้าไปด้านหลัง 

                แค่ทำมาถึงขั้นนี้ คนทั่วไปก็คงจะหมดพลัง ไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไรต่อไปอีกแล้วกระมัง  แต่ยังครับ  นี่แค่เป็นขั้นเตรียมทำงานเท่านั้น  จริงๆครับ  จ่อยบอกว่า นี่เป็นเพียงแค่เตรียมต้นแบบสำหรับตั้งไว้ดู  แล้วเขาก็จะใช้เป็นต้นแบบแกะสลักหิน ให้ออกมาเหมือนกับรูปปั้นและหล่ออีกรอบเป็นปูนปลาสเตอร์นั้น 

                ในขั้นตอนนี้ ต้องใช้พลังจินตนาการจากข้อมูลและการเล่าจากปากของคนที่มีประสบการณ์หลากหลายเกี่ยวหลวงพ่อชาที่เขาจะแปรให้เป็นสิ่งที่จับต้องได้เป็นขั้นๆ  

                นับแต่ร่างเป็นรูปภาพ  จัดวางให้เห็นเป็นภาพที่มีองค์ประกอบเป็นฐานและท่านั่ง ให้คนจริงมานั่งเป็นหุ่นเพื่อตรวจสอบความถูกต้องทางด้านกายวิภาคศาสตร์  รวมทั้งดูรอยยับย่นของผ้าและองค์ประกอบอื่นๆ  ขึ้นรูปเป็นงานปั้นดินเหนียว

               กระทั่งมีข้อยุติว่า เหมือนหลวงพ่อชาแล้ว  ก็จะถอดแบบจากดินเหนียว ให้เป็นแม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์  ซึ่งก็จะพอกใหญ่เป็นสองเท่าของรูปปั้นต้นฉบับ เมื่อหล่อแบบแม่พิมพ์ได้แล้ว  ก็จะค่อยๆ แกะแม่พิมพ์ออกจากต้นแบบดินเหนียว ตบแต่งแม่พิมพ์

               ตบแต่งแม่พิมพ์เสร็จ ก็จะประกอบกลับเป็นแม่พิมพ์ แล้วทำการหล่อด้วยปูนปลาสเตอร์

               เมื่อปูนเซ็ตตัว จึงจะแกะแม่พิมพ์ออก แล้วก็ตบแต่ง จนได้ต้นแบบชิ้นงาน เหมือนกับที่เห็นตั้งอยู่ข้างหลัง

               ทั้งหมดนี้เป็นเพียงขั้นเตรียมต้นแบบเท่านั้นครับ เป็นขั้นเตรียมการ งานแกะสลักจริงๆ จะเริ่มหลังจากเสร็จสิ้นขั้นนี้ไปแล้ว 

               กระบวนการมากมายขนาดนี้นี่เองครับ  ที่เวลาเห็นงานสร้างสรรค์ศิลปะอย่างอลังการไม่ว่าจะของไทยหรือของต่างประเทศ คนจึงมักต้องอุทานว่าเป็นงานของพระเจ้า หรือเป็นงานของเทพ คนธรรมดาทำไม่ได้ครับ แค่คิดก็หมดแรง 

               แต่จ่อยกลับบอกว่า ขั้นตอนที่รอคอยและจะสนุกสำหรับเขาคือ การแกะสลักหิน เขาว่าท้าทายและเพลิดเพลินที่สุด  ทั้งหมดที่กล่าวมาจึงเป็นแค่การเตรียมลงมือได้ทำสิ่งที่เขารอคอย คือ ใช้ชิ้นงานในขั้นแรกเป็นต้นแบบให้เขาแกะสลักหิน

 

                                                     ผู้ถ่ายภาพวิรัตน์ คำศรีจันทร์    กุมภาพันธ์ 2552

 

                 จากนั้น  เขากับชาวบ้านและลูกศิษย์หลวงพ่อที่มาให้เขาทำ  ก็จะตระเวนออกไปหาและเลือกหินให้ได้ตามขนาดและคุณลักษณะที่ต้องการ จากนั้น จ่อยก็จะเริ่มแกะสลักหิน  รูปเหมือนอีกรูปก็จะค่อยๆเผยโฉมขึ้นมาทีละนิด-ละนิด แปรแท่งหินอันแกร่งแข็ง ให้เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อชาซึ่งจะไปประดิษฐานในที่อันเหมาะสมอย่างมั่นคงถาวรเป็นพันเป็นหมื่นปี

               การแกะสลักหินไม่เหมือนการปั้น  ต้องแกะและสกัดหินออกไปทีละนิด  จะพลาดไม่ได้เพราะการแกะหินผิดพลาดนั้น  ก็จะเสียแล้วเสียเลย ไม่สามารถทำขึ้นใหม่เหมือนการปั้น และจ่อยบอกว่าจะอยู่กับอารมณ์การทำงานตรงนี้อย่างลืมสิ้นทั้งความเจ็บปวด เมื่อยล้า หรือแม้กระทั่งกินข้าวปลาอาหาร

              คุยมาถึงตอนนี้  ผมก็ได้เกร็ดความรู้ไปด้วยมากมาย  จ่อยมีความรอบรู้เรื่องหิน  คุณค่าและความหมายทั้งทางความงามและทางด้านอื่นๆ มากมายและช่างคุยให้ฟังอย่างสนุกสนาน

 

                                                            ผู้ถ่ายภาพวิรัตน์ คำศรีจันทร์    กุมภาพันธ์ 2552

 

              บางช่วงก็งัดเอาบทเพลงและบทกวีออกมาอ่าน  อารมณ์และพลังการส่งความรู้สึกนึกคิดกับคนรอบข้างใสๆ ซื่อๆ สัมผัสได้ถึงความวางใจและรู้สึกปลอดภัยอย่างสิ้นเชิงกับรอบข้าง 

              ประกายตามีพลังแจ่มใสงดงาม สะอาด บริสุทธิ์  ขัดแย้งกับรูปลักษณ์ภายนอกที่ผอมกร่อง ผิวเกรียมเป็นทองแดงและนิ้วเพรียวแกร่งเหมือนคีมแบบคนกรำงาน

 

                                                      ผู้ถ่ายภาพวิรัตน์ คำศรีจันทร์    กุมภาพันธ์ 2552

 

             เราสามารถเข้าใจความมีพลังชีวิตมากมายต่างจากภายนอกที่ผู้คนเห็นเป็นคนประหลาดของเขาได้  เพราะคนทำงานอย่างพากเพียร สู้กับตนเองสารพัด 

             แกะสลักหินและเจียรนัยหินผาอันกร้าแกร่งออกทีละนิดทั้งวันทั้งคืน แต่ละชิ้นเป็นหลายๆเดือน

             ต้องเคี่ยวกรำทุ่มเทตนเองลงไป กระทั่งออกมาเป็นงานหนึ่งชิ้นอย่างที่จ่อยกำลังทำนี้ จะมีอะไรให้ต้องระย่อในชีวิตอีกต่อไป 

             'ชีวิตและจิตใจ ที่กำกับมือสกัดหินแกร่งให้กลับอ่อนโยนราวมีชีวิต งดงามและอลังการด้วยพลังศิลปะได้อย่างใจ ย่อมมีพลังและแกร่งกว่าหินมากมายหลายเท่า จะมีอะไรมากระทบให้ติดยึดหม่นใจ แบบวิถีของผู้คนทั่วๆไปได้อีก'

             เขาจึงมีแต่ความรื่นรมย์แห่งชีวิตเท่านั้น คนทำงานอย่างนี้ต้องเรียกเทพแล้วครับ เหนือกฏเกณฑ์ทั่วไป  ไม่ได้เลี้ยงชีวิตด้วยการดำเนินไปอย่างเราๆท่านๆ แต่เขาดูแลทางจิตวิญญาณและพลังชีวิตตนเอง  ด้วยการทำงานศิลปะและสร้างสรรค์ความงาม  อิ่มปีติกับทิพยสัมผัส

            จ่อยบอกว่า เขาอยู่อย่างมีความสุขไปกับการได้ทำงานศิลปะ  ไปทำอย่่างอื่นไม่ได้   

            มีปณิธานและเจตนารมณ์ในชีวิตของเขาแปะติดอยู่ข้างฝาด้วย  

            บทเรียนอย่างที่เรียนรู้จากวิถีของจ่อย ต่างไปจากกระแสหลักของสังคม  เพราะความต้องการมีกิจการของเขา หาใช่ด้วยวิธีคิดอย่างที่คนส่วนใหญ่มุ่งไขว่คว้า เขาต้องการเพียงวิถีการงานและการดำรงชีวิตศิลปะ เพื่อสร้างความงาม อยู่เพื่อสร้างสรรค์งานศิลปะ อุทิศตนให้กับการรังสรรค์ศิลปะและความงามให้กับผู้อื่น ไม่คิดหวังไปทำอย่างอื่น

              ยืนหยัด ชัดเจน  แกร่ง และเห็นพลังชีวิต 

              เหมือนหินที่เขาแกะสลัก ที่ทำให้เป็นทุกอย่างได้ดังใจคิด.

 .....................................................................................

(1)  ชมรมชีวเกษม  ชมรมเรียนรู้และสร้างสุขภาพแนวผสมผสานการเจริญสติภาวนาเพื่อพัฒนาสุขภาวะทางจิตใจ การออกกำลังกายและการกินอาหาร  รวมทั้งการมีเวทีเรียนรู้ พัฒนาตนเอง ล้อมวงกินข้าวจับเข่าคุยกัน เริ่มทำกิจกรรมมานับแต่ปี 2542  ที่อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เครือข่ายสมาชิกส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางในเมือง และกลุ่มคนที่มีบทบาทของหน่วยงานต่างๆในพื้นที่  ทั้งทางด้านการศึกษา สุขภาพ องค์กรท้องถิ่นและธุรกิจเอกชน 

(2) เบิกฟ้าธรรมาศรม  เป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมและให้การศึกษาอบรมการเจริญสติภาวนา  ริเริ่มโดยแกนนำของชมรมชีวเกษมและเครือข่ายชุมชน  ตั้งอยู่ที่อำเภอท่าช้าง  จังหวัดสุพรรณบุรี

(3)  กิจกรรมระหว่างพัฒนาศูนย์ปฏิบัติธรรม ก่อนพัฒนามาเป็น ศูนย์ปฏิบัติธรรมเบิกฟ้าธรรมาศรม  เป็นแหล่งปฏิบัติธรรมที่ชาวบ้านและสมาชิกของชมรมชีวเกษมริเริ่มและสร้างขึ้น ต่อมาก็เป็นที่นิยมของเครือข่ายบุคคลที่สนใจแนวเดียวกัน จึงขยับขยายสถานที่ให้พอรองรับกลุ่มสนใจ กระทั่งสร้างเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมและเจริญสติภาวนา ที่อำเภอท่าช้าง  จังหวัดสุพรรณบุรี  ชื่อ ศูนย์ปฏิบัติธรรมเบิกฟ้าธรรมาศรม เป็นชื่อที่  พระเดชพระคุณพระพรหมณ์คุณาภรณ์ ตั้งให้ ผู้เขียนเคยไปร่วมกิจกรรมหลายครั้ง ครั้งหนึ่งที่ประทับใจมากคือการปลูกต้นไม้เพื่อทำสวนป่าให้ความร่มรื่น (  http://gotoknow.org/blog/civil-learning/213282  )  มี นายแพทย์ ดร.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และเครือข่ายหมู่มิตรหลายครอบครัวไปร่วมกิจกรรมนั้นด้วยกัน  

หมายเลขบันทึก: 244195เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2009 17:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

สวัสดีคะ

เพิ่งได้ทราบวันนี้คะว่าพี่เค้าชื่อ จ่อย (ที่จริงคือนึกไม่ออกฮ่ะ) ชื่อพี่เค้าต่างจากวิถีการใช้ชีวิตของพี่เค้าจริงๆ มันยิ่งใหญ่มากๆ

พี่เค้าต้องเริ่มต้นต่อสู้ตั้งแต่เริ่มต้นชีวิต ตั้งแต่มาหาซื้อที่ดินเพื่อเริ่มต้นกิจการ ของพี่เค้าด้วยสายตาของชาวบ้านในละแวกนั้นที่เห็นว่าพี่เค้าเป็นฤาษีบ้าที่จะมาปักหลักในละแวกนี้ด้วยซ้ำไป

ตั้งแต่เข้าไปเยี่ยมเยือนพี่เค้า ความรู้สึกของคนที่มีพลังการทำงาน พลังศรัทธาในเนื้องาน พลังของความรักในงานศิลปะ มันทำให้เราทึ่งในตัวพี่เค้าแบบว่า มีคนอย่างนี้จริงๆ ด้วยหรือนี่ ....

ภาพนี้ จากมุมมองด้านข้างจากรูปของอาจารย์คะ ....

"โลกให้ฉันเกิดมาทำงานศิลปะ ... คนอย่างฉันอย่าคิดหวังไปทำอย่างอื่น"  (ภาพจังหวะนี้ ชื่นชอบมุมของภาพอาจารย์มากๆ คะ)

เพียงแค่เห็นอุปกรณ์การทำงานของพี่ จ่อย แล้ว มันขลังจริงๆ คะ

จะถ่ายมุมไหนพี่จ่อยก็ยิ้มได้ตลอดเวลา มีความสุขจริงๆ

 

"ขวัญ ตะวัน Art Hut"  ... ขวัญ และตะวัน เป็นชื่อของลูกสาว และลูกชายของพี่จ่อย ถ้าเป็นไปได้ซักวันหนึ่ง อย่างพอปะน้องๆ เค้าจริงๆ

 

โอ๊ะ เอาอีกแล้วคะอาจารย์คะ มันโพสไป 2 ครั้งอีกแล้วคะ ฝากอาจารย์ลบออกด้วยคะ เดาว่า สาเหตุมาจากไปกดรีเฟรชคะ คราวหลังจะระวังให้มากคะ .... ขอบคุณคะ

  • อืมมใช่ เขาเล่าให้ฟังอยู่ว่าที่เขาหาลูกน้องหรือคนมาทำงานด้วยไม่ได้เพราะคนมองว่าเขาเป็นฤาษี ฟังดูแล้วก็ขำดี แต่ดูสตูดิโอ ทำเล การไว้ผมยาวๆ ตัวผอมๆ ของเขา แถมมีรูปปั้นพระและแท่งหิน วางเรียงรายอยู่ วางอยู่ตามบริเวณบ้านของเขาอีก มันก็ชวนให้คิดว่าเขาเป็นฤาษีได้เหมือนกันนะครับ ยิ่งอยู่ใกล้ป่าเขา ตีนเขาใหญ่เสียด้วย
  • เพิ่งรู้เหมือนกันว่าชื่อสตูดิโอว่า ขวัญตะวัน นั้น เป็นชื่อลูกชาย-ลูกสาว ของจ่อย ชื่อเท่และเป็นอลังการกวีจริงๆ
  • มุมภาพและจังหวะการจับภาพของอาจารย์ณัฐพัชรดีจริงๆ นะครับ อาจารย์กับเพื่อนๆ อย่าลืมสะสมการถ่ายภาพ  เขียนรูป  เขียนบันทึก ควบคู่ไปกับการทำงานภาคสนามอยู่เสมอๆนะครับ
  • ขอบคุณหลายๆนะครับที่อาจารย์นำเอารายละเอียดและภาพถ่ายที่บันทึกไว้มาแบ่งปันเพิ่มเติมให้

ถ้าเสร็จแล้วคงดูดีกว่านี้นะคะ

จะรออีกครั้งคะ

  • ขอบคุณคุณจันทร์ที่เข้ามาอ่านและชมครับ
  • ป่านนี้คงเกือบเสร็จแล้วแหละครับ
  • ในนี้ก็มีงานศิลปะกับงานทางความคิดให้ชมอีกนะครับhttp://www.oknation.net/blog/silpa

ปิดตำนานบ้านศิลปเขาใหญ่เรียบร้อย

  • เป็นอย่างไรล่ะครับเนี่ย คุยแบบละไว้ให้เข้าใจกันเองเลยนะครับ หมายถึงเลิกทำงานศิลปะ ย้ายบ้านและที่ทำงานศิลปะจากเขาใหญ่ไปอยู่ที่อื่น หรือว่ามีอุปสรรคให้ทำงานศิลปะอย่างที่ตนเองชอบไม่ได้ หรือว่าอย่างไรครับ คุณมานิตย์คงเป็นกลุ่มทำงานด้วยกันหรือเพื่อนผู้คุ้นเคยกันหรือครับ
  • แว่วจากพี่ชายของเขาคุยให้ฟังแบบเปรยๆอยู่เหมือนกันว่าจะย้ายบ้านไปอยู่ที่อื่นและไกลออกไปจากเขาใหญ่ เป็นอย่างกรณีหลังนี้หรือเปล่าครับ ตอนนั้นไม่ทันได้ถามไถ่รายละเอียดมาถ่ายทอดให้คนติดตามผลงานของจ่อย : ประยูร ให้ได้ทราบในบันทึกนี้เพราะก็เป็นการพูดคุยถึงสารทุกข์สุกดิบกันอยู่เป็นปรกติอยู่เสมออยู่แล้ว
  • แต่ก็คงไม่เป็นไรหรอกนะครับ เขาดำเนินชีวิตและทำงานอย่างทุ่มเทเต็มที่ เมื่อมีความเปลี่ยนแปลง ก็คงให้โอกาสตนเองได้เริ่มต้นเรียนรู้สิ่งใหม่ได้อยู่เสมอ

เป็นเพื่อนกับจ่อยครับเรียนมัธยมมาด้วยกันคนบ้านเดียวกัน

"จ่อยเขาบอกว่าตอนนี้ความเจริญกำลังครอบงำเขาใหญ่ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นเรื่องธุรกิจซะส่วนใหญ่ เขาไม่ชอบบรรยากาศอึกกระทึกครึกโครม เขาชอบบรรยากาศเสียงนกเสียงกา แต่ตอนนี้มันไม่มีแล้ว เขารำคาญเสียงรถ เขาเลยตัดสินใจขายที่ซึ่งเขาเก็บสะสมด้วยแรงกายมาหลายปี เพื่อไปสร้างงานบ้านศิลปะแห่งใหม่ ที่ชัยภูมิ เสาร์-อาทิตย์นี้ผมก็จะลงไปเยี่ยมเขาและเอาวงกบ-ประตูไปช่วยเขาทำบ้านและสตูดิโอ ถ้าอาจารย์มีอะไรจะฝากถึงจ่อยฝากได้ครับ"

การมีสตูดิโอและอยู่อาศัยเป็นบ้านที่เรียบง่าย กลมกลืนกับธรรมชาติ ได้อยู่กับตัวเอง และมีเวลาย่อยประสบการณ์หาความคิด-หาแรงบันดาลใจทำงานนั้น แม้นมองไม่เห็นแต่ก็เหมือนกับสิ่งที่ต้องใส่เป็นส่วนผสมลงไปในวัสดุอุปกรณ์ทุกอย่างในการสร้างบ้านเลยนะครับ เลยต้องไปแสวงหาให้ได้อย่างใจ ฝากรำลึกถึงนะครับ หากผ่านไปจะแวะไปเยือนครับ

อยากเห็นเวลาที่พระไปประดิษฐานอยู่เบิกฟ้าธรรมาศรมจริงๆค่ะ สำเร็จเมื่อไหร่ให้บอกในเว็บด้วยนะคะ จะได้ไปช่วยอีกแรงค่ะ

  • ขอบคุณคุณมานิตย์มาทางนี้ด้วยอีกทางหนึ่งนะครับ ผมได้รับอีเมลแล้วครับ หากมีโอกาสจะไปเยือนสตูดิโอและบ้านใหม่ของจ่อยนะครับ
  • สวัสดีครับคุณนกน้อย : ตอนนี้ดูเหมือนว่าโครงการแกะสลักพระพุทธรูปสำหรับไปประดิษฐานที่ศูนย์เบิกฟ้าธรรมาศรมนั้น เลยก็ต้องหยุดทำกันไปในระยะนี้ก่อนครับ

ประทับใจจังเลย.."โลกให้ฉันเกิดมาทำงานศิลปะ  คนอย่างฉันอย่าคิดหวังไปทำอย่างอื่น"

ด้วยจิตคาระวะเลยค่ะ...

                    

                     คงจะเป็นรุ่นเดียวกับคุณครูอ้อยเล็กแหละครับ

เสียดายเขาย้ายที่ทำงานซะแล้ว...ไกลออกไปอีก..ก็ขอให้คนมีศรัทธาแรงกล้าขนาดนี้ทำงานแบบฟ้ามีตาด้วยเถอะค่ะ..

ชื่นชมผลงานและแนวคิดมากเลยครับไปอยู่ชัยภูมิที่ไหนครับเผื่อมีงานแกะครูบาอาจารย์ให้ท่านแกะบ้าง

ผมก็ยังไม่เคยไปที่สตูดิโอแห่งใหม่นี้เลยครับ

เป็นคนบ้านเดียวกับ จ่อยครับ เป็นเพื่อนที่เรียนโรงเรียนพล มาด้วยกัน ได้ทราบเรื่องราวของจ่อยก็จาก ศุภมิตร นะ่ครับ

สวัสดีครับต้า เมืองพล
ตอนนี้กลุ่มทำงาน ทำร้าน เล่นดนตรี คงคึกคักดีนะครับ
จะมีโอกาสได้จรไปยามกันสักมื้อไหมเนี่ย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท