เมื่ออาจารย์ต้องเป็นนายทุนเงินกู้


ให้เขาไป 30,000 บาท คือ ให้คนละ 15,000 บาท อีกคนละ 5,000 บาท ให้ไปหากันเอง

คนจนจริง 2 คนที่เรารู้จักอยู่ที่ชัยภูมิ   ต้องการใช้หนี้เงินกู้กองทุนหมู่บ้าน คนละ 20,000 บาท  แต่เลยเวลามา  2-3 วันแล้ว ยังหาเงินไม่ได้    แกนนำชาวบ้านที่ทำงานกับเรามา 4 ปี.. และคิดว่าจะทำงานด้วยกันต่อไป (แบบอาสาสมัคร) จึงโทรมาหา

 

ชาวบ้าน 2 คน จะขอยืมเงินอาจารย์ คนละ 20,000 บาท ไปคืนกองทุนหมู่บ้าน   คืนแล้วจะยืมออกมาใหม่เพื่อใช้หนี้อาจารย์ปัท  (เข้าตำราที่เราไปเห็นมาที่ชัยนาทเปี๊ยบเลย)

 

 เรากลับไปคิด 30 นาที แล้วจึงตัดสินใจ

 

ให้เขาไป 30,000 บาท  คือ  ให้คนละ 15,000 บาท  อีกคนละ  5,000 บาท ให้ไปหากันเอง  (กั๊กไว้งั้นเอง  ไม่ยังงั้นจะช่วยแก้ปัญหาง่ายไป)   ข้อแม้คือ  หากคืนกองทุนหมู่บ้านแล้วห้ามกู้ใหม่  แต่หากจะกู้ยืมใหม่  ขอให้กู้น้อยกว่าคนละ 20,000 บาท  (ที่จริง เราสอนให้สมาชิกคนแรก คืนกองทุนหมู่บ้าน  20,000 บาท แล้วยืมกลับออกมาแค่ 10,000 บาท  เอามาให้คนที่สองไปโปะ 10,000 บาทที่เหลือเพื่อส่งคืน   แต่ให้ถือว่า แต่ละคนมีภาระรับผิดชอบหนี้กองทุนหมู่บ้านคนละ 5,000 บาท)

 

เงินยืมนี้ไม่คิดดอกเบี้ย  แต่ให้เขาทยอยคืนเข้ากองบุญข้าวสารซึ่งกำลังจะเริ่มขึ้นในหมู่บ้าน   ให้สัจจะว่าจะคืนเดือนละกี่บาท  (ดูกำลังเขาแล้วคืนได้เดือนละ 100 บาทก็สุดกำลังแล้ว   หากคืนเงินก้อนจะยิ่งแย่ใหญ่   และการคืนเงินมาที่กรุงเทพฯก็ต้องจ่ายค่าโอนเงินให้ธนาคารเสียเปล่าๆ   กว่าจะครบ 30,000 บาท  ฝากเก็บไว้ที่หมู่บ้านใช้ประโยชน์ไปพลางๆ จะดีกว่า)

"ช่วยทำบัญชีการส่งคืนเงินไว้ให้ด้วยนะคะ" ... เราบอกแกนนำ..  ต้องทำเป็นสร้างวินัยเสียหน่อย

 

งานนี้ไม่รู้จะหมู่หรือจ่า...   เป็นการทดลอง model  ที่อาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจชาวบ้านแบบ 50-50  (แม้จะรู้ว่าเขาเป็นคนดี และขยัน แต่ในหมู่บ้านก็ไม่ค่อยมีช่องทางสร้างรายได้มากนัก  ต้องอาศัยกระบวนการกลุ่มนี่แหละ)

คำสำคัญ (Tags): #กองทุนหมู่บ้าน
หมายเลขบันทึก: 246563เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2009 18:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 16:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับคุณ ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ คนจนไม่ใช้ 2 คนแน่ ครับ วิถีชีวิตอยุ่กับชุมชน เป็นกรรมกองทุนหมู่บ้านกองทุนที่ผมทำอยู่มี 84 สัญญา กู้จากนายทุนคืนกองทุน ร้อยละ 70 นี้คือความจริง

สวัสดีค่ะคุณเหรียญชัย

คนจนมีมาก ทั้งจนจริง (รายได้ไม่พอหาปัจจัยสี่) และจนเปรียบเทียบค่ะ

เป้าหมายสุดท้ายของกองทุนหมู่บ้าน หากหยุดอยู่แค่..มีเงินให้สมาชิกกู้ และให้สมาชิกคืนเงินกู้ .. ก็คงไปไม่ถึงฝั่งฝันของการแก้ปัญหา

เป้าหมายสุดท้ายของสมาชิก หากหยุดอยู่แค่ พอให้มีเงินหมุนเวียน ..ก็คงไปไม่ถึงทางออก

มีเงิน..ใช้ทำอะไร.. มองสั้นเฉพาะหน้าหรือมองยาวไปอีกหน่อย..

วางแผนดีๆ..ช่วยกันคิดช่วยกันทำทั้งเรื่องสั้นและเรื่องยาว..

ดีใจที่หลายกลุ่มช่วยสมาชิกมองหาทางออก ..

เป็นกำลังใจให้คนทำงานค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์ปัท

เรื่องราวแบบนี้พี่ก็มีประสบการณ์อยู่หลายครั้งค่ะ...มีทั้งที่ให้แล้วได้เงินคืน และมีทั้งที่ให้โดยไม่ได้เงินคืนค่ะ... ชาวบ้านหลายคนเป็นคนดีแต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ แม้รู้ว่าเป็นหนี้เรา อยากคืนเงินให้เรา แต่ก็ไม่มีทางออก สุดท้าย ก็คือ ไม่สามารถใช้คืนเงินที่ยืมไปได้...

ซึ่งพี่ก็ตั้งใจตั้งแต่แรกแล้วว่า แม้ไม่ได้เงินคืนก็ไม่เป็นไร..ถือว่าเราได้มีโอกาสแบ่งปัน สิ่งที่เราพอมีให้ผู้อื่น เป็นการได้ "ทำบุญ" ด้วยค่ะ

ลูกศิษย์พี่เองหลายคนก็เผชิญปัญหาทางการเงิน แม้มีเงินกองทุนของมหาวิทยาลัยและของคณะที่ช่วยเหลือเรื่องการให้ทุนการศึกษา แต่ก็ไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนลูกศิษย์ทื่เดือดร้อนค่ะ ช่วงนี้กำลังดำเนินการจัดตั้ง "กองทุนสวัสดิการ" ของนิสิตภาควิชาฯ และของคณะค่ะ โดยนำเครื่องมือที่ทำงานกับชุมชนมาใช้กับนิสิต คือ ให้ลูกศิษย์ "ออมบุญวันละบาท" และให้บันทึก "รายรับ-รายจ่าย" ทุกวันค่ะ

เมื่อวานก็มีประชุมกับวงพอช. เรื่องการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนท้องถิ่นค่ะ พี่น้องในชุมชนชนบททั่วประเทศวันนี้เผชิญวิกฤติหนี้สินซึ่งเป็นปัญหาสะสมมายาวนาน... ที่น่าดีใจและเป็นความหวังคือ มีชุมชนหลายพื้นที่ที่ลุกขึ้นมา "ปฏิวัติ" ตัวเอง หาทางแก้ไขปัญหาตามแนวทางอริยสัจจ์4 และพุทธวิธีสร้างฐานะคือ "อุ อา กะ สะ" ค่ะ

นับเป็น "พื้นที่ครู"ที่สามารถเป็นตัวอย่างของการเรียนรู้ให้กับชุมชนอื่น ๆ ค่ะ

คงต้องร่วมด้วยช่วยกันและเป็นกำลังใจให้กันและกัน...ต่อไปและต่อไปค่ะ

ดูแลสุขภาพด้วยนะคะ

เรียนอาจารย์ตุ้ม

วันที่ 5 มีค. ได้ทราบข่าวจาก พอช.เหมือนกันค่ะ แต่ไม่ได้เข้า

คงต้องรออ่านประสบการณ์จากพื้นที่ของอาจารย์ตุ้ม เพื่อเรียนรู้และถ่ายทอดให้พื้นที่อื่นๆต่อไปค่ะ

หวังว่าอาจารย์ตุ้มคงสบายดีนะคะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท