ประสิทธิภาพของสถาบัน กับ ถนนสายเงินกู้


.. ถนนสายนั้นตัดตรงผ่านหลายหมู่บ้าน แม้มองไม่ทันหรือมองไม่เห็น แต่เราก็ได้เรียนรู้ว่า บนถนนสายนั้นมีองค์กรการเงินชุมชนของหมู่บ้านต่างๆเรียงรายหลากหลายรอให้บริการแก่ชาวบ้าน...

14 มีนาคม 52  ทีมงานไปเยี่ยมสถาบันการเงินชุมชนโมคลาน ตำบลโมคลาน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช

เป็นโชคดีที่ได้เข้าสังเกตการประชุมกรรมการกลุ่ม.. มีเรื่องแจ้งเพื่อทราบเรื่องผลดำเนินการ  มีการพิจารณารับสมาชิกใหม่ และพิจารณาการอนุมัติเงินกู้  

การรับสมาชิกใหม่

สถาบันการเงินโมคลานอยู่หมู่ 11  ยกระดับจากกองทุนหมู่บ้าน  รับสมาชิกทั้งจากในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้าน   วิธีการที่ดีคือ  ผู้สมัครสมาชิกจากนอกหมู่บ้านจะต้องมีสมาชิกในหมู่บ้าน 1 คนเป็นผู้รับรอง .. (เรานึกถึงเวลานักศึกษาสมัครเรียนต่อหรือสมัครงาน ยังต้องหาผู้เขียนจดหมายรับรอง)

นอกจากกติกาดีแล้ว  ประสิทธิภาพการทำงานยังสูงอีกด้วยเพราะมีข้อมูลพร้อม

"ผู้สมัครใหม่คนที่ 1 ชื่อ .......... อยู่ที่ ............ ผู้รับรองคือ .................." ประธานอ่านใบสมัคร

ถ้าเป็นคนในหมู่บ้านก็รับทันที

ถ้าเป็นเด็กก็รับทันที เพราะเด็กออมได้ แต่กู้ไม่ได้

ถ้าเป็นคนนอกหมู่บ้าน  กรรมการแต่ละคนต่างช่วยกันให้ข้อมูล  บางครั้งก็เป็นข้อมูลของสมาชิกเองว่าเป็นลูกหลานใคร ทำงานอะไร  ถ้าไม่รู้จักคน ก็ดูชื่อผู้รับรองในหมู่บ้านว่าเป็นใคร...  ครึ่งชั่วโมงพิจารณาจบ 8-9 คน

การอนุมัติเงินกู้ของสมาชิก

ประธานอ่านชื่อสมาชิก วัตถุประสงค์การกู้  และเงินที่ขอกู้  จากนั้นจึงอ่านผลการตรวจสอบประวัติการกู้ของฝ่ายการเงินว่า คนๆนี้ เคยกู้หรือยังเป็นหนี้กลุ่มอยู่ไหม  จากนั้นจึงให้ข้อมูลหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือ ผู้ค้ำประกัน

สิ่งที่กรรมการแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือพิจารณากันก็คือ  นิสัยใจคอ ความรับผิดชอบ ฐานะการเงินของคนกู้  ความน่าเชื่อถือของคนค้ำประกัน  กิจกรรมที่จะใช้เงิน

ข้อมูลพรั่งพรูเพราะกรรมการ (เช่น ฝ่ายสินเชื่อ หรือประธาน) ทำการบ้านกันมาก่อน  มีการไปดูพื้นที่จริง  ถ่ายภาพมาด้วย  ถ้าเป็นโฉนดที่มีชื่อหลายคนเป็นเจ้าของ  ก็ต้องให้ทุกคนมาพบยืนยันด้วยตนเองว่ายินยอมให้นำโฉนดนั้นมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน

วงเงินกู้ที่อนุมัติขึ้นกับความน่าเชื่อถือและจำนวนเงินที่จำเป็นสำหรับกิจกรรมนั้นๆ

ข้อมูลพร้อม ทำการบ้านกันมาดี  ทุกคนมีส่วนร่วม ประธานคล่องแคล่ว ตัดสินใจได้  ไม่นานก็พิจารณาเสร็จประมาณสิบราย  คำขอกู้ที่ไม่ผ่าน คือ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม  หรือ อนุมัติในหลักการหากข้อมูลครบถ้วนชัดเจน  เป็นต้น

ขณะกำลังพิจารณา  มีฝ่ายเลขานั่งบวกจำนวนเงินที่ผ่านการอนุมัติไปพร้อมๆกัน  เมื่อพิจารณาเสร็จ  เลขาก็สรุปได้ทันทีว่า ผ่านการอนุมัติเงินกู้กี่ราย เป็นวงเงินเท่าไร

ทำสัญญา

เมื่ออนุมัติเช้า  บ่ายก็ให้มาทำสัญญาได้เลย  ในการทำสัญญา  ผู้กู้กับกลุ่มก็มาเจรจากันว่า จะผ่อนชำระเงินกู้และดอกเบี้ยอย่างไร  แต่การรับเงิน ต้องรออีกหนึ่งสัปดาห์

สมาชิกที่ให้สัมภาษณ์บอกว่า  ข้อดีของกลุ่มนี้คือ  วันผ่อนชำระกำหนดเป็นเดือน  เช่น ให้ผ่อนชำระในเดือนอะไร  กี่บาท   เนื่องจากกลุ่มเปิดทำการ 2 วันในหนึ่งสัปดาห์ หรือ 8 วันในหนึ่งเดือน  จึงมีความยืดหยุ่นที่ผู้กู้จะมาส่งเงินคืนเดือนนั้นในวันใดก็ได้ที่ผู้กู้สะดวก

"บางกลุ่ม เปิดทำการแค่วันเดียวในหนึ่งเดือน  พอมาไม่ตรงวันเขาก็ไม่รับคืนเงินกู้  แต่ถ้ามาช้ากว่าวันนั้นก็ถูกปรับเป็นรายวัน"  สมาชิกคนหนึ่งที่กู้หลายกลุ่มตั้งแต่หัวถนนนไปท้ายถนนบอกกับเรา   

"ไม่เวียนหัวเหรอ ว่าวันไหนต้องส่งเงินกู้ที่ไหน"  เราถามเพราะคนสัมภาษณ์เริ่มเวียนหัว

"ไม่หรอก จำได้สิ"   เธอบอกอย่างมั่นใจและจริงใจ

ถนนสายการเงิน

เราออกจาก "โมคลาน" ไป "บ้านในถุ้ง"  .. ถนนสายนั้นตัดตรงผ่านหลายหมู่บ้าน  แม้มองไม่ทันหรือมองไม่เห็น  แต่เราก็ได้เรียนรู้ว่า  บนถนนสายนั้นมีองค์กรการเงินชุมชนของหมู่บ้านต่างๆเรียงรายหลากหลายรอให้บริการแก่ชาวบ้าน...นับตั้งแต่วงแชร์ที่ไม่เป็นทางการ กลุ่มออมทรัพย์  กองทุนหมู่บ้าน กองทุนมุสลิม สถาบันการเงินชุมชน....  ออกสู่ถนนใหญ่ ก็ยังมี ธกส. สหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน บริษัทประกันภัย

ชาวบ้านบางคนไม่กู้  แต่อีกหลายคนทำงานอย่างขยันขันแข็ง ทำไป กู้ไป..ตั้งแต่หัวถนนถึงท้ายถนนทีเดียว..

"ข้อดีของการกู้เงินคือ ทำให้ขยัน"  หนุ่มฉกรรจ์วัยก่อร่างสร้างตัวที่ทำงานทุกอย่างที่ทำได้บอกเรา ..เขามองชีวิตด้วยความหวังจริงๆ..

หมายเลขบันทึก: 249291เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2009 13:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 10:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
รัชชพล ศุภวิวรรธน์ นศ. ec261 เทอมล่าสุด

การเงินชุมชนเริ่มมีการขยายตัวเติบโตมากขึ้นจริงครับ กระจายไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็วเลยก็ว่าได้ อาจเป็นเพราะเป็นความสำเร็จของกลุ่มอื่นๆ จึงคิดจะนำมาประยุกต์ใช้เองบ้าง

ผมเพิ่งทราบว่าการตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์เป็นนโยบายที่สนับสนุนโดยภาครัฐ จากทีแรกที่นึกว่าเกิดจากกลุ่มของพระอาจารย์สุบินแล้วเกิดการใช้ตามกันเสียอีก หรือผมเข้าใจผิด

ตอนนี้ไปที่ไหนก็คงมีแต่กลุ่มสัจจะออมทรัพย์อยู่เต็มไปหมด แต่ไม่ใช่ว่าทุกที่จะใช้ประโยชน์จากกลุ่มในการให้สวัสดิการแฝงได้จริงๆ (ข้อมูลผมอาจผิดบ้าง โปรดชี้แนะด้วยครับ)

จากการพูดคุยกับแกนนำชาวบ้านที่เป็นผู้จัดตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์หมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย(จากการได้ทำค่าย) เห็นได้ชัดเลยว่าความเข้มแข็งเป็นสิ่งจำเป็นจริงๆ และมันก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบของแนวความคิดของคนในหมู่บ้านชัดๆเลยว่าพวกเขาไม่ต้องการขยายขนาดการวงเงิน พวกเขาต้องการเป็นผลประโยชน์จากการได้รับปันผลเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถดึงประโยชน์จากการรวมกลุ่มอย่างอื่นได้เลยนอกจากด้านผลกำไรเท่านั้น

โดยส่วนตัวผมคิดว่านั่นเป็นลักษณะ ที่อาจเป็นข้อจำกัดด้านฐานะของคนในหมู่บ้านดังกล่าว จึงอยากทราบความเห็นของอาจารย์ว่า พอมีแนวทางใดบ้างที่จะทำให้หมู่บ้านใช้ประโยชน์ได้ดังเช่นกลุ่มออมทรัพย์อื่นๆ เช่น ที่ห้วงน้ำขาว เป็นต้น

ชาญพล พินินจการวัฒน์กุล นศ. ec261

คือผมคิดว่าในกรณีของอาจารย์นั้น เหมือนกับว่าเป็นการฝากภาระไว้ที่ผู้นำชุมชนเพียงผู้เดียว เงินกู้ก็ต้องผ่านผู้นำชุมชน หากในชุมชนใดผู้นำดีก็ดีไป แต่ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่จะได้เป็นผู้นำมักจะมีประโยชน์แอบแฝง ยิ่งต้องมาดำเนินการเกี่ยวกับการเงินเช่นนี้ ยิ่งเกิดความเสี่ยงในการทุจริตสูง อย่างเช่นใน ค่ายที่เชียงรายที่กระผมไปมา ผู้นำค่อนข้างไม่มีวิสัยทัศน์ และ(ฟังจากพัฒนากร)มีผลประโยชน์แอบแฝงมากมายทั้งระดับเล็กน้อยจนถึงระดับชาติ ดังนั้น อยากจะขอความเห็นของอาจารย์ในการแก้ไขปัญหาจุดนี้ด้วยครับ

ปล. เพราะชาวบ้านเองก็ไม่มีอำนาจเพียงพอที่จะไปต่อรองกับผู้นำในกรณีที่เกิดปัญหา ชาวบ้านมักคิดว่าตนเองด้อยความรู้กว่าผู้นำ จึงเป็นเหตุให้เกิดการกดขี่ได้ครับ

สวัสดีค่ะคุณรัชชพล

ดีใจที่ใช้ blog เป็นเครื่องมือแลกเปลี่ยนความเห็น เป็นการเจอกันนอกห้องเรียน

ดีใจยิ่งกว่าที่รู้ว่า พวกเราได้พยายามเรียนรู้ ทำความเข้าใจจากสิ่งที่เป็นจริงและได้คิดพิเคราะห์

สิ่งที่อาจทำให้พวกเราสับสน ก็คือ ชาวบ้านบางพื้นที่จะเรียกการออม ว่า "ส่งสัจจะ"

กลุ่มออมทรัพย์ที่สนับสนุนโดยรัฐ ก็มีการออมที่เรียกว่า "สัจจะ" ทำนองเดียวกับกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ (แนวพระสุบิน) หรือ สัจจะออมทรัพย์ (แนวครูชบเดิม)

ฟังมาว่าในช่วงหนึ่ง รัฐสนับสนุนให้ครูชบเดินสายเพื่อส่งเสริมการตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์

การทำงานทางความคิด ผ่านการพูดคุยทำความเข้าใจย้ำแล้วย้ำอีก สำคัญมากถ้าเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงมากกว่าเรื่องทางการเงิน เพื่อนนักวิจัยในทีมถามว่า เราคาดหวังให้องค์กรการเงินทำหน้าที่มากเกินไปหรือเปล่า..

สวัสดีค่ะชาญพล

กรณีโมคลานนี้ เป็น "กลุ่มแกนนำ" มากกว่า "กลุ่มผู้นำ" กลุ่มแกนนำหรือกรรมการที่พบ พูดคุย และสังเกตการทำงานนั้น ทำงานตามแนวระนาบมากกว่าแนวดิ่ง (คือไม่ได้ใช้อำนาจ) เป็นกรรมการที่ทำงานด้วยใจและความตั้งใจค่ะ น่าสนใจว่าอะไรทำให้ "คนดีๆมารวมตัวกัน" ได้

พื้นที่ที่มี "ผู้นำที่มีผลประโยชน์แอบแฝง" คงมีปัญหาในตัวเอง การอธิบายปัญหาที่เราเห็น ณ ช่วงเวลาหนึ่ง หรือสิ่งดีๆที่เราเห็น ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ต้องการความเข้าใจถึงความเป็นมาเป็นไปของพื้นที่นั้น ...เหมือนกับที่ "ประวัติศาสตร์" สำคัญสำหรับการเข้าใจปัจจุบัน

ต้องอยู่หมู่บ้านให้นานขึ้นค่ะ

ดีใจที่เข้ามาแลกเปลี่ยนค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท