เครือข่ายความรู้เพื่อการฟื้นฟูชุมชน (บันทักการเดินทางสู่ "ป้ากนัง") ต่อ


วันแรกเมื่อเดินมาถึงสนามบินหาดใหญ่  โดยการใช้สิทธิ์การบินฟรีของพนักงานการบินไทย  ผมเลือกที่จะเดินทางจากสนามบินเข้าตัวเมืองหาดใหญ่ด้วยรถตู้ประจำทางซึ่งต้องจ่ายค่าโดยสารคนละ 70 บาท แต่ถ้าหากเป็นรถแท็กซี่สนามบินที่เป็นรถเก๋ง ต้องจ่ายค่าโดยสารเที่ยวละ 240 บาท
รถตู้ใช้เวลาประมาณ 15 นาที ก็มาถึงท่ารถตู้ที่เป็นรถประจำทางอีกท่า  ที่จะพาผมไปสู่ตัวเมืองนครศรีธรรมราช  ผมขึ้นรถตู้ที่ท่ารถตองหนึ่ง (๑๑๑) ซึ่งต้องมีค่าโดยสารคนละ 130 บาท  รถใช้เวลาวิ่งประมาณสามชั่วโมง  โดยรถจะแวะพักที่ ณ จุดพักรถในจังหวัดพัทลุง  ประมาณ 15 นาที  ที่จุดพักรถนี้  ผมใช้เวลาส่วนใหญ่กับการกินโอเลี้ยง  และเดินเข้าไปซื้อขนมเปี๊ยะโก๋อ่องหนึ่งกล่อง สิบชิ้น ราคา 30 บาท  เป็นขนมที่อร่อยเลยทีเดียว
รถตู้พาผมมาถึงที่ตัวเมืองนครศรีธรรมราชประมาณสี่โมงเย็น  เพื่อนผม คุณดำรงค์ค์ โยธารักษ์ มารอรับที่ตัวเมืองนครศรีธรรมราชก่อนหน้านี้แล้ว  ก่อนที่เราจะนั่งรถไปอำเภอปากพนัง  คุณดำรงค์พาผมไปนั่งกินข้าวหมกไก่ร้าน “บังบ่าว” เมนูของเราวันนั้นก็มี ข้าวหมกไก่ ชำเย็น และโรตี  อร่อยมากครับ
คุณดำรงค์ขับรถพาผมมาถึงที่อำเภอปากพนังในเวลาประมาณ ห้าโมงเย็น (ภาษาแถวนี้เขาจะใช้คำว่า “ตีห้าหวันเย็น” แทนคำว่า ห้าโมงเย็นครับ แต่ถ้าเป็นตีห้าแบบภาษากลางเขาจะใช้คำว่า “ตีห้าหัวรุ่ง”) หลังจากเข้าคารวะเจ้าบ้าน “คุณสุวรรณี โยธารักษ์” หรือ พี่สาว ภรรยาคุณดำรงค์แล้ว  ผมก็เดินทางเข้าไปพักที่บ้าน “พี่สุเมธ”  ในบรรยากาศแบบธรรมชาติ  ที่ทำให้ผมรู้สึกมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง  หลังจากที่อยู่ในป่าคอนกรีตของ กทม. มาร่วม 20 ปี
วันที่สองในแดนใต้ ผมใช้เวลาทั้งวันไปร่วมเรียนรู้การประชุมคณะกรรมการบริหารของมหาวิทยาลัยชีวิตปากพนัง  ผมได้เรียนรู้เรื่องการเขียนวาระการประชุม  การนำการประชุมจากเวทีนี้เป็นอย่างมาก  ขอบคุณพี่เบญจรัตน์  พี่ทวี  ที่เป็นผู้ถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านการปฏิบัติจริงของท่านให้ผมเห็น  รวมทั้ง “ผอ. ศุภชัย” ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนปากพนัง  ที่เปิดโอกาสให้ผมเข้าไปใช้อินเตอร์เน็ตในการสอนการทำบล็อกให้กับคุณครู กศน. เพื่อจะถ่ายทอดความรู้เรื่องการทำบล็อกให้แก่ชุมชนในโอกาสต่อไป
วันที่สาม ซึ่งตรงกับวันที่ 22 เมษายน คุณดำรงค์พาผมไปดูการสอบของมหาวิทยาลัยชีวิตในภาคเช้า  ก่อนที่จะพาผมไปที่ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนปากพนังเพื่อนำการฝึกปฏิบัติการทำบล็อกดังที่ผมได้กล่าวไปแล้วตอนต้น  วันนี้ผมได้พบความภาคภูมิใจของชาวชุมชนปากพนัง  ที่ได้มีช่องทางในการเล่าเรื่องราวของชุมชนให้คนทั้งภายในและภายนอกชุมชนได้รับทราบ  บล็อกที่ทำในวันนี้ที่ผมจำได้ได้แก่ บล็อกของ “ครูแดง” ที่จะใช้เวทีนี้เป็นสถานที่พูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างครูแดงกับนักเรียนของครูแดงและชุมชน  ที่ลืมไม่ได้คือบล็อกของเพื่อนผม “คุณดำรงค์ค์ โยธารักษ์” ที่ใช้เวทีนี้เพื่อสื่อสารเรื่องการเมืองในชุมชนให้คนภายในและภายนอกชุมชนได้รับทราบ  นอกจากนี้ยังมีคนที่จะเล่าเรื่องราวของความเชื่อของชุมชนให้ได้รับทราบโดยผู้นำความเชื่อของชุมชนคือ “คุณสุวรรณี โยธารักษ์” เป็นผู้เล่า  รวมทั้งลูกสาวของคุณ สุวรรณีกับคุณดำรงค์ค์ “น้องซาวด์” อังศุธร โยธารักษ์ ที่สนใจเรื่อง “ศิลปินไทย” ก็ได้เตรียมพื้นที่สำหรับเล่าเรื่อง  แต่ตอนนี้อยู่ระหว่างค้นหาข้อมูล  คาดว่าคงจะมีเรื่องมาเล่าในเร็ววันนี้  คนอื่น ๆ ที่ผมจำได้คือ บล็อกของน้อง “แบงค์” ตอนเย็นจึงกลับมาที่บ้านในตลาดเพื่อเตรียมตัวไปร่วมงานอุปสมบทญาติของคุณดำรงค์ที่อีกอำเภอหนึ่ง  งานบวชที่ปักษ์ใต้นี้  พิธีกรรมมีลักษณะทั่วไปกับที่สุรินทร์บ้านผม  แต่ผมไม่ทราบว่ามีการทำขวัญนาคหรือไม่  เพราะตอนที่พวกเราไปถึง  นาคออกมาต้อนรับแขกแล้ว  เราจึงเข้าไปร่วมรับประทานอาหาร  ในงานนี้  เมื่อคณะของแขกแต่ละคณะมาถึง  เจ้าภาพจะเชิญไปนั่ง  แล้วจะยกสำรับมาต้อนรับ  สำรับในวันนั้นสำหรับผมแล้ว  เป็นอาหารที่อร่อยมาก  สำหรับคนปักษ์ใต้อาจจะมองว่าเป็นอาหารธรรมดาเพราะเป็นอาหารพื้นบ้าน   แต่สำหรับผม  ซึ่งเป็นต่างถิ่น  ผมตื่นตาตื่นใจกับอาหารปักษ์ใต้แท้ ๆ โดยเฉพาะผมเพิ่งเคยกิน “แกงน้ำเคย” “หร๊อยจัง” เพราะเท่าที่ผมเคยไปนั่งกินแถวหน้าราม  หน้าตาอาจจะคล้ายกัน  แต่รสชาติ อาหารในงานบวชที่ผมไปกินมากินขาดครับ  หากเปรียบเทียบก็จะได้ประมาณ  ระดับภัตตาคารชั้นหนึ่งเลยทีเดียว  เพราะรสชาติอาหารถึงเครื่อง  และเข้มข้นทุกรายการ
วันที่ 23 เป็นวันสอบอีกวันหนึ่งของมหาวิทยาลัยชีวิตปากพนัง  ตอนเช้าเราไม่ได้เข้าไปดูการสอบ  เพราะเป็นวันที่ผมจะตามคุณดำรงค์ไปมอบตัว “น้องซาวด์” เข้าค่ายปฐมนิเทศที่โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยนครศรีธรรมราช  พิธีกรรมการมอบตัวใช้ภาคเช้าของวันตลอดวัน  หลังจากฟังคำชี้แจงของผู้อำนวยการ  ส่งมอบเอกสาร  “น้องซาวด์” เข้าไปรวมกลุ่มเพื่อเรียบร้อยแล้ว  พวกเราก็เดินทางกลับ  หลังกจากส่งพี่ “สุวรรณี” ลงที่บ้าน  คุณดำรงค์พาผมไปที่ศูนย์เรียนรู้มหาวิทยาลัยชีวิตเพื่อพูดคุยกับคณะผู้ประสานงานของมหาวิทยาลัยชีวิตปากพนังอีกประมาณหนึ่งชั่วโมง  จึงเสร็จกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับวันนี้
วันที่ 24 ผมตามคุณดำรงค์ไปพบชาวบ้านที่วัดบ้านบางด้วน  ในอำเภอปากพนัง  เพื่อเก็บข้อมูลการวิจัยในการศึกษาผลกระทบที่เกิดจากการสร้างเขื่อน  ที่นี่ผมได้เรียนรู้ว่า  การย้อนไปเก็บข้อมูลประวัติศาสตร์ของชุมชน  จะแตกต่างจากข้อมูลประวัติศาสตร์จากการนำเสนอของทางราชการ  เรื่องเล่าที่มาจากตำนานชาวบ้าน  เป็นเรื่องที่ให้ความรู้สึกถึงความมีชีวิตชีวามาก  ที่นี่ผมได้รู้จักกับ “พ่อเฒ่า” ผู้ผ่านยุคสมัยญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกมาแล้ว  ดูในรูปแล้ว  “พ่อเฒ่า” สุขภาพแข็งแรงมากนะครับ  แม้วัยจะใกล้ 80 แล้ว  เมื่อเสร็จจากการฟังตำนานชาวบ้าน  ผมกลับถึงบ้านคุณดำรงค์ในตอนเย็น  ประมาณ 1 ทุ่ม  เพื่อนักศึกษาปริญญาเอกที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยโทรมาบอกว่า  การประชุมเลื่อนจากวันที่ 26 เป็นวันที่ 25 ทำให้ผมไม่สามารถกลับทัน  เพราะแผนเดิมผมจะกลับในวันที่ 25 แต่เมื่อเข้าประชุมไม่ทันแล้ว  ผมจึงตัดสินใจเลื่อนแผนการเดินทางกลับเป็นวันที่ 27
วันที่ 25 ผมมีโอกาสได้รู้จักกับพี่ชายอีกคนซึ่งมีชื่อเดียวกับผม “พี่สวัสดิ์  สมัครพงศ์” คุณดำรงค์พาผมไปทำความรู้จักกับพี่สวัสดิ์  เราพบกันที่โรงแรมทวินโลตัสในตัวเมืองนครศรีธรรมราช  พูดคุยแลกเปลี่ยนกันหลายเรื่อง  ทำให้ทราบว่า  “พี่สวัสดิ์” เป็นแกนนำชุมชนที่ทำงานฟื้นฟูชุมชนในปักษ์ใต้  “พี่สวัสดิ์” กำลังนำกลุ่มเข้าจดทะเบียนเพื่อเป็นองค์กรนิติบุคคลภายใต้ชื่อ “สถาบันเพื่อนไทย” (Thai Alliance Institute, TAI ) ในวันนั้นเรามีพันธมิตรที่เป็นสื่อสารมวลชนท้องถิ่นชื่อ “คุณประพันธ์ สุวรรณ”  ที่จะเข้ามาช่วยนำข้อมูลข่าวสารของมหาวิทยาลัยชีวิตไปบอกกล่าวกับชุมชนให้  ในวันนี้ “พี่สวัสดิ์” ได้ให้ผ้าทอลายที่ผมชอบมากเพื่อเป็นการรับขวัญ “น้องชาย” พี่สวัสดิ์บอกว่า  “ผ้าผืนนี้ได้มาจากกลุ่มผ้าทอ ต.ควนพัง อ. ร่อนพิบูล จ. นครศรีธรรมราช”  ดูในรูปสิครับว่าผ้าทอฝีมือชาวบ้านมีเสน่ห์มากจริง ๆ
วันที่ 26 ก่อนที่ผมจะมาเขียนบันทึกนี้  ตอนเข้า ผมร่วมขบวนไปรับ “น้องซาวด์” กลับบ้านกันพี่ดำรงค์ พี่สุวรรณี และพี่สุเมธ ที่โรงเรียน หลังจากที่เสร็จสิ้นการปฐมนิเทศแล้ว  ผมทำป้ายต้อนรับ “น้องซาวด์” โดยเขียนบนกระดาษสี่ใบ ข้อความว่า “ยินดี  ต้อนรับ  “น้องซาวด์”  กลับบ้าน” ให้ทั้งสี่คนช่วยกันถือ  ในความเห็นผม  การทำแบบนี้อาจเป็นสิ่งเล็กน้อย  แต่ผมคิดว่าเป็นสิ่งเล็กน้อยที่จะทำให้ “หัวใจ” ดวงเล็ก ๆ ที่กำลังเต็บโต  ชุ่มฉ่ำครับ  นั่นอาจเป็นความคิดของผู้ใหญ่ครับทึ่คิดไปเอง  แต่ถ้าไปถาม “น้องซาวด์” น้องให้คำตอบว่า “อายเปื้อนจั๋ง เพื่อนแลถั่งฮ่อง” (ภาษาใต้ครับ แต่ผมฟังเข้าใจ  หลังจากมาเป็นลูกบ้านปากนังแล้ว 6 วัน) แม้ในภาษาพูดอาจเป็นเช่นนั้น  แต่ผมรู้สึกได้ว่า “น้องซาวด์” รู้สึกดีและอบอุ่นกับการต้อนรับของเราครับ
พรุ่งนี้ผมจะเดินทางไปหาดใหญ่ด้วยรถประจำทาง  หลังจากที่พี่สุเมธพามอไซด์มาส่งที่หน้าวัด  ผมจะขึ้นรถประจำทางสีแดงไปที่ บขส. นครศรีธรรมราช  เพื่อขึ้นรถประจำทางไปหาดใหญ่  แล้วจะหารถไปที่สนามบินต่อไป  ผมจะขึ้นเครื่องบินประมาณ “ตีสี่หวันเย็น” ถ้าเครื่องบินไม่เต็ม (ผมใช้ตั๋วฟรีครับต้องรอเครื่องว่าจึงจะได้ไป  จากการสอบถามจากเพื่อนที่กรุงเทพได้คำตอบว่า  มีโอกาสสูงมาก) ผมจะไปถึงกรุงเทพประมาณ “ตีหกหวันเย็น”
ประสบการณ์การเดินทางครั้งนี้  ผมคงจะมีเรื่องไปเล่าอีกครั้งในเวที “การประชุมภาคีจัดการความรู้ในท้องถิ่นฯ ครี้งที่ 20 ที่โรงแรมหลุยส์ แทเวิร์น  กรุงเทพ ในวันที่ 2 พ.ค. ครับ
แล้วค่อยเจอกันในการเดินทางครั้งต่อไปครับ
ด้วยความเคารพ
สวัสดิ์  พุ้มพวง
เชิญชมภาพบรรยากาศการเดินทางครั้งนี้ครับ









 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 25558เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2006 13:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ขอแสดงความยินดีกับการเรียนรู้และขับเคลื่อนชีวิตที่คุณเลือกได้ดีแล้ว   จงก้าวหน้าต่อไปให้ถูกทิศทางที่เหมาะสม (สัมมาทิฏฐิ)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท