คุยกับปราชญ์ชาวบ้าน คุณสำรวย ผัดผล จ.น่าน


ใช้ศักยภาพเป็นตัวนำในการทำงานทุกอย่าง โดย ไม่นำข้อจำกัดมาเป็นเรื่องใหญ่ จึงทำให้การทำงานประสบความสำเร็จด้วยดี และยังใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือในการทำงานโดยมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อยู่เป็นประจำ และบันทึกองค์ความรู้เก็บไว้

คุยกับปราชญ์ชาวบ้าน คุณสำรวย ผัดผล  จ.น่าน

                คุณสำรวย ผัดผล อายุ ๔๕ ปี เกิดที่ตำบลเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน เริ่มทำการเกษตรตั้งแต่ปี ๒๕๒๘ มีประสบการณ์ด้านการเกษตรมาแล้ว ๒๔ ปี จบปริญญาตรีด้านการจัดการ และจบปริญญาโทด้านสิ่งแวดล้อม คุณสำรวยเล่าว่าเกิดและโตที่ตำบลเมืองจัง

แนวคิดการหันมาสู่แนวทางเกษตรกรรมทางธรรมชาติ เริ่มตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรี ได้ทำงานที่ศูนย์อพยพชาวลาวที่จังหวัดน่าน ปี ๒๕๒๙-๒๕๓๔ เจอความทุกข์ยาก หิวโหย จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจในการทำการเกษตรทางธรรมชาติโดยได้ก่อ ตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชนโจโก้ปี ๒๕๔๕  มีพื้นที่ ๓ ไร่เป็นที่ส่วนตัวของคุณสำรวยเอง  เป็นศูนย์เรียนรู้สำหรับกลุ่มชาวนา มีสมาชิก ๒๐๐๐ คนโดยเป็นศูนย์เรียนรู้สำหรับส่วนรวม สำหรับชาวบ้านและเด็กเยาวชนในละแวกใกล้เคียงและบุคคลทั่วไปได้เข้ามาเรียนรู้อีกด้วย มีเครือข่ายการเรียนรู้เป็นลักษณะโรงเรียนชาวนา ๑๒ จุด ที่จ.น่าน จ.เชียงราย(ต.หนองป่ากอ อ.ดอยหลวง) จ.เลย จ.หนองคาย หลวงพระบาง ประเทศลาว

มีหลักสูตรการเรียนรู้ ๒ หลักสูตรคือ(๑)เกษตรธรรมชาติ (๒)พันธุ์พืช

หลักสูตรแรกคือเกษตรธรรมชาติ ได้แนวคิดมาจากวิวัฒนาการการเกษตรของเกาหลีซึ่งใช้วิธีการหมักเหมาะสมกับประเทศไทยมากกว่าการเกษตรฟางเส้นเดียวของญี่ปุ่นซึ่งไม่เหมาะกับไทย เพราะเป็นแนวทางที่ต้องพึ่งพิงอีเอ็ม  มีการเรียนรู้เรื่อง

๑.จุลินทรีย์ท้องถิ่น ที่อาศัยอยู่ในป่า ป่าไผ่ รอบบ้านมีจุลินทรีย์อยู่มาก โดยนำมาขยายในลักษณะถังน้ำแบบแห้งและประยุกต์ใช้ในการเลี้ยงหมู  จุลินทรีย์มี ความต้องการ ๓ อย่างคือ ๑.ต้องการที่อยู่อาศัย(๓ ชม./๗ชม.) ๒.อาหาร เศษใบไม้พืช ๓.อากาศ

๒.หมูหลุม เป็นการเลี้ยงปศุสัตว์อินทรีย์ ที่ง่ายและชาวบ้านสามารถทำได้มีราคาถูก วิธีการคือขุดลึกประมาณ ๕๐ ซม.ถึง ๑ เมตร ใช้วัสดุรองพื้นเป็นขี้เลื่อย แกลบเรียง ๒ ชั้นประมาณ ๒ ฝ่ามือ ใช้น้ำจุลินทรีย์ราด ลงด้วยรำอ่อน ถ่าน เกลือทะเล ดิน ผสมลงไปประมาณ ๗ วัน เมื่อจุลินทรีย์ทำงานแล้วปล่อยหมูลงไป หมูจะสบาย มีวัสดุซับมูล ฤดูหนาวหมูจะอุ่น ฤดูร้อนหมูจะเย็น เลี้ยงประมาณ ๒ รุ่น ได้ปุ๋ยหมักชั้นดี  นำไปใช้กับระบบพืชเช่นปุ๋ยในนาข้าวเพิ่ม ร้อยละ ๒๐ ไก่พื้นบ้านให้ไข่ได้ดี

  ๓.การพัฒนาเยาวชน  เยาวชนมี ๓ ประเภทคือ๑.เยาวชนในโรงเรียน ชวนลูกหลานของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกมารวมกลุ่มทำหน้าที่บันทึกลักษณะ กาบใบ สี โดยเชื่อมกับครูวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน แบ่งเด็ก ๓ คนให้รับผิดชอบ ๑ พันธุ์  ๒.เด็กรอบ ๆ ศูนย์  มาเล่น มาห้องสมุด วิทยุชุมชน มีเด็ก ๖-๗ คนอยู่ประจำ มีอาจารย์จากภูฟ้าเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในการทำงานกับวัยรุ่นและกลุ่มหนุ่มสาวกรณีเด็กคืนถิ่นของท่านองคมนตรีเกษม วัฒนชัย

หลักสูตรที่สองคือการจัดการเมล็ดพันธุ์พืช   การทำงานมีการรวรวมและพัฒนาพันธุกรรมข้าวเหนียว ๓๑๖ สายพันธุ์ ข้าวเจ้า ๑๐ สายพันธุ์และพืชผักมากกว่า ๓๐ ชนิด

การจัดการผักพื้นบ้านแบ่งเป็น ๓ กลุ่มได้แก่๑.กลุ่มสุกคาต้น เช่น บวบ ข้าวโพดฝักแห้ง ประมาณ ๓-๑๐ รายการ ๒.กลุ่มสารห่อหุ้มเมล็ดต้องหมัก/ล้าง เช่นมะละกอ ๓.กลุ่มผลสุก/ผ่าทันที ต้องการเวลาบ่ม เช่น พริก มะเขือยาว ฟักทอง แตงโม แตงร้าน บ่มไว้ ๑๕-๓๐ วัน

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาพันธุ์ถั่วแดงน่าน ๑ มี ๓สีคือ แดง เขียว ดำ สำหรับมะเขือยาวมีการปลูกที่บ้านดอนมูลมีมูลค่าปีละ ๔ ล้านบาท

การคัดพันธุ์ข้าว มีการปลูกข้าวเพื่อการคัดเลือกพันธุ์ ลักษณะ การทำงานเป็นการทำร่วมกับสมาชิกมี ๒ เรื่องคือ๑.การมีส่วนร่วมในการคัดเลือกแล้วเกษตรกรไปคัดต่อ ๒.การผสมและการคัดเลือกโดยการอนุรักษ์ พัฒนาและใช้ประโยชน์

ตัวอย่างเช่นข้าว กข.๖ เป็นพันธุ์ที่ราชการส่งเสริม เป็นที่นิยมเพราะมีความอร่อย แต่จุดเสียคือล้มง่าย ไม่ต้านทานโรค  ขณะเดียวกันพันธุ์หอมทุ่ง เป็นพันธุ์พื้นเมืองที่มีลักษณะเด่นคือมีความแข็งแรงแต่จุดเสียคือจำนวนเมล็ดต่อรวงไม่มาก  ด้วยการผสมและการคัดเลือกนี้ใช้เวลา ๙ ปีได้พันธุ์ใหม่คือพันธุ์หวัน ๑ (เมล็ดโต)  พันธุ์หวัน ๒(เมล็ดเรียวเล็ก) ทั้ง ๒ พันธุ์ได้กระจายไปหลายอำเภอแล้ว

กระบวนการเรียนรู้เครือข่ายชาวนา เรียนรู้วิธีการจากเวียดนาม คิวบาและจีน  แล้วนำมาประยุกต์ใช้โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างชาวนา นักส่งเสริม นักวิชาการจากสถานีวิจัยข้าวอุบลและอาจารย์พฤกษ์ ยิบตะมันศิริ  ทุกปีจะมีวันเกษตรกร วันทำบุญข้าวให้การชิมข้าวพันธุ์ใหม่การส่งเสริมทำผ่านกลไกวัฒนธรรม

ในเรื่องเครือข่ายการทำงานของศูนย์นี้มีหลายเครือข่ายด้วยกันได้แก่

  • มูลนิธิฮักเมืองน่าน โดยคุณสำรวยได้รับการคัดเลือกเลือกเป็นประธานกลุ่มฮักเมืองน่านจึงสามารถเชื่อมโยงและสนับสนุนกิจกรรมซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดีมีสมาชิกกลุ่มย่อย ๘๘๕ กลุ่ม และอาสาสมัคร ๔๐ คน
  • องค์กรการเงินชุมชน
  • เครือข่ายพื้นที่สาธารณะ
  • เครือข่ายโรงเรียนชาวนา ๑๒ แห่ง มีสมาชิก ๒๐๐๐ ครอบครัว
  • เครือข่ายปลาและการเกษตร
  • เครือข่ายครอบครัวเข้มแข็ง ทำงานใน ๒๒ หมู่บ้าน ดูแลผู้ยากไร้ ติดยา เป็นHIV
  • เครือข่ายด้านทรัพยากร รวมป่า แม่น้ำ มีการวางแผนคุ้มครองพื้นที่และชุมชน

เครือข่ายต่าง ๆ เหล่านี้มีการประชุมทุกเดือนในเครือข่ายของตนเอง ทุก ๓ เดือนมีการรายงานและมีการรายงานประจำปีเป็นการประชุมใหญ่ที่วัดอรัญญาวาสในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี 

ในเรื่องการทำงานคุณสำรวยเล่าว่าใช้ศักยภาพเป็นตัวนำในการทำงานทุกอย่าง โดย ไม่นำข้อจำกัดมาเป็นเรื่องใหญ่ จึงทำให้การทำงานประสบความสำเร็จด้วยดี และยังใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือในการทำงานโดยมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อยู่เป็นประจำ และบันทึกองค์ความรู้เก็บไว้เป็นองค์ความรู้ของศูนย์อีกด้วย ทั้งนี้นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชมงคลเข้ามาช่วยในการจัดทำฐานข้อมูลองค์ความรู้เหล่านั้นเพื่อสามารถสืบค้นได้ง่ายอีกด้วย

ได้มีการประสานงานกับส่วนราชการต่าง ๆ เช่นกรมการข้าว มีโครงการข้าวคืนนา ใน ๒๐ จังหวัด ๑๐๔ สายพันธุ์โดยสถานีวิจัยข้าวอุบลราชธานี กำแพงแสน ศูนย์สิรินธรไบโอเทคและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รางวัลเกียรติยศที่ได้รับจากต่างประเทศได้แก่รางวัลผู้ประกอบการทางสังคม(ASHOKA FELLOW)จากมูลนิธิ ASHOKA จากประเทศสหรัฐ อเมริกา เรื่อง Community Plant Genetic Resources Conservation and Utilization

รางวัลในประเทศได้แก่ รางวัลผญ๋าดีศรีล้านนาจากสวทช.ใน ปี  ๒๕๕๑ โดยคุณสำรวยได้รับการยอมรับจากชุมชนว่าเป็นผู้เสียสละและทำงานให้ชุมชนเช่นเป็นประธานมูลนิธิฮักเมืองน่าน เป็นประธานกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนศรีนครน่าน ตั้งกองทุนขวัญข้าวเพื่อฟื้นฟูชาวนาหลังน้ำท่วม ๔๒ ตำบล

ได้รับฟังผลงานของคุณสำรวยแล้วรู้สึกภูมิใจที่สังคมไทย มีคนดี มีความรอบรู้ พัฒนาสิ่งต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในแวดวงเกษตรและเกษตรกร อย่างต่อเนื่องตลอดมายาวนานถึง ๒๔ ปีโดยไม่หวังรางวัลหรือสิ่งอื่นใดตอบแทน

ธุวนันท์  พานิชโยทัย

๒๐ เมษายน ๒๕๕๒ 

 

หมายเลขบันทึก: 256351เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2009 08:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • สวัสดีครับ ผอ.ธุวนันท์
  • ผมเคยไปร่วมเรียนรู้ในเวทีชาวบ้านวิจัยที่น่านหลายครั้ง
  • http://gotoknow.org/blog/yutkpp/17186 แต่บันทึกได้นิดเดียว
  • ขอบคุณมากครับที่นำรายละเอียดมาแบ่งปัน

เรียนคุณ umi

  • ขอบคุณคะ
  • เป็นบุคคลที่น่าสนใจมากคะ

เรียนคุณสิงห์ป่าสัก

ขอบคุณคะ พี่ไปกับทีมงานของกระทรวงเกษตรฯคะ

-สวัดีครับ ผอ.ธุวนันท์

-ประมาณวันที่ 29 เมษายนนี้ จะนำคณะกรรมการบริหารศูนย์บริการฯ และผู้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน "โครงการพลิกฟื้นธนาคารควายไถนา ตามพระราชดำริฯ" ต.สวด อ.บ้านหลวง เข้าเรียนรู้ ณ ศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ ในประเด็นต่างๆ (การผลิตเมล็ดพันธ์ข้าว,กระบวนการโรงเรียนชาวนา ,การผลิตจุลินทรีย์) สนับสนุนโดย อบต.สวด

-เป็นศูนย์ที่น่าสนใจ มีทีมงานคนรุ่นใหม่ ..

-ไม่ทราบว่า ผอ.มาอยู่เมืองน่านกี่วันครับ.

เรียนคุณ พ.ภูดอย น่าน

  • ดีมากเลยคะที่ได้นำแกนนำมาเรียนรู้ที่ศูนย์นี้  พี่มีความประทับใจมาก
  • ฝากความระลึกถึงคุณสำรวยด้วยนะคะ
  • พี่ไปอยู่เพียงวันเดียวคะเพราะต้องไปดูศูนย์อี่น ๆ อีก เป็นการพิจารณาการคัดเลือกปราชญ์เกษตรแห่งแผ่นดินคะ
  • สวัสดีครับ ผอ.ธุวนันท์
  • วันนั้นติดอยู่ศูนย์ปราชญ์อีกแห่งหนึ่ง มาพบไม่ทัน
  • ได้ยินพี่พยอมบอกว่า ผอ.มาน่าน
  • สนง.กษจ. ไปใช้บริการที่ศูนย์ปราชญ์แห่งนี้บ่อยมาก
  • ทำงานร่วมกันอยู่หลายเรื่องราวครับ

สวัสดีคะคุณ คนพอเพียง

  • ดีใจคะที่จังหวัดทำงานร่วมกับศูนย์ฯนี้
  • พี่ไปดูกิจกรรมและพูดคุยกับคุณสำรวยแล้วเป็นคนที่ใช่จริงๆ
  • ขอบคุณคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท