เหนือวิทยาศาสตร์ ๓


นี่อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ถ้าเข้าถึงเรื่องที่ว่าเล็กน้อยนี้ไม่ได้แล้ว ไม่มีทางที่จะเข้าใจธรรมะในพุทธศาสนา

ต่อจาก เหนือวิทยาศาสตร์ ๑  และ เหนือวิทยาศาสตร์ ๒


          ทีนี้จะย้อนไปถึงสิ่งที่เรียกว่า "เวทนา"      เป็นเรื่องสำคัญของทั้งหมด  ซึ่งจะได้อธิบายให้เห็น และก็ยังจะต้องศึกษาต่อไปอีก ไม่รู้จักสิ้นสุดจนกว่าจะหมดกิเลส  เป็นพระอรหันต์จึงจะหมดเรื่องที่เราจะศึกษาอันเกี่ยวกับเวทนา  เวทนา คือ ความรู้สึกที่เราจะต้องรู้สึก กันวันละหลายๆ ครั้ง ภาษาอังกฤษก็แปลกันง่ายๆ ว่า Feeling เฉยๆ  สำหรับคำๆ นี้ พุทธศาสนาแบ่งเป็น :

  1. ทุกขเวทนา
  2. สุขเวทนา
  3. อทุกขมสุขเวทนา

           คือเวทนาที่ทำให้รู้สึกเป็นสุข  เวทนาที่ทำให้รู้สึกเป็นทุกข์  และเวทนาที่ไม่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นสุข หรือเป็นทุกข์  มีอยู่ ๓ เวทนา เรียกว่า เวทนา เหมือนกัน  ฉะนั้น เราไม่ต้องไปเชื่อตัวหนังสือ หรืออะไรที่อื่น  จะต้องมองดูไปยังสิ่งที่เรียกว่าเวทนา  ที่เกิดขึ้นแก่เราทุกๆ วัน บางวันมาในลักษณะของความสุข  รู้สึกพอใจ  รู้สึกสบายใจ  อย่างนี้เรียกว่า สุขเวทนา  บางวันก็แย่ บางเวลาก็ไม่พอใจ  อึดอัด เป็นทุกข์ เดือดร้อน  นี้เรียกว่า ทุกขเวทนา  ถ้าไม่ถึงอย่างนั้น  ไม่ชัดลงไปว่าสุขหรือทุกข์  แต่มันยังเป็นความรู้สึกที่มีผลแก่จิตใจ  มีอิทธิพลแก่จิตใจ ในทางที่ให้เกิดความยึดถือด้วยเหมือนกัน  คือ สงสัย  สนใจ  หรือหวังอะไรอยู่  ในเวทนาชนิดนี้  ทั้งที่ไม่ชัดลงไปว่าสุขหรือทุกข์นี้  ก็จัดเป็นเวทนา  มีคนบางคนเมื่อยังไม่เข้าใจ  แล้วก็จะยังไม่เข้าใจ  จะค้านว่าอทุกขมสุขเวทนา เวทนาที่ไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์นี้  ทำไมจึงต้องเรียกว่าเวทนาด้วย? เขาเข้าใจอย่างนั้น

          เดี๋ยวนี้เราอยากจะถือตามหลักธรรมะในพระพุทธศาสนา หรือหลักความรู้ของพระพุทธเจ้าว่า ท่านเรียกสิ่งนี้ว่ามันเป็นเวทนาด้วยเหมือนกัน  คือมันเป็นที่ตั้งแห่งความสนใจ จนกระทั่งมีความยึดมั่นถือมั่นได้เท่ากับเวทนา ๒ อย่างข้างต้น คือ สุขกับทุกข์  เพื่อจะจำให้ง่าย  ก็จำตามหลักอย่างนี้ไว้ก่อนก็ได้ว่า  สุขเวทนา  คือความรู้สึกเป็นสุขพอใจยินดีนั้น มันเพิ่มให้เกิดนิสัยสันดานที่จะรัก  ส่วนทุกขเวทนานั้น  มันเพิ่มความรู้สึกนิสัยสันดานที่จะเกลียด  ส่วนอทุกขมสุขเวทนา มันเพิ่มนิสัยสันดานในทางที่จะสงสัย ลังเล

          นี่ต้องไปทำความเข้าใจตอนนี้กันก่อน  ไม่เช่นนั้น จะเข้าใจเรื่องเหล่านี้ไม่ได้  ซึ่งอาจจะกลายเป็นเรื่องหนังสือ  หรือเป็นเรื่องที่ต้องเชื่อตามคนอื่นอยู่เรื่อยไป  เวทนา แปลว่า ความรู้สึก  : สุขเวทนา คือเวทนาที่มีลักษณะเป็นสุข  ทุกขเวทนา เวทนาที่มีลักษณะเป็นทุกข์  อทุกขมสุขเวทนา  เวทนาที่ไม่อาจกล่าวว่าเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ถ้าเรารู้จัก ๒ อย่างแรก  เราก็จะรู้จักอย่างที่ ๓ ได้

          สุขะ  แปลว่า ทนง่ายหรือทนได้อย่างดี  คือชอบทน  สุ แปลว่า ง่ายหรือดี  ขะ  นั้นแปลว่า ทน  สุขะ แปลว่า ทนง่าย ทนได้ ทนอย่างดี แล้วเราก็ชอบทน  ชอบทนอย่างนั้น  ทนรู้สึกอร่อย ทนรู้สึกเป็นสุข ทนรู้สึกโดยเบิกบานสนุกสนาน  นี้เรียกว่า สุขะ  คือ ความสุข

          ส่วนทุกขะนั้น  เราทนยาก  ทนไม่ได้  ทนไม่ค่อยจะไหว  แล้วเราก็ไม่ค่อยอยากจะทน  ใครๆ ก็ไม่อยากจะทนทุกขเวทนา   สุขะ กับ ทุกขะ คู่นี้ อันหนึ่งชวนทน  อันหนึ่งไม่ชวนทน

          อทุกขมสุข ก็คือว่า ยังไม่ปรากฏใน ๒ ลักษณะนั้น  แต่มันก็ยังมีการที่ต้องทน  คือทนข้องใจ ทนสงสัย ทนหวัง ลังเล

          พูดกันง่ายๆ  จำง่ายๆ ก็ไปเทียบกับหลักที่เรารู้กันอยู่แล้วคือเรื่อง โลภะ โทสะ  โมหะ  ๓ อย่างของกิเลสนั้น 

          สุขเวทนา ทำให้เรารัก ให้เราอยากได้  ให้เรากำหนัด ให้เราโลภ ฉะนั้น สุขเวทนา มันเพิ่มนิสัยโลภ

          ทุกขเวทนา  เราไม่ชอบ  เราไม่รัก  เราอยากจะทำลาย  มันก็เพิ่มนิสัยโกรธหรือเกลียด คือ โกรธ โกธะ  โทสะ เพิ่มนิสัยโกรธ

          อทุกขมสุขเวทนา ที่ทำให้เราฉงน  หรือหวัง หรือสงสัย หรือเกี่ยวข้องอยู่ด้วยความสงสัยเรื่องนี้  มันเพิ่มนิสัยแห่งความโง่ คือ โมหะ ไปเที่ยวหลง ไปเที่ยวสนใจ ไปเที่ยวติดใจอยู่ถอนออกไม่ได้  นี้เรียกว่าโมหะ 

           สุขเวทนาเกิดขึ้นทีไรเพิ่มนิสัยสันดานแห่งความโลภ หรือความกำหนัด  ทุกขเวทนาเกิดขึ้นทีไร เพิ่มนิสัยสันดานแห่งความโกรธ ความประทุษร้าย คือโทสะ  อทุกขมสุขเวทนาเกิดขึ้นทีไร เพิ่มนิสัยสันดานแห่งความโง่ ความหลงความมัวเมา เขียนเป็นตัวหนังสือสั้นๆ เป็นคู่ๆ ก็ว่า

          สุขเวทนาคู่กับโลภะ   ทุกขเวทนาคู่กับโทสะ   อทุกขมสุขเวทนาคู่กับโมหะ  จริงหรือไม่จริง ต้องไปสังเกตดูด้วยตนเอง

          นี่เรียกว่าการ เรียนธรรมะจากใจ  จากใจจริง  จากความรู้สึกจริงๆ  ไม่ใช่เรียนจากหนังสือ จากฟังคนอื่นเขาพูด  ต้องไปรู้จักเวทนาทั้ง ๓ นี้ให้ดีเสียก่อน  แล้วสังเกตต่อไปตามหลักว่า อันหนึ่งให้เกิดหรือเพิ่มโลภะ  อันหนึ่งเพิ่มโทสะ  อันหนึ่งเพิ่มโมหะ  นี่เรียกว่ากิเลสประจำวันของเรา  ก็โลภะ  โทสะ  โมหะ นี้อาศัยอยู่บนเวทนา พอสุขเวทนาก็โลภ  แล้วก็เพิ่มนิสัยโลภ  ทุกขเวทนาก็เพิ่มโกรธ  และเพิ่มนิสัยโกรธ  อทุกขมสุขเวทนาก็เพิ่มนิสัยโง่ มัวเมา หลง  นี่อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย  ถ้าเข้าถึงเรื่องที่ว่าเล็กน้อยนี้ไม่ได้แล้ว  ไม่มีทางที่จะเข้าใจธรรมะในพุทธศาสนา  ก็เรียนจำๆ ลืมๆ จำๆ ลืมๆ แล้วก็ไม่มีทางที่ทจะช่วยให้พ้นจากอันตรายอย่างยิ่งคือกิเลสนี้ได้

          นี่คือสิ่งที่เรียกว่าเวทนา  มีอยู่ ๓ ชนิด  ก็ชื่อว่าเวทนาเหมือนกันหมด  สิ่งนี้เป็นต้นตอของทุกอย่างถ้าจะพูดกันไปในแง่ของการที่เป็นเหตุ  เวทนานี้เป็นเหตุให้เกิดอะไรอีกมากมาย เกิดความคิด  เกิดความเห็นผิดเห็นถูก ทิฏฐิต่างๆ ทุกชนิดนี้ก็เกิดมาจากเวทนา  ทุกข์หรือความดับทุกข์อะไรก็เกิดมาจากเวทนา  นี้เป็นในฐานะที่มันเป็นผลขึ้นมา เป็นความทุกข์

หมายเลขบันทึก: 261743เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2009 20:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขออนุโมทนาครับ

การใช้ไอทีเป็นเครื่องมือในการสืบทอดพุทธศาสนา

ทันยุคสมัยและสะดวกรวดเร็ว

ยุคที่วัตถุนิยมสูงส่ง

แต่ก็ยังดีที่ใช้ประโยชน์จากตรงนี้ได้

หลายๆคนได้ประโยชน์

ประโยชน์โดยแท้จริงและสูงสุด

ขอบคุณค่ะ  ธรรมะไม่มีลิขสิทธิ์

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท