แรงงานข้ามชาติจากพม่าในประเทศไทย : มองผ่านนโยบายรัฐไทยและประเด็นสิทธิมนุษยชน


วิกฤติเศรษฐกิจยังทำให้เราหลงลืมนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติระยะยาว โดยทั่วไปประเทศไทยมีแต่นโยบายด้านการจัดการแรงงานข้ามชาติแต่ละปี แต่ไม่มีนโยบายการจัดการคนข้ามชาติ พอเกิดวิกฤติสถานภาพความเป็นแรงงานจะหมดไป แต่ความเป็นคนข้ามชาติยังอยู่ ประเทศไทยจะจัดการอย่างไร เพราะอย่างไรก็ตามแรงงานกลุ่มนี้ก็ไม่สามารถกลับบ้านได้อย่างแน่นอน

แรงงานข้ามชาติจากพม่าในประเทศไทย :  มองผ่านนโยบายรัฐไทยและประเด็นสิทธิมนุษยชน

อดิศร เกิดมงคล

 

            เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2551 เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ประเทศไทย) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และสภาคริสตจักรในประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล (International Migrants Day) ประจำปี 2551 ปีนี้คณะจัดงานให้ความสำคัญกับเรื่อง เสรีภาพในการเดินทาง (TRAVEL WITH FREEDOM) ของแรงงานข้ามชาติเป็นพิเศษ

เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2551 ได้มีการพบศพแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าที่หลบหนีเข้าเมืองไม่ถูกกฎหมายจำนวน 54 คน เป็นชาย 17 คน และหญิง 37 คน รวมถึงมีผู้บาดเจ็บอีก 21 คน และอีก 46 คนอยู่ในสภาพอิดโรย ทั้งหมดต้องได้รับการรักษาพยาบาลอย่างใกล้ชิด รวมทั้งการบำบัดฟื้นฟูร่างกายจิตใจ จากจำนวนแรงงานข้ามชาติจากพม่าทั้งหมด 121 คน ในรถบรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 70-0619 ระนอง ของบริษัทรุ่งเรืองทรัพย์ที่ดัดแปลงเป็นรถตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็น แรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้มีนายหน้าพาลักลอบเดินทางมาจากแพปลาแห่งหนึ่งในจังหวัดระนอง เพื่อเดินทางไปทำงานที่จังหวัดพังงาและภูเก็ต ระหว่างที่รถได้แล่นมาถึงบริเวณบ้านบางกล้วยนอก หมู่ที่ 3 ตำบลนาคา อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง พบว่าแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ต่างเบียดเสียดอย่างแออัดอยู่ในพื้นที่แคบๆ ได้เสียชีวิตลงเนื่องจากขาดอากาศหายใจนานกว่า 1-2 ชั่วโมง ทำให้คนขับรถต้องหยุดรถและหลบหนีความผิดไปในที่สุด

นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าในรอบปี 2551 ที่ผ่านมา ยังมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจากการเดินทางเพื่อย้ายถิ่นของแรงงานทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายในลักษณะที่ใกล้เคียงเช่นนี้อย่างน้อยอีก 6 ครั้ง

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นภาพสะท้อนที่เห็นได้ชัดของสถานการณ์การย้ายถิ่นข้ามชาติที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในสังคมไทย และชี้ชัดว่าแรงงานข้ามชาติที่ต้องลักลอบเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยเหล่านั้นจำเป็นต้องสร้างทางเลือกให้กับชีวิตตนเอง เพื่อหลุดพ้นจากชะตากรรมที่เลวร้ายจากประเทศต้นทาง ท่ามกลางความไม่พร้อม และระบบที่ไม่เอื้อให้เดินทางเข้ามาทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงภาวการณ์ที่ความปลอดภัยในการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติ ยังเป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามไม่ได้รับการแก้ไข

 

                เอกสารชุดนี้นำเสนอสถานการณ์เรื่องแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยใน 4 ประเด็นหลัก คือ

1.       Thai government’s policy on migrant workers 

2.       the social status of these workers regarding labor union rights

3.       civil, political, social and cultural rights 

4.       Migrant workers’ economic contributions and social cultural effects in Thailand.

 

การเคลื่อนย้ายแรงงานจากประเทศหนึ่งสู่อีกประเทศหนึ่งผ่านการว่าจ้างแรงงานเกิดขึ้นในทุกภูมิภาคของโลก โดยเฉพาะในยุคที่การสื่อสารคมนาคมสะดวกมากขึ้น ประกอบกับปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่เอื้ออำนวย สำหรับประเทศไทยการเดินทางย้ายถิ่นข้ามพรมแดนไปมาระหว่างประชาชนของประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกัน เช่น พม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในอดีตการย้ายถิ่นเป็นไปเพื่อการกวาดต้อนประชาชนของฝ่ายที่ปราชัยจากการรบพุ่งไปเป็นประชาชนของประเทศตนเอง ปัจจุบันการย้ายถิ่นเป็นเรื่องของการเปิดเสรีทางการค้า การลงทุนของประเทศที่มีความพร้อมมากกว่า ประเทศไทยมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมากจนทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม จึงเป็นปัจจัยดึงดูดที่สำคัญให้แรงงานจากประเทศที่ด้อยกว่าทางเศรษฐกิจ เดินทางเข้ามาเพื่อเติมช่องว่างของการขาดแคลนแรงงานในประเทศไทย

สำหรับแรงงานจากประเทศพม่า มีความเฉพาะที่แตกต่างจากประเทศลาวและกัมพูชา เพราะนอกจากปัจจัยดึงดูดทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ปัจจัยทางด้านการเมืองในประเทศพม่าเองก็ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายแรงงาน เช่น นโยบายเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ และเกิดภาวะความยากจน ประชาชนอดอยาก อีกทั้งรัฐบาลทหารก็มีการปราบปรามผู้ที่คิดแตกต่างกัน เกิดการต่อสู้ระหว่างกองกำลังชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลทหาร ปรากฏการณ์เหล่านี้ส่งผลต่อความไม่ปลอดภัยในการดำรงชีวิตของประชาชน จึงแสวงหาความปลอดภัยและความอยู่รอดในการดำรงชีวิตของตนเองและครอบครัวโดยการอพยพมาทำงานในประเทศไทย

 

 

 

อ่านต่อทั้งหมด 18 หน้า A4 click :

http://gotoknow.org/file/ngaochan/MigrantWorkers.doc

 

หมายเลขบันทึก: 264923เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2009 12:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 23:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท