จดหมายจากน้าถึงหลานฉบับที่ 7: 19 มิถุนายน 52 วันที่เจ็ดงานเทศกาลบินข้ามลวดหนาม


สิ่งที่เธอเจอไม่ใช่โชคชะตา แต่คือสิ่งที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ แตกต่างอะไรกับสิ่งที่นักต่อสู้ผู้หญิงคนอื่นๆ สู้อยู่ แต่เธอสู้ในปริมณฑลของเธอ สู้ในพลัง ในมือไม้ ในเรี่ยวแรง และยุทธวิธีที่เธอสามารถทำได้ในฐานะ “การเป็นแรงงานข้ามชาติผู้หญิง”

จัดทำขึ้นมาเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาล บินข้ามลวดหนามตอน 2 เชียงใหม่

จดหมายจากน้าถึงหลาน  ฉบับที่ 7: 19 มิถุนายน 52

วันที่เจ็ด งานเทศกาลบินข้ามลวดหนาม


แรงงานอพยพหญิง : การเดินทางเพื่อความหวัง

 

ปีศาจน้อยจ๋า

 


ยัยหนูรู้ไหมคะว่าวันนี้เป็นวันอะไร ?  ไม่ต้องคิดนานค่ะ น้าช่วยเฉลยเลยก็ได้ วันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดของนางอองซานซูจี ผู้นำการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า และวันนี้ยังเป็น วันสตรีแห่งสหภาพพม่า” (Women of Burma Day) เพื่อเป็นการรำลึกถึงนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยผู้หญิงคนอื่นๆของพม่าอีกด้วย ที่น้าขึ้นต้นจดหมายแบบนี้ เพราะน้ากำลังคิดถึง ลูกศิษย์บางคนอยู่ค่ะ ลูกศิษย์เหล่านี้เป็นแรงงานอพยพหญิงข้ามชาติจากพม่า เป็นผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ที่ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีใครรู้จัก ไม่ได้เป็นนักสิทธิมนุษยชนชื่อก้อง ไม่ได้เป็นนักต่อสู้ หรือนักโทษการเมืองชื่อดัง แต่พวกเธอเป็นเพียงผู้หญิงธรรมดาๆ ที่ข้ามพรมแดนมาหางานเลี้ยงชีพในประเทศไทย แต่น้าคิดว่า การต่อสู้ของพวกเธอในชีวิตประจำวันยิ่งใหญ่ไม่แพ้นางอองซานซูจีหรือนักต่อสู้หญิงคนอื่นๆเลยแม้แต่น้อย ฉะนั้นน้าถือว่า วันนี้ คือ วันของพวกเธอ ผู้หญิงจากพม่าทุกคนบนโลกใบนี้

 


โย สาวกะเหรี่ยง สุ สาวกะเหรี่ยง มะละที สาวปะโอ สา สาวมอญ และ ดา สาวพม่า 5 สาวในห้องเรียนเล็กๆ ของโรงเรียนแรงงานข้ามชาติแห่งหนึ่งในเมืองหลวง ทั้ง 5 สาว มาจากต่างเมือง ต่างหมู่บ้าน ต่างเผ่าพันธุ์ ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่เมื่อมาเรียนภาษาไทยในชั้นเรียนเดียวกัน 1 ปีผ่านไปพวกเธอเป็นกลุ่มเพื่อนรักเพื่อนสนิทกันมาก เส้นแบ่งความเป็นชาติพันธุ์ไม่สามารถทะลุทะลวงความรักที่พวกเธอมีต่อกันได้

 

 


เส้นทางชีวิตพวกเธอ กว่าจะมาถึงเมืองไทยมิใช่เรื่องง่ายนัก แรงผลักดันต่างๆที่เผชิญในพม่าทั้งภาวะสงคราม ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ข้าวของแพงกว่ารายได้จากการทำงาน การเข้าไม่ถึงทรัพยากรและโอกาสต่างๆ รวมถึง การแบกรับหน้าที่ของลูกผู้หญิง ล้วนเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอมุ่งหน้ามายังดินแดนฝั่งตะวันออก ยามเริ่มก้าวเท้ามาสู่แดนดินที่ไม่คุ้นเคย ด่านสำคัญที่พวกเธอต้องเผชิญ คือ ความกลัวต่างๆนานาในจิตใจ ถึงเรื่องราวต่างๆที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า ชีวิตที่พึ่งผ่านพ้นวัยเด็กมาไม่นาน การเผชิญกับเรื่องแบบนี้ ไม่ง่ายนักหรอกที่จะฝ่าข้ามไปได้อย่างง่ายดาย ไม่มีใครรู้หรอกค่ะ ชีวิตที่ประเทศไทย ต้องเจอ ต้องทำงาน ต้องอยู่อย่างไร? “  แต่อนาคตไม่สำคัญเท่าปากท้องของคนที่ยังรออยู่ที่บ้านและภาพเหล่านี้ปรากฎแจ่มชัดกว่า 

 


ทุกๆวันในบ้านของผู้มีอันจะกินในเมืองหลวง ประเทศไทย พวกเธอต้องตื่นก่อนนายจ้างและเข้านอนหลังกิจกรรมทุกอย่างในบ้านจบสิ้นลง หลายต่อหลายครั้งที่เหนื่อยสายตัวแทบขาดใจ หรือหัวใจแหว่งวิ่นก็ต้องก้มหน้าก้มตาอดทนต่อไป ทางเลือกชีวิตที่เลือกด้วยตนเอง เอาเข้าจริงแล้วกลับไม่มีทางเลือกมากนักหรอก ความไม่ปลอดภัยในการทำงาน ความรุนแรงจากครอบครัวนายจ้าง จากเพื่อนร่วมอาชีพ การพูดภาษาไทยไม่ได้ ความเป็นผู้หญิงต่างถิ่น ไม่นับความเป็น คนอื่น ในสังคมไทย ที่ใครๆจะทำอะไรก็ได้ ไม่จ่ายค่าแรง ทำร้าย กดขี่ ดูถูก ข่มเหง หรือข่มขืน ก็เป็นเรื่องเล่า เรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในชีวิตซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกลายเป็นเรื่องธรรมดาๆไป

 

 


นี้ยังไม่นับเวลาที่รัฐบาลไทยประกาศให้แรงงานข้ามชาติทุกคนไปขึ้นทะเบียนเพื่อขออนุญาตทำงาน ถ้าเป็นแรงงานผู้ชายก็แค่ตรวจโรคธรรมดา แต่แรงงานหญิงอย่างพวกเธอต้องตรวจตั้งครรภ์เสียทุกครั้ง

 


จะมีลูกน้อยให้เชยชม ชาตินี้คงไม่มีทาง

จะบอกให้แฟนเขาใส่ถุงยาง เขาก็ไม่ยอม หนูก็ต้องป้องกันตัวเอง หาซื้อยาคุมมากิน ผิด ๆถูก ๆ 

ไปโรงพยาบาลก็อ่านภาษาไทยไม่ออก ไม่รู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง โดนคุณหมอว่าเจ็บๆ บางที่ก็ดีนะคะติดภาษาพม่าไว้ แต่หนูเป็นกะเหรี่ยงค่ะ หนูอ่านภาษาพม่าไม่ออก

 


ครั้งหนึ่งนักเรียนคนสนิทโทรศัพท์มาหาด้วยน้ำเสียงผิดปกติว่า หนูกำลังตกเลือกค่ะครู ทำอย่างไรดีคะ หนูไม่มีบัตร ไม่กล้าไปโรงพยาบาล ซักถามไปซักถามมา คำพูดธรรมดาที่ว่า หนูพึ่งไปทำแท้งมาค่ะครู เพราะใกล้ต่อใบอนุญาตทำงานแล้ว ถ้านายจ้างรู้ว่าหนูตั้งครรภ์ เขาคงไม่จ้างหนูทำงานต่อแน่ ๆค่ะก็สื่อมาถึงครู พร้อมๆ กับหัวใจคนเป็นครูที่อ่อนยวบและไม่กล้าให้เสียงสะอื้นไห้เล็ดรอดไปให้คนปลายสายได้ยิน

 


คงมีเพียงวันอาทิตย์ล่ะมั้ง ! วันหยุดงานของพวกเธอ ที่จะได้เจอ ได้ปลอบประโลม ได้แลกเปลี่ยน ได้เล่าสู่เรื่องราวกันฟัง ในห้องเรียนเล็ก ๆ ที่จะแปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลอดภัยทางจิตใจ พื้นที่ประคับประคองความฝันให้กล้าแกร่งและยืดหยัดให้ถึงที่สุด ภายใต้เสียงหัวเราะครึกครื้น ใครบ้างจะรู้ ? เมื่อคืนพึ่งผ่านรอยทางแห่งความขมขื่นของนายจ้างต่างๆนานา ไม่เป็นไรค่ะคุณครู หนูทนได้ ก็ยังเป็นคำพูดเดิมๆของหญิงสาวกลุ่มนี้ยามเผชิญกับทุกข์ระทม และคนเป็นครูทำได้เพียงจับมือและฟังเรื่องของเธอทุกคำอย่างตั้งใจ

 


อีกวันที่เป็นความสุขเล็ก ๆของพวกเธอ คือ วันส่งเงินกลับบ้าน นำเงินที่เก็บออมในแต่ละเดือนๆส่งกลับไปให้ครอบครัวที่บ้านเกิด ทีละเล็ก ทีละน้อย ค่อยๆเพิ่มเป็นจำนวนหลักหมื่น หลักพัน และเมื่อปลายทางบอกว่า ได้รับเงินเรียบร้อยแล้วรอยยิ้มก็เต็มใบหน้าและความปลาบปลื้มก็ฉายชัด จนคนรอบข้างพลอยดีใจไปด้วย พอๆกับวันแต่งงานกับคนรักในบ้านเมืองอื่น ไม่มีครอบครัว ไม่มีญาติพี่น้อง มีแต่เพื่อนๆ และคุณครู ครอบครัวใหม่ที่ลงหลักปักฐาน จะต่อสู้ชีวิตร่วมกันไปจนแก่เฒ่า จะสืบเผ่าวงศ์ตระกูล แค่นี้ชีวิตหนูก็มีความสุขแล้วค่ะ

 


เอาเข้าจริงแล้วชีวิตพวกเธอต่างอยู่บนเส้นทางแห่งความหวัง ความฝัน ทั้งของตนเองและครอบครัว ที่ในระหว่างการเดินทางมีทั้งอุปสรรคและความสำเร็จ แต่พวกเธอก็ต้องต่อสู้เพื่อไปให้ถึงปลายทางของฝั่งฝัน แม้จะลำบาก จะเผชิญอุปสรรคต่างๆนานา แต่ความฝันคือน้ำหล่อเลี้ยงสำคัญที่ทำให้ชีวิตหม่นมีสีสรรและต้องเดินทางต่อไป หลายคนอาจบอกว่าเธอเป็นผู้หญิงที่ไม่ได้ต่อสู้อะไร แค่ทำงานไปวัน ๆ และยอมจำนนกับระบบต่างๆที่กดขี่อยู่ แต่อะไรเล่าคือความแตกต่างระหว่าง การจำนน กับ การต่อสู้ ในเมื่อทุกวันเธอต้องสู้กับทั้งระบบคิดของสังคมที่ผู้ชายยังเป็นใหญ่อยู่ หน้าที่ของ แม่ + ลูกสาว ไม่นับระบบทุนที่ครอบงำเธอ ทำให้เธอเป็นเพียง แรงงาน ที่พร้อมจะผลิตกำไรให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรมไทยเติบโตต่อไป

 


สิ่งที่เธอเจอไม่ใช่โชคชะตา แต่คือสิ่งที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์  แตกต่างอะไรกับสิ่งที่นักต่อสู้ผู้หญิงคนอื่นๆ สู้อยู่ แต่เธอสู้ในปริมณฑลของเธอ  สู้ในพลัง ในมือไม้ ในเรี่ยวแรง และยุทธวิธีที่เธอสามารถทำได้ในฐานะ การเป็นแรงงานข้ามชาติผู้หญิง

 


น้าขอคารวะชีวิตผู้หญิงตัวเล็ก ๆจากพม่าทุกคนค่ะ ที่กำลังทำสิ่งยิ่งใหญ่เพื่อครอบครัว เพื่อบ้านเกิด เพื่อความฝันทั้งปวง

 


 น้าป่าน"

19 มิถุนายน 52

 

หมายเลขบันทึก: 269231เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2009 12:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วคิดถึง..เรื่องราวของหญิงชาวยุโรปคนหนึ่งชื่อ..โรซ่า ลุกส์ซัมเบอรก.เป็นหญิงหนึ่งที่พยายามต่อสู้ถึงสิทธิความเป็นคน..ผลลัพธ์เธอถูกฆ่าตายโยนศพทิ้งน้ำ..รู้ตัวผู้ฆ่าแต่เรื่องก็เงียบหายไป...การต่อสู้ให้ได้มาซึ่งความเป็นคนเสรีและเสมอภาคการต่อสู้ที่มีมายาวนานในยุโรปจนบัดนี้..ที่ได้มาไม่รู้ว่าจะได้ถึงครึ่งของความฝันนั้นหรือไม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท