ตัวชี้วัดเป็นเรื่องกระด้างและมีมากจนไร้ประโยชน์ ?


ควรเป็นตัวชี้วัดที่บอกสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นผลจากอดีตแต่มีความเสี่ยงต่ออนาคต

ที่หลายคนเห็นเช่นนั้นเป็นเพราะตัวชี้วัดที่ผ่านมามักจะเหวี่ยงแห  หากเปรียบการขับเคลื่อนองค์กรกับการขับเคลื่อนรถยนต์   ตัวชี้วัด 1 ชุด  ที่มีองค์ประกอบอยู่ 20-30 ตัว   จึงเหมือนเครื่องมือที่ใช้ตรวจสภาพรถทั้งคัน  คงเสียเวลาอย่างมากในการทำความเข้าใจเครื่องมือและทำการตรวจวัด    ผลสุดท้ายก็ไม่มีใครใช้  เพราะยุ่งยาก 

 

ผู้สร้างตัวชี้วัดคงเกรงว่า หากไม่สร้างเยอะๆ จะ ไม่รอบด้าน  ไม่ บูรณาการ  

 

ยิ่งตัวชี้วัดที่เกิดจากการระดมสมอง ยิ่งได้ตัวชี้วัดชุดใหญ่ เพราะความเกรงใจที่จะตัดตัวชี้วัดของใครออกไป

 

แท้จริงแล้ว  ตัวชี้วัดที่มีประโยชน์  ทรงพลัง  คือตัวชี้วัดที่สะท้อนประเด็นวิกฤตได้    ซึ่งจะมีอยู่แค่ไม่กี่ตัว (เพราะตัวอื่นๆอาจเป็นเหตุผลของกันและกัน  ชี้ผลไปในทางเดียวกันอยู่แล้ว)  การสร้างตัวชี้วัดจึงต้องเป็นงานละเอียดและผู้สร้างเข้าใจความสัมพันธ์ของตัวแปรต่างๆ  ผ่านการวิเคราะห์  การสกัดกลั่นกรอง  การตีความ  ทดสอบ  และมีความหมายที่จะสื่อความได้

 

อาจเป็นตัวชี้วัดเพื่อบอกความสำเร็จ  หรือตัวชี้วัดที่จับชีพจรชีวิต  (อย่างเช่น เครื่องตรวจความดันและหัวใจ  หรือหน้าปัดบอกความร้อนในรถยนต์ที่เราขับขี่)

ควรเป็นตัวชี้วัดที่บอกสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นผลจากอดีตแต่มีความเสี่ยงต่ออนาคต

 

หากต้องการบอกกระบวนการ  คงไม่ต้องสร้างตัวชี้วัดให้ยุ่งยาก  ยุบยับ บอกไปเลยว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ และควรทำอย่างไร และได้ทำหรือไม่อย่างไร .... นั่นก็เป็นเครื่องมืออีกชุดหนึ่ง ที่ไม่ใช่ตัวชี้วัด...

 

แน่นอนว่า  ตัวชี้วัดเป็นแค่เครื่องมือหนึ่งเท่านั้น  และไม่ใช่พระเจ้าของความสำเร็จ  ดีไม่ดี ทำให้เราหลงเข้าป่าด้วยหากเราไม่รู้จักเป้าหมายการใช้งานตัวชี้วัดนั้น

 

การใช้  GDP อย่างแพร่หลาย เกิดเพราะมันเป็นตัวชี้วัดโดดๆที่สามารถชี้ความเติบโตทางเศรษฐกิจ  องค์ประกอบข้างในของมันบอกประเด็นหลักๆของกลไกการทำงานทางเศรษฐกิจได้แบบตรงไปตรงมาที่จะลงไปดูได้ทันทีว่าจุดอ่อนอยู่ที่ไหน

 

ตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างเช่น GINI  อธิบายองค์ประกอบเพื่อแก้ปัญหาได้ยากกว่า จึงใช้ประโยชน์น้อย ทั้งๆที่เป็นประเด็นสำคัญยิ่งในบ้านเรา

 

หากประเทศไทยจะใช้ตัวชี้วัดทางสังคมสักสองสามตัว  เพื่อชี้การพัฒนาสังคม  ตัวชี้วัดนั้นควรจะเป็นอะไร ? 

 

หากจะเป็นตัวชี้วัดการพัฒนาการเมือง   เราเสนอว่า  ใช้  จำนวนคนที่ขายเสียงต่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง  บางที การซื้อสิทธิ์ขายเสียง อาจจะสะท้อนทั้งปัญหาคอร์รัปชั่น  ปัญหาสังคม (อุปถัมภ์) ปัญหาจริยธรรม  และปัญหาเศรษฐกิจด้วย

คำสำคัญ (Tags): #ตัวชี้วัด
หมายเลขบันทึก: 269567เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2009 21:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 06:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีคะ อาจารย์ปัทมาวดี

มาเก็บเกี่ยวความรู้เกี่ยวกับตัวชี้วัดจากบันทึกของอาจารย์...ขอบคุณมากคะ

ตัวชี้วัดหลายครั้งถูกกำหนดด้วยหวังให้ทุกงานที่จะทำผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ จะมีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน ถ้าสร้างขึ้นเพื่อจะตอบว่า ข้าทำสำเร็จ

ตัวชี้วัดที่สะท้อนประเด็นวิกฤต ดูจะมีประโยชน์มากกว่าแต่ยังไม่เคยเห็นเป็นรูปธรรมนัก หากอาจารย์พอมีเวลาช่วยขยายความสักหน่อยได้ไหมคะ แต่อย่างไรจะไปค้นเพิ่มเติมหากเข้าใจมากขึ้นจะกลับมาแลกเปลี่ยนกับอาจารย์อีกครั้งนะคะ ขอบคุณอีกครั้งคะ

---^.^---

ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

สวัสดีค่ะคุณพิมพ์ดีด

สมมติว่าเป็นสถาบันการศึกษาที่เน้นการพัฒนาคนและองค์ความรู้ ตัวชี้วัดที่สำคัญ น่าจะเป็น

  • จำนวนและคุณภาพผู้สมัคร
  • จำนวนและคุณภาพบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา (จากการประเมินตนเองของบัณฑิตและการประเมินของผู้ใช้บัณฑิต)
  • จำนวนครั้งของผลงานวิชาการของอาจารย์ที่ได้ร้บการอ้างอิง

ลำพังตัวชี้วัดเป็นตัวเลขโดดๆ ไม่ค่อยมีความหมายเว้นแต่จะมีเกณฑ์อ้างอิง หรือเปรียบเทียบระหว่างปี

อย่างธรรมศาสตร์ช่วงย้ายไปรังสิต ตัวชี้วัดสองข้อแรกจะสำคัญที่ต้องคอยมองค่ะ

องค์กรการเงินชุมชนที่เน้นการพัฒนาคน  ต้องนิยามให้ชัดว่า พัฒนาแบบไหน เน้นพัฒนาที่จุดอ่อนหรือประเด็นเสี่ยง  แล้วตั้งตัวชี้วัดไปที่นั่นเลย   หวังว่าตัวชี้วัดจะช่วยทำให้มีการออกแบบกระบวนการ  และมีการติดตามประเมินตนเองว่าทำได้เช่นที่กลุ่มคาดหวังไว้หรือไม่ค่ะ

สวัสดีคะ อาจารย์ปัทมาวดี

"ตัวชี้วัดจะช่วยให้มีการออกแบบกระบวนการ"

ขอบพระคุณมากคะที่ช่วยขยายความ และเพิ่มความชัดเจนว่ากระบวนการทำงานเกิดจากการมุ่งไปสู่ตัวชี้วัดนั่นเอง

ขอบคุณอีกครั้งคะ

---^.^---

ผมอยู่ภาคปฏิบัติ ก็รู้สึกคล้อยตามตัวชี้วัดตั้งแต่แรก เป็นเครื่องมือในการประเมิน วัดอะไรต่อมิอะไรในชุมชน แต่ต่อมาผมรู้สึกขัดๆกับตัวชี้วัด โดยเฉพาะคนนอกที่เข้าไปประเมินแล้วสรุปออกมาตามเกณฑ์

สิ่งที่ผมขัดก็คือ คนนอก(ชุมชน)จำนวนไม่น้อยที่เข้าไปวัด ไปประเมินนั้น ไม่เห็นการเคลื่อนตัวของสิ่งที่เขาวัด ที่เราเรียก trend ในแต่ละช่วงเวลา เช่นเขาไปวัดองค์กรหนึ่งในชุมชน โดยกำหนดตัวชี้วัด แม้ว่าจะสร้างตัวชี้วัดแบบมีส่วนร่วมกับชุมชนก็ตาม เมื่อถึงเวลาวัดจริงๆ เขาก็สรุปเอาตรงจุดนั้น วันนั้น ช่วงนั้น แต่ Trend ที่กว่าจะมาถึงวันนั้น เขาไม่ได้มอง ไม่ได้เอามาประกอบ ไม่ได้เอามาพิจารณา บางคนไม่ซักถามด้วยซ้ำไป เพราะรีบประเมิน สิ่งที่สรุปได้ แม้จะมีส่วนถูก แต่ไม่ทั้งหมด หรือคำอธิบายไม่ได้ครอบคลุมพัฒนาการของผู้ถูกประเมิน

การประเมินอาจจะเป็นช่วงต่ำสุด หรือขาลงขององค์กร ก็สรุปว่าล้มเหลว หรือกำลังเผชิญปัญหาใหญ่ หากไปวัดตอนฟู่ฟ่า ก็ชื่นชมเสียจนบรรลุแล้ว หารู้ไม่ว่า อีกไม่นานต่อมาก็เปลี่ยนไปแบบสิ้นเชิงจาการประเมินมาก็มีให้เห็น

การประเมินใช้ได้ ไม่ใช่ไร้สาระ แต่ต้องอธิบายดีดีให้เข้าใจชัดเจน ไม่ใช่เหมารวม

เป็นความเห็นเล็กๆครับอาจารย์ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท