BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ดง (คำปักษ์ใต้)


ดง (คำปักษ์ใต้)

วันก่อน... กำลังฉันเพลอยู่กับหลวงพี่อีกรูปที่กุฏิ ผู้เขียนเลือกดูอาหารบิณฑบาต ก็ไปเจอน้ำข้าวกล้องใส่ถุงซึ่งมีฉลากบอกยี้ห้อเรียบร้อย จึงหยิบขึ้นมาถามหลวงพี่ว่า...

  • เคยฉันหม้าย ? รสชาดพันพรื้อ ? 
  • เคยฉัน รสชาดเหมือนน้ำหม้อ

แล้วหลวงพี่ก็มีประเด็นคุยต่อว่า่ วันก่อน ถามพระหนุ่มเณรโค้งในวัดว่า รู้จักน้ำหม้อหม้าย ? ปรากฎว่าไม่มีใครรู้จัก พวกนั้นเกิดไม่ทันกินน้ำหม้อ ! 

ผู้เขียนก็รำลึกถึงความหลังแล้วก็ตั้งประเด็นต่อว่า ตอนเราเด็กๆ นั้น เค้ายังหุงข้าวรินน้ำ หรือหุงข้าวเช็ดน้ำ โดยเทน้ำข้าวทิ้งหลังจากหม้อข้าวเดือดแล้ว... ครูที่โรงเรียนจะสอนว่า น้ำข้าวนั้นอุดมไปด้วยวิตามินและสารอาหาร ดังนั้น ให้กลับไปบอกแม่หรือญาติผู้ใหญ่ที่บ้านว่า เวลาหุงข้าวอย่าเทน้ำข้าวทิ้งหรืออย่าหุงข้าวเช็ดน้ำ... ต่อมาการหุงข้าวเช็ดน้ำก็ค่อยๆ เลือนหายไป และเมื่อมาถึงยุคหม้อหุงข้าวไฟฟ้า เรื่องการหุงข้าวเช็ดน้ำก็เป็นเพียงเรื่องเล่าเท่านั้น

น้ำข้าวที่เททิ้งหลังจากหม้อข้าวเดือดนี้เอง ปักษ์ใต้เรียกว่า่ น้ำหม้อ ซึ่งคนเฒ่าคนแก่มักจะรินใส่ถ้วยไว้แล้วเติมเกลือเล็กน้อยเก็บไว้ให้ลูกหลาน ดังนั้น คนรุ่นผู้เขียนเป็นต้นไป (น่าจะอายุสี่สิบขึ้นไป) จะรู้จักรสชาดของน้ำหม้อเป็นอย่างดี... แต่ด้วยนโยบา่ยของทางการไม่ให้หุงข้าวเช็ดน้ำ และด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้าในปัจจุบัน ทำให้เด็กยุคหลัง (น่าจะอายุสามสิบลงมา) จึงไม่รู้จักน้ำหม้อโดยประการฉะนี้

หลวงพี่ตั้งประเด็นต่อว่า วิธีการหุงข้าวไม่รินน้ำนั้น ผมหัดมาตั้งแต่เด็กๆ... เวลาหุงข้าวนั้น ตอนแรกก็ใส่ทางโหนด (ก้านใบขนาดใหญ่ของตาลตะโหนด ใช้ทำไม้ฟืนได้) พอหม้อข้าวอีพลุ้ง (จะเดือด) ก็เติมงวงโหนด (ส่วนที่เป็นช่อดอกและเกษรของตาลตะโหนด) เข้าไปในเตา เมื่อทางโหนดไหม้หมด งวงโหนดก็จะเป็นถ่าน ทำให้ข้าวสุกพอดี ไม่ต้องรินน้ำ... แล้วหลวงพี่ก็คุยว่า ผมพยายามคำนวนจนได้สูตรว่าใส่ทางโหนดและงวงโหนดเท่าไหร่จนข้าวสุกพอดี เพราะขี้เกียจเฝ้า ผมจะไปเล่น...

 

ดง คำนี้ผุดขึ้นมาในคลองความคิด การหุงข้าวในสมัยก่อนนั้น หลังจากรินน้ำแล้วก็จะลดไฟในเตาลง ไม่ใช้ความร้อนมาก แล้วเอาหม้อข้าววางบนเตา จนกระทั้งข้าวสุก ทำนองนี้เรียกว่า ดง  เพราะถ้าไม่ลดไฟในเตาลงข้าวในหม้อจะไหม้...

เมื่อพิจารณาตามนี้ คำว่า ดง น่าจะหมายถึง การทำให้ข้าวสุกอย่างช้าๆ ... ซึ่งคำนี้ในสมัยก่อนทุกคนจะรู้และเข้าใจกันดี ดังเช่น...

  • เฮ ! พ่อไอ้บ่าว ฉานตั้งหม้อไว้ในครัว ตอเดียวรินน้ำแล้วดงเสียกัน
  • หมึงหม้ายโร้จักไหร่ หุงข้าวไม่ดง หม้ายเหม็ดแหละ โร้หม้าย !

 

ดง นอกจากใช้ในการหุงข้าวเบื้องต้นแล้ว ก็อาจใช้ในกรณีอื่นได้บ้างเช่น...

  • เห้อ ! แม่ไอ้บ่าว โดกวัวต้มยอดมวงในทะเปื่อยแล้ว ดงไว้กัน เดียวน้ำอีแห้งเสีย
  • (กระดูกวัวต้มใบชะมวงในกะทะเปื่อยแล้ว ให้ลดไฟในเตาลงด้วย มิฉะนั้น น้ำต้มในกะทะจะแห้ง)

ตามนัยนี้ ดง หมายถึง การลดไฟในการหุงต้มให้อ่อนลง แต่มิใช่การดับไฟ เพื่อจะให้ไฟอ่อนๆ นั้น ช่วยรักษาความร้อนของสิ่งที่กำลังหุงต้มนั้นไว้ได้นานๆ ด้วย...

 

การดงนั้น ถ้าทิ้งไว้นานๆ ไฟในเตาก็จะค่อยม้อดดับไปเอง ซึ่งนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจกันโดยทั่วไป...

แต่ถ้าประสงค์มิให้ไฟดับ ก็อาจเพิ่มถ่านเพิ่มฟืนครั้งละนิดหน่อยเป็นการรักษาความร้อนของหม้อหุงต้มไว้ เช่น ตามงานเลี้ยงตามบ้านหรือวัดในสมัยก่อน หม้อหรือกะทะุที่ใช้ต้มขนาดใหญ่มักจะดงไว้ทั้งวันทั้งคืนเพื่อใครมาตักไปกินจะร้อนอยู่ตลอด ซึ่ง ดง ตามนัยนี้ ตรงกับคำว่า อุ่น ในภาษากลางนั่นเอง

 

ย้อนกลับไปยังหลวงพี่ เมื่อผู้เขียนยกคำว่า ดง ขึ้นมา หลวงพี่ก็เข้าใจทันที แต่ท่านก็บอกว่า ผมนึกไม่ออกแล้วว่าภาษากลางเค้าเรียกว่าพรื้อ ?

ดังนั้น จึงใคร่จะถามว่า ดง ตามที่เล่ามานี้ ภาษากลางใช้ว่าอย่างไร ?

หมายเลขบันทึก: 279950เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2009 09:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:15 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

นมัสการค่ะ หลวงพี่ ขอแลกเปลี่ยนเรียนรู้นะคะ อ่านบรรทัดแรก น้ำหม้อ เพิ่งเคยได้ยินค่ะ ดิฉันเรียก น้ำข้าวค่ะ เคยได้ทานน้ำข้าวเมื่อเล็กๆ ขณะนั้นไม่มีหม้อไฟฟ้า ต้องใช้ถ่านที่เกิดจากการเผา จากหลุมธรรมชาติ ใส่แก็บข้าว คือเปลือกข้าวที่ผ่านโรงสีมาแล้ว บ้านตา-ยาย บ้านนอก คือบ้านนอกของคนเมืองในตลาดค่ะ จะหุงข้าวริน (เช็ด)น้ำ จะใส่น้ำให้เต็มหม้อพอเวลาเดือดไม่ล้นหม้อ สุกแล้วเม็ดข้าวติดไม่ติดกัน เปิบมืออร่อยมาก ในเมืองมาหน่อยเดียว ไม่เกิน 5 กิโลเมตร จากบ้านนอก บอกหุงข้าวรินน้ำแล้วเสียวิตามิน จึงหุงข้าวโดยไม่รินน้ำทิ้ง ซึ่งต้องใส่น้ำให้พอดีกับข้าว แต่ที่ไม่แตกต่างกันก็คือ ดงข้าว ค่ะ เรียกว่าดง เหมือนกันค่ะ วิธีการดงข้าว ดงเหมือนกัน คือ ใช้ไม้ขัดหม้อ (เกาจากไม้เนื้อแข็ง) ขัดที่ฝาหม้อข้าวกับหูหม้อทั้งสอง ถ้ารินน้ำข้าวไว้กินก็จะรินใส่ชามหรือหม้อเล็กไว้ ใส่เกลือเล็กน้อยก่อนดื่มเป็นส่วนแรก อีกที่เหลือรินใส่อ่างดินเผา เก็บไว้เป็นอาการสุนัข บางบ้านรินทิ้งร่องกระดานลงดินไปเลย สำหรับบ้านยกสูง ส่วนหุงเช็ดน้ำไม่รินน้ำ คือ เมื่อน้ำในข้าวผ่านการหุงใกล้งวด (แห้ง) ก็ขัดหม้อด้วยไม้ขัดเช่นกัน โดยคีบถ่านในเตาให้เหลือเล็กน้อย ดงข้าง โดย เอียงหม้อข้าวให้โดยรอบ เพื่อให้เม็ดข้าวสุกระอุ(สุกเสมอกัน) หลังจากนั้นยกหม้อข้าววางเตาอีกเตาหนึ่ง ที่มีถ่านติดไฟเล็กน้อย คีบถ่านก้อนใหญ่ยังที่ติดไฟทั้งก้อนวางบนฝาหม้อข้าว ทิ้งไว้อย่างนั้นเพื่อข้าวจะได้สุกเสอกัน เฮ้อกว่าจะได้กิน ต้องตื่นกันแต่ ตี 4 ตี 5 ค่ะ นึกถึงแล้วอิ่มใจค่ะท่าน

Pพี่นิด

 

ไม่แน่ใจว่าคุณโยมเป็นคนใต้หรือไม่ ลองไปสำรวจบล็อกของคุณโยม ก็ไม่เห็นพาดพิงถึงปักษ์ใต้ จึงคาดหมายว่าน่าจะไม่ใช่...

ตามที่คุณโยมเล่ามา ถ้าคุณโยมมิใช่คนใต้ คำว่า ดง ก็น่าจะมีความหมายทั่วไปตามนี้ มิใช่คำเฉพาะท้องถิ่นปักษ์ใต้

ก็คงต้องคอยคนอื่นๆ มาช่วยยืนยันว่า ดง เป็นคำโบราณทั่วไปของไทย หรือเป็นเพียงคำท้องถิ่นปักษ์ใต้เท่านั้น

เจริญพร

  • นมัสการครับหลวงพี่
  • เมื่อก่อนตอนที่ยังไม่มีการใช้ส้วมอย่างในปัจจุบัน และป่ายังมีมากอยู่่
  • เวลาปวดหนักเขาบอกว่าไป "ท่อง" มีบางแห่ง ก็เรียกว่าไป "ดง" นะครับ
  • แวะมาพักสมองครับ ไปเขียนบทที่ 1 ต่อแล้ว 

P ชายขอบ

 

 

ตอนเขียนเรื่องนี้ ก็คิดถึง ดง ในประเด็นนี้แล้วเหมือนกัน แต่เห็นว่าความหมายต่างกันไปจึงมิได้อ้างถึง...

 

  • ไปทุ่ง (ปักษ์ใต้แผลงเป็น ไปท่อง)
  • ไปดง

สองคำนี้ ใช้สำหรับชาวบ้านทั่วไป...

ส่วนพระ-เณร เมื่อก่อนจะใช้ว่า...

  • ไปฐาน (ไปถาน)

ความหมายของคำเหล่านี้ก็คือ "การไปเพื่อถ่ายอุจจาระ" นั่นเอง

เจริญพร

กราบนมัสการ...พี่หลวงชัยวุธ

  • ดงหม้อ ไม่ได้ยินคำนี้มานานมากแล้วครับ
  • ก่อนที่จะดงต้องรินน้ำ แล้วใช้ไม้พาย "ยง" ก่อน
  • การ "ดง" ต้อง "รา" ไฟออก ให้เหลือเฉพาะถ่าน
  • หุงข้าวด้วยฟืนหากไม่ "ดง" รับรองได้กินข้าวดิบชัวว์
  • หรือบางทีถ้า "ดง" ไม่ได้ที่ ก็จะได้กินข้าว "สามกษัตริย์" ดิบ สุก และก็ เปียก
  • เพราะฉะนั้นก่อนที่จะ "ดง" ต้องดูว่าเมล็ดข้าวสุกได้ที่แล้วหรือยังถ้ายังไม่สุขได้ที่แล้วรีบดงข้าวก็จะดิบครับ...
  • นมัสการมาด้วยความเคารพ

Pครูราญเมืองคอน คนนอกระบบ

 

 

ไม่เจอนายหนังนานแล้ว ก็ผ่านไปเยี่ยมบล็อกของนายหนังอยู่บ้างเหมือนกัน แต่เรื่องราวที่นำเสนออยู่นอกกรอบความคิดประจำวัน จึงไม่ได้ทิ้งรอยจารึกไว้...

ความเห็นของนายหนังบ่งชี้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญวิชาหุงข้าวเหมือนกัน (..........) ตอนที่เขียนคิดจะใช้ว่า "ซา" แต่เกรงบางท่านไม่เข้าใจจึงใช้คำว่า "ลดไฟในเตาลง" ... และเมื่อมาเห็นนายหนังใช้ว่า "รา" จึงได้ข้อมูลเพิ่มขึ้นนิดหนึ่งว่า ราไฟ และ ซาไฟ มีความหมายเหมือนกันในสำนวนปักษ์ใต้บ้านเรา.

เจริญพร

คำปักษ์ใต้หลายคำที่คนใต้ก็ไม่รู้จัก โดยเฉพาะคนยะลาซึ่งส่วนใหญ่พูดภาษากลาง

วันหลังต้องคุยด้วยศัพท์ปักษ์ใต้ซะที เช่นหลุด หลวมเหลียม หวางวัดหวางบ้าน อานหมาน

กราบนมัสการ...หลวงพี่

คำปักษ์ใต้เป็นคำที่นหน้าสนใจ ไม่มีบัญญัติในพจนานุกรมใด

Pkaikiku 

 

 

P เมธา สุพงษ์

 

ระบบการศึกษาที่มีศูนย์กลางมาจากกรุงเทพฯ และค่อยๆ ใช้เวลานานๆ ปียิ่งขึ้น... นี้เป็นสาเหตุเก่าก่อน ที่ทำให้คำท้องถิ่นเลือนหายไป

และอิทธิพลของสื่อปัจจุบัน โดยเฉพาะโทรทัศน์ ทำให้คำท้องถิ่นเก่าๆ เลือนหายไป เพราะระบบคิดของเด็กถูกสื่อเข้าครอบงำ มิใช่เด็กถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมท้องถิ่นทุกรูปแบบอย่างสมัยก่อน...

พจนานุกรมคำใต้ที่มีผู้รวบรวมไว้ ก็มีอยู่บ้าง... แต่คำท้องถิ่นทั่วโลก ที่ไม่มีอยู่ในพจนานุกรม เป็นเรื่องธรรมดา...

เจริญพรคุณโยมทั้งสองท่าน

นมัสการค่ะ ได้ข่าวว่าทอกกฐินเหนื่อยมาก แต่ก็ได้ผลดีญาติโยมสามัคคีกันมาก โดยเฉพาะพี่วุธิ เห็นบ่นว่าเหนื่อยยยย (ต่อหน้าหลวงพี่ไม่กล้าบ่น .. อิๆๆ) แถมไม่ได้อ่านภาษาอังกฤษ วันก่อนเจอกันก็เลยแซวว่าหลวงพี่คงปลุกเสกให้แล้ว เพราะก็ช่วยงานกฐินเยอะ...

เรื่องนำหม้อ ตอนเล็กๆ กินนำหม้อตลอดเลยค่ะ เพราะที่บ้านหุงกับเตาถ่าน นำหม้อคือของวิเศษสุด อร่อย หวาน เค็ม ใส่น้ำตาล หรือ เกลือตามใจชอบ พูดแล้วนำลายสอเลย ...

Pสุรีรัตน์

 

ก็ถามถึงอาจารย์สุ. เหมือนกันว่าไม่ชวนมาบ้าง ทราบว่ากำลังยุ่ง ให้จบก่อนค่อยมาปีหน้าก็แล้วกัน และจะพิมพ์ชื่อไว้ในฏีกาด้วยว่า ดร.สุรีรัตน์ . . . (............)

เจริญพร

 

 

กราบนมัสการครับ.

มาอ่านแล้วการหุงข้าวแบบใช้เตาถ่านแต่ก่อน ทำให้ คิดถึงดังข้าว ครับแข็งๆติดหม้อ อร่อยครับ

Pเปนไท

 

ดังข้าว หรือ ข้าวตัง ราดน้ำเกลือนิดๆ ถ้าให้ทั้งเค็มทั้งมันก็ราดน้ำกะทิ หรือนำไปทอดอีกครั้งอย่างข้าวเกรียบก็อร่อยไปอีกแบบ...

ปัจจุบัน ข้าวตัง ยังคงมีขายอยู่ แต่มิใช่ข้าวตังติดก้นหม้อหรือก้นกะทะดังสมัยโบราณ จัดได้ว่าเป็นนวัตกรรมด้านอาหารไทยอย่างหนึ่ง ประมาณนั้น...

เจริญพร

กราบนมัสการครับ.

แวะเวียนผ่านมาในเว็บ คงจะใช่น่ะครับคนที่เข้าใจความหมาย ดง โยง(ยง) คงเป็นคนที่ใก้ลถึงดอนเมืองกันแล้วทั้งนั้น ผ่านมาได้อ่านคำว่าดง ทำให้นึกถึงอีกคำหนึ่งที่ต้องกระทำถ้าหากไม่ราไฟก็คือในกรณีที่หุงด้วยหม้อปิเนียมเบอร์สามสองนั้นถ้าไม่ราไฟ เวลาดงต้องตะเคงหม้อแล้วก็ค่อย ๆ หมุนไปในทางซ้ายหรือขวาทางใดทางหนึ่งจนครบรอบเพื่อกระจายความร้อนให้ทั่วถึง การดงแบบนีคนที่ดงต้องมีศิลปะในการดงน่ะครับไม่นั้นข้าวหม้าย(ไหม้) พอดงครบรอบแล้วกะตั้งให้ก้นได้รับความร้อนอีกสักพัก ช่วงนี้แหละครับที่ดงนานไม่ได้ ต้องรู้จักกับคำว่า "ปรง" ถ้าไม่ปรงหม้อข้าวจากเตาไฟรับรองครับว่าได้กินข้าวหม้ายแน่นอนครับ dhawata.

ย่าผม ท่านเป็น คนยุธยา ก็ใช้คำว่าดงครับ

เรียนท่านเจ้าอาวาสครับ

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา(กุมภาพันธ์๒๕๕๔) เด็กนักเรียนม.๓จากอ.เมือง จ.พิษณุโลก มาเยี่ยมเยียนที่วัด ผมเลยชักชวนหุงข้าวรินน้ำ ขั้นตอนทั้งหมดผมต้องเป็นคนแนะนำให้ทำครับ

เริ่มตั้งแต่ซาวข้าว,ข้าวเดือดแล้วก็คอยคนก้นหม้อเพื่อไม่ให้ข้าวไหม้,สุกแล้วปลงลงมา รินน้ำข้าว,รินน้ำข้าวเสด็จแล้ว(แห้ง),จากนั้นก็ดงจนข้าวระอุ ก็ได้ข้าวหน้าตาพอใช้ได้ครับ

ถ้าผมไม่คอยแนะนำอยู่ใกล้ๆ ไม่ทราบการหุงข้าวครั้งแรกของเขาจะเป็นอย่างไรเหมือนกัน

                        
                              

 

ผมอายุกำลังจะ 30 การหุงข้าวเช็ดน้ำ การดงข้าวยังทันครับ เคยทำด้วย ใช้ฟืน หรือถ่าน แต่ไม่ได้ทำนานแล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท