ยังค้างคากับเรื่องการวิจัยในเมืองไทย


สวัสดีครับทุกท่าน ยังค้างคากับเรื่องการวิจัยในเมืองไทยจังครับ
จริงๆ เราน่าจะมีองค์กรสักองค์กรนะครับ ที่ทำหน้าที่ในการเอื้อการเริ่มทำวิจัยให้กับคนทำวิจัยรุ่นใหม่ที่ไม่จำกัด ว่าต้องเรียนจบอะไร โดยอาจจะมีโอกาสในการขอทุนสนับสนุนได้ไม่เกินกี่ครั้ง เช่น ขอได้ไม่เกินห้าครั้ง เมื่อหมดแล้วก็จะขออีกไม่ได้ โดยหน่วยงานนี้ก็น่าจะมีแผนต่อไปคือเชื่อมโยงระหว่างองค์กรเอกชนกับนัก วิจัยที่ได้ขอทุนของตัวเองให้เชื่อมโยงและเกิดความยั่งยืนมากขึ้น ให้เค้าต่อสายตรงกันกับเอกชนที่จะเอาผลงานวิจัยไปใช้ได้จริงๆ น่าจะดีกว่ากรณีที่ขอได้อีกไม่รู้ว่ากี่ครั้งขอให้มีโครงการวิจัยก็พอ น่าจะมีการทบทวนกันดูก็คงจะดีนะครับ เพื่อตั้งองค์กรเหล่านี้ขึ้นมาสนับสนุนการวิจัยตั้งแต่ระดับเล็กถึงวิจัย ระดับขนาดใหญ่

แต่หากนักวิจัยสามารถจะต่อสายตรงกับบริษัทได้โดยตรงก็จะนับว่าดีมากๆ สำหรับการนำไปสุ่การพึ่งพาอย่างแท้จริง องค์กรที่ว่านี้อาจจะมีการสร้างปัญหาวิจัย รวบรวมปัญหาวิจัยให้กับสังคมและตีโจทย์ให้เห็นว่าเส้นทางเป็นอย่างไรบ้าง แล้วการวิจัยก็อาจจะสนับสนุนทุนให้ทำกันมากกว่าหนึ่งกลุ่มเพราะจะเกิดการ แข่งขันในเบื้องต้นเพื่อแข่งขันกันคิด แข่งขันกันทำ และแข่งขันกันประยุกต์ใช้ แต่ในท้ายปลายสุดก็เอาข้อดีของแต่ละทีมมาผสมผสานกันก่อนจะนำไปใช้จริง ก็น่าจะเกิดประโยชน์ร่วมกันแล้วนำไปสู่การพัฒนาต่อ

การสร้างเกณฑ์ต่างๆ มาครอบการวิจัยบางทีเหมือนกับเราเป็นศิลปินครับ บางทีก็ภาพที่วาดออกมาก็เป็นไปตามอารมณ์ศิลป์ มีกรอบมาสั่งมันจะไม่เสร็จเอาได้ครับ ในทำนองเดียวกันการวิจัยก็เช่นเดียวกันครับ มันจะสุกเมื่อบริบทมันพร้อม แต่การที่มีคนรอใช้ผลงานวิจัยอยู่ก็เป็นตัวเร่งการทำวิจัยอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเอาเวลาอย่างอื่นมากดดันมาก งานแต่ละอย่างต่างบริบทเทียบกันไม่ได้

จริงๆ แล้วหากแต่ละมหาวิทยาลัยอาจจะตั้งเป็นคลินิกวิจัยขึ้นมา ในการบริการงานวิจัยในชุมชนก็จะดีมากๆ ร่วมกับการเปิดให้มาปรึกษาหารือกับการวางแผนการวิจัย แล้วรับทำวิจัยด้วย หรือเป็นพี่เลี้ยงให้กับคนที่อยากจะทำวิจัย มีปัญหาวิจัยห้อยอยู่ให้เห็น ตลอดแสดงให้เห็นว่างานวิจัยเหล่านั้นขึ้นหิ้งไปเท่าไร ใช้ประโยชน์ได้เท่าไร ส่วนไหนกำลังรอการนำไปใช้ หลายๆ อย่างจะนำไปสู่การพัฒนาที่ชัดขึ้น จริงๆ แล้วหากเราเริ่มทำมันก็จะเดินไปของมันเอง

ปัญหาหลักๆ บ้านเราคือจะนำงานวิจัยขึ้นหิ้งลงมาใช้ประโยชน์อย่างไร อันนี้ต้องยอมรับว่างานวิจัยส่วนหนึ่งจำเป็นต้องอยู่บนหิ้งเพราะประโยชน์ มันไกล แต่ก็จำเป็นต้องทำ แต่หากเป็นงานวิจัยเชิงประยุกต์ควรจะไม่อยู่บนหิ้งนานเกินไป
ปัญหาต่อมา งานวิจัยที่เราทำกันตอบปัญหาวิจัยของสังคม ชุมชนแค่ไหน หรือว่าแหล่งทุนฝันไปทาง คนวิจัยฝันไปทาง ชุมชนฝันรอไปอีกทาง
ระบบประเมินทั้งหลาย ว่าๆ ไปแล้วก็มีทั้งส่วนดีและส่วนที่ด้อยอยู่มาก…ผมสังเกตดูว่าต่อไป คนทำงานในระบบราชการก็จะมีเกรดในการทำงานด้วย ทำงานได้แค่ไหนได้เกรดอะไรแน่ๆ มีตัววัดดัชนีชี้มากมาย คงสนุกน่าดู จริงๆ แล้วน่าจะเปิดให้คนให้ทุนที่แท้จริง (ประชาชน) ประเมินบ้างก็คงจะดีนะครับ เผื่อจะได้ปลดนักวิชาการออกบ้าง จะได้ตื่นเต้นและแฟร์ๆ
การเป็น ดร. ไม่ได้วิเศษอะไร เพราะมันเป็นคำที่เรียกหลังจากเรียนจบ แค่เรียนจบเท่านั้นครับ ดังนั้นในส่วนนี้ หากไม่เรียกผมโดยมีคำนี้นำหน้าก็จะขอบพระคุณมากๆ เลยครับ
ในประเทศเราจะมี ดร.กี่หมื่นแสน แต่หากงานที่ทำออกมาไม่ได้เกิดประโยชน์กับสังคมโดยรวมแล้วก็ยากครับที่จะ พัฒนาไปได้ แต่หากมีการสนับสนุนให้รู้จักทำงานร่วมกัน ก็จะเป็นปึกแผ่นเหมือนกับการต่อจิ๊กซอที่สร้างตั้งเอาไว้แล้วเพียงแต่จะต่อ ให้เสร็จเมื่อไร การต่อเชื่อมในธรรมชาติก็เชื่อมโยงกันหมดครับ

ด้วยมิตรภาพครับ

เม้งครับ

ปล.นำมาฝากจากลานปัญญาครับ

หมายเลขบันทึก: 292725เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2009 19:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เห็นด้วยนะที่จะมีคลินิกวิจัย แต่คนที่จะทำงานที่นี่ส่วนมากจะมาทำแบบ Part time มีเวลาน้อย ทำให้คลินิกส่วนนี้ยังทำได้ไม่เต็มที่

สวัสดีค่ะ

เป็นความคิดที่ดีมาก

และถ้าเป็นไปตามที่คิดไว้

ก็คงช่วยให้งานต่างๆได้รับการพัฒนาอย่างถูกทิศทาง

ไม่ใช่ต่างคนต่างคิด

ขอบคุณค่ะ สบายดีนะคะ

 

หมายความว่า เราเชื่อว่า วิถีแห่งการวิจัย ดีที่สุด หรือ ดีกว่า วิถี...

สวัสดีครับ

เห็นด้วยมากเลยครับ เรื่องการ "ขึ้นหิ้ง" ...

งานวิจัยบ้านเราส่วนใหญ่(แต่ไม่ใช่ทั้งหมด)แล้วแบ่งออกเป็นสองประเภทอะครับ คือ (1) งานทฤษฎีที่ไม่ได้ใช้ กับ (2) งานที่อ้างว่าเป็นงานประยุกต์แต่ไม่ได้ใช้ 

 

สวัสดีค่ะ ขอแลกเปลี่ยนนะค่ะ

ปัจจุบันนี้มีการทำวิจัยโดยชาวบ้าน ที่เป็นชาวบ้านจริง ๆ หลายพื้นที่หลายชุมชนค่อย ๆเริ่มดำเนินการเพื่อการเรียนรู้ การวิจัยโดยชาวบ้าน เริ่มเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นว่าแท้จริงแล้วชาวบ้านที่ไม่ได้เรียนหนังสือ หรือเรียนมาน้อย ก็มีโอกาสได้ทำการวิจัยศึกษาเรียนรู้ชุมชนของตัวเอง และก็สามารถทำได้ เพราะที่ผ่านมานั้น ก็เหมือนกับที่ท่านได้กล่าวมาค่ะ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน งานวิจัยแต่ละชิ้นแต่ละเรื่องก็ยังตั้งอยู่บนหิ้ง ซึ่งถ้าหากจะกรุณาไม่เป็นการรบกวนจนเกินไป งานวิชาการเหล่านั้นควรที่ได้ แปลจาก" ภาษาราชการ "ให้เป็น " ภาษาชาวบ้าน " ที่เข้าใจง่ายแล้วคืนกลับสู่ชุมชน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง

ตอนนี้มีองค์กรฯ ที่ช่วยให้ชาวบ้านได้รู้จักตัวตนของตัวเองรู้จักประวัติศาสตร์ รู้ที่มาที่ไปของชุมชนมากขึ้น ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง(คนที่ทำงานชุมชนของตัวเอง/มีประสบการณ์มาก่อน)ให้กับชุมชน/หมู่บ้าน ชวนคุย คิด ทำ คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการ

วิจัย ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น (สกว.)ตั้งอยู่ที่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ขอบพระคุณทุกๆ ความเห็นนะครับ

   หลายๆ องค์กรคงอาจจะต้องร่วมกันช่วยย่อยครับ ในการจะพัฒนาครับ จริงๆ แล้วการทำวิจัยนั้น ไม่จำเป็นว่าต้องเรียน ป.โท เอก หรือเป็น ดร. หรือ มีตำแหน่งวิชาการเลยครับ ทุกคนก็ทำวิจัยได้ เพียงแต่จะระดับใดครับ งานวิจัยมีหลายๆ ระดับขึ้นกับว่าจะบูรณาการในระดับใด และแบบไหนที่ยั่งยืนและนำไปสู่การใช้งานได้ทั้งจริงรวดเร็วและจริงในอนาคตครับ

  บางระดับจำเป็นต้องเรียนรู้ก่อนถึงจะเกิดการวิจัยได้ เพราะต้องการความรู้พื้นฐานที่จะนำไปมองให้เห็นภาพรวมก่อนถึงจะต่อยอดและบ่มให้สุกได้ ไม่ได้ง่ายหรอกครับหากจะให้งานวิจัยมันใช้ได้จริงๆ และครอบคลุมทุกๆ บริบท

  หากเรามีการย่อยปัญหาวิจัยบ้านเราให้เป็นชิ้นเล็กๆ และให้ความสำคัญทั้งวิทย์และศิลป์ จริงๆ เราต้องถามว่าเมืองไทยเราให้ความสำคัญทางด้านไหนกันแน่ ระหว่างวิทย์และศิลป์หรือสังคม หรือว่าเราให้ความสำคัญเท่าๆ กัน หรือว่าอย่างไร แล้วการศึกษาเราเน้นอะไรกันครับ ระหว่างสมองและจิตใจ หากเราเน้นให้สมดุลหลายๆ อย่างจะนำไปสู่ความยั่งยืนร่วมกันในสังคมได้ไม่มากก็น้อย

ขอบพระคุณมากๆ เลยนะครับ สำหรับความเห็นดีๆ นะครับ แล้วผมจะมาแลกเปลี่ยนอีกในรายละเีอียดครับ

สวัสดีค่ คุณเม้ง

ไม่ได้ทักทายนานแสนนาน

สบายดีนะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท