หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองนกปีกกา : บทเรียนการสร้างการมีส่วนร่วมในงานพัฒนาชุมชนของ อบต. (ตอนที่ ๓ - จบ)


การมีส่วนร่วมของชาวบ้านก็ไม่ใช่ง่ายนะ จะให้ชาวบ้านคิดเองทำเอง บางทีดูเหมือนง่าย แต่ไม่ง่าย เพราะว่าเขาถูกสั่งให้ทำตามมาตลอด เวลาจะสั่งให้คิดเองมันก็คิดไม่ค่อยจะเป็น เวลาทำประชาคมหมู่บ้านระดมปัญหา หาทางแก้ไข ปรากฏว่าเป็นถนนไปหมดเลย เรื่องเด็ก เรื่องเยาวชน เรื่องการศึกษานี่ไม่สนใจเลย

จากบทเรียนสู่การปฏิบัติ :

การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กบ้านหนองนกปีกกา

     เย็นวันรุ่งขึ้น หลังจากตัวแทนชุมชนกลับจากการศึกษาดูงาน บริเวณใต้ถุนอาคารสถานีอนามัย ตัวแทนชุมชนที่ไปศึกษาดูงาน รวมทั้งปลัด อบต. ซึ่งไม่ได้เดินทางไปด้วยเนื่องจากติดราชการ ได้ประชุมสรุปบทเรียนร่วมกัน

     การพูดคุยกันครั้งนี้นอกจากจะเป็นการสรุปความรู้ที่ได้จากการศึกษาดูงานแล้ว ยังเป็นการหารือจัดทำข้อเสนอเพื่อการปรับปรุงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก นำเสนอต่อที่ประชุมชาวบ้านี่จะมาประชุมร่วมกันในคืนนี้ ต่อจากการประชุมสรุปของทีมศึกษาดูงาน

     สิ่งที่ทีมงานได้เรียนรู้ ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมสำหรับการนำมาปรับปรุงกรทำงานของชุมชน เช่น การเข้าไปช่วยสอนเด็กของผู้สูงอายุในศูนย์เด็กเล็ก, การระดมทุนเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการศูนย์เด็กเล็ก, การเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำอาหารกลางวันของผู้ปกครอง, การปรับปรุงสนามเด็กเล่นโดยใช้วัสดุและภูมิปัญญาพื้นบ้าน ฯลฯ ซึ่งที่ประชุมมีข้อเสนอหลายประการ ซึ่งหลังจากนำเสนอต่อที่ประชุมชุมชนแล้ว ก็ได้รับการตอบรับ/เห็นด้วย เช่น การเก็บเงินเพิ่มจากผู้ปกครองเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการทำงาน, การให้ผู้ปกครองหมุนเวียนมาจัดทำอาหารกลางวัน, การเชิญผู้สูงอายุมาช่วยสอนเด็ก, การปรับปรุงอาคารศูนย์เด็กเล็กและจัดทำสนามเด็กเล่น

     กิจกรรมแรกที่ชาวบ้านตกลงร่วมกันว่าจะดำเนินการคือ การปรับปรุงอาคารศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งตัวอาคารเดิมเป็นสถานีอนามัยหลังเก่า หลังจากสถานีอนามัยได้อาคารหลังใหม่ อาคารนี้ชุมชนจึงใช้เป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ใช้งานมานานหลายปี โดยไม่มีการปรับปรุง

     ชาวบ้านได้หมุนเวียนมาช่วยกันปรับปรุงอาคารกันอย่างแข็งขันอยู่ราว ๑ สัปดาห์ แต่ละวันมีชาวบ้านหมุนเวียนมาไม่น้อยกว่า ๒๐ คน วัสดุต่าง ๆ ส่วนหนึ่งเป็นงบประมาณเหลือจากการใช้อย่างประหยัดของโครงการคาวานเสริมสร้างเด็ก วัสดุบางอย่างจำพวกไม้ที่นำมาต่อเติมได้รับการบริจาคจากชาวบ้านคนละนิดละหน่อย บ้างก็บริจาคไม้ยืนต้นจำพวกไม้เนื้อแข็งที่อยู่ตามหัวไร่ปลายนา ในส่วน อบต.โป่งแดง ได้นำรถยนต์ของ อบต.เป็นพาหนะในการบรรทุกขนส่ง และซื้อหาวัสดุอุปกรณ์จากในเมือง

     นอกจากการปรับปรุงตัวอาคารซึ่งได้รื้อผนังกั้นห้องออก ต่อเติมออกมาจนเต็มพื้นที่ซึ่งทำให้มีพื้นที่ใช้งานเพิ่มมากขึ้นแล้ว เนื่องจากมีข้อตกลงว่าผู้ปกครองเด็กจะหมุนเวียนมาทำอาหารกลางวันเลี้ยงเด็ก แต่ศูนย์ฯ ยังไม่มีห้องครัวสำหรับประกอบอาหาร จึงได้ทำการต่อเติมห้องครัวด้านหลังอาคารด้วย ใช้เป็นที่ประกอบอาหารและเก็บวัสดุอุปกรณ์

     ในระหว่างการปรับปรุงอาคารศูนย์เด็กเล็ก ชาวบ้านจำนวนหนึ่ง ได้ช่วยกันจัดทำสนามเด็กเล่น ประกอบด้วยเครื่องเล่นต่าง ๆ เช่น ชิงช้า กระดานโยก บันไดเชือก ฯลฯ ซึ่งเครื่องเล่นแต่ละชนิดใช้วัสดุพื้นบ้านที่หาได้ในพื้นที่ ตามแบบที่ได้พบเห็นมาจากเชียงราย

     การทำสนามเด็กเล่นนี้ถือว่าเป็นงานหนัก เพราะพื้นที่ทำสนามเด็กเล่นเป็นที่ลุ่ม น้ำท่วมขัง จำเป็นต้องถมที่ให้สูงพอที่น้ำจะไม่ท่วมขัง ชาวบ้านที่มีรถอีแต๊ก (รถใช้ในการเกษตร) มาช่วยกันไปขุดดินลูกรังมาถมจนเต็มบริเวณหลายสิบเที่ยว

     หลังจากสิ้นสุดการปรับปรุงอาคาร ซึ่งได้อาคารที่ปรับปรุงใหม่ พื้นที่ใช้สอยกว้างขวางมีห้องครัวสำหรับประกอบอาหาร มีสนามเด็กเล่นที่มีเครื่องเล่นจากวัสดุและภูมิปัญญาพื้นบ้านแล้ว ชุมชนได้ร่วมกันทำบุญเปิดศูนย์เด็กเล็ก นิมนต์พระมาเจริญพระพุทธมนต์ เชิญแขกผู้ใหญ่ในจังหวัดมาเยี่ยมชมศูนย์ พร้อมกับการทอดผ้าป่าเพื่อระดมทุนในการพัฒนากิจกรรมของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต่อไป

     การพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก ไม่หยุดอยู่แค่เพียงการปรับปรุงอาคาร การก่อสร้างเท่านั้น แต่ยังได้ปรับปรุงการดำเนินงานของศูนย์เด็กเล็กอกหลายอย่าง เช่น

     -    มีการเก็บเงินจากผู้ปกครองเพิ่มจาก ๓๐ บาท เป็น ๕๐ บาท เพื่อนำเงินดังกล่าวมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็ก

     -    จากเดิมที่ศูนย์เด็กเล็กจ้างเหมาให้แม่ค้าภายนอกทำอาหารกลางวันมาส่งให้ ได้ยกเลิกวิธีการทำอาหารกลางวันดังกล่าว โดยให้ผู้ปกครองเด็กเล็กในศูนย์ฯ หมุนเวียนมาทำอาหารกลางวันวันละ ๒ คน ทุกวัน

     -    เชิญคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านหมุนเวียนมาทำกิจกรรมกับเด็ก ๆ เช่น เล่านิทาน ร้องเพลง ทำของเล่นให้เด็ก ๆ ในศูนย์ (กิจกรรมอุ้ยสอนหลาน)

     ในส่วนของ อบต.โป่งแดง ได้สนับสนุนอัตราผู้ดูแลเด็กให้กับศูนย์ฯ อีก ๑ อัตรา โดยใช้คนในชุมชน และส่งเสริมให้ผู้ดูแลเด็กไปศึกษาเพิ่มเติม มีการเตรียมแผนรองรับสำหรับการบรรจุผู้ดูแลเด็กเป็นพนักงานของ อบต. ซึ่งจะมีความมั่นคงในอาชีพมากขึ้น

        

บทบาท ของ อบต. กับผลงานของชุมชน

     นอกจากชุมชนจะได้อาคารศูนย์เด็กเล็กที่ปรับปรุงขึ้นมาใหม่ด้วยน้ำมือของชาวบ้านเอง มีห้องครัวสำหรับการประกอบอาคาร มีสนามเด็กเล่นที่มีเครื่องเล่นหลากหลาย มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของศูนย์ แล้วผลพลอยได้ประการสำคัญของชุมชนที่ได้จากการทำงานร่วมกันในครั้งนี้ คือความรู้สึกในการเป็นเจ้าของงานพัฒนา

     ความรู้สึกเป็นเจ้าของงานพัฒนา เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นในงานพัฒนา เพราะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

     และหากถามว่าความรู้สึกเป็นเจ้าของงานพัฒนาของชาวบ้านเกิดขึ้นได้อย่างไร คำตอบคงหนีไม่พ้นการแสดงบทบาทของ อบต.โป่งแดง ที่สามารถดึงเอาชาวบ้านกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในงานดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

     ...การพัฒนาต่าง ๆ ที่เอาไปให้ชาวบ้านไม่มีอันไหนยั่งยืนสักอัน ไปดูได้เลย โครงการต่าง ๆ อยู่ได้พักเดียวแล้วก็หายไป สักพักเดี๋ยวก็มีอันใหม่เข้ามา...

     ...งานพัฒนาถ้าชาวบานไม่มีส่วนร่วม มันล้มเหลวตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว...

     วันชัย กล่าวถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วม และกล่าวเพิ่มเติมว่าการทำงานที่เป็นแบบบนลงล่าง (Top - Down) แบบที่ราชการถือปฏิบัติมาตลอดนั้น ไม่เพียงทำลายการมีส่วนร่วมของชาวบ้านเท่านั้น แต่ได้ทำลายศักยภาพในการคิดของชาวบ้านด้วย

     ...คือการมีส่วนร่วมของชาวบ้านก็ไม่ใช่ง่ายนะ จะให้ชาวบ้านคิดเองทำเอง บางทีดูเหมือนง่าย แต่ไม่ง่าย เพราะว่าเขาถูกสั่งให้ทำตามมาตลอด เวลาจะสั่งให้คิดเองมันก็คิดไม่ค่อยจะเป็น เวลาทำประชาคมหมู่บ้านระดมปัญหา หาทางแก้ไข ปรากฏว่าเป็นถนนไปหมดเลย เรื่องเด็ก เรื่องเยาวชน เรื่องการศึกษานี่ไม่สนใจเลย...

     ในทัศนะของวันชัยนั้น การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนของหน่วยงาน มิใช่เพียงการให้ชุมชนเป็นฝ่ายคิดเองทำเอง แล้วหน่วยงานนั่งรอดูอยู่เฉย ๆ อย่างนั้นเรียกเป็นการทิ้งภาระ ไม่รับผิดชอบ แต่หมายถึงการทำงานแบบเคียงบ่าเคียงไหล่กับชาวบ้าน

    

     กล่าวโดยสรุปแล้วบทบาทในการสร้างการมีส่วนร่วมของ อบต.โป่งแดง สำหรับการดำเนินงานในคราวนี้ คือ

     -    การจัดเวทีเพื่อสำรวจสภาพปัญหา/วิเคราะห์ปัญหา สำหรับกลุ่มย่อยในชุมชน

     -    การจัดเวทีประชาคมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหา รวมทั้งการหาแนวทางในการแก้ปัญหา

     -    การจัดทำโครงการโดยใช้ข้อมูลจากเวที เพื่อขอนรับการสนับสนุนงบประมาณ

     -    การให้คำแนะนำสถานที่ศึกษาดูงานรวมทั้งการประสานงานสถานที่ศึกษาดูงาน

     -    การส่งเจ้าหน้าที่ไปอำนวยความสะดวกในระหว่างการศึกษาดูงาน

     -    การทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการกระตุ้นการเรียนรู้ในระหว่างการศึกษาดูงาน รวมทั้งการสรุปบทเรียนหลังจากการศึกษาดูงาน ฯลฯ

 

หมายเลขบันทึก: 294856เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2009 01:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 22:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

เห็นด้วยทั้งหมดที่กล่าวถึงครับ เพราะเดี๋ยวนี้ โครงการต่างๆ ชาวบ้านมีส่วนร่วมน้อยมาก กลายเป็นว่าชีวิตของ ป้าๆๆ น้าๆๆ อาๆๆ ลุงๆที่อยู่ในชนบท ถูกกำหนดวิถีชีวิต จากภาคราชการ ท้องถิ่น(บางที่) ทำในสิ่งที่เขาไม่ต้องการ เเต่สามารถทำให้ได้ถ้าราชการต้องการเเต่มักมีผลการดำเนินงานในเชิงตัวเลขมากกว่าคุณภาพครับ เอาละไปดูการ์ตูนกันดีกว่าครับ http://gotoknow.org/blog/yatsamer/294855

  การเข้าถึงชาวบ้าน ย่อมได้รับความร่วมมือค่ะ 

P สวัสดีครับ อาจารย์กู้เกียรติ ญาติเสมอ
เมื่อ อา. 06 ก.ย. 2552 @ 01:53

เข้าไปชมการ์ตูนมาแล้วครับ

ขอบคุณที่เข้ามาอ่านและให้ข้อคิดเห็นครับ

ผมคิดว่างานพัฒนาชุมชนสมัยนี้ไม่ว่ารัฐ NGO หยาบมากครับ

.....

P สวัสดีครับ ครูสุภาภรณ์

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียนครับ

ผมเข้าไปทำงานที่นี่ ไม่คิดว่าเราจะไปพัฒนาเขาครับ

เรามีความสามารถบางอย่างที่แบ่งปันให้ได้ ขฯเดียวกันเขาก็มีความสามารถ/ความรู้บางอย่าง

มันเติมเต็มกันครับ

สวัสดีค่ะ หนานเกียรติ

  • งานแบบนี้น่าสนใจค่ะ
  • คุ้มค่ากับเป็นคนของประเทศไทยนะคะ
  • พี่คิมตอบไว้ที่ไหนหรือ..แจ้งว่าเราเดินทางสวนกันแล้วนะคะ
  • ทางโน้นเขาเลื่อนงานเป็นปลายเดือนค่ะ
  • เลี้ยงแน่นอนถ้าเจอกัน..พิษณุโลกอาหารอร่อยค่ะ  โดยเฉพาะอาหารประเภทปลาแม่น้ำ
  • แต่พี่คิมชอบแบบลูกทุ่งนะคะ

บทความนี้หลายประเด็นเห็นเรื่องเล่า          ขอยกเอาประเด็นนี้มีปัญหา

ศูนย์เด็กเล็กหลายที่ที่เจอมา                     พัฒนาสิ่งก่อสร้างตั้งสำคัญ

แต่มองข้ามสาระดีที่ควรสร้าง                    ผู้นำทางครูดีที่สร้างสรรค์

พี่เลี้ยงเด็กแสนดีนี่สำคัญ                          หลายที่นั้นแค่รับจ้างสร้างตัวเอง

พี่เลี้ยงห่วยช่วยทำลายให้เด็กแย่               เหมือนพ่อแม่รังแกลูกถูกข่มเหง

ฝากดูหน่อยอย่าปล่อยผ่านหวั่นครื้นเครง    โขมงโฉงเฉงเกรงเด็กไทยไม่พัฒนา 

“...การพัฒนาต่าง ๆ ที่เอาไปให้ชาวบ้านไม่มีอันไหนยั่งยืนสักอัน ไปดูได้เลย โครงการต่าง ๆ อยู่ได้พักเดียวแล้วก็หายไป สักพักเดี๋ยวก็มีอันใหม่เข้ามา...

...งานพัฒนาถ้าชาวบานไม่มีส่วนร่วม มันล้มเหลวตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว...”

ตรงนี้แหละครับที่สำคัญ

ผมว่าแนวคิดดังกล่าว นำไปใช้ในการพัฒนาได้หลายๆเรื่องเลยนะครับ โดยเฉพาะวงการศึกษา

ขอบคุณครับ

P ครูคิม ครับ

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ

จะไปให้พี่คิมเลี้ยงข้าวแน่ ๆ ครับ

ผมไปอีสาน เริ่มจากบุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบล ขอนแก่น และจะผ่านพิษณุโลกไปอุตรดิตถ์ครับ

จะติดต่อพี่ได้อย่างไรครับ

สวัสดีครับ

ไม่มีรูป พี่วิโรจน์ พูลสุข

P ท่านรอง small man

ผมมีโอกาสกลับไปเยี่ยมที่นี่อีกหลายคร้ังครับ

ศูนย์เด็กเล็กนี้มีความเข้มแข็งมากครับ แม้กายภาพของสถานที่จะไม่สวยงามเหมือนที่อื่น แต่กิจกรรมในนั้นงดงามครับ

แต่ละวันผู้ปกครองจะหมุนเวียนกันไปทำอาหารกลางวันให้เด็ก การเข้าไปมีส่วนร่วมของผู้ปกครองนี้ยังเป็นการสอดส่อง กำกับการทำงานของครูศูนย์ฯ ด้วย เรียกว่าไม่ปัดภาระการดูแลลูกหลานให้ศูนย์ฯ ทั้งหมด

นอกจากผู้ปกครองแล้ว คนเฒ่าคนแก่ในชุมชน ก็ยังหมุนเวียนมาทำกิจกรรมกับเด็ก ๆ ด้วย เช่น มาเล่านิทาน มาทำของเล่น

ชาวบ้านในชุมชนจะนัดกันเดือนละคร้ังเพื่อมาปรับปรุงสถานที่ ซ่อมแซมเครื่องเล่นให้เด็ก

กลับไปดู น่าชื่นใจมากครับ

 

ทุกอย่างกำลังท่วมชุมชน โดยชุมชนไม่ได้ต้องการเลย คนที่เอาทุกอย่างไปไว้ที่ชุมชน โดยไม่ถามชาวบ้านก็เท่ากับเอาขยะไปวางไว้เป็นอนุสรณ์สถาน หากเป็นสิ่งที่ชาวบ้านต้องการ ของจะถูกใช้มันอย่างคุ้มที่สุด

แค่อยากบอกว่า ชาวบ้านไม่โง่ นะคะ

P สวัสดีครับ คุณ ส.ศรัณ

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ

ผมเคยร่วมงานกับ ปปส. อยู่พักนึงครับ

สมัยคุณภิญโญ เป็นรองเลขาฯ

ยินดีที่ได้รู้จักครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท