ชายหนุ่มผู้พ้น "คุก..."


ตั้งแต่ช่วงบ่าย ตอนนั้นที่ยังดูวุ่น ๆ ก็ได้เปิดโทรศัพท์เข้ามาอ่านบันทึก จดหมายจากใจถึงใจ ของท่าน Ka-Poom แล้วก็คิดในใจว่า ทำไมเด็กเหล่านี้จึงคิดเหมือนว่าตนเองกำลังจะพ้นจาก "คุก..."

แต่ตอนนั้นยังไม่มีโอกาสที่จะกลับมานั่งตอบให้เป็นเรื่องไปราว แล้วก็เหมือน "ธรรมะจัดสรร" ให้เดินไปพบชายหนุ่มอีกคนหนึ่งที่มีลักษณะและอาการเดียวกันอยู่แถว ๆ นี้ จึงขอโอกาสเชื่อมโยงเพื่อตอบและตั้งประเด็น "ชายหนุ่มผู้พ้นคุก" เข้าด้วยกัน เรื่องราวต่าง ๆ จะขอโอกาสพรรณนา ผ่านสายตาให้ได้ชม...


 

เมื่อสักครู่ตอนที่เดินออกไปหา "ชายผู้รู้เดียงสา" ให้มาเป็นเพื่อนฟังการสนทนาเรื่องงานกฐินวันพรุ่งนี้นั้น
ชายหนุ่มคนนั้น "ดูร้อกแร้ก" แววตาเขาเหมือนจะร้องไห้ ยืนไปก็หันรี หันขวาง มองซ้าย มองขวาไป ก็ด้วยเพราะใกล้วันที่เขาได้กลับบ้าน...

ประเด็นที่เหมือนและแตกต่างกับชายหนุ่มทั้งหลายที่ท่านได้กล่าวถึงในบันทึกนี้มีอยู่ว่า
ชายหนุ่มคนนี้เขามาอยู่ที่นี่นับได้ก็ประมาณ ๔ เดือนแล้ว (ก่อนเข้าพรรษา)
ตอนแรกก็ไม่ได้รู้จัก ไม่ได้พูด ไม่ได้คุยอะไรกับเขาหรอก ได้เริ่มมาสนใจก็เพราะด้วยช่างเขามาบอกว่าเมื่อตะกี๊มี "ชายหนุ่ม" คนนี้มาขอยืมโทรศัพท์...

เราก็เริ่มจะ "เอะใจ" ว่า เอ๊... เขามีห่วงอะไรนะที่ทางบ้าน
แต่เราก็ไม่รู้หรอก ก็ได้แต่คิดว่าน่าจะเป็นเรื่อง "เพศตรงข้าม" เพราะตอนนี้เขาเหมือนถูกทางบ้านส่งเข้าโรงเรียน "ดัดสันดาน" มันยากที่จะตัดเยื่อ ตัดใย

แต่เขาก็อดทนนะ เขาขยันขันแข็ง ช่วยเหลือกิจการงานต่าง ๆ ของที่นี่ได้อย่างดียิ่ง
แต่พอมาเริ่มช่วงท้าย ๆ ตอน "ออกพรรษา" ที่ใกล้กำหนดเข้ากลับบ้าน ดูเขายิ้มแย้มอย่างมีความหวัง

แต่ทว่า... เขาก็ถูก "บังคับ" ให้อยู่ต่อ ให้อยู่ถึงงานวัน "กฐิน"
และคืนนี้ก็เป็นคืนเตรียมงานกฐิน พรุ่งนี้ก็เป็นงานวันกฐิน พรุ่งนี้เขาก็จะได้กลับบ้านแล้วล่ะสิ

ประเด็นที่น่าสนใจของเขาทั้งสองคือ ชายหนุ่มของเรา กับหนุ่ม ๆ ที่วัดหนองไคร้นั้น ทำไมเขาจึง "ดีใจ" เมื่อได้กลับบ้าน ซึ่งนั่นก็แสดงว่า การได้อยู่ที่นี่นั้นเขา "ทุกข์ใจ..."

การที่เด็กไม่เขียนว่า "ไม่อยากกลับบ้านเลย อยากอยู่ที่นี่ ไม่อยากไป ไม่อยากไป" เหมือนเด็กน้อย ๆ ที่อยากเล่นกับเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนเมื่อครั้งสมัยเรียนอนุบาลที่เด็ก ๆ อยากอยู่กับเพื่อน ๆ แล้วไม่กลับบ้านประเด็นนี้เป็นจุดสำคัญทางด้าน "จิตวิทยา..."

การที่เขามาอยู่ที่นี่เขาคิดว่า "ติดคุก" เหรอ...?
ประเด็นนี้น่าคิด
น่าคิดเพราะว่า สิ่งที่เราคิดว่าดี สิ่งที่ทางบ้านคิดว่าดี แล้วส่งเขามาอยู่ในสถานที่ดี ๆ แต่ความคิดเขามีแค่ "การติดคุก"

คุกทางใจนี้สำคัญนะ
คุกที่ขังกายที่ใดเล่าจะทุกข์เท่าคุกที่ "ขังใจ"

ชายหนุ่มที่นี่แววตาเขามองเหม่อหาใครคนหนึ่ง ใครคนนั้นที่เขาเคยมาขอยืมโทรศัพท์ช่างของเราแล้วโทรไปหา ใครคนนั้นคงจะใกล้วันที่เขาจะได้พบกันแล้ว
สายตาของเขามองเหม่อ หันซ้าย หันขวา เมื่อไหร่หนา เขาจะมา เขาจะมา...!!!

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าคิดหลังจากที่พบการเวียนว่ายตายเกิดในสมณเพศนี้ก็คือ
บุคคลใดที่มีพฤติกรรมแบบนี้ เมื่อได้ออกจากวัดไปแล้ว เขาแทบจะไม่กลับมาเหยียบวัดอีกเลย...

จิตใจเขาเปรียบเสมือน "นกที่อยู่ในกรงทอง"
เมื่อถึงที่ ถึงเวลา เขาได้บินกลับเข้าไปสู่ป่าใหญ่ ป่าที่ใครต่อใครบอกว่าเต็มไปด้วยอันตรายต่าง ๆ นานาไม่ว่าจะเป็นสิงสาลาสัตว์หรือ "มนุษย์" แต่เชื่อไหมว่า เขาก็พร้อมที่จะเต็มใจไปอยู่ที่นั่นแล้วไม่คิดจะหันกลับเข้ามาอยู่ในกรงทอง...

หรือถึงแม้นคนที่รักวัด รักหนัก รักหนา สัญญาแล้วว่าจะกลับมา กลับมา และกลับมา ก็แทบจะไม่เคยโผล่หน้ามาให้เห็น...

ชีวิตในคุก เมื่อยังต้องมีกำหนดอยู่ในคุก อะไร ๆ ก็ว่าคุกนั้นดี
แต่ทว่าเมื่อครบกำหนดเวลาที่เขาหรือใครขีดเส้นไว้ให้อยู่ในคุกนั้น เมื่อหมดเวลาแล้ว ใครก็ไม่อยากย้อนกลับมาอยู่ในคุกแห่งนี้อีก

ประเด็นนั้นมันอยู่ที่ "ผู้คุมนักโทษ"
ที่เราเล่าให้ฟังนี้มีสองประเด็น
ประเด็นหนึ่ง อยู่กับผู้คุมธรรมดา ๆ ก็คือ "เจ้าอาวาส" ทั่ว ๆ ไป
ขอยกตัวอย่างให้เห็นได้อย่างเด่นชัดอีกนิดหนึ่ง
คือ คนที่เก่ง ๆ เขามักใช้ "ความรู" และทฤษฎีในการปกครองคน
การใช้เทคนิคที่ว่า อยากให้เขาอยู่ที่ดี ๆ นาน ๆ นี้ อย่างเช่น เมื่อออกพรรษาแล้วก็หาวิธีการให้เขาอยู่ถึงกฐิน เพื่ออยากให้เขาอยู่วัดนาน ๆ ถ้ามองเผิน ๆ แล้วดีไหม "ดีนะ" แต่ทว่า ดีสมกับ "จริต" ของคน ๆ นั้นหรือไม่...?

การที่บังคับเขาอยู่อีกสองอาทิตย์หรือสามอาทิตย์ กับทำให้เขาผิดหวังและสร้างพลังต่อต้านที่จะไม่เข้ามาให้ถูกบีบ ถูกบังคับในที่นี้อีกตลอดชีวิตเป็นประเด็นที่น่าคิดหรือไม่...?

แต่ในทางกลับกัน ลองคิดดูง่าย ๆ ว่า ทำไมเราถึงไปวังน้ำเขียว ทำไมเราถึงไป เราถึงไป เราถึงไป ว่างก็ไป ไม่ว่างก็ไป อยู่ดี ๆ ก็ขับรถไปซะอย่างนั้น ต้องลองถอดบทเรียนออกมาให้รู้ว่า "พลังแห่งปัญญา" ของพระอริยเจ้านั้นเป็นอย่างไร...?

การใช้ความรู้จากหัวสมองในการหลอกล่อจิตใจคนนั้นจะได้ผลลบมากกว่าบวก
ความ "สบาย ๆ" ที่จะมาหรือจะไป ดีหรือแย่มากน้อยกว่าการใช้กฎเกณฑ์หลอกล่อให้ใครเขาทำอะไรหรือไม่ทำอะไร สิ่งเหล่านี้ผลออกมาได้เป็นอย่างไรต้องขบคิดกัน...?

อยู่ที่นี่จะเห็นใครไป ใครมาเยอะ
คนอยู่นาน อยู่น้อย บวชนาน บวชน้อย ยังอยู่ก็ดี สึกไปก็มาก จะได้เห็นวัฏจักรว่าใครกลับมา แล้วใครหายไป...?
เมื่อฉุกคิด เราก็พยายามสืบค้นบทเรียนชีวิตของเขาที่เขาได้มาอยู่ที่นี่ เขาอยู่อย่างไร อยู่กับใคร มีอะไรเป็นเครื่องกดดันใจเขาหรือใจเรา...?

ยกตัวอย่างให้ใกล้ขึ้นอีกนิด
อย่างเช่นเรามาอยู่ที่นี่ มาสร้างเมรุฯ หลังนี้ เมื่อเมรุฯนี้เสร็จแล้ว อย่าหวังเลยว่าถ้าไม่ถูกสั่งให้มา เราก็จะไม่มาเหยียบที่นี่อีก
เพราะอะไรเหรอ...?
เพราะผู้มีอำนาจที่นี่เขาบอกครองด้วยความรู้ ความรู้ที่คิดว่าเขารู้ เทคนิคที่เขาคิดว่าเขาดี แต่เขาไม่ดู "จริต" คนว่าควรจะใช้ให้เหมาะ ให้สมกับใครอย่างไร...?

แตกต่างกับวันนี้ที่ท่านอาจารย์มา
ท่านแทบไม่ได้คุยอะไรกับเราสักคำ ท่านมองหน้าแล้วก็พยักหน้าให้ ก็แค่นั้น
ไม่เหมือนกับคนแถวนี้ ถามโน่น ถามนี่ สั่งโน่น สั่งนี่ แค่เห็นหน้าก็ "รำคาญ" แล้ว...?

การดูแลจิตใจคนต้องยกให้ท่าน
ท่านรู้จริตเรา ท่านรู้ว่าเวลานี้ควรทำกับเราอย่างไร และทำอย่างไรเราถึงจะอยู่อย่างเป็นสุข
จะอยู่หรือไม่เราเชื่อมั่นได้ว่า "ท่านไม่ว่า"
แต่ถ้าอยู่ก็ดี หรือถ้าจะไป ก็ขออย่าให้ "เกลียด" ที่นี่จนเข้ากระดูกดำ

อคติเมื่อคนเราถูกบังคับนั้นถ้าเกิดขึ้นในใจแล้ว ถ้าไม่แก้ให้ดี ชีวิตนี้จะมองหน้ากันยาก
ประเด็นเหล่านี้ เป็นโอกาสดีที่เราเฝ้าศึกษา
เวลานี้เรามีโอกาสได้ทั้งอยู่วงนอก อยู่วงใน พบเห็นใครต่อใครวนเวียนผ่านเข้ามา
ใครจะไป ใครจะมา ใครจะอยู่ อยู่อย่างสุข ใครจะไป ไปอย่างทุกข์ ต้องรู้จุด รู้จริต รู้เท่าทัน...

หมายเลขบันทึก: 307841เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2009 20:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ก็เป็นโจทย์ที่น่าคิด และต้องลองเก็บสถิติมาวิเคราะห์...

ต้องลองวิเคราะห์กันในสองด้าน

เด็กที่ไปอยู่ที่นั่น ต้นเขาไม่ดีมา เขามาอยู่ในสถานะที่ใคร ๆ (คนรอบข้าง) ก็รู้ว่าเขาไม่ดี การมาอยู่โดยถูกคนรอบข้างมองด้วยสายตาแบบนี้ เขารู้สึกอย่างไร เมื่อออกไป พ้นไป เขาจะกลับมาไหม กลับมาเท่าไหร่ กลับมาด้วยเหตุผลอย่างไร "น่าคิด "น่าคิด...?"

แล้วลองเปรียบเทียบกับที่นี่

เด็กที่นี่ มาถูกสมมติตนขึ้นเป็น "สมมติสงฆ์" นี่ ใคร ๆ ก็รัก ใคร ๆ ก็เทิดทูน เมื่อก่อนก็ไม่รู้ว่าเขาดีหรือไม่ดี แต่ได้มาห่มผ้ากาสาวพัตร์แล้ว ใคร ๆ ก็ว่าเขาดี ตอนเช้ายังต้องไหว้พ่อ ตอนบ่ายแม่ยังต้องมากราบเขา...

แต่สิ่งสำคัญ รูปแบบการฝึกฝน ข้อวัตร ข้อปฏิบัติที่เหมือนกันแต่แตกต่างกัน "สถานะ"

คนไม่ดีคนหนึ่งมาอยู่วัดในฐานะคนไม่ดีคนหนึ่ง กับคนไม่ดีหรืออาจจะดีคนหนึ่งมาอยู่วัดก็ถูกเทิดทูนให้เป็นคนดีคนหนึ่ง อะไรที่จะส่งผลย้อนกลับหรือผลลัพธ์แตกต่างกันอย่างไร...?

แต่ขอบอกล่วงหน้าคราว ๆ ว่า ไอ้อย่างหลังนี่น่ะ "แย่กว่า...?"

เพราะคนไม่ดีถูกกราบ ถูกไหว้ ก็เลยหลงตนว่าเป็นคนดี คนประเสริฐ พวกนี้ "หลงดี" การหลงดีนี่แก้ยากกว่าหลงชั่ว...!

ส่วนคนที่รู้ว่าตัวเองชั่ว รู้ว่าตัวเองไม่ดี เข้ามาอยู่ในโรงเรียน "ดัดสันดาน" ก็พยายามยกตน มี "แรงดีด" ที่จะแก้ไขตนให้คนในสังคม "ยอมรับ..."

แต่คนที่ไม่ได้แก้ไขตนอะไรเลย แค่มาโกนหัวและห่มผ้าเหลือง คนก็ยอมรับ คนเขาก็กราบไหว้ คนที่ถูกโลกธรรมครอบงำ ถูก "สมมติครอบงำ" แบบนี้ น่ากลัว น่ากลัว...

ก็เหมือนกับ "นักธุรกิจการเมือง" ที่เมื่อก่อนตอนหาเสียงยกมือไหว้เรา แต่พอได้เข้าไปในสภาฯ เราต้องแทบคลานเข่าเขาไปหาท่านฯ พวกนี้ถูกสมมติตนให้อยู่ในตำแหน่งที่ดี...

คนชั่วก็ดีได้เพราะสังคมยอมรับ

ยอมรับในตำแหน่ง ยอมรับในอำนาจ ยอมรับใน "เงิน..."

สมมติสงฆ์นี้ก็เหมือนกัน

จะชั่ว จะเลว จะร้ายขนาดไหน ห่มผ้าเหลืองแล้ว ใคร ๆ ก็กราบ ใคร ๆ ก็ไหว้

คนบางคนก็ติด

โอ้ "สบาย" ชี้นิ้วสั่งใครต่อใครได้ สั่งให้เขาทำงานแล้ว เขายังมากราบ มาไหว้เราอีกต่างหาก

คนเลวในคราบพระสงฆ์ก็เลยชอบ เฮ้ย อาชีพนี้สบายว่ะ มีอยู่ มีกิน มีลาภ มียศ มีคนกราบ คนไหว้

คนที่ไม่ต้องพยายามทำอะไรเลย ไม่ต้องแก้ไข ปรับปรุงตัวอะไรมากนัก

กับอีกคนหนึ่งเด็ก ๆ ที่วัดหนองไคร้ ต้องพิสูจน์ตนเองอย่างมาก พิสูจน์ตนเองต่อสายตาใครต่อใครที่บอกเขาว่า พวกนี้เป็น "เด็กมีปัญหา" พวกเด็กติดยา

เขามาอยู่ในฐานะ "ผู้ด้อย" ด้อยกว่าพระ ด้อยกว่าญาติกว่าโยม

แรงดีดในจิตที่เขาเจอแบบนี้ต่างกับ "สมมติสงฆ์" ที่ไม่มีแรงดีดอะไรเลย ทำตัวชั่วคนก็ยังกราบ

แต่เด็กที่เข้ามาบำบัด ฟื้นฟู ทำดีคนก็ยังด่า ยังมองว่า "เคย" เป็นคนชั่วอยู่ดี...?

ถ้าให้เราเลือก เราขอตั้งจิตไว้เป็น "เด็กติดยา" ดีกว่า...?

เพราะแรงดีดที่ถูกคนดูถูก ดูแคลน คอยจับความผิดนั้น เป็นสิ่งที่ประเสริฐนัก

เพราะเราจะต้องสำรวจ ตรวจตราตนเองอยู่ตลอด ไม่ให้มีช่องโหว่ ช่องว่าง เพื่อที่พิสูจน์ตนเองให้เขารู้ได้ว่า "เราดีได้แล้ว.."

แตกต่างกับคนที่หลงว่าตนเองเป็นพระ เป็น "สงฆ์"

จะทำอะไรตามใจไปเรื่อย ทำอะไรผิดก็มี "ผ้าเหลือง" คุ้มหัวอยู่

ทำอะไรผิดก็ผิดไปเรื่อย แก้ไขก็ได้ ไม่แก้ไขก็ได้

การปล่อยปะละเลยต่อความผิด การปกปิดความชั่วแบบนี้ ทำให้ชีวิตนั้นแย่ลง แย่ลง

การปล่อยปะละเลยต่อความชั่ว กับคนที่สำรวจความชั่วอย่างไม่ปล่อยปะละเลย "พัฒนาการ" ของคนสองคนนั้น "ต่างกัน..."

ท่านถึงว่าไว้ว่า คนที่จะเป็น "พระ" นั้น อยู่ที่ใจ "ใจเป็นสำคัญ"

ใจที่จะไม่ประมาทในความเลว ความชั่วที่จะเกิดขึ้นแม้นเพียงเล็กน้อย

ใจที่คอยหมั่นสำรวจตรวจตราตนเองอยู่เสมอ ว่าเรายังมีอะไรบกพร่องนะ เราผิดอะไรนะ...?

คนที่ปรับปรุงและพัฒนาตนเองอยู่ในทุกอย่างก้าว จึงเป็นคนดีที่แท้

คนที่รู้จักอุดรอยรั่วของ "โอ่ง" ก็คือคนที่รู้จักอุดรอยความผิดของชีวิต

การสร้าง "จิตสำนึก" เช่นนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นประเด็นที่น่าคิดและนำมาพิจารณาในทุก ๆ ลมหายใจของ "ชีวิต..."

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท