รู้จักพ่อคำเดื่องกันอีกหน่อยดีไหม๊


 

 

รู้จักพ่อคำเดื่องกันอีกหน่อยดีไหม๊

 

 

     แม้ว่าพ่อคำเดื่องจะมีชื่อเสียงกระเดื่องเลื่องลือดังที่ปรากฏอยู่นี้ก็ตามที  ผมเองก็ไม่ได้รู้จักพ่อคำเดื่องมากมายเท่าไร  ก็เลยโมเมเอาว่าก็คงมีพวกเราอีกมากมายที่รู้จักพ่อคำเดืองพอ ๆกับผม  เนื่องจากรู้สึกว่ารู้จักพ่อคำเดื่องน้อยเลยลองเสาะหาแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม โดยเฉพาะที่มีคนเอาขึ้นเว็บไว้  เห็นว่าเป็นประโยชน์ผมเลยเอามาบันทึกไว้เผื่อท่านที่สนใจไม่ต้องเสียเวลาไปหาเอง

แหล่งแรกเป็น vdo ที่เสนอให้เห็นความคิดและการทำเกษตรกรรมแบบธรรมชาติของท่าน

 

 

                          

 

         อีกแหล่งหนึ่งเป็นบทความที่มีเนื้อหาเหมือนที่ท่านบรรยายให้ฟังเมื่อวันที่  5  พย. ซึ่งผมคิดว่ามันสะท้อนกระบวนทัศน์ที่มีคุณค่าต่อคนไทยทุกคน โดยเฉพาะเกษตรกรระดับรากหญ้าอย่างเรา ๆท่าน ๆ ผมจึงเอามาเก็บไว้ในบันทึกนี้ด้วย

 

 

คำเดื่อง ภาษี : จากฟางเส้นเดียวสู่โรงเรียนชุมชนอีสาน 

 

          คำเดื่อง ภาษี ก็เป็นเหมือนเช่นเกษตรกรอีกนับล้านทั่วประเทศ ที่เติบโตมาในช่วงของการปฏิวัติเขียว ในยุคสมัยของการใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคน ยุคของพืชเศรษฐกิจที่เน้นการผลิตเพื่อขาย และยุคที่ทุกสิ่งทุกอย่างแลกเปลี่ยนกันด้วยเงินตรา

          ในวัยเด็ก แผ่นดินอีสานที่เขาเกิดและเติบโตขึ้นที่อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์นั้น ใช่จะแห้งแล้งร้อนอย่างที่หลายคนนึกเห็นภาพ แต่คำเดื่องกล่าวว่าก็เพราะคนรุ่นเขานี่แหละ ที่ทำให้อีสานแห้งแล้งขึ้นมาจากการปลูกพืชเศรษฐกิจแบบแห่ตามกัน อันทำให้ป่าไม้ถูกทำลายลงเป็นจำนวนมากด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

          "ก็ตั้งแต่สมัยเริ่มต้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ.2514 นั่นแหละที่ผมหันมาทำพืชเชิงเดี่ยว ปลูกปอ ตอนนั้นปอราคาดีมาก ข้าวก็ราคาดี นุ่นก็ราคาดี ปุ๋ยไม่ต้องใส่เพราะดินอุดมสมบูรณ์มาก ปลูกอะไรก็ได้ผลผลิตดี ราคาดี พอทำแล้วราคามันดีก็หวังรวย เลยบุกป่าถางป่าทำเพิ่มเป็น 100-200 ไร่"

          แต่ใช่เพียงคำเดื่องเท่านั้นที่คิดแบบนี้ ชาวนาอีกจำนวนมากพากันละทิ้งวิถีเกษตรแบบเดิม หันมาปลูกปอกันเป็นทิวแถว เมื่อผลผลิตออกมามากพืชที่เคยราคาดีก็ตกต่ำจนไม่มีราคา

          "ปี พ.ศ.2509 ปอราคาตกจาก 5 บาท ลงไปเหลือ 50 สตางค์ ไร่ปอที่ผมถากถางป่าขยายออกไปถึง 200 ไร่ เพราะคิดว่ามันจะรวย ก็มาเจ๊งเอาตอนนั้น"

           ช่วงเวลาที่ปอยังราคาดีอยู่ คำเดื่องกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ก้อนแรก 37,000 บาท เพื่อนำไปขยายงานในการทำไร่ปอ เมื่อผลผลิตราคาตกประสบปัญหาขาดทุน คำเดื่องก็หันไปปลูกพืชชนิดอื่น ปลูกอ้อยบ้าง มันสำปะหลังบ้าง แล้วก็เริ่มกู้สะสมไปเรื่อยๆ จนท้ายที่สุดเขาก็มีหนี้สินก้อนใหญ่ถึง 90,000 บาท โดยไม่รู้ตัว

            หนี้สินที่แม้จะตัดดอกไปทุกปีอย่างไรก็ยังคงเหลือเงินต้นเท่าเดิม ผลผลิตก็ตกต่ำลงทุกวัน ทำให้คำเดื่องมองไม่เห็นอนาคตว่าจะมีทางปลดหนี้ลงได้อย่างไร ทุกข์ที่ทับถมขึ้นมาทุกขณะจากภาวะหนี้สิน จากการทำงานหนักแต่ก็ยังมิวายประสบปัญหาขาดทุน ทำให้ท้ายที่สุดคำเดื่องต้องหันเข้าหาอบายมุข "มันไม่มีทางออกจริงๆ ก็ไปคบเพื่อน ไปติดเหล้า ไม่มีเงินก็ไปเซ็นไว้ก่อน หนักเข้าก็หลายสิ่งหลายอย่าง ติดบุหรี่ แล้วทีนี้มันไม่อยากเข้าบ้านแล้ว มันไม่มีความสุข ทุกข์ไปหมด"

           คำเดื่องจมอยู่ในความทุกข์นานนับปี จนแม้น้องสาวที่บวชชีอยู่ที่สำนักวิปัสสนาแห่งหนึ่งพยายามเตือนสติว่า การแก้ปัญหาด้วยการหันไปเสพสุราและติดบุหรี่เช่นนี้ มิใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และพยายามแนะนำให้เขาใช้หลักพุทธศาสนาเข้ามาแก้ไขปัญหาชีวิต แต่คำเดื่องกล่าวว่าสติของเขาตอนนั้น "เหมือนรถที่ยังไม่เสียบกุญแจ สตาร์ทเท่าไรก็ไม่ติด"

            บัวที่ปริ่มน้ำอย่างคำเดื่องเวลานั้น เฝ้าคอยวันที่จะชูช่อขึ้นมาพ้นน้ำ แต่ก็ไร้เรี่ยวแรงที่จะพาตัวเองให้หลุดพ้นจากปรักโคลนแห่งความหลงผิด จนกระทั่งวันหนึ่งหลังจากต่อสู้กับการเลิกบุหรี่มานาน คำเดื่องก็พบทางที่ทำให้เข้าใจชีวิตได้อย่างถ่องแท้ "ระหว่างที่พยายามต่อสู้เพื่อจะเลิกบุหรี่ มันจะเหมือนมีเสียงสองเสียงในตัวที่มาเถียงกัน เสียงหนึ่งจะห้ามเสียงหนึ่งจะยุ เสียงหนึ่งจะเอาน่าสูบหน่อย อีกเสียงจะเสียใจว่า ทำไม? เมื่อกี้เราเพิ่มทิ้งไปทำไมเราสูบอีก เป็นอย่างนี้นานหลายเดือน แต่ก็ยังเลิกไม่ได้

            จนวันหนึ่งผมก็ไปเกี่ยวข้าว ตัดรวงข้าวตัดเพลิน มือคีบบุหรี่อยู่ก็ไหม้มาถึงก้น แล้วลามไปไหม้ฟาง พอไฟลุกโพลงขึ้นตรงหน้ามันทำอะไรไม่ทัน ก็ต้องเอามือไปดับไฟเพราะมันเป็นข้าว เราจะปล่อยให้ไหม้ไม่ได้ ไฟก็ดับ ทีนี้คำว่าทุกข์ที่เราเคยติดกับมันมานานมันปิ๊งขึ้นมาตรงนั้นเลย มันเหมือนกุญแจไปเสียบสตาร์ทรถ เหมือนเรากรอหนังกลับ กรอตั้งแต่วันแรกที่เราไปติดมัน พ่อเราใช้ให้เราไปต่อบุหรี่ ภาพแรกที่เราไปสูบบุหรี่ มาถึงตอนที่เราไปสูบบุหรี่ขึ้นรถแล้วคนก็ว่าเราว่า ลุงๆ ทิ้งหน่อยได้มั้ยลูกฉันไอ มันฉายกลับมาให้เห็นทีละภาพ ทีนี้ผมก็แค้นว่าที่ผ่านมามันทำให้เราไปติดมัน ผมก็เอาบุหรี่มาขยี้ เอาเท้าเหยียบ หลังจากนั้นใจมันถอดเลย"

            เหตุการณ์ครั้งนี้สำหรับใครบางคนมันอาจเป็นแค่ "ความบังเอิญ" แต่สำหรับคำเดื่องมันคือ "จังหวะ" และ "เวลา" ที่เดินมาพบกัน ณ จุดหนึ่ง และนั่นทำให้เขาเข้าใจถึงหลักพุทธศาสนาขึ้นมาได้อย่างถ่องแท้ ทำให้เขาเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาชีวิตด้วยการย้อนกลับไปมองอดีต กลับไปมองดูเหตุแห่งความผิดพลาดของตนเองตั้งแต่เริ่มต้น คำเดื่องได้นำวิธีนี้มาใช้กับอาชีพของเขา เริ่มลดปริมาณการใช้ปุ๋ย เพราะมองเห็นแล้วว่าปุ๋ยเคมีนั้นไม่ได้ก่อประโยชน์ต่อพืชแต่อย่างใด ถ้าหากดินเสื่อมสภาพไปหมดแล้ว จากอ้อย 200 ไร่ที่เคยถากถางป่าทำ ณ เวลานั้น แม้เมื่อลดปริมาณการใช้ปุ๋ยลงเท่าตัวก็ยังได้ผลผลิตเท่าเดิม คำเดื่องจึงนำเงินค่าปุ๋ยที่ลดลงได้คราวละนับหมื่นไปตัดหนี้ ค่อยๆ ใช้หนี้สินไปพร้อมๆ กับหันมาประหยัดค่าใช้จ่ายในครอบครัว หันมาปฏิบัติธรรม กินอาหารมังสวิรัต และดำเนินชีวิตอย่างสมถะ ท้ายที่สุดคำเดื่องก็ปลดหนี้ลงได้

           ในเวลาเดียวกันกับที่ปลดหนี้สินลงได้ ที่ดินที่เขาเคยถากถางทำไร่ปอไร่อ้อยก็ได้รับการประกาศให้เป็นป่าสงวน คำเดื่องจึงหันกลับมาทำนาบนที่ดินที่เคยทอดทิ้งไป การละจากพืชเศรษฐกิจหันกลับมาสู่การทำนาแบบเดิม เป็นจุดพลิกผันที่ทำให้เขาได้ค้นพบและเรียนรู้ถึงพลังมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ความมหัศจรรย์อันมีเคล็ดลับอยู่ที่ "ฟางเส้นเดียว"

           "ตอนนั้นใกล้ๆ แปลงนาก็ปลูกพริกแล้วเอาฟางไปคลุม เพราะสังเกตจากเพื่อนที่เขาปลูกกระเทียมแล้วเอาฟางไปคลุม มันจะไม่แห้งเร็ว ทีนี้ฟางจากนาข้าวที่เราเอาไปคลุมต้นพริก มันมักจะมีเมล็ดข้าวที่เวลาเราเกี่ยวแล้วมันหล่นติดไปด้วย มันก็งอกขึ้นมาเราก็จะต้องถอนออกทุกครั้ง แต่มีอยู่ต้นหนึ่งที่พริกมันตายก็เลยไม่ต้องถอนต้นข้าว พอหลังสิ้นปีเราไปเกี่ยวข้าว ก็ไปเห็นข้าวที่งอกออกจากกอต้นพริกต้นนั้น ก็สงสัยว่า เอ! ทำไมข้าวเม็ดเดียวที่ร่วงลงไปมันออกมาตั้ง 20 กว่ารวง แล้วลักษณะทรงต้นก็แข็งแรง แต่ไอ้ที่เราปักดำมันได้น้อยรวงกว่า รวงก็เล็ก ก็เลยเกิดความคิดว่าทำอย่างไรเราจะทำต้นข้าวอย่างนี้ได้ น้ำก็ไม่ต้องการมาก พอคิดอย่างนี้ก็เลยตั้งคำถามว่า เพราะอะไรข้าวมันถึงงาม ก็คิดออกได้ทันทีเลยว่านั่นเป็นเพราะข้าวต้นนี้ไม่ได้ถูกตัดราก ไม่เหมือนเวลาที่ปักดำเราถอนรากออกมา รากมันจะขาด อันที่สองเวลาเราปักดำมันจะชะลอตัวมันต้องมาปรับตัวใหม่ อันที่สามต้นข้าวต้นนี้โตขึ้นบนบก มันมีฟางคลุม ความชื้นมันพอดีกับข้าว ก็แสดงว่าข้าวจริงๆ แล้วมันไม่ชอบน้ำมาก แต่ขอให้มีความชื้นพอ มันก็จะขึ้นได้งาม"

           เมื่อมองเห็นเคล็ดลับของฟางเส้นหนึ่ง ที่สามารถทำให้ต้นข้าวงอกงามขึ้นมาได้ คำเดื่องจึงเริ่มทดลองทำนาตามธรรมชาติด้วยการไม่ไถ หว่านข้าว แล้วเอาฟางคลุม เขาเริ่มต้นจาก 4 ตารางวา มาถึง 1 งาน 2 ไร่ แล้วขยายขึ้นเป็น 4 ไร่ ในช่วงของการทดลองทำนาเช่นนี้ก็ให้บังเอิญที่เขาได้อ่านพบบทความในวารสารอโศก เล่าถึงการทำนาตามธรรมชาติของมาซาโนบุ ฟูกูโอกะ เกษตรกรชาวญี่ปุ่น คำเดื่องจึงสนใจศึกษาด้วยความที่มองเห็นว่าเป็นแนวทางเดียวกับเขา ในขณะที่เขาเพิ่มเริ่มต้น ฟูกูโอกะได้ลงมือทำล่วงหน้ามานาน จนประสบความสำเร็จไปแล้ว

         คำเดื่องทดลองอยู่ 3 ปี ก็ประสบความสำเร็จจากวิถีทางเกษตรกรรมธรรมชาติที่เขาค้นพบและศึกษาเพิ่มเติม วิถีทางที่คนและสัตว์อยู่ร่วมกันโดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาปราบศัตรูพืช เพราะแมลงศัตรูพืชแต่ละชนิดธรรมชาติได้จัดสรรให้ทำลายกันเองอยู่แล้ว ซากพืชและฟางคือสิ่งวิเศษที่ธรรมชาติให้มารักษาดินที่ทรุดโทรม ให้คืนดีดังเดิมโดยไม่ต้องใช้สารเคมี นาของคำเดื่องไม่ไถ ไม่ใส่ปุ๋ย ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ไม่กำจัดวัชพืช ก็กลับให้ผลผลิตดีกว่าเดิม

          นี่คือสิ่งที่เขาค้นพบเมื่อ 10 ปีมาแล้ว ในปี พ.ศ. 2532 ปีที่เขามีอายุได้ 37 ปี ช่วงเวลาเดียวกับที่เกษตรกรจำนวนมากยังคงเดินหน้าทำลายธรรมชาติลงด้วยการใช้ยาปราบศัตรูพืช สารเคมี มุ่งไปสู่วิถีทางของการปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อขาย คำเดื่อง ภาษี อยู่ที่นี่บนที่ดิน 18 ไร่ของเขา ดำเนินวิถีที่พอเพียง มีเวลาให้กับตัวเองเพื่อ่านหนังสือ ศึกษาธรรมะ และเฝ้ามองแมงมุมชักใยคอยดักแมลงในนาข้าวของเขาอยู่อย่างเงียบๆ

           เรื่องราวของคำเดื่อง ภาษี ก็คงจะจบลงเพียงเท่านี้ หากเขาไม่ค้นพบในเวลาต่อมาว่า ยามนี้เขาไม่สามารถที่จะ "กางร่มคนเดียวในทะเลทราย" ได้อีกต่อไปแล้ว "เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นจะเห็นว่ามันไม่กระทบครอบครัวผมเลย แต่เราก็จะอยู่ลำพังไม่ได้แล้ว มันเหมือนคนกางร่มคนเดียวในทะเลทราย มันเป็นไปไม่ได้ ผมก็เลยคิดจะสร้างเป็นโรงเรียนขึ้นมาเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหา อยากให้ทุกคนมองเห็นว่าต้องอย่าไปใส่ใจเรื่องพืชเชิงเดี่ยว เพราะมันเป็นอะไรที่นับหนึ่งใหม่ทุกครั้ง มันต้องมามองกันใหม่ ที่สำคัญคืออยากให้เขามามองเรื่องทุน รู้จักการใช้ต้นทุน ทุนธรรมชาติมันมีอยู่หลักๆ คือ น้ำ ดิน ต้นไม้ "ดิน" คือต้นทุนที่สูงที่สุดของการดำเนินชีวิตของสัตว์บนโลก ดินเป็นตัวให้ต้นไม้งาม ให้ผลผลิตดีไม่ดี เราจะทำอย่างไรให้ต้นทุนตรงนี้ดี หลังจากดินแล้วก็ต้องมามองเรื่องความหลากหลายทางธรรมชาติ ความหลากหลายนี้เป็นความงามความไพบูลย์ อันนี้อยู่ไม่ได้อีกอันหนึ่งก็อยู่ได้ ถ้าเรามีหนอนแล้วพูดเรื่องยามันก็จะกลับไปโลกเก่าอีก มันต้องให้มีความหลากหลาย ถ้ามีมะกรูดอย่างเดียวหนอนมะกรูดก็กินต้นนี้แล้วไปกินต้นอื่น กินไปเรื่อยๆ"

            โรงเรียนชุมชนอีสาน เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2539 โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม สร้างเป็นโรงเรียนเครือข่าย 3 พื้นที่ใน 2 อำเภอ คือในเขตอำเภอสตึก อยู่ในความดูแลของคำเดื่อง ภาษี และอำเภอลำปลายมาศ อีก 2 พื้นที่ อยู่ในความดูแลของผู้นำชาวบ้านคือ ผาย สร้อยสระกลาง และครูบาสุทธินันท์ ปรัชญ์พฤกษ์ แนวทางของโรงเรียนชุมชนอีสาน คือการให้การอบรมเกษตรกรเพื่อให้เข้าใจ และเปลี่ยนวิธีคิดจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว หันมาหาวิถีทางของการทำเกษตรผสมผสาน อันเป็นการอบรมโดย "ชาวบ้าน สอนชาวบ้าน" ด้วยกันเอง จากประสบการณ์ที่พวกเขาเคยก้าวเดินมาก่อน จากบทเรียนที่พวกเขาได้เรียนรู้แล้วว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยวนั้นชาวบ้านจะไม่สามารถพึ่งตนเองได้เลย

           ทุกวันนี้มีคนนับร้อยในสองอำเภอ มองเห็นความสำคัญของการดำเนินชีวิตแบบพออยู่พอกิน ของการเอื้ออาทรต่อธรรมชาติ จากที่เคยปลูกอ้อยหลายสิบไร่ ใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลงจนดินเสื่อมสภาพ พวกเขาเริ่มพลิกฟื้นปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกไม้ยืนต้นลงบนผืนดิน แต่คำเดื่องกล่าวว่านี่มิใช่การที่เขาไปเปลี่ยนวิธีคิดของคนอื่น แต่คือการที่เขากระทำให้เก็นมาตลอดว่าเส้นทางที่เขาเลือกเดิน ทำให้วันนี้เขามีพอเพียง

           "ผมไม่ได้ไปเปลี่ยนเขา แต่ให้ทุกคนมาทบทวนว่า ทำไมพวกเราทำงานมามันถึงลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ มันมีอะไรบ้างที่เป็นตัวผิดพลาด มันก็คือวิธีคิดที่อยากได้เงินมากๆ ลองเชื่อตัวเองสักครั้งได้ไหมชีวิตที่เหลืออยู่นี้ ลองเชื่อตัวเองว่าคุณจะทำอย่างไรชีวิตคุณถึงจะดีกว่าที่ผ่านมา คุณเชื่อมั้ยว่าคุณทำนาพอกิน คุณเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่พอกิน สามารถที่จะอยู่กับครอบครัวอย่างอบอุ่นได้"

            ทุกวันที่ 10 ของทุกเดือน ที่บ้านของคำเดื่อง ภาษี จะมีการประชุมระหว่างสมาชิกของโรงเรียนชุมชนอีสาน ทุกคนมารวมกันที่นี่เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จากการเปลี่ยนวิถีการดำรงชีพจากพืชเชิงเดี่ยวหันมาสู่วิถีของการพึ่งตนเอง แน่นอนบนเส้นทางของการเปลี่ยนแปลงย่อมมีอุปสรรคเกิดขึ้นเสมอ การประชุมที่เกิดขึ้นนี้จึงมีขึ้นเพื่อให้ทุกคนร่วมรับฟังปัญหา และช่วยกันคิดหาทางแก้ไข

              ภาพชุมชนที่ร่วมแรงร่วมใจกันแก้ไขปัญหาของตัวเองที่กำลังดำเนินให้เห็นอยู่เบื้องหน้านี้ อาจเป็นสิ่งเดียวกับที่นักวิชาการชุมชนพร่ำพูดมานานถึงทฤษฎี "คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน" ว่าทิศทางการแก้ไขปัญหานั้นต้องเริ่มจากชุมชนเป็นจุดแรก "โรงเรียนชุมชนอีสาน" อาจเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า วันนี้คำถามได้ถูกถามและคำตอบได้ถูกเลือกโดยชาวบ้าน เพื่อชาวบ้านด้วยกันเอง แต่คำเดื่อง ภาษี เขามิได้ยืนยันว่า คำตอบนั้นอยู่ที่หมู่บ้านเพียงอย่างเดียว หากแต่กระบวนการแก้ไขปัญหานั้นต้องเชื่อมโยงหนทางไปสู่รัฐ ไปสู่ภาคเอกชน และที่สำคัญคือหัวใจที่จะมองดูธรรมชาติแบบใหม่

              "จริงๆ แล้วหัวใจของเกษตรธรรมชาติ คือการดูแลพิทักษ์สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเรา แล้วก็มีวิถีชีวิตที่จะดำเนินการร่วมกับธรรมชาติไปให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ มันไม่ใช่เรื่องคลุมฟางนากี่เซ็นต์ หว่านข้าวกี่กิโลกรัมต่อไร่ ความเหมาะสมของแต่ละที่กับความเหมาะสมของคนแต่ละคนจะเป็นคนละเรื่องเลย คนที่อยู่บนเขากับคนที่อยู่ในทะเลมันก็เป็นเกษตรธรรมชาติ จะดูแลป่าโกงกางอย่างไร จะรักษาลูกปูลูกกุ้งอย่างไร จะใช้อย่างไร แล้วจะรักษาอย่างไรให้มันยั่งยืน มันเกษตรกรรมธรรมชาติทั้งนั้นเลย"

 

 

                                               ************************

 

เอกสารอ้างอิง : ราศี บุรุษรัตนพันธุ์. คำเดื่อง ภาษี : จากฟางเส้นเดียว
                         สู่โรงเรียนชุมชนอีสาน ใน ทฤษฎีใหม่ในหลวง :
                         ชีวิตที่พอเพียง. กรุงเทพฯ : ร่วมด้วยช่วยกัน,
                         2542. หน้า 113-120

 

       และมีเรื่องราวของพ่อคำเดื่องอยู่ในเว็บต่าง ๆอีกมากมาย ผมคัดเอามาจำนวนหนึ่ง ดังมีรายการต่อไปนี้ครับ

1. http://www.mapculture.org/mambo/index.php
   option=com_content&task=view&id=1003&Itemid=58

2. http://www.royalprojects.kku.ac.th/files/ex/Mr.khamdraung.doc

3. http://gotoknow.org/blog/lfl/270889

4. http://www.fringer.org/?p=363

5.http://sites.google.com/site/banrainarao/community/12_06

6.http://www.esaanvoice.net/esanvoice/know/show.php?
  Category=people&No=2209

7. www.rakbankerd.com (222.123.223.157) [2008-06-12 11:40:38]

8. http://www.biogang.net/content_detail.php?menu=expert&uid=5286&id=686

9. http://www.biogang.net/content_detail.php?menu=expert&uid=5286&id=686

10.http://www.oknation.net/blog/print.php?id=85042

11.http://www.oknation.net/blog/thum/2007/07/29/entry-1

12.http://vivaldi.cpe.ku.ac.th/~note/newscrawler/view_news.php?id=327398

13. http://onknow.blogspot.com/2006/11/blog-post_30.html

14.http://thainews.prd.go.th/view.php?m_newsid=255112050060&tb=N255112

15. http://www.moac.go.th/builder/moac/article/articleupdate.php?id=340

16. http://www.vcharkarn.com/varticle/39385

17.http://www.buriramhealth.org/index.php?option=com_content&task=view&id=21&Itemid=39

18.http://www.cdlse-stou.org/Library/?p=309

19.http://farmkaset.org/contents/default.aspx?content=00099

20.http://angkrit.blogspot.com/2007/01/blog-post.html

  

       ผมคิดว่าผมต้องลงมือทำตามแนวคิดนี้อย่างจริงจังเสียที  จด ๆจ้อง ๆมาหลายเพลาแล้ว จะได้รู้จริงรู้แจ้งเพื่อจะได้ชักชวนพวกเราชาวไร่ ชาวนา เกษตรกร และกรรมกร หันกลับมาทำเกษตรกรรมที่สามารถรักษาชาติ รักษาแผ่นดินไว้ให้ลูกหลาน สืบไปได้ อย่างมั่นใจ

                                                     
                        

 

paaoobtong
07/11/52
14:20

หมายเลขบันทึก: 311868เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2009 14:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 21:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • ได้อ่านและเรียนรู้ทางสื่อของพ่อคำเดื่องเหมือนกันค่ะ
  • แต่ยังไม่ได้ไปเห็นตัวจริง ค่ะ
  • ขอขอบพระคุณกับบันทึกและข้อมูลที่อาจารย์นำมาบอกกล่าวค่ะ
  • อาจารย์สบายดีนะคะ

บุรีรัมย์มีหลายท่านค่ะจะรออ่านของท่านอื่นอีกค่ะเป็นประโยชน์มากค่ะขอบพระคุณค่ะที่นำข้อมูลดีๆๆมาให้เรียนรู้ค่ะ

สวัสดีครับคุณครูคิม

  • ขอบคุณครับ สบายดีครับ
  • เมื่อวันที่ 5-6 เดือนนี้ ผมมีโอกาสได้ไปเยี่ยมคารวะพ่อคำเดื่องมาครับ
  • คิดว่าแนวทางเกษตรกรรมธรรมชาติ เกษตรกรรมแบบวนเกษตร เกษตรกรรมแบบผสมผสาน เกษตรกรรมแนวทฤษฎีใหม่ และเกษตรกรรมตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ล้วนอนุโลมว่าเป็นเกษตรกรรมแนวเดียวกัน และเห็นว่าเกษตรกรรมแนวดังกล่าวนี้เป็นเกษตรกรรมที่เหมาะกับการทำการเกษตรรายย่อย ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตรประเภทนี้
  • การเกษตรในแนวดังกล่าว เรียกได้ว่าเป็นการเกษตรในแนวมนุษยนิยม ซึ่งจะทำให้คนอยู่ด้วยกันอย่างที่เห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ นอกจากนั้นยังจะเป็นการประกอบอาชีพที่จะช่วยรักษาและสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
  • จากการพูดคุยกับปราชญ์ทางการเกษตรแนวนี้ ท่านว่าปัจจุบันมีเกษตรกรเพียง 3-5 เปอร์เซ็นต์ที่ก้าวเข้ามาอยู่ในแวดวงการเกษตรแบบนี้ ซึ่งถือว่าน้อยมาก สื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น internet สิ่งพิมพ์ การประชุมสัมมนา และการฝึกอบรม ส่วนใหญ่เกษตรกรจริง ๆยังเข้าไม่ถึง พอได้รับรู้รับทราบบ้างแต่ก็ไม่ชัดเจน ไม่แน่ใจ ดังนั้นเกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการผลิตผลิตผลทางการเกษตร
  • ที่สำคัญ เด็ก ๆ และเยาวชนที่เป็นลูกหลานเกษตรกรก็ไม่ได้เรียบนรู้การเกษตรในแนวนี้เลย และไม่ได้ถูกปลูกฝังให้มีเจตคติที่ดีต่อการประกอบอาชีพทางการเกษตร จึงเป็นสภาวะที่น่าเป็นห่วง สำหรับบ้านเมืองของเราเป็นอย่างมาก
  • ครูและโรงเรียนน่าจะเป็นหน่วยหนึ่งที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้นะครับ
  • คุณครูคิมมีความเห็นอย่างไรครับ
  • ขอให้คุณครูคิมจงมีความสุขนะครับ
  • สวัสดีครับ

paaoobtong
07/11/52
18:47

ทบความดีมากค่ะ<br /><br /><br />

<a href="http://www.farmkaset.org/contents/default.aspx?content=00198" target="_blank">ข้าวดีด </a>|

<a href="http://www.farmkaset.org/contents/default.aspx?content=00198" target="_blank">ข้าวดีด</a>|

<a href="http://www.farmkaset.org" target="_blank">ปุ๋ย</a>

แวะมาดูปราชญ์ชาวบ้าน

ยอมรับนับถือครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท