นานาประการที่การศึกษาล้มเหลว....


สวัสดีครับทุกท่าน

      วันนี้มานั่งทานข้าวกันแล้วก็พูดถึงระบบการศึกษาไทย และมีกรอบของการศึกษาไทย TQF อะไรออกมาอีกสำหรับอุดมศึกษา ผมเลยขอนำเสนออีกนัยหนึ่งเพื่อแลกเปลี่ยนกันแบบตรงไปตรงมาเผื่อว่าใครจะมาอ่านเข้าบ้างครับ มาคุยแลกเปลี่ยนกันแบบตรงๆ กันเลยเช่นว่า ทำไมการศึกษาไทยถึงล้มเหลว บัณฑิตถึงตกงานเยอะ และต่อไปจะตกงานเยอะกว่านี้อีก

นานาประการที่การศึกษาล้มเหลว....

  1. ความไม่เสถียรของการเมือง ที่อมระบบการศึกษาเอาไว้ขึ้นกับรัฐบาลมากเกินไป เปลี่ยนรัฐบาลใหม่ทีเปลี่ยนกระบวนการ มาตรฐานทางการศึกษาที แล้วเมื่อไรการศึกษาไทยถึงจะไปถึงเป้าหมายกันครับ เปลี่ยน รมว.กระทรวงศึกษาทีก็เปลี่ยนแนวคิดที มันเป็นระบบการศึกษาของหนูที่พร้อมจะให้ทดลองอยู่เรื่อยๆ เมื่อไรจะเข้าสู่การเสถียร ระบบวัดการเข้าศึกษาต่อก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย โดนด่าทีก็เปลี่ยนที เพราะระบบต้องรอที่จะเอาอกเอาใจคนเพื่อความอยู่รอดของทางการเมือง
  2. ประเทศนี้ไม่ได้ให้ความสนใจกับการศึกษาที่แท้จริง โดยเฉพาะรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการผลิตครู การผลิตบัณฑิต ความสำคัญของอาชีพครู ชีวิตเด็ก การศึกษาในระดับล่าง ประถมฯ มัธยม แม้ว่าจะบอกว่าให้เรียนฟรี แต่ก็ยังมีอีกปีละกี่หมื่น ที่ต้องออกจากระบบการศึกษาก่อนจะจบ ม.3 เราเคยพูดความจริงเรื่องเหล่านี้กันไหม ก่อนจะไปเปลี่ยนระบบอะไรที่เล่นกันไปเรื่อย เมื่อไรการศึกษาไทยจะเริ่มทำ ทำโดยที่ไม่ใช่เล่นเหมือนการเมืองนะครับ
  3. เราให้การศึกษาอยู่บนความพื้นฐานของความต้องการของชุมชน สังคมหรือไม่ หากเราสร้างบัณฑิตให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน สังคมอย่างแท้จริง ผมรับรองว่าจำนวนบัณฑิตตกงานจะน้อยมากๆ แต่ที่เราผลิตกันมันสอดรับกับแผนการสร้างคนของชาติจริงหรือไม่ สาขาที่ขาดแคลนอย่างไรก็ขาดอยู่อย่างนั้น ผลิตอย่างไรก็ขาดแคลน เพราะแนวทางการสร้างคนไม่สมดุล การศึกษาจึงเป็นแบบแฟชั่น เรียนตามแฟชั่นกัน เหมือนกับการทำเกษตรแฟชั่นนั่นละครับ
  4. ครูมีคุณภาพลดลง เพราะอาชีพนี้ หากเราสังเกตเราจะทราบว่า เส้นทางการมาเป็นครูเป็นอย่างไร จะแตกต่างกันครับ คนที่มาเรียนครูเพื่อเป็นครูมีเส้นทางมาอย่างไร ใครจะเลือกเรียนครูเป็นอันดับแรกแล้วเรียนครับ ส่วนใหญ่แล้วไม่รู้จะเลือกอะไรท้ายที่สุดก็ลงมาที่ครู หากจะรักด้วยใจจริงจะดีมากๆ ครับ แต่หากเป็นเพราะดีกว่าไม่มีงานทำแบบนี้ก็น่าเศร้าละครับ ผมไม่ได้จะต่อว่าครูนะครับ แต่ผมก็เป็นครูเช่นกัน เราต้องกล้าที่จะทบทวนตัวเอง ไม่อย่างนั้นอนาคตของชาติอยู่บนความรับผิดชอบของเรานี่ละครับ
  5. มีหลักสูตรมากมายที่สร้างขึ้นมาเพื่อเงินมากกว่าการสร้างคุณภาพคน พูดกันง่ายๆ ตรงๆ ก็คือ เป็นระบบการศึกษาแบบธุรกิจครับ ผมว่าหากคนคิดนโยบายว่างๆ ลองบินไปแถวๆ ยุโรปหลายๆ ประเทศดูงานของประเทศทางยุโรป หรือประเทศที่เค้าเน้นการศึกษาฟรีบ้างก็น่าจะดีนะครับ เผื่อจะได้ดูว่าเค้าทำได้อย่างไร เผื่อคนไทยจะคิดทำแบบนั้นบ้าง น่าจะดีกับการให้ความสำคัญทางการศึกษาแบบฟรีบ้าง ไม่ใช่เป็นหนี้กันตั้งแต่เข้าโรงเรียนหรือเข้าอนุบาล เด็กจบมาจะได้หันมาสนใจเรื่องการทำงานเพื่อสังคมมากกว่าจะหันมาหางานทำเพื่อใช้หนี้ที่กู้ยืมมา จะได้ไม่ต้องหันมาสร้างวิธีการว่าจะ จิตสาธารณะกันอย่างไร  เผื่อว่าจะมีบัณฑิตจบไหนเดินผันตัวเองขึ้นดอยไปทำงานที่ทุรกันดารกันบ้างนะครับ หรือกลับไปพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนตัวเองบ้าง ไม่ใช่มุ่งเน้นแต่ทรัพย์สินเงินทองเป็นหลัก
  6. การศึกษาไม่ใช่สูตรอาหารเหมือนการเลี้ยงหมู หรือเลี้ยงแมว ดังนั้นการศึกษาไม่ควรจะเป็นการติว ปริมาณสถาบันติวหรือกวดวิชาที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลให้เห็นชัดว่าการศึกษานั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะอะไรหรือครับ เพราะแสดงว่าการศึกษาในภาคปกติจากสถาบันการศึกษามันไม่ได้เรื่องนะครับ เด็กถึงต้องไปหันมาติวเพื่อแข่งขันกัน ตรงนี้เป็นจุดจบของการศึกษา ยิ่งตอนนี้มีการติวกันถึงระดับมหาวิทยาลัย ผมไม่แน่ใจว่าต่อไปอาจจะมีการติวกันทุกๆเรื่อง การเลี้ยงลูก การมีครอบครัว การทำงาน ลองไปดูครับว่าต่างประเทศเค้ามีสถาบันติวกันเกลื่อนประเทศแบบนี้หรือไม่ครับ มีได้นะครับไม่ใช่ห้ามมีแต่มีแล้วเป้าหมายของสถาบันติวกับสถาบันการศึกษามันคนละอย่างกันครับ เราต้องการจะสร้างคนแบบไหนครับ หากต้องการคนแบบสถาบันติวที่ต้องการแค่สอบผ่าน สอบเข้าได้ แต่เข้าไปแล้วใช้ชีวิตอย่างไร จะทำอย่างไรต่อ หากทำกันแบบนั้นแล้วตรงกันต่อไปสถาบันการศึกษาก็มีคนเพียงแค่ 5 คนก็เพียงพอ คือหัวหน้าสถาบัน เลขาฯ คนทำความสะอาด เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย  พนักงานขับรถ ก็น่าจะครบแล้วครับ ส่วนผู้เรียนก็ไปเข้าเรียนในสถาบันกวดวิชา เมื่อสอบผ่านก็มาให้แต่ละสถาบันที่ผ่านเกฑณ์ให้หัวหน้าสถาบันเซ็นจบให้ได้เลย ได้ปริญญาออกมาเลยแบบนี้ไม่ดีกว่าหรือครับ
  7. การปรับเปลี่ยนกระบวนการทางศึกษาเราเน้นให้เรียนอะไรไกลตัวจนเข้าไม่ถึงชุมชนหรือรากเหง้าที่แท้จริงของชุมชนหรือสังคมที่อยู่ที่นั่น ซึ่งจริงๆ แล้วแต่ละที่ก็มีความงามของแต่ละพื้นที่ แต่ความมาตรฐานที่ส่วนกลางกำหนดนั้น มันไม่ได้สอดรับกับพื้นที่นั้นๆ โดยส่วนใหญ่ทำให้การศึกษาเข้าไม่ถึงหัวใจของชุมชน จริงๆ แล้วนโยบายควรจะกำหนดกว้างๆ ไว้ให้แต่ละสถาบันหาจุดที่จะเข้าถึงชุมชนหรือสังคมนั้นๆ ด้วยตัวเอง การผลิตคนที่สำคัญคือผลิตให้เค้ากลับไปพัฒนาบ้านเกิดของตัวเอง เพราะเค้ามาจากที่นั่น ก็มาศึกษาก็ควรจะกลับไปรับใช้ที่นั่น ที่ที่เค้าเคยเติบโตมา ความรักต่อชุมชนบ้านเกิด
  8. กระบวนการวัดและประเมินผลของการศึกษาไม่ได้อยู่ที่การวัดตอนศึกษาอยู่หรอกครับ แต่การวัดที่แท้จริงอยู่ที่สังคมวัดคุณค่าของบัณฑิตเรา ตรงนั้นคือเป้าหมายสำคัญ ดังนั้นการวัดพื้นฐานเป็นเพียงตัวเลขที่ปลอมๆ นะครับ มันบอกอะไรไม่ได้มากหรอกครับ แต่สังคม เอกชนจะชื่นชมหากสถาบันนั้นผลิตคนแล้วสอดรับกับความต้องการของเค้าได้ มิใช่คนวางนโยบายฝันไปทาง แต่คนรอรับบัณฑิตวางเป้าหมายไปอีกทาง แบบนี้บัณฑิตก็เดินเกลื่อนถนนซิครับ
  9. เราสร้างบัณฑิตให้ลุยโคลน ลุยน้ำ ลุยรากเหง้าของชาติเราได้จริงไหม อย่างที่มีคนบอกว่า จะมีสักกี่ครุยที่ลุยโคลน สักกี่ครุยที่ขุดดิน ที่ทำเกษตรได้ อยู่บนรากเหง้าของสังคม แล้ววันหนึ่งเราจะต้องเจอกับปัญหาเหล่านี้อย่างไร หากไม่มีใครทำงานในงานพื้นฐานอย่าง เกษตรกร เราสร้างบัณฑิตเกษตรกรได้ไหมครับ ที่รักการเกษตรและทำเพื่อการเกษตรจริงๆ มีกระบวนการต่างๆ ในการพัฒนาต่อยอด มิใช้สักแต่ว่าทำ ทำ ทำ ไปวันๆ แต่เน้นเรื่องกระบวนการและคุณภาพในทุกๆ ขั้นตอน
  10. คนออกนโยบายเข้าใจกระบวนการศึกษาของชาติโดยภาพรวมมากน้อยแค่ไหน อย่าได้เพียงแค่นั่งเทียนหรือนั่งฝันเอาบนโต๊ะทำงานหรือห้องแอร์นะครับ เพราะนั่นมันหมายถึงว่าประตูความเสียหายต่อการศึกษาไทยได้เปิดอ้ากว้างแล้วครับ ดังนั้นจะศึกษาระบบการศึกษาจะพัฒนาตรงไหน ก็ขอให้ท่านๆ ลงพื้นที่จริงๆ นะครับ ไปนอนกับชาวบ้านชุมชนที่ท่านต้องการจริงๆ อย่าไปดูงานที่อื่นๆ ประเทศอื่นๆ แล้วมานั่งฝันเอาว่าคนไทย บัณฑิตไทยต้องทำแบบนั้น เป็นแบบนั้น เพราะฉะนั้นนั่นละครับ ว่าท้ายที่สุดเปลืองงบประมาณครับ
  11. นโยบายต่างๆ หรือมาตรฐานต่างๆ ที่เราออกมากันมากๆ ถามว่าบัณฑิตปัจจุบันแตกต่างจากเมื่อก่อนมากน้อยแค่ไหน ในเรื่องของคุณภาพและอื่นๆ หากเทียบกับจำนวนนโยบายและมาตรฐานที่เราสร้างกันมากมายในปัจจุบัน เพราะว่าสถาบันการศึกษาที่เคยผลิตกันในอดีตก็ผลิตคนมากมายในประเทศนี้ หากจะตอบว่าปัจจุบันด้อยกว่าอดีต ต้องระวังนะครับ บัณฑิตไม่ได้ผิดอะไรเลย คนที่ต้องปรับปรุงก็คือคนที่มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงระบบนั่นละครับ
  12. เราไม่ได้วางแผนระยะยาวสำหรับการศึกษาไทยอย่างแท้จริง แผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ เราก็ไม่มี เรามีเพียงแค่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ลองวางกันดูไหมครับ เผื่อว่ารัฐบาลไหนเข้ามาก็ต้องทำตามแผนเหล่านี้มันจะได้ต่อเนื่องกันบ้าง ไม่ต้องมาขึ้นอยู่กับสมองของ รมว. หรือคณะที่ปรึกษาของกระทรวงเพียงอย่างเดียวครับ น่าจะเกิดประโยชน์ในภาพรวมครับ
  13. การศึกษาไทยยังต่อยอดไม่ถึงงานวิจัยอย่างแท้จริง ทำให้เห็นว่าการเรียนไปนั้น นำไปใช้จริงไม่ได้โดยเฉพาะวิชาพื้นฐานทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งเรายังขาดแคลนตลอดเวลา เรานิยมซื้อของจากต่างประเทศ ประเภทซื้อมาก็จ่ายไปแล้วก็จบกันแค่นั้น แต่พัฒนาต่อยอดเองหรือสร้างเองได้น้อย ตรงนี้คือจุดบอดที่เชื่อมโยงไม่ได้ ซึ่งจะสอดคล้องกับข้อก่อนๆ ที่กล่าวมาครับ

ผมก็ขอจบไว้เพียงแค่ 13 ข้อความเป็น The Lucky Number ถามว่าใครจะเป็นคนเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยให้พัฒนาต่อไปได้ดี และเกิดคุณค่าที่แท้จริงในการสร้างคน มันก็ไม่ได้อยู่ที่เพียงแค่ครูหรอกนะครับ ทุกคนก็มีส่วนร่วมเสมอ เพียงแต่จะช่วยในบริบทใดครับ หากท่านจะต่อยอดก็เชิญบรรเลงได้เลยนะครับ ที่ผมเขียนมาทั้งหมดนี้เพียงจะบอกว่า หากเตรียมคนไว้ไม่เพียงพออนาคตเราจะแย่ครับ 

การที่ยกต่างชาติขึ้นมาในข้อดีหรือยกมาเปรียบเทียบนั้น ไม่ได้หมายความว่าผมจะเทิดทูนต่างชาติสุดชีวิตนะครับ แต่เราควรจะมองในจุดที่ดีของเค้าแล้วนำมาปรับใช้ในบ้านเรา แน่นอนว่าไม่มีใครดีสมบูรณ์หมด ตลอดจนการที่เราจะพัฒนาชาติเราได้เราก็ต้องดูว่าเราล้มเหลวตรงไหน บกพร่องตรงไหนและพร้อมแล้วหรือยังที่จะหันมาพัฒนาร่วมกัน มองจุดด้อย ซ่อมแซมมันเสีย วิจารณ์นำไปสู่การปรับให้ดีขึ้น และก็ไม่ได้กดประเทศไทยด้วยนะครับ เพราะหากจะพัฒนาชาติก็ต้องพร้อมจะวิจารณ์ การวิจารณ์ไม่ได้งอมืองอเท้าครับ และเชื่อว่าเรามีทางออกที่จะพัฒนาต่อไปครับ

การสร้างตึกใหม่นั่นแค่เพียงหว่านเม็ดเงิน แต่การสร้างสมองใส่ตึกนั้นซิยากยิ่งกว่า

ด้วยมิตรภาพ

สมพร ช่วยอารีย์

หมายเลขบันทึก: 317097เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2009 23:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 11:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

สวัสดีครับ

  • อ่านแล้วทำให้ ฮึด! อยากแก้ไขปัญหาการศึกษาของชาติมากเหลือเกิน
  • อย่างน้อยก็จะแก้ไขที่ตัวผมเองและคนรอบข้างเท่าที่ทำได้ให้ดีขึ้นขอรับ
  • ปัญหาการศึกษาของชาติ เกี่ยวข้องกับคนมากมาย ฝังรากลึก ยากที่จะถอนรากถอนโคน ต้องระดับนายกที่มือพระกาฬแบบพลิกแผ่นดินมาชูธงขอรับ
  • ขอเสริมประเด็นที่ว่า All for education! หมายถึงว่า การศึกษาต้องเป็นของทุกคน ไม่ใช่สถาบันการศึกษาอย่างเดียวแล้วขอรับ!
  • ขอบคุณขอรับ ที่ให้บรรเลง

 

All for education+

 

การศึกษาบ้านเราเป็นเครื่องมือของคนชั้นบนครับ...

เขาไม่ต้องให้คนฉลาดเกินไป

ให้เป็นอยู่อย่างทุกวันนี้ดีแล้ว ปกครองง่าย...

สังเกตุไหมครับ คนมีเงิน คนระดับบนส่งลูกไปเรียนที่ไหน

มีใครบ้างบ้าส่งลูกหลานเรียนในเมืองไทย

พวกนี้เรียน ใช้ชีวิตอยู่เมืองนอก ใช้เงินซื้และฝึกประสบการณ์ให้ลูกหลาน

ถึงเวลาก็กลับมาสืบทอดภารกิจของครอบครัว

ธุรกิจก็มี การเมืองก็มี งานสำคัญ ๆ ในกระทรวงสำคัญ (เช่น กระทรวงต่างประเทศ ฯลฯ)

เชื่อผมเถอะเขาไม่อยากให้คนไทยฉลาดไปกว่านี้

สบายดีนะครับ คุณเม้ง ผู้อารีย์ ;)

ผมมารับความรู้ ความรู้สึก และความนึกคิด ครับ

คิดก่อน ผ่อนทีหลังครับ ;)

สวัสดีค่ะ คุณสมพร ช่วยอารีย์

- นานาประการที่ว่ามา 13 ประการก็ชัดเจนค่ะ

- อ่านแล้วก็เจ็บร้าวๆ เพราะเป็นผู้ถือหุ้นเรื่องนี้อยู่เต็มสองมือ

- ปัญหาคุณภาพครู..ก็ต้องยอมรับว่ามีครูน้ำดีอยู่เยอะ แต่ระบบที่เป็นอยู่ไม่ค่อยจะถนอมดูแลครูกลุ่มนี้ ส่งผลให้เปลวเทียนเล่มน้อยนับวันลิบหรี่

- สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ทำหน้าที่ตนเองให้ดีที่สุดค่ะ

สวัสดีครับ

บายดี นะครับ?

ห่างหาย กันไปนาน

ก็จริงเกือบทั้งหมด

วิเคราะห์บริบทว่าผู้เรียนอยากเรียนไหม เรียนแล้วได้อะไร นำไปใช้แค่ไหน

วิชาชีพขาดแคลนคงมีอยู่ต่อไปนั้นน่าคิด คนไม่มีปัญญาเรียนหรือระบบกีดกัน

คนเก่งเท่านั้นจึงจะเป็นหมอได้จริงหรือ

คุณเด็กข้างบ้าน ~natadee

    สวัสดีครับ สบายดีนะครับ เป็นอย่างไรบ้างครับ ผมไม่ได้เข้ามาลับสมองนานพอสมควรครับ ขอมาเป็นครั้งคราวตามโอกาสครับ มีภารกิจในการสร้างคนที่ต้องทุ่มเทอีกส่วนหนึ่งของชีวิตครับ ผมเชื่อว่าทุกๆ สมองนั้นเรียนรู้ได้ครับ เพียงแต่เราจะกระตุ้นให้ถูกจุดตำแหน่ง เวลา สถานที่ ได้อย่างไรครับ ทุกคนมีส่วนร่วมในการวางแผนการศึกษาจริงๆ อย่างที่ว่าันั่นละครับ เพราะการศึกษาไม่ใช่มีแค่ในห้องเรียนครับ แต่การเรียนในห้องเรียนก็เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างต้นตอทางการศึกษาที่ดี ที่พร้อมจะให้มีการเสียบยอดทางความรู้กันต่อไปครับ หากต้นตอไม่พร้อมยอดที่นำมาเสียบก็ไร้ค่าครับ ระบบรากพื้นฐานของการศึกษาในตัวตนต้องเพียงพอที่จะไม่ให้ยอดที่นำมาเสียบแห้งเหี่ยวเร็วเกินไปครับ หากสิ่งที่นำมาเสียบเกิดดอกออกผลก็จะส่งผลให้ทั้งระบบต้นตอและระบบยอดใหม่ที่เสียบทำงานสอดคล้องกัน ก็จะเป็นผลลัพธ์หนึ่งของการเรียนรู้ฉบับของคนนั้น เวลานั้น สถานที่นั้นครับ

ขอบคุณมากๆ นะครับ ที่ร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆ นะครับ

     สังคมไทยเราเป็นสังคมแห่งอำนาจครับ  อำนาจที่สวนทางกับปัญญา  การศึกษาเลยออกมาแบบที่เห็นทุกวันนี้ครับ

บันทึกนี้โดนใจมากครับ สิบสามหมัดตรง ๆ ครับ

สวัสดีครับคุณหนานเกียรติ

   ขอบคุณมากๆ เลยนะครับ ที่แสดงความเห็นตรงไปตรงมาดีครับ

(ขอทดลองโพสต์ก่อนนะครับ ก่อนหน้านี้โพสต์แล้วข้อความไม่ไป แถมข้อความหายอีกด้วยครับ เลยขอพิมพ์สั้นๆ ก่อนครับ เพราะต้องพิมพ์ใหม่ครับ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท