การกัดกินผลประโยชน์จากชุมชน


วิถีชีวิตชุมชน เป็นวิถีที่ดำรงตนอยู่ตามธรรมชาติ ถ้าหากจะเข้าไปเรียนรู้ ก็ขอให้เข้าไปอย่างแมลงที่เข้าไปชื่นชมเกสรดอกไม้ ที่ดูดกินน้ำหวานแล้วย่อมไม่ทำลายดอกผลของต้นนั้น

เรื่องการวิจัยในชุมชนนี้มองดูเผิน ๆ จะเปรียบเหมือน "น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า" แต่ถ้าจะมองให้ดี มองลึก ๆ ก็จะกลายเป็นเราต้องพึ่งเขาเสียมากกว่า

พวกเรา ได้แก่ นักวิชาการ อาจารย์ และนักศึกษาทั้งหลาย มีความจำเป็น มีความต้องการที่จะเรียน จะใช้ประชากร ใช้กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย ทั้งที่เป็นหน้าที่ เป็นงาน หรือการเรียน ถ้าไม่มีเขา (ชุมชน) เราก็ลำบาก เพราะไม่รู้จะใช้กลุ่มตัวอย่างที่ไหน แต่ถ้าเขาไม่มีเราเข้าไป ชีวิตเขาก็จะ "สบาย" ขึ้นอีกเยอะ

เรามักคิดว่าไอ้วิชาการที่เราเรียนมานี้มันดี มันเจ๋ง

เรามักคิดว่าชุมชนหรือที่พวกเรานักวิชาการมักเรียกกันว่า "ชาวบ้าน" นั้นด้อยพัฒนา หรือเรียกง่าย ๆ กว่า "โง่"

เราจึงสวมบทบาทผู้ฉลาดลงไปสอนโน่น สอนนี่ เปลี่ยนนั่น พัฒนานี่ วุ่นวายกันไม่รู้จักจบ

แล้วยิ่งประเทศมีปัญหามาก ๆ เราก็ยิ่งไปมองว่าปัญหาต่าง ๆ นั้นเกิดขึ้นมาจากชุมชน แต่น้อยคนนักที่จะมองว่าต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริงก็คือ "ตัวของเราเอง"

ตัวเราที่จะการตำแหน่ง ต้องการผลงาน ต้องการใบปริญญา แล้วใช้ชุมชนเป็นกลุ่มเป้าหมาย ใช้ชุมชนเป็นสถานที่ทดลอง ชุมชนจึงเปรียบเสมือนหนูทดลองที่ใครต่อใครสามารถเข้าไปตักตวงผลประโยชน์ได้อย่างไม่รู้จบ

เรามักจะว่าคนป่า คนดอยชอบทำไร่เลื่อนลอยชอบตัดไม้ทำลายป่า สิ่งที่พวกเรานักวิชาการลงไปทำวิจัยกันในทุกวันนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการไปทำไร่เลื่อนลอยเช่นเดียวกัน คนป่า คนดอยเขาตัดไม้ แต่พวกเรานักวิชาการเข้าไปตัดรอน "วิถีชีวิต"

เรานำวิถีชีวิตของเราไปครอบวิถีชีวิตของเขา

นำวิถีชีวิตนักวิชาการที่ต้องประชุม สัมมนา นำชีวิตที่ต้องพึ่งพาเอกสารลงไปให้แล้วบอกว่าสิ่งทั้งหลายนี้เยี่ยม เจ๋ง สุดยอด

วิถีชีวิตแบบธรรมชาติ ๆ ถูกทำลาย ระบบครอบครัวถูกแทรกแซงด้วยน้ำมือของนักวิชาการ

พอชุมชนนี้หมดผลประโยชน์ ก็หันไปหาชุมชนใหม่ หาชุมชนใหม่ไปเรื่อย พองานจบ เราก็หายแซ่บไปและอย่าหวังว่าชาตินี้จะได้เจอกันอีก

ลองนึกย้อนดูสิว่า พวกเราที่เคยเข้าไปทำงานในชุมชน มีกี่คน กี่โครงการที่กลับไปเยี่ยม ไปดู ไปตรวจสอบ หรือไปค้นหาสิ่งที่เราไป "ขี้" ใส่ไว้ในชุมชน

เราไปดื่ม ไปกิน ไปดู ไปซับเอาผลประโยชน์อันได้แก่ข้อมูลก็ดี กระบวนการต่าง ๆ ก็ดี เป็นเหมือนเหลือบ ยุง ลิ้น ไร เข้าไปไต่ตอมเอาน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ที่มีชื่อว่า "ชุมชน"

พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ให้รู้จักทำตัวให้เป็นเหมือนดั่งแมลง ที่เมื่อเข้าไปกินเกสรของดอกไม้แล้วจักไม่ทำความเสียหายให้กับดอกไม้นั้น แต่พวกเรานักวิชาการในวันนี้ เข้าไปทำงาน เข้าไปตักตวง เข้าไปหาผลประโยชน์จากชุมชนแล้วทำให้เขาเสียหายหรือไม่ ทำให้วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมที่เคยเข้มแข็งของเขาง่อนแคลนและคลอนแคลนหรือไม่

ถ้าเราเข้าไปแล้วทำให้เกิดความเสียหายกับชุมชน ก็ไม่ต่างอะไรกับคนอกตัญญูที่ได้ดื่ม ได้กินแล้วก็ทิ้งปัญหา ทิ้งจาน ทิ้งชาม ไม่รู้จักล้าง ไม่รู้จักเช็ด บางครั้งก็เข้าไปตีกัน ก่อเรื่องทะเลาะวิวาททางวิชาการ บอกว่าทฤษฎีโน้นที่คนเก่าเคยทำไม่ดี ต้องเปลี่ยนมาทำทฤษฎีของฉัน นักวิจัยชุดหนึ่งเข้าไปก็ใช้ทฤษฎีหนึ่ง อีกชุดหนึ่งเข้าไปก็เปลี่ยนไปใช้อีกทฤษฎีหนึ่ง ลองกันไป ลองกันมา นักวิชาการได้ผลงานแต่ปัญหาเกิดขึ้นกับชุมชนบานตะไท

วิถีชีวิตชุมชน เป็นวิถีที่ดำรงตนอยู่ตามธรรมชาติ ถ้าหากจะเข้าไปเรียนรู้ ก็ขอให้เข้าไปอย่างแมลงที่เข้าไปชื่นชมเกสรดอกไม้ ที่ดูดกินน้ำหวานแล้วย่อมไม่ทำลายดอกผลของต้นนั้น พึงอย่าเข้าไปแบบหนอน ที่เข้าไปเจาะกินผลของต้นไม้ เพราะผลของต้นไม้นั้นเป็นของลำต้น ของชุมชน มิใช่เป็นของหนอนที่จะเข้าไปชอนไชหาอะไรเกาะกินไปเรื่อย

ทุกวันนี้ชุมชนบอบช้ำจากน้ำมือนักวิชาการมามากแล้ว ถึงเวลาหรือยังที่เราจะหยุดยั้งการทำลายชุมชนด้วย "วิชาการ..."


ที่มาจากบันทึก ชุมชนกับเรื่องวุ่น ๆ ทางวิชาการ...

หมายเลขบันทึก: 343196เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2010 08:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรอาจารย์ปภังกร

ทำให้อาตมานึกถึงคำพูดของชาวบ้านที่ว่า....คล้ายนักท่องเที่ยว มาแป๊บๆ แล้วหายไปเงียบกริบเลย อันที่จริงนักท่องเที่ยวเขามาแล้วก่อให้เกิดผลสร้างรายได้ให้ชาวบ้านในชุมชน

อาตมาไม่อยากให้ชาวบ้านมองนักวิจัยนักวิชาการเป็นเหมือนดังว่า บัณฑิตทั้งหลายคงต้องปรับตัวบ้างแล้วละ สักนิดก็ยังดี

ส่วนใหญ่ชาวบ้านเขาให้เกียรตินักวิชาการมากเสียด้วย และส่วนใหญ่อีกเหมือนกันที่นักวิจัยมักไม่ค่อยมีเวลากลับไปเยี่ยมพี่น้องในชุมชนอีกเลยจริง ๆ เขียนตามคำบอกเล่าของชาวบ้านที่ได้ยินมา ผู้เขียนเองไม่มีความรู้เรื่องเหล่านี้หรอก

เจริญธรรม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท