เสียงสะท้อนจาก HiPPs ส่วนภูมิภาค ι หนึ่งปีที่ต้องหมุนงานมาส่วนกลาง (ตอนที่ 1)


ตอนที่ 1 ก่อนจะมาเป็น HiPPs คนนี้

เสียงสะท้อนนี้เป็นเพียงเสียงสะท้อนของ HiPPs คนหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดเล็ก ๆของระบบ ที่ลงทุนโดยใช้ชีวิต 1 ปีที่ผ่านมา เข้ามาเรียนรู้สิ่งที่ใคร ๆ เรียกว่า “ระบบ HiPPs” ก่อนที่จะเล่าอะไรมากไปกว่านี้ คงจะต้องเริ่มต้นทำความรู้จัก HiPPs คนนี้ก่อน เพราะ HiPPs เป็นเรื่องเฉพาะตน

                หนูเป็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่เข้าระบบ HiPPs มาด้วยคำว่า “พลัดหลง” เพราะสมัครสอบตามคำแนะนำของหัวหน้า มาสอบทั้ง ๆ ที่ไม่ได้อ่านตำรา เบื้องต้นผ่านระดับกรมมาแบบงง ๆ แล้วก็มาสอบคัดเลือกอีกครั้งโดยสำนักงาน กพ. ด้วยงานที่รับผิดชอบอยู่ ณ ขณะนั้นไม่ได้เอื้อให้อ่านตำราเพื่อการทำข้อสอบนัก (อาจจะโดยส่วนตัวมาสอบด้วยใจที่ไม่ได้คาดหวังอะไร มาเหมือนการทำหน้าที่อย่างหนึ่งเพียงเท่านั้น) เดินออกจากห้องสอบด้วยความอ่อนระโหยโรยแรงเหมือนผ่านสนามรบมาก็ไม่ปาน (เพราะหนูหลับในรถไฟฟ้าใต้ดินระหว่างเดินทางกลับ) ตอนนั้นหนูค่อนข้างมั่นใจว่าสอบไม่ผ่านแน่ ๆ ข้อสอบหินมาก ๆ พอถึงวันประกาศผล เห็นชื่อตนเองสอบผ่านนึกว่าดูผิด ออกอาการอึ้ง ๆ จนพี่ที่ทำงานแซวว่า “เหมือนประหลาดใจมากกว่าดีใจ” ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ เอาหล่ะซิดูเหมือนว่าหนูเป็น HiPPs ด้วยความไม่ตั้งใจแม้มันจะฟังดูไม่ดี แต่นี่แหละค่ะ คือ ชีวิตจริง

หนูเป็น HiPPs ทั้ง ๆ ที่ ไม่เข้าใจว่า “อะไรคือ HiPPs ?” เพราะเป็นรุ่นแรกของหน่วยงาน
“ไม่รู้ว่าเป็น HiPPs แล้วดียังไง ?”
“เป็น HiPPs แล้วมีประโยชน์อะไร ?”

เริ่มมารู้จัก HiPPs ขึ้นบ้างจากการปฐมนิเทศน์ของสำนักงาน กพ. แต่ก็ยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพราะแต่ละกรมก็ต้องเอาโมเดลที่ สำนักงาน กพ. สร้างไว้มาปรับให้เข้ากับองค์กรอีกครั้ง สุดท้ายก็แค่ไปฟังมาเฉย ๆ แล้วหนูก็กลับมาทำงานอย่างเดิม เพียงแค่มีคำว่า

 “HiPPs พ่วงท้ายให้ใคร ๆ มาแซว หรือ เรียกแทนชื่อแบบขำ ๆ ในหน่วยงาน”

                พอเป็น HiPPs สิ่งที่ต้องทำความรู้จักคือ EAF (Experience Accumulation Framework) ถ้าหากท่านไม่ใช่ HiPPs หรือไม่ได้เกี่ยวข้องกับระบบ HiPPs อาจจะสงสัยว่า

EAF คือ อะไร หนูคงไม่สามารถให้คำนิยามได้สวยหรู EAF ตามความเข้าใจคือ เส้นทางการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ว่า

“เราต้องการเรียนรู้อะไร หน่วยงานต้องการให้เราเรียนรู้อะไร เอาความต้องการสองอย่างนี้มาเจอกันตรงกลาง เพื่อสร้างคนคุณภาพนำทางไปสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการ หรือผู้เชี่ยวชาญ นี่คือ ทฤษฏี ตามความเข้าใจ

                ในความเป็นจริง ณ ขณะนั้น กรมส่งเอกสารมาให้ปึกใหญ่ ๆ โดยรายละเอียดมีให้คร่าว ๆว่า

ถ้าคุณจะเป็นผู้อำนวยการ คุณต้องผ่านงาน 1, 2, 3, 4

ถ้าคุณจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ คุณต้องผ่านงาน 1, 2, 3, 4

ซึ่งมีกรอบของระยะเวลาให้ไว้ในระดับต้น ระดับกลาง และระดับเป็นเลิศ (เห็นแล้วหนูก็ถามตนเองว่า “ถ้าหนูไม่อยากเป็นตามที่กรอบกำหนดมาหล่ะ ? เพียงแค่อยากมีโอกาสได้เรียนรู้เท่านั้น แต่ก็เป็นเพียงคำถามที่หนูถามในตนเอง แต่ไม่ได้หาคำตอบ)

ทราบภายหลังว่ากว่าจะได้เอกสารปึกนั้นมา ผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการ ผู้ใหญ่ในกรมต้องประชุมกลั่นกรองออกมา ซึ่งมันสุดยอดมากเลยค่ะ แต่ถ้ามันไม่ถูกนำมาใช้หรือปรับให้เหมาะกับแต่ละบุคคล หรือปรับให้เป็นปัจจุบัน มันก็แค่หมึกดำ ๆ เปื้อนลงกระดาษเท่านั้น  การเขียน EAF ของหนูแท้ที่จริงแล้วเหมือนการนั่งเทียนเพราะอะไรหน่ะเหรอค่ะ ก็หนูเป็นเด็กใหม่ตัวเล็ก ๆ ทำงานอยู่ส่วนภูมิภาคตลอด 3-4 ปี ไม่ค่อยรู้จักผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในส่วนกลาง ยิ่งเห็นตำแหน่งท่านแล้วแทนที่หนูจะกล้าโทรมาเรียนปรึกษาท่าน หรือขอเข้าพบ กลับรู้สึกกลัวเพราะเกรงว่า จะไม่เป็นการสมควร (ทั้งที่ผู้ใหญ่ในกรมเปิดกว้างมาก ๆ พร้อมที่จะรับฟัง แต่หนูก้าวไม่ผ่านกำแพงความกลัวของตนเอง) สุดท้าย ณ จุดเริ่มต้นหนูได้ EAF นั่งเทียน !!!

ไม่ใช่ความผิดใครเพราะความกลัวของหนูเอง ประกอบกับนิสัยส่วนตัวชอบลอง ชอบอะไรที่แปลก ๆ ใหม่ ๆ ท้าทาย อยากรู้อยากเห็นไปซะหมด แต่ขาดความรอบคอบ จึงตัดสินใจเข้าแผน EAF เร็วหน่อย ด้วยต้นทุนเดิมที่เรียนมาด้านสมุนไพรและมีความสนใจในงานวิจัยด้านสมุนไพร เส้นทางการเรียนรู้โดยส่วนใหญ่ จึงพุ่งเป้าไปที่งานวิจัยด้านสมุนไพร โดยมีตำแหน่งเป้าหมายคือ เภสัชกรชำนาญการพิเศษ (ด้านสมุนไพร) เพราะเขียนแผนเองด้วยความบ้าบิ่น แต่ไม่ได้ถามพี่ ๆ ในหน่วยงานจะไปเรียนรู้ก่อน ด้วยนิสัยชอบความแปลกใหม่พร้อมสำหรับความเปลี่ยนแปลง หัวหน้าท่านก็ให้กำลังใจและสนับสนุนให้ลองหมุนงานดู พอใกล้วันจะหมุนงานจริง ๆ ใจหนูเกิดความรู้สึกหวาดกลัว แล้วมีคำถามเกิดขึ้นในตนเองว่า

“ฉันจะไปทำไม ? ไม่ไปได้ไหม ?”

หนูออกอาการคิดมาก อยากจะปรับแผน หรือไม่ก็หยุดไว้ก่อนชะลอไปอีกสักหกเดือนหรือหนึ่งปี หรือไม่ก็ลาออก ความคิดที่เกิดจากความกลัว มักจะนำพาไปในทางลบ แต่สุดท้ายหัวหน้าถามหนูว่า

“มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ไป ?”

ท่านถามด้วยน้ำเสียงที่เมตตาและสบาย ๆ ไม่ได้คาดคั้น ซึ่งหนูไม่มีคำตอบของคำถามนี้ จึงตัดสินใจและบอกตนเองว่า “เอาน่าลองดู ไม่ลองก็ไม่รู้” แม้หนูจะเป็นพวกชอบลอง ยึดมั่น ดันทุรัน แต่มีข้อดีอยู่อย่างคือ รับฟังเหตุผล ถ้าไม่มีเหตุผลที่ดีพอมาคัดง้างก็ต้องยอมรับฟัง แล้วน้อมมาปฏิบัติ

ทั้งหมดที่เล่ามาคือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวที่เป็นเหตุให้หนูก้าวเข้ามาสู่การหมุนงานในระบบ HiPPs ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นเหตุเป็นผลสืบเนื่องกันชัดเจน ถ้าอยากรู้ว่าหนูจะเผชิญสิ่งต่าง ๆ อย่างไร แก้ปัญหาด้วยสติ ด้วยปัญญา หรือความกลัว ก็โปรดติดตามตอนต่อไป.................................

หมายเลขบันทึก: 346047เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2010 18:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท