มหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้ คือ มหาวิทยาลัยแห่งความทุกข์ยากลำบาก


บุคคลใดทุกข์มาก ลำบากมากย่อมเข้มแข็ง และต้องใช้สรรพวิชาเพื่อฟันฝ่าความทุกข์นั้น

 

การเรียนรู้นั้นจะเกิดขึ้นมิได้เลยหากบุคคลนั้นติดสุข ติดสบาย การเรียนรู้จะเกิดขึ้นมาได้ก็ด้วยเพราะบุคคลนั้นต้องประสบกับความลำบาก ยิ่งลำบาก ยิ่งเรียนรู้ ยิ่งทุกข์มากยิ่งรู้มาก ดังนั้นการตั้งเป้าหมายว่าจะให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ที่แท้จริงนั้น การวางหลักสูตรจะต้องตั้งเป้าสร้างความทุกข์ยากและลำบากให้กับนักศึกษา

 

ในปัจจุบันผู้บริหารและครูบาอาจารย์กลัวนักศึกษาเหนื่อย กลัวว่าถ้าเด็กลำบากมากเด็กจะไม่มาเรียน เข้มงวดมากไปก็กลัวว่าผู้ใหญ่ ผู้ปกครองจะว่า ให้งานมาก ๆ ก็กลัวนักศึกษาจะบ่น ก็เลยกลายเป็นเด็กโอ๋ และอาจารย์ก็เลยต้องโอ๋เด็ก เด็กก็เลยโง่ เลยง่อยกันไปหมด การทำแบบนี้เป็นการฆ่าเด็กทั้งอ้อม เพราะการสร้างให้นักศึกษาติดสุข ติดสบาย ขี้เกียจ ขี้คร้าน การเรียนรู้จะเกิดขึ้นมิได้เลยจากความสุข ความสบาย

 

บุคคลใดทุกข์มาก ลำบากมากย่อมเข้มแข็ง และต้องใช้สรรพวิชาเพื่อฟันฝ่าความทุกข์นั้น

สำหรับมหาวิทยาลัยจะจัดหลักสูตรความทุกข์ใด ๆ ให้นั้นศึกษาได้บ้าง

1. ยกเลิกแนวคิด “กลัวเด็กไม่รู้ ต้องรู้ให้มาก”
หลักการของนักการศึกษายุคโบราณคือ “กลัวเด็กไม่รู้” เลยต้องอัดความรู้เข้าไปมาก ๆ การมีคาบเรียนครั้งละ 3 คาบ ต่อสัปดาห์ต่อหนึ่งรายวิชา ซึ่งคาบละประมาณ 50 นาทีนั้น อาจารย์ก็เลยต้องตั้งเป้าหมายในการสอนว่า ทำอย่างไรให้ได้รู้มากที่สุด การที่ยึดติดกับความคิดที่ต้องให้เด็กรู้มาก ๆ ก็เลยต้องบรรยายกันมาก บรรยายกันครอบจักรวาล ถ้าสอนแบบเจาะลึก แทนที่จะได้รู้สิบเรื่องก็กลายเป็นรู้เรื่องเดียว อาจารย์ก็เลยอัดเรื่องโน้น เรื่องนี้เข้าไปอย่างละนิด อย่างละหน่อย เพื่อให้เด็กรู้มาก ๆ เด็กก็เลยเป็น “เป็ด” คือเป็นบุคคลที่รอบรู้คือรู้กว้าง แต่ไม่รู้ลึก ผู้บริหารกล้าตัดสินใจเปลี่ยนจากตำราทั้งเล่มในหนึ่งเทอม ให้เหลือหนึ่งบทต่อหนึ่งเทอมหรือไม่ ว่ามันไปบทเดียว บทแรก บทที่เกริ่นนำเนี่ยแหละ จากนั้นพานักศึกษาลงมือปฏิบัติเลย เมื่อใกล้หมดเทอม ค่อยมาสรุปว่าในหนึ่งเทอมเรามาเรียนทฤษฎีอะไรบ้าง คาบสุดท้ายจึงมาบอกช่องทางในการเรียนรู้เพิ่ม หรือเสริมเติมให้เต็ม

2. เปลี่ยนรายวิชาแบบ 3-0 ให้เป็น 2-2
จากเดิมการจัดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยในรายวิชาส่วนใหญ่นั้นจะเป็นแบบ 3-0 คือ บรรยาย 3 ปฏิบัติ 0 ซึ่งรายวิชาในลักษณะนี้มีกว่า 90% ของหลักสูตรในระดับปริญญาตรีหรือแม้กระทั่งหลักสูตรในระดับปริญญาโท
ไม่ว่าจะเป็นสายสังคมศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ ส่วนใหญ่แล้วจะเน้นบรรยาย เด็กนั่งฟังไปก็หลับไป รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ตอนฟังก็เหมือนรู้ แต่พอไปทำเข้าจริง ๆ ก็ทำไม่ได้ ตอนที่จะไปทำนั้นก็คือตอนเรียนจบแล้ว ตอนเรียนไม่ได้ทำ เพราะเรียนแค่มาสอบ จบแล้วจะไปถามใครล่ะ กลับไปถามอาจารย์เหรอ อาจารย์เคยปฏิบัติมาหรือเปล่า หรือว่าแค่อ่านหนังสือมาสอน ดังนั้น การจัดหลักสูตรให้เป็นบรรยาย 2 และปฏิบัติ  2 จึงเป็นการ “เรียนรู้ร่วมกัน” ระหว่างนักศึกษาและอาจารย์ เรียนแล้วปฏิบัติ หรือปฏิบัติก่อนแล้วสรุปบทเรียนที่หลัง ว่ากันครั้งต่อครั้ง ความรู้สด ๆ ใหม่ ๆ เด็ก ๆ จะได้เห็นแนวทางว่าเมื่อทำจริงแล้วปัญหามันเป็นอย่างไร จะแก้ไขได้อย่างไร

วิชา 2-2 มีน้อยจริง ๆ ส่วนใหญ่จะมีกันในปีสุดท้าย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นวิชาเอก หรือที่ทุกคณะในระดับปริญญาตรีที่มีเหมือนกันคือวิชา “วิจัย” ซึ่งเป็นวิชาที่เด็กปีสุดท้ายกลัวมากที่สุดวิชาหนึ่ง เพราะต้องจับกลุ่มกันทำวิจัยให้จบเล่ม ต้องลำบากกันน่าดู จนมีคำพังเพยที่เด็ก ๆ มักพูดกันว่า “คบกันมา 4 ปี จะเลิกคบกันก็ปีสุดท้ายตอนที่ทำวิจัยเนี่ยแหละ” เพราะต่างคนก็ต่างลำบาก พอลำบากแล้วก็เห็นธาตุแท้ของคน คนทำก็ทำแทบตาย คนเอาเปรียบก็ไม่ทำอะไรเลย แต่เดี๋ยวนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่งก็กลัวเด็กลำบากเหมือนอย่างว่า ก็ปรับเป็นวิชา “ระเบียบวิธีวิจัย (Research Methodology)” คือสอนแต่ทฤษฎี ไม่ต้องปฏิบัติ สอนให้รู้ว่าระเบียบวิธีวิจัยมีอะไรบ้าง จบง่าย จบเร็ว เด็กที่ติดสุขติดสบายมักจะชอบ “เรียนแล้วจบแน่...!!!”

วิชา 2-2 เป็นวิชาที่เด็กกลัว “กลัวลำบาก” แต่การลำบากนั้นเองคือการเรียนรู้
วิชา 3-0 เป็นวิชาที่เด็กชอบ “ติดสบาย” แต่การสบายนั้นเองคือหนทางสู่ความหายนะทางวิชาชีพ

3. ต้องมีการทำโปรเจอกันทุกเทอม
มหาเศรษฐีของโลกหรือผู้ประสบความสำเร็จทางอาชีพในระดับสูง อาทิ เจ้าของหรือผู้ก่อตั้ง Facebook หรือแม้กระทั่ง Google หรือ Microsoft ต่างก็มีจุดเริ่มต้นจากการทำโปรเจคเล็ก ๆ ในระหว่างเรียน
ในมหาวิทยาลัยของไทยนั้นแทบจะเด็กเอกหรือโปรแกรมได้เลยว่าจาก 100 สาขาวิชาที่เปิดสอน มีสาขาใดบ้างที่มีการให้เด็กทำโปรเจค (Project)

ที่เห็นบ่อยมากที่สุดคือ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ แต่ก็ทำกันเฉพาะในปีสุดท้าย หลาย ๆ คนที่ไม่จบก็เพราะติดโปรเจคเนี่ยแหละ
ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ก็เพราะว่าสิ่งที่เรียนมา 3 ปีนั้นใช้ไม่ได้ หรือไม่ได้ตั้งใจเรียน พอมาทำเข้าจริงก็ทำไม่ได้ ติดสุข ติดสบายมานาน นั่งฟังเลคเชอร์แล้วอ่านหนังสือมาสอบ ได้ c บ้าง c+ บ้าง เกรดเฉลี่ยสองกว่า ๆ ก็ขึ้นมาถึงปี 4 แต่พอต้องมาลงมือปฏิบัติจริง ๆ ก็หงายหลัง พังพาบกันเป็นแถว แต่จะว่าไปก็ดีนะ “จะได้รู้ตัวก่อนตาย” คือ ก่อนที่จะไปตายเอาเวลาทำงานจริง ๆ แล้วเขาจะประนามได้ว่า (มึง) เรียนจบมาได้อย่างไร...

แต่ปัญหาหลัก ๆ นั้นอยู่ที่เด็กที่เรียนในโปรแกรมที่ไม่มีโปรเจค เราไม่สามารถทดสอบเพื่อประเมินความรู้ เขาได้เลยว่าในทางปฏิบัติแล้วเขามีความสามารถพอที่จะออกไปเผชิญชีวิตการทำงานจริง ๆ หรือไม่ และอย่าคิดว่าการฝึกประสบการณ์วิชาชีพหรือการให้เด็กออกไปฝึกงานในเทอมสุดท้ายจะเป็นการวัดเด็กพร้อมที่จะทำงานแล้วนะ

เพราะการฝึกงาน ก็คือ “การฝึก” พี่เลี้ยงหรือหัวหน้างาน เขาไม่ได้เอาอะไรมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไปฝึกตามหน่วยงานราชการ (ขออภัยที่ต้องกล่าวถึง) ก็มีหน้าที่แค่รับโทรศัพท์และกรอกเอกสาร
หรือแม้กระทั่งเด็กที่ไปฝึกงานในบริษัทเอกชนก็ทำอะไรไม่ได้มาก เพราะหนึ่งอย่างที่สำคัญที่ผู้บริหารไม่สามารถมอบหมายให้ได้ถึง “ความรับผิดชอบ”
เด็กมาฝึกงานเป็นการทำงานแบบก้ำ ๆ กึ่ง ๆ แค่ทำงานตามที่สั่ง ผู้บริหารจะมอบงานใหญ่ไม่ได้ เพราะเขายังไม่พนักงานของเรา ถ้าทำพังมาใครจะรับผิดชอบ หรือข้อมูลสำคัญ ๆ งานใหญ่ ๆ ก็ต้องใช้พนักงานของตัวเองทำ เด็กต้องยืนดูอยู่ห่าง ๆ หรือไม่ก็ต้องปกปิดไว้เพราะเป็นความลับของบริษัท

แต่ถ้าจะให้ดีที่สุด คือต้องมีการทำโปรเจคในทุกสาขาวิชา และถ้าให้ดียิ่งขึ้นไปอีกก็ต้องให้ “ทำทุกเทอม”
เทอมแรกของปีแรกก็อาจจะปรับฐานความรู้สักหน่อย บรรยายวิชาพื้นฐานไปก่อน พอปี 1 เทอม 2 ก็เริ่มโปรเจคกันได้แล้ว
จากนั้นก็ค่อย ๆ ขยับความยากของโปรเจคขึ้น จนเป็น “อภิมหาโปรเจค” ตอนปี 4 เทอม 2


แต่ทว่า หลักการนี้คนคัดค้านคนแรก คือ “อาจารย์” เพราะอาจารย์จะต้องลำบากมาก จากเดิมที่บรรยาย (3-0) เสร็จแล้วกลับบ้านสบายใจเฉิบ ก็ต้องตรวจงาน ติดตามโปรเจค หรือในสายบริหารธุรกิจก็ต้องสร้างธุรกิจจำลองขึ้นในมหาวิทยาลัย อาจารย์ก็ต้องมาควบคุม ดูแล และอาจารย์หลาย ๆ คนก็กลัวว่จะทำได้ไหม เพราะตัวเองก็ไม่เคยทำมา จบปริญญาเอกบริหารธุรกิจแต่ก็ยังไม่เคยขายของเลยสักชิ้น “แค่เรียนเก่งและมีโอกาส”

ดังนั้น ถ้ามีการให้นักศึกษาทำโปรเจคกันมาก ๆ ก็จะเป็นการพัฒนาอาจารย์ไปในตัว

สถานศึกษาที่สร้างโจทย์ในการปฏิบัติจริงให้เด็กศึกษาเริ่มเกิดและมีจริงในเมืองไทยแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นสถานศึกษาในระดับ “ประถมศึกษา” อาทิ โรงเรียนสัตยาไสย และที่เชียงใหม่ก็มีอยู่โรงเรียนหนึ่งชื่อว่า “โรงเรียนบ้านคุณแม่”
โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนประถม เป็นโรงเรียนเล็ก ๆ ซึ่งมีการให้เด็กทำนา เลี้ยงไก่ วันพระก็พาเด็กมาวัด ไหว้พระ สวดมนต์ ใช้วิถีชีวิตที่กลมกลืนกับวัฒนธรรมจริง

โรงเรียนดี ๆ เขาไม่กลัวเด็กลำบากหรอก โรงเรียนส่วนใหญ่เขาโอ๋ผู้ปกครอง กลัวว่าถ้าให้เด็กทำอะไรมาก ผู้ปกครองจะว่าเอา
แต่ที่จริงแล้ว ถ้าผู้ปกครองฉลาดจริง ต้องสอนให้ลูกรู้จัก “ความทุกข์ยากลำบาก” ตั้งแต่เด็ก ๆ เห็นไหม เด็กสบายมากก็มีเวลาไปเล่นเกมส์ ไปติด Internet
เด็กที่เขาเรียนแบบลำบาก ๆ ชีวิตเขาจะรู้จักความลำบากที่แท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่รู้จักคำว่า “ความลำบาก”

ความทุกข์ยากลำบากจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำถึงจะรู้ ถ้าอ่านเฉย ๆ ก็แค่รู้ แต่ไม่รู้ซึ้งลงไปถึงจิต ถึงใจ
พอเด็กกลับบ้านเห็นพ่อ เห็นแม่ลำบากก็ไม่เข้าใจ ไม่คิดจะมีกะจิต กะใจช่วยเหลือ
จะไปโทษเขาก็ไม่ได้ ก็เพราะว่าเขาเข้าใจความลำบากแค่นั้น เข้าใจแค่การไปนั่งฟังอาจารย์บรรยายนั้นแหละลำบาก ลำบากแค่นี้พ่อกับแม่ไม่น่าจะเห็นต้องบ่น เขาไปเรียนหนังสือยังลำบากอยู่เลย

คนที่ฟังมาก อ่านฟัง แล้วรู้มากมักจะ “เมาความรู้” รู้เยอะแล้วก็เถียงกัน เถียงกันเพราะไม่รู้จริง คนฟังธรรมะมาก ๆ ยัง “เมาธรรม” เลย
คนที่ปฏิบัติมาก แล้วอ่านตัวเองมากมักจะ “อิ่มความรู้” อิ่มแล้วไม่ต้องไปถกไปเถียงกับใคร เพราะในใจเขารู้อย่างแจ้งชัดว่า แต่ละคนก็มีวิถีการปฏิบัติที่แตกต่างกัน ความรู้นั้นจะเกิดขึ้นมาตามบริบทของแต่ละคน ตัวแปรเปลี่ยนไปนิดเดียว เช่น แรง หรือกล้ามเนื้อแขนที่แตกต่างกัน ก็สามารถตีความของคำว่า “ลำบาก” ได้ต่างกันแล้ว

ดังนั้น มหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้ คือ มหาวิทยาลัยที่จะต้องตั้งปณิธานในการสร้างความทุกข์ยากลำบากให้กับนักศึกษา ลำบากวันนี้เพื่อที่จะสบายในวันหน้า เพราะความสบายที่ตามมาเกิดจากการเรียนรู้ที่แท้จริง...


 

หมายเลขบันทึก: 348695เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2010 08:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อ่านแล้ว เขียนได้ดีมากค่ะ

ขอเป็นกำลังใจให้นะคะ

ดังนั้น มหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้ คือ มหาวิทยาลัยที่จะต้องตั้งปณิธานในการสร้างความทุกข์ยากลำบากให้กับนักศึกษา ลำบากวันนี้เพื่อที่จะสบายในวันหน้า เพราะความสบายที่ตามมาเกิดจากการเรียนรู้ที่แท้จริง...

ต้องกับแนวคิดของที่โรงเรียน สัมมาสิกขาปฐมอโศกเลยค่ะ

ขอบคุณนะครับ สำหรับบทความที่เขย่ากล่องความคิด

ผมเองก็เป็นพวกหนึ่งที่ติดสุข ชอบนั่งอ่านแล้วคิดว่าจะเข้าใจ ไม่ยอมปฏิบัติ

และพอมองย้อนกลับไป ผมคิดว่า ผมได้เรียนรู้จากอาจารย์ที่โหดๆกับอาจารย์ที่เปิดโอกาสให้เราได้แสดงออก แสดงความคิดเห็น

อาจารย์ใจดีแต่ปล่อยปละละเลย นักเรียนก็ไม่ได้เรียนรู้เหมือนกัน

เดี๋ยวนี้มีผู้บริหารหลายคนคิดว่า ถ้าดุมาก หรือเคร่งครัดมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "จบยาก" ก็จะไม่มีคนมาเรียน

ผู้บริหารจึงออกนโยบาย "จ่ายครบ จบแน่" แล้วสั่งอาจารย์หรือผู้สอนให้สอนแบบธรรมดา ๆ ไม่ต้องไปเคร่งครัดอะไรมาก

มีอาการหลายคน ตัดเกรดตามที่เป็นจริง ตกเป็นตก ก็ถูกเด้งกลับ ผู้บริหารส่งกลับให้ไปแก้ "อย่าไปเอาอะไรกับเขามาก"

โดยเฉพาะนักศึกษาแบบพิเศษ พิเศษ จ่ายแพงมาก ยิ่งพิเศษมาก ต้องทะนุ ถนอม ดูแล เลี้ยงดู ปูเสื่อ

การเอาใจนักเรียนมาเป็นเหมือนกันฆ่าเขาทางอ้อม

แต่เด็กก็ไม่เข้าใจ ชอบแต่ครูที่ใจดี ครูเคร่งครัด เจ้าระเบียบ มักจะถูกสังคมเด็ก ๆ รังเกียจ

แต่สุดท้ายแล้ว ผมก็รู้สึกเหมือนกับคุณวัชรพงษ์ว่า ครูที่รักเราที่สุดคือครูที่ตีเราทุกวัน ลงโทษเมื่อเราทำผิด

คนที่กล้าตักเตือน กล้าลงโทษเราคือคนที่รักเราจริง คนที่ไม่รักเราทิ้งคือคนที่หาผลประโยชน์กับเราแล้วทิ้งเราให้ไปตายเอาดาบหน้า...

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท