AAR : การดูดซึมน้ำทางผิวหนัง


 

ระหว่างการเดินทางขึ้น "ผาแง่ม" (ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่)

ในช่วงประมาณ ๒ กิโลเมตรแรกซึ่งเป็นการเดินตามถนนลาดยางและกลางแดดนั้นสังเกตุและรู้สึกได้ว่าร่างกายมีความต้องการน้ำอยู่บ่อย ๆ ทั้งคอแห้ง ทั้งเหนื่อย ต้องดื่มน้ำถึงสองครั้งและแต่ละครั้งประมาณ 50 cc

แต่พอเลี้ยวขวาตัดพื้นที่ที่เคยเป็นป่าซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ทำการเกษตรปลูกผักและดอกไม้เพื่อส่งให้โครงการหลวงแม้จะต้องเดินกลางแดดเหมือนเดิมก็เริ่มรู้สึกว่าไม่เหนื่อยและไม่กระหายน้ำเหมือนกับการเดินตามถนน ซึ่งการในทางดังกล่าวมีระยะทางประมาณ ๑ กิโลเมตร ดื่มน้ำครั้งเดียว (ประมาณ ๒๕ cc) ก็สามารถเดินได้สบายไม่รู้สึกกระหายน้ำมาก

 

แล้วยิ่งเดินเข้าไปในป่าลึกเท่าไหร่ ถึงแม้นว่าเหงื่อจะออกมากเท่า ๆ หรือมากกว่าการเดินตามถนนเพราะต้องขึ้นทวนแรงโน้มถ่วงของโลก ก็รู้สึกได้ว่าร่างกายไม่ต้องการน้ำเท่ากับการเดินในทางเรียบ ๆ แต่ไม่มีป่าล้อมรอบ

 

สรุปคร่าว ๆ การเดินทางขึ้นผาแง่มในวันนั้นใช้เวลาเดินประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่ง เราดื่มน้ำไปประมาณ 1.5 ลิตร แต่การเดินลงใช้เวลา 2 ชั่วโมง เราดื่มน้ำเพียง 50 cc เท่านั้น

สิ่งที่สำคัญในระหว่างการเดินนั้นเอง เรารู้สึกเอะใจว่า ทำไมเวลาเราเข้าในใกล้ ๆ บริเวณที่มีต้นไม้เราจะรู้สึกสบายและไม่กระหายน้ำเหมือนเดิม

ยิ่งเดินเข้าไปในพื้นที่ที่ชื้นมาก ๆ ถึงแม้นเหงื่อจะออกพลั้ก ๆ แต่ร่างกายก็ไม่รู้สึกว่าจะต้องการน้ำ

ตอนนั้นเราจึงได้เริ่มตั้งสมมติฐานว่า ผิวหนังของคนเรานี้นอกจากจะสามารถขับน้ำหรือเหงื่อออกจากร่างกายได้แล้ว น่าจะสามารถดูดซับความชื้นมาหล่อเลี้ยงร่างกายได้เช่นเดียวกัน

แล้วเราก็นึกถึงต่อไปว่า ศีลข้อหนึ่งของศีลแปด คือ การห้ามมิให้ใช้เครื่องหอม เครื่องย้อม เครื่องทานั้น น่าจะมีประโยชน์ในการที่ผิวหนังของเราไม่มีสารเคมีใด ๆ หรือสิ่งแปลกปลอมใด ๆ ไปอุดตันตามรูขุมขนนั้น ทำให้ในระหว่างการเดินทางทั้งเหงื่อที่ขับออก และความชื้นในอากาศสามารถไหลเวียนถ่ายเทได้อย่างคล่องตัว

เพราะในอดีตเราเคยรู้สึกบ่อย ๆ ว่า เมื่อใดที่ใช้โลชั่นทาผิว เราจะรู้สึกว่ามัน "ตื้อ ๆ" อยู่ตามผิวหนัง เหมือนกับว่าระบบนิเวศน์ในร่างกายนั้นขาดตกบกพร่องอะไรไปสักอย่างหนึ่ง

และเมื่อนึกย้อนไปในการเดินทางครั้งก่อนตอนที่เดินอยู่ในป่าเขาใหญ่ ซึ่งเป็นป่าดงดิบที่มีหวายและหนามเป็นจำนวนมาก เวลาเราเดินไปเราจะต้องใส่หมวกไหมพรหมคลุมอยู่ตลอดเวลา เพราะป้องกันหนามมาเกี่ยวกับศรีษะและโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ "หู"

แต่เวลาเดินตอนที่ใส่หมวกไหมพรหมอยู่นั้นเรารู้สึกเหนื่อยมาก จนกระทั่งครูบาอาจารย์มาเห็นท่านก็บอกว่า ไม่ต้องใส่หมวก ใส่แล้วจะ "หายใจไม่สะดวก..."

ครั้นเมื่อเราถอดหมวกไหมพรหมออก เราก็รู้สึกโล่งขึ้นมาก และเมื่อเดินทางต่อไป เราก็รู้สึกได้ว่าอาการเหนื่อยที่เกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนตัวแปรเรื่องการใส่หมวกนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ถ้าหากใครเคยได้ดูสารคดีที่มีชาวอินเดียเคยฝึกโยคะชั้นสูง ที่มีการน้ำหัวของตัวเองฝังลงไปอยู่ในดินแล้วสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยท่านมีการฝึกให้ใช้ผิวหนังส่วนที่อยู่เหนือดินหายใจแทนจมูกนั้นก็เป็นสิ่งที่เสริมความเชื่อมั่นตามสมมติฐาน

ด้วยเหตุต่าง ๆ เหล่านี้ เราจึงนึกถึงผู้คนในสังคมปัจจุบันที่ต่างก็ใช้เครื่องประทินผิวกันเป็นจำนวนมากว่า เครื่องประทินผิวต่าง ๆ ที่ทาตามหน้า ตามแขน ตามขนนั้น ทำให้การดูดซับความชื้นจากอากาศและการผ่องถ่ายไหลเวียนน้ำของร่างกายที่ผ่านทางผิวหนังนั้นขาดตกบกพร่องไปจนทำให้เกิดโรคเกิดภัยขึ้นมาเป็นจำนวนมาก

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ต้องทำงานในห้องแอร์ที่ภายในนั้นจะมีอากาศที่แห้งมากคือมีความชื้นน้อยซึ่งมีผลมาจากการทำงานของเครื่องปรับอากาศ เมื่ออากาศแห้งคนที่ทำงานส่วนใหญ่ก็จะต้องหันไปพึ่งโลชั่นทาผิวเพื่อเพิ่มความชื้นให้แก่ผิวหนัง แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น อณูของโลชั่นจะเข้าไปปิดกั้นการไหลเวียนถ่ายเทของอากาศทางผิวหนังจนกระทั่งทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ขึ้นมาหรือไม่...?

ถ้าหากนักวิทยาศาสตร์เคยตั้งทฤษฎีว่าคนเราสูญเสียน้ำผ่านทางผิวหนังมากที่สุด ในครั้งนี้ผมขอตั้งสมมติฐานเพิ่มเติมขึ้นว่าคนเราต้องการอากาศผ่านทางผิวหนังมากที่สุดเช่นเดียวกัน

เหมือนดั่งเช่นต้นไม้จำพวกที่มี "รากลม" ซึ่งสามารถดึงความชื้นจากอากาศเข้ามาหล่อเลี้ยงดอกและใบได้ฉันนั้น คนเรานั้นจำเป็นที่จะต้องดูดซึมความชื้นจากอากาศเพื่อหล่อเลี้ยง ยักย้าย ถ่ายเทระบบนิเวศน์ของร่างกายเพื่อเสริมสร้างสุขภาพชีวิตของร่างกายให้อยู่อย่างสบายได้ฉันนั้น...

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๓

หมายเลขบันทึก: 358164เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2010 08:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เห็นภาพแล้วชดชื่นครับ... การดูดซับความรู้ ก็ คือ..

ตอนเช้าที่เราตื่นขึ้นมาหน้าตาหรือผิวหน้าก็เป็นอย่างหนึ่ง แต่เมื่อใดที่เราเอาน้ำ "ล้างหน้า" หน้าตาของเราก็เปลี่ยนไป

ที่จริงแล้ว เราไม่ต้องใช้น้ำเยอะ ๆ เพื่อล้างหน้าก็ได้ เพียงแค่มีน้ำไปลูบให้ทั่วบริเวณใบหน้า เพื่อที่จะให้ใบหน้านั้นสัมผัสกับน้ำเพื่อดูดซึมซับน้ำซึ่งจะทำให้ผิวหน้านั้น "สดชื่น"

ถ้าเราลองสังเกตุให้ดี ตราบใดที่ยังตื่นขึ้นมาแล้วยังไม่นำหน้าไปลูบหน้า เราก็ยังรู้สึกงัวเงีย ๆ แต่ถ้าเมื่อใดเราไปล้างหน้าแล้ว ความสดชื่นก็จะตามมา...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท