สั่งคอนกรีตผสมเสร็จ ทำไมต้องผ่านดีเลอร์...?


วันนี้ผมติดต่อขอทราบราคาปูนผสมเสร็จโดยตรงจากบริษัทหนึ่ง เป็นจำนวน 50 คิว แต่กลับได้รับคำตอบว่า ไม่สามารถให้ราคาได้ เพราะเป็นลูกค้าที่เคยมีดีลเลอร์ส่งอยู่แล้ว ดังนั้นพรุ่งนี้จะให้ "ดีลเลอร์" ไปเสนอราคาให้อีกครั้งหนึ่ง...!


ตอนนั้นผมเกิดอาการงงและไม่เข้าใจว่า ทำไมผมถึงซื้อตรงไม่ได้ และทำไมผมต้องไปเสียเงินค่าเบี้ยใบ้รายทางให้กับดีลเลอร์ด้วย  ทำไมผมถึงต้องซื้อผ่านคนอื่น ทั้งที่เป็นผมเป็นลูกค้า แต่ไม่มีสิทธิซื้อสินค้าจากบริษัท ต้องให้คนอื่นซื้อให้ แถมต้องเสียเงินให้เขาอีกต่างหาก...

คำตอบแรกที่ผมได้รับคำชี้แจงก็คือ ผมเป็นลูกค้าเก่าที่เคยซื้อผ่านดีเลอร์อยู่แล้ว ทางบริษัทไม่สามารถขายตรงให้ได้เพราะเป็นการ "ข้ามหน้าข้ามตา" ถ้าดีเลอร์รู้เข้าเขาจะโวยวาย ตอนนั้นผมก็คิดในใจว่า "อ้าว แล้วลูกค้าไม่มีสิทธิโวยวายบ้างหรือ...?"

คำตอบที่สองผมได้รับคำชี้แจงเพิ่มขึ้นว่า เมื่อสองสามเดือนก่อน บริษัทเคยเปิดราคาขายตรงต่ำกว่าดีเลอร์ ดีเลอร์ก็โวยวายอีก ดังนั้นจึงต้องกลับมาใช้นโยบายเดิมก็คือ ใครจะซื้อต้องผ่านดีเลอร์ ตอนนั้นผมก็คิดในใจอีกว่า "อ้าว อย่างนี้ก็สมยอมกันนี่หน่า"

คำตอบที่สามผมได้รับคำชี้แจงให้กระจ่างขึ้นอีกว่า ที่บริษัทของเราอยู่ได้ก็เพราะมีดีเลอร์ช่วยเหลือ ถ้าไม่มีดีเลอร์ บริษัทก็เติบโตไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นนโยบายจากบริษัทมาตั้งแต่ตั้งเดิม ตอนนั้นผมก็คิดค้านในใจว่า "ไอ้เงินที่ดีเลอร์จ่ายให้คุณ มันเป็นเงินเขาหรือเป็นเงินผม (ลูกค้า)" (มิหนำซ้ำกว่าเขาจะเงินไปจ่ายคุณ ยังสามารถนำเอาเงินไปหมุนได้อีกพักใหญ่ "ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง")

 

จากนั้นผมก็ยกตัวอย่างเพื่อหาคำตอบที่กระจ่างให้ฟังอีกว่า อ้าว... ที่เมื่อก่อนตอนที่ผมไปปทุมธานี ผมยังเคยซื้อตรงได้เลย แล้วผมก็ไปจ่ายเงินที่ 7-11

คำตอบนี้ผมก็ได้รับคำชี้แจงว่า ราคาที่ซื้อนั้นแพงกว่าซื้อผ่านดีเลอร์ซะอีก เพราะเป็นลูกค้าขาจร "อ้าว หนีเสือประจรเข้" (แถมบริการไม่ดีอีกต่างหาก ผมเคยทำหนังสือร้องเรียนเข้าไปครั้งหนึ่ง และทางบริษัทอ้างว่าเป็น Sub หรือ แฟรนไชน์ บอกเขาหลายครั้งแล้วแต่เขาไม่ปรับปรุง...)

ผมคิดไปคิดมา ก็จำได้ว่า ตอนที่ผมซื้อปูนที่ปทุมธานีนั้น ก็เหมือนมีนายหน้าใครสักคนหนึ่งมาเสนอราคาให้ผม ตอนแรกผมก็นึกว่าเป็นคนของบริษัท ที่แท้ก็เป็นดีเลอร์ที่คอยกินหัวคิวผมอยู่นี้เอง แถมเป็นนายหน้าที่ทำงานสบาย ไม่ต้องทำงาน ไม่ต้องพูด ไม่ต้องเสนอขายอะไร รอลูกค้ารายเล็ก ๆ น้อย ๆ หลงโทรเข้าไปสั่งปูน จากนั้นถ้าคุณอยู่ในพื้นที่ไหน บริษัทก็จะ Contact กับดีเลอร์ หรือซับชั้นรอง ๆ ลงไปเสนอราคาให้คุณ เมื่อคุณสั่ง ดีเลอร์ก็กินค่านายหน้าคุณ เรียกว่าเป็นระบบ "น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า" น้ำคือดีเลอร์ เสือคือบริษัท และลูกค้าคือเนื้อกัน "โอชะ"

สุดท้าย ผู้บริโภคอย่างเราก็ต้องเสียเงินเพิ่มโดยที่ไม่รู้เนื้อรู้ตัว อยากจะซื้อของถูก ๆ ตรง ๆ จากบริษัท บริษัทก็ปฏิเสธ บอกว่าขายไม่ได้ กลัวเสียสัมพันธภาพกับดีเลอร์ที่หากินกับลูกค้ามาเป็นเวลานาน

ดีเลอร์ช่วยบริษัท บริษัทช่วยดีเลอร์ ทั้งสองช่วยกันโดยใช้เงินนั้นที่ได้มาจาก "ลูกค้า"

ลูกค้าไม่มีสิทธิเลยที่จะซื้อตรง เพราะซื้อตรงก็แพงกว่าดีเลอร์ ถึงแม้นจะซื้อจากดีเลอร์ถูกกว่า แต่ก็ไม่ถูกที่สุด ก็เพราะต้องเสียค่านายให้ดีเลอร์

 

แล้วดีเลอร์มาทำอะไรให้เรา...?

บริษัทให้คำตอบว่า ดีเลอร์มีหน้าที่ดูแลเรา

ดูแลตรงไหน...?

ที่ผมเห็นคือดูแลรับผิดชอบมาเก็บเงินจากเราอย่างตรงเวลา บางดีเลอร์วันรุ่งขึ้นมาเก็บ บางเจ้าหนึ่งสัปดาห์มาเก็บ หรือบางเจ้าก็ให้เวลานานหน่อย แต่สุดท้ายที่เก็บไปจ่ายบริษัทเลยหรือเปล่า หรือว่าเอาเงินเราไปหมุนก่อน การมาดูแลเราก็คือการคอยมาเร่งรัดเก็บเงินจากเราเพื่อไปหมุนในกิจการของเขาก่อนหรือ...?

ในการทำงานของผม ผมสามารถซื้อปุ๊บ จ่ายปั๊บ ปูนมา เงินไป แต่ทำไมผมถึงซื้อตรงจากคุณไม่ได้ ต้องยื่นข้อเสนอเรื่องเครดิตจากนายหน้าให้ผม คุณส่งปูนมา ผมจ่ายเงินไป ซื้อขายกันแบบง่าย ๆ ไม่ได้หรือ...? คุณอาจจะอ้างว่าซื้อได้ แต่คุณบังคับราคาว่า การซื้อตรงแพงกว่าซื้อผ่านดีเลอร์ ก็เหมือนเป็นการบังคับกันไปกลาย ๆ ว่าผมจะต้องไปให้เงินดีเลอร์สักนิด สักหน่อย

สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคน่าจะเข้ามาดูสักหน่อยว่า ระบบแบบนี้ยุติธรรมสำหรับผู้บริโภครายเล็กรายน้อยแบบผมหรือไม่ ทำไมไม่สามารถต้องเสียค่านายหน้าให้ดีเลอร์ด้วย ทั้ง ๆ ที่เขาไม่เคยมาทำอะไรให้ 

มิหนำซ้ำ บางครั้งการสั่งของโดยผ่านดีเลอร์ มีการผิดพลาดเรื่องคำสั่ง คือการสื่อสารจากคนหนึ่ง คือ ลูกค้าถึงดีเลอร์ไปอย่างหนึ่ง ต่อมาจากดีเลอร์ไปถึงบริษัทที่ทำการผลิตก็เพี้ยนไปอย่างหนึ่ง เข้าข่าย สั่งอย่าง ได้อย่าง

สั่งตรงก็แพงกว่า ถ้าอย่างได้ถูกกว่าก็ต้องไปสั่งผ่านแล้วเสียค่านายหน้าให้ดีเลอร์ เปรียบเสมือนว่าลูกค้าถูก "มัดมือชก" 

สรุปว่า "ถ้าผมไม่อยากจ่ายค่าเงินสูญเปล่าให้ดีเลอร์ ผมก็ต้องขอซื้อตรงจากบริษัทซึ่งราคาจะแพงกว่าดีเลอร์ แต่ถ้าผมไม่อยากซื้อราคาแพงขนาดนั้นก็ต้องยอมเสียค่านายหน้าให้ดีเลอร์"

ดังนั้น ลูกค้าหรือผู้บริโภคหนีไปทางใดก็หนีไม่ออก จะต้องเสียเงินเพื่อจ่ายส่วนต่างตรงนี้อยู่ดี จะมากหรือน้อยก็ต้องเลือกเอา...

เขาตกลงกันไว้แล้ว เราในฐานลูกค้าก็ต้องรับกรรม ไม่จ่าย ไม่ได้ปูน...!

 

หมายเลขบันทึก: 368361เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2010 21:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 03:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท